fbpx

Gerald Genta นักออกแบบนาฬิกาในตำนาน

ผู้ได้ชื่อว่าเป็น Godfather of watch designers ผู้ออกแบบนาฬิกาที่เป็นไอคอนจากหลากหลายแบรนด์ดังระดับโลก

“I don’t like watches. For me, watches are the antithesis of liberty.”

คำพูดของ Gerald Charles Genta หนึ่งในผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นนักออกแบบที่ทรงอิทธิพลของศตวรรษที่ 20 บนเส้นทางการออกแบบของ Gerald ได้สร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์มากมาย ผลงานที่เขาออกแบบนั้นอยู่เหนือกาลเวลา และยังสามารถพลิกโฉมหน้าของวงการการออกแบบเครื่องประดับสุดหรูของโลกอย่างนาฬิกาข้อมือ ผลงานการออกแบบที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงยังคงถูกถ่ายทอดลงสู่ผลงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในรุ่นปัจจุบัน เพื่อตอกย้ำเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นของเขา

Gerald Charles Genta เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1931 ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขาได้เริ่มคลุกคลีกับงานเครื่องทองและงานจิวเวลรี่ ซึ่งเขาได้หลงใหลในศิลปะการออกแบบเป็นอย่างมาก แต่ในขณะนั้นงานออกแบบจิวเวลรี่เป็นสิ่งใหม่และยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงทำให้เขาจำเป็นจะต้องผันตัวเข้าสู่วงการการออกแบบนาฬิกาซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากกว่า 

ด้วยอายุเพียง 23 ปี Genta ได้เริ่มออกแบบนาฬิกาไว้มากมาย แต่ด้วยการที่เค้ายังไม่เป็นที่รู้จักของบริษัทนาฬิกาต่างๆ งานของเขาถูกตีราคาเพียง 15 สวิสฟรังก์เท่านั้น หรือประมาณ 450 บาทในปัจจุบัน ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ Genta ต้องพยายามค้นหาเอกลักษณ์ของตัวเอง และเริ่มนำผลงานออกสู่ประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกา อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี  

บริษัทแรกที่ติดต่อมาก็คือ Benrus ตามมาด้วย Hamilton ผลงานของเขาเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น จนทำให้บริษัทนาฬิกาในบ้านเกิดเขาเองต้องหันมาให้ความสนใจ จึงเป็นจุดเริ่มต้นการร่วมงานกับบริษัทนาฬิกาของประเทศสวิตเซอร์แลนด์อย่าง Omega ในปี ค.ศ. 1959  เอกลักษณ์อย่าง Pie Pan ที่หน้าปัดนาฬิกา ซึ่งทำให้นาฬิกามีมิติมากขึ้นในทุกมุมมอง สิ่งนี้ถูกถ่ายทอดลงบนนาฬิกาของ Omega ในรุ่น Constellation หนึ่งในรุ่นที่ประสบความสำเร็จของ Omega ที่เรายังสามารถพบเห็นได้ในรุ่นปัจจุบัน และตามมาด้วย Universal Geneve ในรุ่น Golden Shadow และ White Shadow ซึ่งเป็นการยกระดับการออกแบบกลไกนาฬิกาไปอีกขั้น ด้วยความบางของตัวเรือนเพียง 2.3 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นผลงานที่โดดเด่นมากในสมัยนั้น เนื่องจากต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการออกแบบกลไกที่มีขนาดเล็กและต้องอาศัยฝีมือชั้นสูงของช่างนาฬิกา 

ด้วยรสนิยมและความชอบของ Genta ที่หลงใหลในการออกแบบนาฬิกาข้อมือที่บางเบา หรือที่เรียกว่า Ultra-thin เนื่องจากทรงของนาฬิกาที่เข้ากับความโค้งของข้อมือได้เป็นอย่างดี ทำให้รู้สึกสบายเมื่อได้สวมใส่ เค้าได้นำมารวมกับเส้นสายแบบเลขาคณิตพื้นฐาน ที่ทำให้ผลงานของเค้ามีความร่วมสมัย เราจะเห็นแนวคิดนี้ได้ในผลงานรุ่น Golden Ellipse ของ Patek Philippe เช่นกัน ตัวเรือนทองที่โค้งมนและบาง ซึ่งเรายังสามารถพบเห็นรุ่นนี้ได้ในปัจจุบัน แต่จะมีขนาดตัวเรือนที่ใหญ่ขึ้นตามความนิยมของยุคสมัย ความสร้างสรรค์และการพัฒนาในงานออกแบบของเขาที่ไม่หยุดยั้ง 

เขาได้ลองในสิ่งใหม่ๆ ด้วยการเพิ่มเส้นสายลงบนตัวเรือนให้เป็นรูปทรงที่ล้ำสมัยของ Bvlgari-Bvlgari สำหรับแบรนด์บุลการี ที่ได้แรงบันดาลใจจากเหรียญโรมันโบราณ และทำการแกะสลักชื่อไว้บนขอบของเบเซล แต่ยังคงเอกลักษณ์การออกแบบตัวเรือนที่บางไว้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่า Bvlgari-Bvlgari เองจะกังวลกับการตอบรับในรูปทรงที่ล้ำสมัยนี้เช่นกัน แต่ท้ายสุดผลงานนี้ก็ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของ Bvlgari-Bvlgari จนถึงปัจจุบัน 

ผลงานของเขาถูกพิสูจน์แม้จะอยู่ในวิกฤตการณ์ Quartz Crisis เป็นการพลิกตลาดของนาฬิกาโลกไปอย่างสิ้นเชิง นาฬิการะบบ Quartz จากประเทศญี่ปุ่น ที่มีขนาดบาง น้ำหนักเบา เที่ยงตรง อีกทั้งยังมีราคาถูก และง่ายต่อการรักษา ทำให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ผู้นำด้านนาฬิกาไขลานได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากการผลิตนาฬิกาไขลานมีความซับซ้อนทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่ามาก ความนิยมจึงลดน้อยลงไปด้วย ในสมัยนั้นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่เคยมีส่วนแบ่งในตลาดนาฬิกาโลกถึง 43% ลดเหลือน้อยกว่า 15% หนึ่งในนั้นที่ได้รับผลกระทบคือ Audemars Piguet 

ถึงคราวที่ Genta จะต้องหาสิ่งใหม่เพื่อมาพลิกสถานการณ์ของบริษัท แต่มันจะไม่ใช่เพียงแค่นาฬิการุ่นใหม่ สิ่งนี้จะต้องเปลี่ยนโลกของวงการนาฬิกาไปอย่างสิ้นเชิง นาฬิกาสไตล์สปอร์ตที่ไม่เคยมีใครสร้างมาก่อน แข็งแรง กันน้ำได้ แนวคิดที่ดูเรียบง่ายแต่ต้องอาศัยความสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก และทั้งหมดจะต้องถูกออกแบบภายในค่ำคืนเดียว เช้าวันต่อมา Royal Oak ก็ได้ถือเกิดขึ้น แรงบันดาลใจจากหมวกนักประดาน้ำทองเหลือง ใส่รายละเอียดด้วยสกรู 8 ตัว Genta เลือกใช้โลหะในการทำตัวเรือน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

Royal Oak เปิดตัวด้วยราคาที่สูงกว่านาฬิกาที่ทำจากทอง สร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ให้บริษัทและ Genta เป็นอย่างมาก และในปี ค.ศ. 1976 ผลงานที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในหมู่ของคนรักนาฬิกาก็ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ ในช่วงของงาน Basel Fair หรือ Baselworld ในปัจจุบัน ขณะที่เขานั่งอยู่ในร้านอาหาร เขาก็พูดกับพนักงานว่า “เอากระดาษและดินสอมาให้ผม ผมอยากจะออกแบบอะไรสักหน่อย” หลังจากนั้นไม่ถึงห้านาที ภาพสเก็ตซ์ของ Nautilus ก็เสร็จสมบูรณ์ และเข้าตา Patek Philippe ทันที แรงบันดาลใจจากหน้าต่างของเรือดำน้ำ ตัดกับเส้นสีฟ้าเปรียบเสมือนลอนคลื่นในทะเลสื่อความหมายถึงสไตล์สปอร์ตได้เป็นอย่างดี 

จากคำพูดเปิดของ Genta ที่ไม่ชอบนาฬิกา เพราะคงไม่มีนักออกแบบคนไหนที่ชอบการถูกกำกับด้วยเวลา แต่ทว่าเขารักที่จะสร้างสรรค์นาฬิกาในแบบของเขา สำหรับ Genta เองแล้ว ความหมายของการออกแบบ คือการอธิบายความเป็นตัวตนสู่ผลงานต่างๆ ในช่วง 50 ปีในวงการการออกแบบนาฬิกา เขาได้สร้างสรรค์ผลงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมากกว่า 100,000 ชิ้น รวมถึงบริษัทนาฬิกา Timex ที่เคยสร้างประวิติศาสตร์การผลิตนาฬิกาที่เขาออกแบบด้วยจำนวนถึง 30,000,000 ชิ้น และในช่วงหลัง Genta ยังได้ออกแบบนาฬิกาให้กับบุคคลสำคัญมากมายของโลก แม้ว่า Genta จะได้ล่วงลับไปแล้ว ผลงานที่ประสบความสำเร็จของเขา ยังถูกนำมาเป็นเอกลักษณ์ในรุ่นต่างๆ ซึ่งเรายังสามารถพบเห็นได้ในศตวรรษที่ 21 ด้วยความคลาสสิกนี้ทำให้ผลงานของเขาอยู่เหนือกาลเวลา และยังมีเรื่องราวต่อไป 

ภาพ: Gerald Genta Heritage

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี