การได้ทำงานที่บ้านอาจเป็นงานในฝันของใครหลายคน และด้วยสถานการณ์โควิด-19 (coronavirus) ในตอนนี้ ฝันนั้นก็อาจจะเป็นจริงแล้ว เพราะหลายๆ บริษัทและองค์กรต่างๆ ได้สั่งให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (work from home) เป็นที่เรียบร้อย แม้งานวิจัยหลายชิ้นจะชี้ว่าการทำงานที่อื่นที่ไม่ใช่ที่ทำงานนั้นอาจจะได้ประสิทธิผลมากกว่าทำงานที่ที่บริษัทด้วยซ้ำ (และมีหลายบริษัทเริ่มใช้วิธี remote work ในการทำงานแล้ว) แต่สำหรับมือใหม่ การทำงานที่บ้าน (ที่ใกล้สิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจทุกอย่าง ตั้งแต่เตียงนอน ตู้เย็น ไปจนถึงโทรทัศน์) อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่นี่คือเคล็ดลับที่จะช่วยให้การทำงานที่บ้านได้ง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
1. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม
ฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่หลายคนก็พลาดที่อะไรที่ธรรมดาแบบนี้แหละ อย่าลืมจ่ายค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงฮาร์ดดิสก์และรหัสสำหรับเข้าแอคเคาต์ต่างๆ เพราะหลายๆครั้ง รหัสที่ว่ามักจะแปะอยู่บนบอร์ดข้างคอมพิวเตอร์ที่ออฟฟิศนั่นเอง
2. จับจองพื้นที่ให้เป็นที่ทำงานชั่วคราว
พื้นที่ทำงานควรตั้งอยู่เป็นสัดเป็นส่วน และเป็นที่ที่นั่งทำงานประจำ แบบที่ไม่มีเสียงรบกวนมาก หรืออยู่ใกล้ประตูให้คนเดินเข้าออกเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจบ่อยๆ และที่สำคัญคือไม่ควรทำงานบนเตียงหรือห้องนอน เพราะจะทำให้นอนหลับยากยิ่งขึ้นด้วย
3. ใช้วิดีโอคอลบ่อยขึ้น
การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์อาจจะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่การสื่อสารผ่านข้อความอย่างเดียว (อย่าง line หรือ facebook messenger) จะทำให้เรามองไม่เห็นสัญญะทางกายบางอย่างซึ่งมีผลมากต่อการสื่อสารที่ถูกต้อง ฉะนั้นถ้าต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือทำงานเป็นทีม แนะนำให้ใช้วิดีโอคอลบ้าง จะได้เห็นหน้าเห็นตา เห็นปฏิกิริยากันไปเลยว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร
4. เซ็ตเวลาทำงานที่แน่นอน
การทำงานที่บ้านอาจทำให้คนอื่นนึกว่าเราต้องว่างเสมอ โทรไปต้องรับสายในทันที แต่ในความเป็นจริงก็มักไม่ได้เป็นเช่นนั้น ฉะนั้นควรเซ็ตเวลาไปเลยว่าจะทำงานตอนไหน (ถ้าเป็นทีมที่อยู่ในประเทศเดียวกันควรเป็นเวลาเดียวกัน) อาจจะเป็นเวลางานเหมือนไปทำงานปกติก็ได้ และควรบอกเพื่อนร่วมงานด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันทำงานเกินเวลาของตัวเองด้วย
5. มีเป้าหมายชัดเจน
เมื่อไม่มีใครมาคอยจ้ำจี้จำไช คุณก็อาจหลงลืมอะไรหลายๆอย่างไปได้ ทางที่ดีควรมีลิสต์สิ่งที่ต้องทำไว้ด้วย และหมั่นตรวจเช็คอยู่เสมอ
6. ทำงานเชิงรุก
ถ้าอยากให้งานคืบหน้าและเข้าตากรรมการ ก็ถึงเวลาทำงานแบบเชิงรุก (proactive) แล้ว ใครเป็นลูกทีมก็อาจจะขอนัดเฟซไทม์กับเจ้านายเพื่ออัพเดทหรือขอคำปรึกษา มีปัญหาจะได้บอกได้ทันใด ไม่ต้องมาเสี่ยงลุ้นว่าผลจะเป็นยังไงในอนาคต
7. เน้นที่ผลลัพธ์
ข้อนี้อาจจะเน้นไปที่คนที่เป็นเจ้านายหรือหัวหน้าทีมโดยเฉพาะ ลองเลิกคิดจุกจิก (อย่างกังวลว่าลูกน้องจะไม่ทำงานจะทำยังไง) แล้วเน้นที่ผลลัพธ์จะดีกว่า หมั่นเช็คว่าพวกเขาทำงานได้ตามที่คอมมิตหรือตามเดดไลน์มั้ย งานมีคุณภาพรึเปล่า
8. หมั่นสื่อสาร
พอไม่ได้นั่งติดกันกับเพื่อนร่วมทีมหรือคนอื่นในแผนกแล้ว ไม่แปลกหรอกที่จะสื่อสารกันน้อยลง แล้วก็กลายเป็นว่าพอมีปัญหาอะไรก็ผัดผ่อนไปซะอย่างงั้น ฉะนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการทำงานที่บ้านคือการหมั่นสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ เพื่อที่ว่ามีปัญหาอะไรจะได้แก้ไขได้ทันท่วงทีนั่นเอง