fbpx

Vann Molyvann สถาปนิกเขมรผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างชาติผ่านสถาปัตยกรรมในพนมเปญ

สถาปนิกในตำนานผู้ขับเคลื่อน สถาปัตยกรรมยุค New Khmer Architecture โดยนำแนวความคิดในการออกแบบของ Le Corbusier มาปรับใช้กับวัฒนธรรมบ้านเกิด

หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์จากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1953 พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ กษัตริย์กัมพูชา ณ ขณะนั้นมีแนวคิดในการผลักดันประเทศให้มีความทันสมัยผ่านงานสถาปัตยกรรม ทำให้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมใหม่ที่เรียกว่า New Khmer Architecture ขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1955-1970 และหนึ่งในสถาปนิกที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในยุคนี้ก็คือ วัน โมลีวาน (Vann Molyvann) ผู้ซึ่งจบการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมกลับมาจากประเทศฝรั่งเศส เขามีแนวคิดการสร้างสถาปัตยกรรมใหม่ที่น่าสนใจ จนพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ แต่งตั้งให้เขาเป็นหัวหน้างานโยธาและสถาปนิกแห่งรัฐเพื่อดูแลการพัฒนา New Khmer Architecture นี้โดยเฉพาะ และในเวลาต่อมา วัน โมลีวาน ยังได้เป็นอธิการบดีของ Royal University of Fine Arts ที่พนมเปญอีกด้วย

“ในช่วงปี 1960s กรุงพนมเปญมีสถาปัตยกรรมแบบเขมรใหม่เกิดขึ้นมากมาย จนได้รับการขนานนามว่าไข่มุกแห่งตะวันออก”

ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบ New Khmer Architecture คือการใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่เปิดให้เห็นตัวโครงสร้างอย่างเด่นชัด ผสมผสานแนวคิดของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นเข้ากับองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นบางอย่าง ผลลัพธ์ที่ได้คือเรือนยกพื้นสูงที่มีพื้นที่กิจกรรม มีร่มเงา มีการไหลเวียนของอากาศเย็นในตัวบ้าน ที่สำคัญคือสามารถอยู่อาศัยในช่วงฤดูน้ำหลากได้ สถาปัตยกรรมแบบ New Khmer Architecture นี้ต้องเรียกว่าเป็นคำตอบของที่อยู่อาศัยในเขตอากาศร้อนชื้น เพราะมีการออกแบบผนังสองชั้น ทำหลังคาที่มีลักษณะคล้ายฟันปลา เพื่อป้องกันแดด มีการใช้ระเบียงและทางเดินในร่ม (loggia) รวมถึงบล็อคโปร่ง (claustra) เพื่อให้เกิดร่มเงา นอกจากนั้นจุดเด่นอีกข้อคือการใช้ผังพื้นแบบเปิดโล่ง (open floor plan) เพื่อให้มีอากาศเย็นไหลเวียนและมีแสงธรรมชาติส่องเข้าถึงภายใน

และมีบางหลังที่ วัน โมลีวาน น้อมนำวิถีชีวิตของคนกัมพูชามาเป็นแรงบันดาลใจสอดแทรกในงานออกแบบด้วย อาทิ ห้องสมุดของวิทยาลัยฝึกหัดครูที่มีโครงสร้างคล้ายหมวกฟางแบบดั้งเดิมของชาวนา หรือหอประชุม The Chaktomuk Conference Hall ที่มีหลังคาเป็นรูปทรงของพัด นอกจากนี้ วัน โมลีวาน ยังได้นำรูปแบบการใช้คูน้ำและทางเดินยกสูงของนครวัดมาปรับใช้กับการออกแบบศูนย์กีฬาแห่งชาติ (ที่คนกัมพูชาเรียกว่า The National Olympic Stadium) และศูนย์การศึกษาภาษาต่างประเทศ (Institute of Foreign Languages) เพื่อให้บ้านเมืองมีอ่างเก็บน้ำในฤดูฝน และช่วยลดความร้อนในอาคารได้

อย่างไรก็ดี ยุคทองของ New Khmer Architecture สิ้นสุดลงทันทีในปีช่วงปี 1970s ที่ประเทศกัมพูชาเกิดรัฐประหาร เกิดสงครามเวียดนาม และกองทัพเขมรแดงเข้ายึดครองอำนาจ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้พัฒนาการของสถาปัตยกรรมยุคใหม่ทั้งหมดหยุดชะงัก อาคารสมัยใหม่ถ้าไม่ถูกทำลายก็ถูกทิ้งร้างให้ทรุดโทรม เพราะชาวกัมพูชาส่วนใหญ่รวมถึงกองทัพเขมรแดงที่ครองประเทศในยุคนั้นต่างมองไม่เห็นถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมใหม่นี้ ในทางตรงกันข้ามพวกเขามองมันเป็นสิ่งแปลกปลอมเพราะมันดูทันสมัยเกินไป รวมถึงยังไม่เข้าใจว่าสถาปัตยกรรมใหม่นี้คือหลักหมุดทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของชนชาติกัมพูชาได้ โชคยังดีว่ายังมีคนกลุ่มเล็กๆ เช่นนักศึกษาสถาปัตยกรรมและชาวต่างชาติที่พยายามสร้างความตระหนักรู้และช่วยกันเก็บบันทึกงานสถาปัตยกรรมแบบ New Khmer Architecture ที่ยังหลงเหลืออยู่ จึงทำให้มรดกสถาปัตยกรรมยุคใหม่ของกัมพูชานี้มีรากเหง้าที่ต่อยอด

ภาพ : dezeen.com, atlasobscura.com, benhosking.com, Joshuam Chugh, Thomas Cristofoletti, i.pinimg.com

สามารถติดตามเรื่องราว มรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่ฟื้นชีพอีกครั้งในกัมพูชา และ รวมตึกโมเดิร์นนิสต์จากยุค’60s เพิ่มเติมได้จาก kooper.co

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore