อย่างที่เขากล่าวกันว่าทุกสิ่งนั้นขึ้นอยู่กับมุมมอง บางคนอาจจะมองพื้นที่หนึ่งในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ในมุมมองของหลายๆ คน พื้นที่หนึ่งอาจเต็มไปด้วยชีวิตและจิตใจ ผ่านการใช้งานของผู้อยู่อาศัยและบรรยากาศที่รายรอบ
นี่คือไอเดียตั้งต้นของ The Shophouse 1527 โปรเจ็กต์ที่ Cloud-floor ร่วมกับ IF (Integrated Field) ในการศึกษาและนำเสนอเรื่องราวของชุมชนและความเป็นเมืองด้วยการเปลี่ยนห้องแถวเลขที่ 1527 ในชุมชนสามย่านให้กลายเป็นพื้นที่ทดลองชั่วคราวยาวนาน 24 เดือน “The Shophouse 1527 เป็นพื้นที่ภายใต้โครงการ Space Experiment Project ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการสร้างพื้นที่ทดลองทางความคิด ที่จะพูดถึงคน สังคมและเมืองครับ เป็นพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดของสถาปนิก ศิลปินหรือกลุ่มคนอื่นๆ ที่ต้องการพื้นที่การแสดงออก งานที่ออกมาก็อาจเป็นงานศิลปะหรืองานประเภทอื่นๆ ก็ได้ นอกจากส่วนของนิทรรศการแล้ว เครื่องดื่มที่อยู่ด้านล่างก็จะมีการออกแบบให้ออกมาในธีมเดียวกัน” คุณฟิวส์ นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Cloud-floor เล่าให้เราฟัง

และถ้าที่นี่คือพื้นที่แห่งการทดลอง นิทรรศการแรก Resonance of Lives ที่ The Shophouse 1527 ก็เป็นเหมือนโครงการแรกที่ Cloud-floor ชักชวนคนสร้างสรรค์จากแขนงอื่นๆ มาทดลองสร้างงานด้วยกันเพื่อพูดถึงจิตวิญญาณของพื้นที่นี้ผ่าน ‘คอนเทนต์’ หลากรูปแบบ “เรื่องแรกที่เราอยากเล่าคือเรื่องของผู้อยู่อาศัยเดิม แต่เดิมที่นี่เป็นร้านเหล็กและที่อยู่อาศัย ซึ่งเจ้าของบ้านเดิมก็ยังอยู่ แต่ย้ายไปอยู่ตึกด้านหลัง เราอยากพูดถึงการเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่บูรณะซึ่งมีผู้อยู่อาศัยใหม่เข้ามา นั่นคือช่างที่มาทำการรื้อถอน เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจ เหมือนคนสองกลุ่มนี้ทำงานอยู่ในที่เดียวกัน แต่ต่างช่วงเวลาและจุดประสงค์กัน เราเลยอยากจะบันทึกเซนส์ของการอยู่อาศัยของพื้นที่แห่งนี้” คอนเทนต์ที่ออกมาจึงมีทั้งการนำเสนอโครงสร้างทางกายภาพโดยทีม Cloud-floor เอง ผ่านการปรับเปลี่ยนและร่องรอยเดิมที่ยังคงเก็บไว้ รวมถึงการพูดถึงโครงสร้างผ่านตัวหนังสือโดยทีมบรรณาธิการจาก Soi และงานซาวด์อินสตอลเลชั่นโดยทีม Don Boy Studio
คุณแทน-แทนสกุล สุวรรณกูฏ หนึ่งในสมาชิกทีม Don Boy Studio ก็ยอมรับว่างานนี้มีความท้าทายอยู่ไม่น้อย “พอได้รับโจทย์มาว่าอยากพูดถึงเรื่องการทำลาย เราก็เลยคิดถึง volume matrix ของพื้นที่ ผ่านมุมสี่มุม บวกกับการสั่งสะเทือนของร่างกาย เราเลยมีม้านั่งให้นั่งได้ใกล้ๆ ลำโพงเพื่อให้รับรู้ถึงการสั่นสะเทือนที่ว่า ส่วนมุมสี่มุมจะมีซีเควนซ์ไม่เหมือนกันครับ ซึ่งเราต้องเดินเข้าไปใกล้พอถึงจะรับรู้ได้ ซึ่งทั้งสี่มุมก็มารวมกันในตอนจบ ซึ่งการออกแบบจะทำให้คนต้องเดินไปรอบๆ สเปซ เหมือนเป็นการเล่าเรื่องของสเปซผ่านเสียง งานนี้เป็นงานแรกที่ได้ทำ volume matrix แล้วเป็นงานแบบ site-specific ด้วย ทุกอย่างจึงเป็นการทดลอง สเปซเองก็มีข้อจำกัดเรื่องวัสดุ เป็นพื้นที่ที่มีความสะท้อนสูงมาก นั่นหมายความว่าเราจะควบคุมเสียงไม่ค่อยได้ ความท้าทายเลยอยู่ท่ีว่าเราจะจัดการกับปัจจัยนี้ยังไงได้บ้างครับ”

ทางทีม Cloud-floor เองก็ได้เรียนรู้หลายอย่างจากโปรเจ็กต์นี้เช่นกัน “โปรเจ็กต์นี้เหมือนเป็นการได้ทำในสิ่งที่อยากทำมาตลอดนะ เราอยากให้มีพื้นที่ในการแสดงออกมากกว่านี้ เรามองว่าการแสดงออกเชิงความคิดอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในมิวเซียมเสมอไป แต่อาจจะอยู่ในพื้นที่ที่เป็นปัจเจกก็ได้ โปรเจ็กต์นี้ทำให้เราได้แชร์ความรู้กับคนจากสายงานอื่นๆ ที่มาทำงานกับเรา แต่ถ้าถามว่าในฐานะสถาปนิกได้เรียนรู้อะไรบ้าง ผมว่าเราเรียนรู้ที่จะคิดเยอะขึ้นในการเลือกเก็บหรือเลือกทำลาย มันอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อการทำอาคาร แต่อาจหมายถึงเรื่องของเมืองด้วย คิดอย่างละเอียดว่าจะเก็บส่่วนไหนไว้ เพื่อให้คุณค่าใหม่กับคุณค่าเดิมมันอยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุล แล้วสุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็จะสร้างสิ่งที่เรียกว่าคาแร็กเตอร์ของเมืองขึ้นมาครับ” คุณฟิวส์กล่าว
หลังจากเปิดตัวนิทรรศการมาแล้ว The Shophouse 1527 จะมีกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ มาหมุนเวียนจัดขึ้นเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวให้พื้นที่ ในขณะที่ชั้นล่างจะเปิดเป็นโซนเครื่องดื่มค็อกเทลโดยทีม ‘แลบลิ้น’ โดยจะมีเมนูเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกๆ สองเดือนตามเนื้อหานิทรรศการที่เปลี่ยนไป ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นติดตามกันต่อได้ที่เว็บไซต์ The Shophouse 1527 หรือที่เฟซบุ้ค The Shophouse 1527