fbpx

Yoddoy Sketches กับเส้นทางจากสถาปนิกสู่นักวาดภาพ

คุยกับ ธันดร ประกอบผล ถึงงานอดิเรกที่กลายมาเป็นอาชีพ

ใครได้ลองเข้าไปดูในอินสตาแกรม @yoddoy.sketches ก็คงจะต้องทึ่งไปกับงานวาดมือที่ดูละเอียดสุดๆ ที่โดนใจทั้งนักสะสม รวมถึงลูกค้าที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ มากมาย ซึ่งเจ้าของผลงานก็คือ ดอย-ธันดร ประกอบผล สถาปนิกจากลอนดอนที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักวาดภาพเต็มตัว ซึ่งเขาก็บอกกับเราว่าอาชีพใหม่นี้เริ่มต้นจากแพชชั่นจริงๆ

ก่อนหน้านี้ทราบมาว่าทำงานเป็นสถาปนิกมาก่อน
“เราเรียนจบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบมาก็ทำงานเป็นสถาปนิกกับคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค อยู่ 2 ปีกว่า ก่อนจะตัดสินใจไปลองทำงานด้านแลนด์สเคปที่ฮ่องกงอยู่พักหนึ่ง แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าไม่ถนัด ไม่ได้เป็นไปในแบบที่คิดไว้ ก็เลยกลับมาเป็นฟรีแลนซ์ แล้วค่อยไปเรียนต่อปริญญาโทด้านสถาปัตย์ที่ Bartlett School of Architecture ที่ลอนดอน พอเรียนจบ ก็ได้ทำงานที่ Foster + Partners อีกเกือบ 10 ปี

ตอนเป็นสถาปนิกก็ไม่ค่อยมีเวลาวาดภาพเท่าไหร่ นอกเหนือจากที่ใช้สเก็ตช์ภาพสำหรับพรีเซ็นเทชั่นอยู่บ้าง จนกระทั่งปลายปี 2020 ก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำโดยที่ไม่มีแผนสำรองอะไร อาจเป็นเพราะรู้สึกว่างานสถาปนิกไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของ Flexibility และ Mobility ที่เราต้องการได้ ประกอบกับอยากจะพักจากงานประจำและอยากลองหาอะไรอย่างอื่นทำดู

วันหนึ่งมีโอกาสไปดูนิทรรศการของ David Hockney ที่ RA (Royal Academy of Arts) นิทรรศการนั้นแสดงผลงานของ Hockney ที่วาดด้วย iPad ทั้งหมด ตอนนั้นรู้สึกว่าน่าสนใจตรงที่งานมันใกล้เคียงกับการวาดบนแคนวาส แต่ก็มีอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือน เลยคิดต่อว่าจะเป็นอย่างไรถ้าเราลองทำบ้างแต่เป็นลายเส้นที่เคยทำสมัยเรียนสถาปัตย์ จริงๆ เมื่อเกือบ 10 ปีก่อนก็เคยเห็นงานของ Hockney ที่วาดใน iPad แต่ครั้งนั้นไม่ได้ประทับใจอะไรมาก อาจเป็นเพราะเทคนิคที่เค้าใช้หรือด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้ผลงานครั้งนี้ดูน่าประทับใจกว่า”

อยากให้คนมองว่าเราเป็นใครในฐานะครีเอเตอร์ หรือนิยามตัวเองไว้ว่าอย่างไร
“คิดว่าตัวเองเป็นอยู่ทั้ง 3 อย่าง ทั้ง Architect, Artist และ Illustrator เนื่องจากงานที่ทำมีความหลากหลาย ส่วนที่เป็น Architectural Presentation งานวาดภาพประกอบหนังสือ หรืองานที่วาดส่วนตัวน่าจะใกล้เคียงกับการเป็นศิลปิน ส่วนงานทางด้านสถาปัตย์ก็ยังพอทำอยู่บ้าง แต่ไม่มากแล้ว”

ประเภทผลงานและเทคนิคการวาด อย่างภาพวาดที่เห็นอยู่ใน yoddoy.sketches มีชื่อเรียกเฉพาะว่าอะไร มีเทคนิคหรือวิธีวาดแบบไหน
“งานที่อยู่ใน IG @yoddoy.sketches จะมีงานตั้งแต่ตอนเรียนที่ Bartlett ซึ่งเทคนิคที่ใช้ในสมัยนั้นคือใช้ปากกาหมึกสีดำวาดบนกระดาษไข เทคนิคนี้เหมือนเป็นการใช้เลเยอร์ของโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ เมื่อวาดเสร็จก็สแกนเป็นไฟล์ดิจิทัล แล้วใช้คอมพิวเตอร์รวบรวมแต่ละเลเยอร์ หรือปรับแต่งในขั้นสุดท้าย งานทั้งหมดในเซตนี้จะอธิบายถึง Transformation ตามกาลเวลาของธรรมชาติที่เข้ามาครอบครอง กลายเป็นผู้ใช้อาคารแทนที่มนุษย์ งานดรอว์อิ้งแต่ละภาพจะแสดงถึงทั้งภายในและภายนอกในสเกลที่ต่างกัน

ตอนเรียนที่ Bartlett มีคอร์สเรียนที่แปลกมาก เป็นคอร์สหนึ่งปีที่ไม่มีการสอนใดๆ นอกจากเลคเชอร์จากโปรเฟสเซอร์ หรือ Guest ที่ทำงานทางด้านสถาปัตย์ อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง และตรวจแบบกับติวเตอร์อาทิตย์ละหนึ่งวัน แต่ละยูนิตก็จะมีหัวข้อของโปรเจ็กต์ที่แตกต่างกันไป มีวิธีพรีเซนต์ที่ไม่จำกัด จำได้ว่าทุกครั้งที่มีการ Critic (ทั้งหมด 3 ครั้งก่อนลงไฟนอล) ถูกประเมินกลับมาว่า You will fail เกือบทุกครั้ง (มีการประเมินอยู่ 3 ขั้น ได้แก่ You will fail, Unsatisfaction และ Satisfaction) จนเทอมสุดท้าย ติวเตอร์คงเห็นเราหลงทางมาก เลยบอกให้ไปอ่านหนังสือของ J.G. Ballard เรื่อง High-Rise ผู้เขียนพูดถึงพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย ทั้งในเชิงจิตวิทยาและปัญหาที่เกิดจากการอยู่รวมกันในตึกแห่งหนึ่ง ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

หลังจากที่ได้อ่าน ก็เลยเกิดความคิดเกี่ยวกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่จะทำส่งไฟนอล ซึ่งพูดถึง Modern Architecture ที่มันสร้างปัญหาจนทำให้ความเป็น Utopia ที่ถูกออกแบบมาโดย Modern Architecture กลายเป็น Dystopia ทำให้ผู้อยู่อาศัย แทนที่จะได้รับความสะดวกสบาย กลับมีปัญหามากมายที่เกิดจากงานดีไซน์จนไม่สามารถพักอาศัยได้ ในทางกลับกัน ในสภาวะของความเป็น Dystopia อาจไม่ได้แย่เสมอไป อาจกลายเป็น Utopia ของบางคนได้เช่นกัน คล้ายการตีความในเชิงสัญลักษณ์ของศิลปะและวรรณกรรมในช่วงยุคโรแมนติกที่ใช้ความไม่สมบูรณ์แบบของซากปรักหักพังของสถาปัตยกรรมมาผสมผสานกับแลนด์สเคป เพื่อสื่อถึงโลก Utopia ในจินตนาการในยุคสมัยนั้น ท้ายสุดแล้วเราเลือกหยิบประเด็นนี้มาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์

Spring

ตอนนั้นจึงตัดสินใจแต่งภาค 2 ต่อจากหนังสือ High-Rise เล่าถึงสถานการณ์หลังจากที่ High-Rise นั้นถูกทอดทิ้ง ผู้อยู่อาศัยทุกคนย้ายออกไป ทำให้สภาพของอาคารทรุดโทรมลง และธรรมชาติก็กลายเป็นผู้ที่เข้ามาใช้อาคารแทนมนุษย์ แสดงถึงความเป็น Utopia ในแบบยุคโรแมนติก บนซากปรักหักพังของ Modern Architecture ในตอนนั้นด้วยเวลาเหลืออยู่ไม่มากก่อนส่งไฟนอล อีกทั้งความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ก็ค่อนข้างจำกัด การวาดแบบด้วยมือซึ่งใช้แต่ปากกาสีดำวาดลงบนกระดาษ น่าจะถนัดที่สุด ซึ่งเป็นเทคนิคที่เคยทำสมัยเรียนอยู่จุฬาฯ แต่ก็ไม่เคยคิดว่าสกิลที่มีจะดีพอถึงขนาดที่จะปั้นโปรเจ็กต์ไฟนอลในแบบของ Bartlett ได้ อาจจะด้วยความกดดันจึงทำให้เราสามารถดึงศักยภาพตัวเองออกมาได้ สามารถ develop เทคนิคต่างๆ จนกลายมาเป็นสไตล์ของตัวเองในทุกวันนี้ได้

ส่วนงานช่วงหลังที่ออกจากงานประจำ จะเป็นการวาดใน iPad ทั้งหมด รู้สึกว่าการที่ได้ทดลองใช้ Digital Tools มาสร้างงานที่ยังสามารถรักษาคุณภาพและขั้นตอนที่ใกล้เคียงกับการวาดบนกระดาษ กระบวนการที่ใช้ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการวาดบนกระดาษไข พยายามที่จะตัดสิ่งที่เป็นตัวช่วยอย่างการ Copy/Paste ออกไปให้มากที่สุด แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมากคือการวาดด้วย iPad นั้น เราไม่สามารถเห็นแคนวาสทั้งหมดในเวลาเดียวกันได้ ทำให้ต้องคอยระวังเรื่องโทนของภาพ ซึ่งสำคัญมากในการวาดภาพขาวดำ” 

ภาพเซ็ตนี้มี 4 ภาพ เป็นการใช้กระดาษไขบวกกับคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถใช้แบบเป็นรูปตั้งต้นหนึ่งรูป จากนั้นก็วาดสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในกระดาษอีกเลเยอร์หนึ่ง แล้วค่อย combine ด้วยกันด้วยคอมพิวเตอร์

ส่วนมากภาพที่เลือกวาดจะเจาะจงเป็นแบบไหน มีเหตุผลในการเลือกเป็นพิเศษไหม
“งานในช่วงนี้จะวาดเกี่ยวกับต้นไม้และ Landscape เป็นส่วนใหญ่ ย้อนกลับไปในช่วงล็อกดาวน์ที่อังกฤษ ตอนนั้นอนุญาตให้สามารถออกไปเดินออกกำลังนอกบ้านได้วันละ 1 ครั้ง ด้วยความที่รอบๆ บ้านมีสวนอยู่หลายแห่ง ทุกครั้งที่ออกไปก็จะถ่ายรูปต้นไม้ใบหญ้ากลับมา เห็นต้นไม้แปลกๆ สวยๆ ก็อยากจะลองวาดต้นนั้นต้นนี้ เวลาวาด จะมองทุกอย่างให้เป็นเท็กซ์เจอร์ ชอบคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะใช้แค่ปากกาสีดำมาสร้างเท็กซ์เจอร์แต่ละแบบ ให้สามารถสื่อถึงต้นไม้หรือสิ่งของแต่ละชนิดได้ (อย่างเช่นภาพที่ชื่อ The Curl, Two Pines, The Pond หรือ Spring)

Two Pines

บางภาพก็เลือกที่จะเอาหัวข้อสมัยเรียนอยู่ Bartlett มาสานต่อ โดยที่คราวนี้เราลองเลือกใช้สถานที่ที่ต่างออกไป อย่างเช่นภาพ Piccadilly Circus ทุกครั้งที่เราไปที่นั่นจะรู้สึกถึงความวุ่นวาย ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ หรือคิดตลกๆ ประชัดประชันว่าจะเป็นอย่างไรหากสิ่งวุ่นวายเหล่านั้นหายไปทั้งหมด ถูกเปลี่ยนหรือแทนที่ด้วยธรรมชาติ หรือภาพ Great Court เคยไป Great Court ที่ British Museum ช่วงที่เริ่มคลายล็อกดาวน์ซึ่งคนน้อยมาก ทำให้มีโอกาสได้ซึมซับกับบรรยากาศ หลายคนคงทราบกันดีว่าแต่เดิมนั้น Great Court เป็น Outdoor Space ที่ไม่มีใครสนใจ จน Norman Foster ได้ออกแบบให้ส่วนนี้กลายเป็น Indoor Space และเป็นหัวใจหลักของ British Museum ก็เลยคิดว่าอยากจะเล่าความรู้สึกและเรื่องราวของอาคารไว้ในภาพ”

สังเกตได้ว่าภาพส่วนใหญ่จะบอกเวลาที่ใช้อยู่เสมอ มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษไหม และการบอกจำนวนชั่วโมงของงาน ส่งผลต่อคุณค่า หรือการนำเสนองานอย่างไร
“คิดว่ามันแสดงถึง Craftsmanship ที่เราใส่เข้าไปในการวาดแต่ละรูป ถึงแม้ว่าเราจะใช้ Digital Tools แต่ Craftsmanship ในงานก็ไม่ได้ลดลง หรือจริงๆ แล้วอาจจะมากกว่าในการวาดภาพขนาดเดียวกันในกระดาษด้วยซ้ำ”

อยากให้ช่วยเล่าวิธีการทำงานในแต่ละขั้นตอนหน่อย โดยเฉพาะงาน Illustration ที่ต้องดีลกับลูกค้า
“งาน Illustration ส่วนใหญ่จะเป็นงาน Architectural Illustration ที่ทำกับบริษัทสถาปนิกทั้งที่อังกฤษและเมืองไทย ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่มีคอนเนคชั่นอยู่ หรือมีคนแนะนำมา ก็จะรับบรีฟมาจากลูกค้าว่าต้องการจะสื่ออะไร หรือต้องการความละเอียดของงานขนาดไหน ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าจะเอาไปใช้ใน Presentation ใน Stage ไหนของโปรเจ็กต์ 

อย่างงานที่ทำกับ Foster + Partners ส่วนใหญ่จะนำงานเราไปเสนอกับลูกค้าในขั้นแรกๆ ของโปรเจ็กต์ เป็นเหมือนงานสเก็ตช์ให้เห็นไอเดียคร่าวๆ งานก็จะออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่งานแบบที่เห็นในเพจที่ลง หรืออย่างงานล่าสุดที่เพิ่งทำไป เป็นงานวาดภาพประกอบหนังสือ Branding ของโครงการไฮเอนด์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยลูกค้าอยากได้ภาพที่หรูหรา มีคลาส รูปแบบของผลงานก็จะออกมาใกล้เคียงกับงานส่วนตัว แตกต่างกันตรงที่เราจะใช้ Digital Tools ต่างๆ ได้เต็มที่ โดย Process แล้ว ความคราฟต์อาจไม่เท่า แต่ภาพที่เสร็จก็ดูแทบจะไม่แตกต่างจากภาพที่วาดส่วนตัว” 

รายได้หลักๆ จากการวาดภาพคือช่องทางไหน นำไปต่อยอดอย่างไรอีกบ้าง
“รายได้หลักตอนนี้น่าจะเป็นการขายปริ้นท์กับรับงานตามโจทย์ของลูกค้า และก็งาน Illustration กับบริษัทสถาปนิก ตอนนี้ยังเป็นช่วงที่พยายามทำงานเพื่อสะสม Portfolio ของตัวเอง รวมๆ ไว้ ในอนาคตก็อยากจะจัด Solo exhibition แสดงผลงานของตัวเองสักครั้ง” 

ภาพแนวนี้มีกลุ่มตลาดหรือกลุ่มลูกค้าเฉพาะไหม แล้วคิดว่าสามารถทำเป็นอาชีพได้ไหม
“คิดว่าเฉพาะกลุ่มอยู่ประมาณหนึ่ง เหมือนงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นเรื่องปัจเจก แต่ละคนก็มีความชอบที่ไม่เหมือนกัน ส่วนตัวคิดว่าถ้าเราสามารถวางแบรนด์ตัวเองได้ตามที่อยากให้เป็นก็น่าจะสามารถยึดเป็นอาชีพได้ หรืองานของเราอาจจะไปอยู่บนโปรดักต์ต่างๆ ได้ อาจเป็นลายวอลล์เปเปอร์ ลายผ้า ในอนาคตก็อยากลองขยายตลาดไปในแนวทางนี้เช่นกันถ้ามีโอกาส”

การขายภาพใน NFT เห็นว่านำภาพไปขายใน OpenSea เพราะอะไรจึงทำขาย เห็นโอกาสอะไรในนั้นบ้าง
“หนึ่งในเหตุผลหลักตอนตัดสินใจวาดภาพเป็นอาชีพก็คืออยากให้ชีวิตมีความยืดหยุ่นมากที่สุด สามารถที่จะทำงานที่ไหนก็ได้ การที่เราวาดทุกอย่างใน iPad ก็สามารถช่วยได้เยอะ จนมาได้ยินเกี่ยวกับ NFT ก็เลยลองศึกษาดู มันน่าสนใจตรงที่มีความเป็นดิจิทัลแบบสมบูรณ์ คือสามารถขายงานในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้โดยตรง และในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของงานไว้ได้ด้วย ก็เลยลองเข้าไปขายใน OpenSea ดู แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่ค่อยเข้าใจตลาดตรงนี้ ตอนนี้เลยคิดว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในส่วนนี้เท่าไรนัก”

Picadilly Circus

มุมมองต่อวงการครีเอเตอร์ในไทย คิดว่าปัญหาการเป็นครีเอเตอร์ในไทยตอนนี้คืออะไร มีคอมมูนิตี้หรือวิธีไหนที่จะช่วยซัพพอร์ตครีเอเตอร์ได้ดีกว่านี้ไหม
“ส่วนตัวคิดว่าเทรนด์และความต้องการของตลาดที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วที่บางครั้งอาจดูฉาบฉวยจนเกินไป อาจเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ครีเอเตอร์นั้นไขว้เขวและสับสนกับจุดยืนของตัวเองในการสร้างผลงานได้ แต่ในปัจจุบันที่เริ่มมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้งในส่วนของการเลือกสรรครีเอเตอร์เข้ามาโปรโมทบนแพลตฟอร์มและฐานของลูกค้า การที่มีสื่อกลางที่สามารถเชื่อมโยงให้ทั้งสองฝ่ายเข้าหากันได้ง่ายขึ้น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยลดความกดดันให้กับครีเอเตอร์ลงไปได้ส่วนหนึ่ง”

มีคำแนะนำอะไรสำหรับคนที่สนใจวาดภาพแนวนี้หรืออยากทำเป็นอาชีพไหม
“ปัจจุบันวงการครีเอเตอร์ในไทค่อนข้างเปิดกว้าง หลากหลายขึ้น และไม่ได้ปิดกั้นอยู่ในวงแคบๆ แค่ในประเทศอีกต่อไป ซึ่งนั่นก็หมายถึงตลาดที่กว้างขึ้นและคู่แข่งที่มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน คนไทยที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงอยู่ในต่างประเทศก็มีหลายคน สังเกตได้ว่าทุกคนที่ประสบความสำเร็จมีจุดร่วมที่คล้ายกันคือผลงานที่มีความเฉพาะตัวและมีจุดยืนที่ชัดเจน ส่วนตัวคิดว่าตัวเองยังใหม่และยังคงต้องหาความรู้ คอยศึกษาความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันให้มากขึ้น เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำอยู่ได้ “

สัมภาษณ์โดย อวิกา บัวพัฒนา เรียบเรียงโดย ชนิตร์ปรียา กุลหทัย

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore