fbpx

Xiaomi Way Xiaomi World : แบรนด์ที่รู้ว่า “ของดี ราคาเบา เข้าใจง่าย” ครองโลกได้เสมอ

คำถามที่ว่าแบรนด์นี้ก้าวมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร คงไม่น่าสนใจเท่าพวกเขาจะทำอย่างไรให้ความสำเร็จนี้อยู่ยั่งยืน

คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก Xiaomi ครั้งแรกในฐานะมือถือราคาประหยัด “ที่หน้าตาเหมือนไอโฟน” ซึ่งสำหรับตลาดไทยแล้ว นั่นไม่ได้เป็นจุดขายที่เร้าใจอะไรนัก เพราะบ้านเรามีแบรนด์มือถือราคาประหยัดมากมายที่หน้าตาดีและทำราคาได้สูสีกัน อย่างไรก็ดีเมื่อยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากแดนมังกรรายนี้ตัดสินใจย้ายสำนักงานใหญ่ภาคพื้นอาเซียนมาที่กรุงเทพฯ พร้อมประกาศจะขยายสาขา Mi Store ในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น นั่นต่างหากที่ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า “Xiaomi จะมาไม้ไหนเนี่ย?”  จากวันที่ก่อตั้งธุรกิจเมื่อหนึ่งทศวรรษก่อน ธุรกิจของ Xiaomi พุ่งเร็วและแรงตามสไตล์สตาร์ทอัพจนก้าวขึ้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีเบอร์ต้นของประเทศจีน และล่าสุดเมื่อปี 2019 พวกเขาประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ว่าทำรายได้ทะลุไปถึง 2.31 แสนล้านบาท ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้นี้มาจากธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่นอกประเทศจีนซะด้วย

คำถามที่ว่าพวกเขาก้าวมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ไม่ได้น่าสนใจเท่าพวกเขามีแผนอะไรจะต่อยอดความสำเร็จนี้

ไตรกีฬาโมเดล

หลายปีที่ผ่านมา Xiaomi ทำกำไรมหาศาลได้จากการขายสมาร์ทโฟนราคาถูกให้กับตลาดแมสผ่านทางออนไลน์ แต่เมื่อถึงวันที่ยอดขายมือถือเริ่มชะลอตัว พวกเขาก็พลิกกลยุทธ์มาสร้างเม็ดเงินจากสมาร์ททีวีและสินค้า IoT ในบ้านแทน (ซึ่งก็ขายดิบขายดีทางออนไลน์เช่นกัน) ที่น่าสนใจคือในช่วงเวลาขาลงของธุรกิจผลิตอุปกรณ์มือถือนี้ Xiaomi ตัดสินใจทุ่มทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการอินเทอร์เน็ตและเอไอที่เป็นซิกเนเจอร์ของตัวเองขึ้นมา พวกเขาตั้งชื่อมันว่า Xiaomi Ai ตัวละครที่มีทักษะไม่ต่างจาก Siri หรือ Alexa เพียงแต่มันเกิดที่ประเทศจีนและพูดภาษาจีนเป็นหลักเท่านั้น

โมเดลธุรกิจคู่ขนานที่มุ่งพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์และอินเทอร์เน็ตเซอร์วิสนี้เพิ่งจะตั้งไข่มาได้ไม่นาน แต่ล่าสุด Xiaomi ก็ออกมาประกาศอีกแล้วว่า “ถึงเวลาที่แบรนด์จะต้องปรับโมเดลธุรกิจกันอีกครั้ง” โดยจากนี้ต่อไป Xiaomi จะหันมาให้ความสำคัญกับการขยาย retail space แบบจริงจัง (เป็นอีกหนึ่งการลงทุนหลักต่อจากกลุ่ม hardware และ internet services) โดยแบรนด์ตั้งใจจะใช้พื้นที่ Mi Store ทุกสาขาเป็นพื้นที่ในการสร้างความสัมพันธ์และ loyalty กับเหล่าลูกค้า รวมถึงเป็นที่ที่ Xiaomi จะนำเสนอสินค้า AIoT ใหม่ๆ จากกลุ่มสตาร์ทอัพที่แบรนด์ไปร่วมลงทุนอีกนับ 100 รายด้วย

แผนการลงทุนระลอกนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ระยะกลางของพวกเขาในการสร้างอีโค่ซิสเต็มของสินค้า AIoT ทั้งหมด ทั้งจากกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีและกลุ่มของใช้ในบ้าน ซึ่งนวัตกรรมสากกะเบือยันเรือรบนี้จะถูกทยอยเปิดตัวเป็นพาเหรดกันตลอดทั้งปีโดยผู้บริหาร Xiaomi กล่าวว่า “มือถือหรือทีวีต่อให้ขายดียังไงก็เป็นของที่นานๆ คนจะซื้อ มันไม่มีเหตุผลที่ลูกค้าจะแวะไปที่หน้าร้านของเราบ่อยๆ แต่ถ้าลูกค้าอยากได้ลำโพงบลูทูธรุ่นใหม่ด้วย อยากได้หม้อหุงข้าวที่รับคำสั่งผ่านอินเทอร์เน็ตด้วย หรือจำเป็นต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศเข้าบ้าน ฯลฯ ความต้องการพวกนี้ต่างหากที่จะทำให้เขาอยากแวะไป Mi Store เพื่อเช็คเอ๊าท์ของใหม่กันบ่อยๆ”

ปัจจุบัน Xiaomi ขายสินค้าในกลุ่ม IoT Device ที่ว่าไปแล้วกว่า 50 ล้านชิ้นทั่วโลก โดยเฉพาะ Mi Air Purifier เครื่องฟอกอากาศคุณภาพดีราคาประหยัดที่เป็นสินค้าเรือธงในกลุ่ม เฉพาะในรอบปีที่ผ่านมา Mi Air Purifier มียอดขายถล่มทลายทั้งในประเทศจีนและในทวีปเอเชีย (โดยเฉพาะในประเทศไทยที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างหนัก) “เราขายเครื่องฟอกอากาศคุณภาพดีในราคาที่เข้าถึงได้ นี่คือโซลูชั่นที่คนจำนวนมากกำลังต้องการ จากนั้นเราก็ทำให้ Mi Air Purifier 2 เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้อีก ลูกค้าจึงสามารถเช็คค่าฝุ่นในบ้านได้จากมือถือ และจะได้รับการแจ้งเตือนทันทีที่ถึงเวลาเปลี่ยนไส้กรองด้วย”  

การแก้ pain point ที่โดนใจคนหมู่มาก ทำให้ Xiaomi ลอยลำเป็นผู้ผลิตเครื่องฟอกอากาศที่ขายดีที่สุดในเวลาแค่สองเดือน

นิเวศของนวัตกรรมที่เป็นมิตร

ไม่น่าแปลกที่ Xiaomi จะประยุกต์ใช้แนวคิดเดียวกันนี้กับสินค้าตัวอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Mi Band สายรัดข้อมือฟิตเนสที่ชาร์จแบตครั้งเดียวใช้ได้ยาว 60 วัน (แก้ pain point ที่คนขี้เกียจชาร์จแบตบ่อยๆ) ทุกวันนี้ Mi Band ขายดีแซงหน้า Fitbit และ Apple ไปเป็นที่เรียบร้อย เช่นเดียวกับ Mi Powerbank (ที่ทำราคาต่ำกว่าคู่แข่งแต่ให้ประสิทธิภาพเหนือกว่า) ในตลาดนี้ Mi Band ก็เป็นเจ้าตลาดไปแล้วเช่นกัน

“สินค้าในอีโค่ซิสเต็มของ Xiaomi ตั้งแต่ ปากกา เครื่องฟอกอากาศ หม้อหุงข้าว กระเป๋าเดินทาง เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ลำโพงบลูทูธ ทั้งหมดถูกออกแบบมาเพื่อแก้ pain point ของลูกค้าในระดับราคาที่ดีต่อใจ ทั้งหมดเป็นสินค้าที่ดีไซน์เกินราคา คุณภาพเกินคุ้ม การันตีด้วยรางวัลการออกแบบระดับโลกเป็นร้อยๆ”

ที่ผ่านมาสื่อหลายสำนักวิจารณ์โมเดลธุรกิจนี้ของ Xiaomi ว่าทำให้แบรนด์เป็นเหมือนร้านโชว์ห่วย แต่พวกเขาก็ไม่หวั่นไหว ผู้บริหารของ Xiaomi เคยให้สัมภาษณ์ว่า “มันอาจจะไม่เวิร์คสำหรับแบรนด์อื่นก็ได้ แต่มันเวิร์คสำหรับเรา” ที่สำคัญพวกเขารับฟังฟีดแบคและแนวคิดจากกลุ่มลูกค้าเสมอ เพื่อจะนำไอเดียเหล่านั้นไปพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ร่วมกับสตาร์ทอัพในสังกัด

ท้ายสุด Xiaomi ยังเชื่อว่าความงกลูกค้าหรือหวงเทคโนโลยีไม่ใช่หนทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืน Xiaomi จึงเปิดกว้างที่จะร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ กระทั่งแบรนด์คู่แข่ง ในการ co-create หรือเชื่อมโยงระบบปฏิบัติการระหว่างกัน เพื่อจะนำไปสู่การสร้างอีโค่ซิสเต็มของเทคโนโลยีเอไอที่มีพลังมากขึ้นสำหรับทุกคน เป็นมิตรกับผู้ใช้ในวงกว้าง ฯลฯ

ดังที่โลกเทคโนโลยีเคยพิสูจน์ให้เห็นมาตลอดทุกยุคทุกสมัยว่า “การใช้งานที่เป็นมิตรที่สุดเท่านั้นคือสิ่งที่จะสร้างความได้เปรียบให้ธุรกิจนวัตกรรมอย่างแท้จริง”

ภาพ: Courtesy of Xiaomi

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore