“หมู่อัครมหาสถานงามสง่าอายุกว่าศตวรรษตั้งตระหง่านบนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก หลังที่อลังการสุดประกอบด้วยห้องหับถึง 70 ห้อง สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Beaux-Arts บนพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร ขณะที่บางหลังสร้างขึ้นด้วยหินอ่อนอิตาลีกว่า 14,000 ลูกบาศก์เมตร นำแรงบันดาลใจมาจากพระตำหนักน้อย Petit Trianon ของพระราชวังแวร์ซายส์ แต่ละหลังประดับประดาด้วยศิลปะวัตถุล้ำค่าที่สรรหามาจากทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟคริสตัลระย้า ขอบบัวรูปปวงเทพเทวาแกะสลักจากไม้วอลนัท ผนังกรุด้วยทองคำขาวเลอค่า งานลงรักปิดทองด้วยศิลปะอียิปต์ผสมญี่ปุ่น ภายในคฤหาสน์ตกแต่งด้วยเครื่องเรือนไม้ประดับทอง เครื่องกระเบื้องจีนโบราณ พรมแขวนผืนมหึมาที่ทอจากขนสัตว์และไหม ด้านนอกมีไม้ประดับสวนจากมองโกเลีย และ…และ…และ…”




หากจะให้สิบคนเดาว่าสถานที่อันเว่อร์วังอลังการนี้คือพระราชวังใดและตั้งอยู่ที่แห่งหนตำบลไหน เชื่อว่าหมุดสิบอันคงถูกปักลงไปยังทวีปยุโรปอย่างไม่ต้องสงสัย แต่หารู้ไม่ แท้จริงแล้วอัครมหาสถานที่ว่านี้มิใช่ปราสาทขุนน้ำขุนนางหรือพระราชวังของกษัตริย์ราชวงศ์ใดทั้งสิ้น มันเป็นเพียง “บ้านตากอากาศ” ของสามัญชนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่เผอิญว่ามีเศษเงินเหลือมาสร้างไว้ในเมืองนิวพอร์ต รัฐโรดไอส์แลนด์ เท่านั้นเอง

นิวพอร์ต — เมืองเล็กๆ ริมมหาสมุทรแอตแลนติกทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกานี้ อยู่ห่างออกไปจากนิวยอร์กด้วยระยะขับรถเพียง 3 ชั่วโมง ในอดีตช่วงยุคศตวรรษที่ 18 ถือเป็นเมืองท่าสำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นเมืองตากอากาศในฤดูร้อนของบรรดามหาเศรษฐีที่ปีหนึ่งๆ จะพาครอบครัวมาพำนักกันขำๆ ราว 5-6 สัปดาห์ (เพราะจะต้องแบ่งเวลาไปอาศัยในคฤหาสน์หลังอื่นๆ ด้วย เช่น “Mansion on 5th Avenue” บนถนนฟิฟท์แอเวอะนู “Idle Hour” บนเกาะลองไอส์แลนด์ หรือ “Biltmore Estate” ในเมืองแอชวิลล์ — ที่มองปราดแรกอาจเข้าใจผิดว่าเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้!)

Gilded Age ภาพฝันของอเมริกันดรีม
วันนี้เราจะคุยกันถึงมหาสถาปัตยกรรมอันเป็นสัญลักษณ์ของ “ยุคฉาบทอง” (Gilded Age) ณ ช่วงต่อของปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคที่อเมริกันชนกำลังสร้างเนื้อสร้างตัวหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง เศรษฐกิจของอเมริกาในขณะนั้นต้องเรียกว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงชนิดเอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้ประชากรโลกจากทั้งยุโรปและเอเชียพากันอพยพเข้าไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ก่อร่างสร้างฝันแบบ “อเมริกันดรีม” บนดินแดนที่อิสระเสรีที่สุดสำหรับมนุษย์ทุกชนชั้น
“Gilded Age คือสมญานามแห่งยุคสมัยที่ มาร์ค ทเวน นักเขียนชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ใช้เรียกประวัติศาสตร์บทนี้ แต่เพื่อจะสื่อนัยยะว่าภายใต้ความงามของทองที่ฉาบเคลือบอยู่ อเมริกากำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เข้าขั้นวิกฤต”

The Breakers และ Marble House สองสัญลักษณ์สถานแห่งยุคฉาบทอง
The Breakers และ Marble House คืออัครมหาสถาน 2 แห่งของตระกูลแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt) ตระกูลอภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกันผู้ร่ำรวยขึ้นจากกิจการเรือเดินสมุทร ก่อนจะมาปังๆๆ สุดขีดจากการก่อสร้างระบบรางรถไฟที่เชื่อมอเมริกาตะวันตกสู่อเมริกาตะวันออกได้สำเร็จ ตระกูล “อินดัสเตรียลิสต์” รายนี้ต้องเรียกว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศและความมั่งคั่งของพวกเขาก็ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างมั่นคง เริ่มจากนายคอร์นีเลียส แวนเดอร์บิลท์ รุ่นบุกเบิก มาสู่นายวิลเลียม เฮนรี แวนเดอร์บิลท์ ทายาทรุ่นที่สองที่ได้สร้างสมทรัพย์สินให้เพิ่มพูนทวีไปอีกกว่าสองเท่าตัว
ณ เมื่อวันที่เขาเสียชีวิต วิลเลียม เฮนรี แวนเดอร์บิลท์ ถือเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
ว่ากันว่าทายาทรุ่นที่สาม คือนายคอร์นีเลียส แวนเดอร์บิลท์ที่ 2 (ลูกชายคนโตของวิลเลียม) ได้รับมรดกจากปู่และพ่อรวมกันถึง 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ถ้าเทียบเป็นปัจจุบันก็ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือเป็นเงินไทยแค่ 60,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง) ส่วนนายวิลเลียม คิสซัม แวนเดอร์บิลท์ น้องชายคนที่สองได้มรดกไปราว 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่น้องคนอื่นๆ ก็ได้ไปอีกคนละนิดละหน่อยในระดับที่พอยาไส้ได้ไปสามสี่ชาติ และน้องคนสุดท้องยังมีเงินเหลือมาสร้าง Biltmore Estate ในรัฐนอร์ธแคโลไรนาได้อีกแบบไม่เดือดร้อน

เรื่องเล่าของสองคฤหาสน์ The Breakers และ Marble House นี้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1888 ที่นายวิลเลียม คิสซัม ได้ดำริให้มีการก่อสร้าง ”ซัมเมอร์คอทเทจ” (summer cottage) สำหรับเขาและภรรยาขึ้นในเมืองนิวพอร์ต รัฐโรดไอส์แลนด์ ในสมัยนั้นนิวพอร์ตเป็นเมืองตากอากาศที่มีแต่บ้านพักแนวกระท่อม (cottage house) ซึ่ง Marble House หรือกระท่อมขนาด 50 ห้องของนายวิลเลียมนี้สร้างเสร็จในปีค.ศ.1892 ด้วยค่าก่อสร้างราว 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือเทียบเท่ากับ 307 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน) ในสมัยนั้นเขาใช้หินอ่อนนำเข้าจากอิตาลีถึง 14,000 ลูกบาศก์เมตร จ้างคนรับใช้ไว้ดูแลบ้าน 36 คน ภายในบ้านตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา แต่น่าเสียดายว่าหลัง Marble House สร้างเสร็จเพียง 3 ปีนายวิลเลียมและภรรยาก็ได้หย่าร้างกัน ซึ่ง Marble House ได้ตกเป็นของฝ่ายภรรยา ที่ต่อมาได้สร้าง “เก๋งจีน” เพิ่มไว้ริมมหาสมุทรอีกหลังเพื่อใช้นั่งจิบน้ำชาเพลินๆ ด้วย


ความหรูหราสง่างามของ Marble House นี้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้คน จนนายคอร์นีเลียสผู้พี่ที่ได้มรดกมากกว่า เกิดแรงบันดาลใจอยากมีกระท่อมพักร้อนของตนเองบ้าง เขาสั่งให้ลูกน้องสร้างคฤหาสน์อีกหลังขึ้นบนที่ดินที่ได้ซื้อไว้ก่อนหน้าจากนายปิแอร์ ลอริยาร์ดที่ 4 มหาเศรษฐีเจ้าของโรงงานยาสูบ แต่เผอิญว่าคฤหาสน์ของนายปิแอร์ถูกไฟไหม้ไปในปี ค.ศ.1892 (พอดีกับที่ Marble House สร้างเสร็จ) คอร์นีเลียสจึงจ้างนายริชาร์ด มอริส ฮันท์ สถาปนิกอันดับหนึ่งแห่งยุคนั้น (คนเดียวกับที่ออกแบบ Marble House) มาออกแบบอัครมหาสถาน Beaux-Arts นี้ให้อีกหลัง โดยริชาร์ดได้ใช้ทั้งหินอ่อนจากอิตาลีและอาฟริกา ใช้ไม้และโมเสกหายากจากหลายแหล่งทั่วโลก จนถึงนำเข้าเครื่องตกแต่งอีกสารพัดที่ซื้อต่อได้จากปราสาทเก่าในฝรั่งเศส ฯลฯ
จนในที่สุด “The Breakers” อภิมหาคฤหาสน์ขนาด 70 ห้องที่มีพื้นที่ถึง 11,644 ตารางเมตรก็เสร็จสมบูรณ์พร้อมต้อนรับชาวแวนเดอร์บิลท์ในปี ค.ศ.1895 แต่ชะตาก็ดันเล่นตลกอีก เพราะหลังจากนั้นเพียง 4 ปีเขาก็เสียชีวิตลงจากโรคเลือดออกในสมอง ทิ้งคฤหาสน์หลังงามไว้เป็นมรดกแก่ภรรยาผู้ซึ่งต่อมาก็ได้ยกให้ลูกสาวคนสุดท้อง (เนื่องจากไม่มีพี่ๆ คนไหนอยากได้) จนกระทั่งในที่สุดเมื่อปี ค.ศ.1972 ลูกสาวก็นำคฤหาสน์หลังนี้มาขายให้กับ “สมาคมอนุรักษ์แห่งเทศมณฑลนิวพอร์ต” (The Preservation Society of Newport County) ส่วน Marble House นั้นภรรยาของนายวิลเลียม คิสซัม ได้ขายให้กับนายเฟเดอริก เฮนรี พรินซ์ นักลงทุนชาวอเมริกันรายหนึ่ง ที่ท้ายสุดก็นำมาขายให้กับสมาคมอนุรักษ์แห่งเทศมณฑลนิวพอร์ตอีกในปี ค.ศ.1963

ดราม่าในตระกูลแวนเดอร์บิลท์
นอกจากความเว่อร์วังอลังการของคฤหาสน์ตระกูลแวนเดอร์บิลท์นี้ เรื่องราวส่วนตัวของแต่ละคนในตระกูลก็แซ่บไม่แพ้กัน เช่นเรื่องของคอนซูเอลโล แวนเดอร์บิลท์ (Consuelo Vanderbilt) ลูกสาวของนายวิลเลียมเจ้าของ Marble House ที่ถูกมารดาบงการชีวิตแต่เด็กเพื่อกรุยทางสู่การเป็นสตรีสูงศักดิ์ คุณแม่ของคอนซูเอลโลมุ่งมาดจะให้เธอแต่งงานกับเจ้าชายในราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่งของยุโรปเพื่อจะได้มีคำนำหน้าชื่อ เธอถูกแม่จัดแจงทุกอย่างในชีวิตตั้งแต่การเล่าเรียนภาษาต่างประเทศ ไปจนถึงการแต่งตัวและเสื้อผ้าหน้าผม ว่ากันว่าร้ายกาจถึงขนาดเอาเหล็กมาค้ำหลังลูกสาวเพื่อให้มีบุคลิกงามสง่าดุจพญาหงส์ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็แน่นอนว่าเป็นไปเพื่อให้คอนซูเอลโลมีโปรไฟล์เป็นที่หมายปองของ “ลูกเขยที่แม่หมายปอง” นั่นเอง
และในที่สุด คอนซูเอลโล แวนเดอร์บิลท์ ก็ต้องลงเอยกับท่านดยุคแห่งมาร์ลโบร (Duke of Marlborough) ของอังกฤษ ผู้มาแต่งงานกับเธอพร้อมหนี้สินพะเรอเกวียน (ตบแต่งเสร็จก็ได้เงินถุงเงินถังของแวนเดอร์บิลท์มากอบกู้สถานการณ์สบายไป)

เดาไม่ยาก — สุดท้ายชีวิตรักของทั้งคู่ก็ลงเอยด้วยการหย่าร้าง ซึ่งหากใครเคยดูซีรีส์เรื่อง Downton Abbey ก็น่าจะพอคุ้นๆ กับเรื่องราวทำนองนี้อยู่ อีกเรื่องที่แซ่บไม่แพ้คือเรื่องของนายอัลเฟรด เกวน แวนเดอร์บิลท์ ลูกชายคนที่สามของคอร์นีเลียส แวนเดอร์บิลท์ที่ 2 ชายหนุ่มแสนประเสริฐผู้ยอมสละชีวิตตัวเองให้กับสตรีแปลกหน้า เรื่องนี้มีอยู่ว่าขณะที่อัลเฟรดเดินทางไปทำธุรกิจที่เมืองลิเวอร์พูลด้วยเรือ RMS Lusitania เรือลำดังกล่าวได้ถูกทอร์ปิโด U-20 ของเยอรมนีโจมตีจนอับปาง นายอัลเฟรดพยายามช่วยลำเลียงผู้คนลงเรือเล็กและได้สัญญากับสตรีแม่ลูกอ่อนนางหนึ่งว่าจะหาเสื้อชูชีพมาให้ แต่สุดท้ายเขาก็หาไม่ได้จึงยอมสละชูชีพของตนให้แก่สองแม่ลูกทั้งที่ตัวเองว่ายน้ำไม่เป็น (และเรือช่วยชีวิตก็ไม่มีที่พอสำหรับเขาแล้ว) สุดท้ายร่างของอัลเฟรดก็จมหายไปในมหาสมุทรแอตแลนติกและไม่มีใครพบศพของเขาอีกเลยตลอดกาล…
กลับมาที่เมืองนิวพอร์ต – นอกจากมหาคฤหาสน์ของสมาชิกตระกูลแวนเดอบิลท์แล้ว จริงๆ ที่นี่ยังมีแมนชั่นของตระกูลอื่นที่อยู่ในความดูแลของสมาคมฯ อีกถึง 7 หลัง ซึ่งแต่ละหลังก็มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจไม่แพ้กัน อาทิ “The Elms” ของนายเอ็ดเวิร์ดและนางเฮอร์ไมนี เบอร์วินด์ มหาเศรษฐีเจ้าของเหมืองที่ยิ่งใหญ่อลังการไม่น้อยหน้า มี “Chateau-sur-Mer” คฤหาสน์ของตระกูลเว็ทมอร์ที่ร่ำรวยจากการค้าขายกับประเทศจีน มี “Kingscote” คฤหาสน์ของตระกูลคิง พ่อค้าเครื่องกระเบื้องที่เก็บรวบรวมเครื่องเรือนโบราณหายากและศิลปวัตถุจากจีนไว้มากมาย ฯลฯ


ปัจจุบัน อัครสถานสำคัญทั้ง 11 แห่งในเมืองนิวพอร์ตนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น National Heritage Landmark ของสหรัฐอเมริกาแล้วทั้งหมด และอยู่ในความดูแลของสมาคมอนุรักษ์แห่งเทศมณฑลนิวพอร์ต (The Preservation Society of Newport County) รัฐโรดไอส์แลนด์ ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ยุคนี้สามารถแวะเวียนเข้าชมได้โดยสมัครเป็นสมาชิกรายปีของสมาคมฯ (ค่าสมาชิก 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี) เพื่อเข้าชมภายในแมนชั่นต่างๆ ได้ทั้ง 11 แห่ง (แบบไม่จำกัดครั้งภายในหนึ่งปี) หรือจะเลือกซื้อบัตรเข้าชมเฉพาะ The Breakers และ Marble House ก็ได้ในราคา 32 ดอลลาร์ ซึ่งหากเข้าชมไม่ครบภายในทริปเดียว ก็สามารถเก็บตั๋วมาใช้ภายหลังได้ในระยะเวลายาวถึง 10 ปี



ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว Newport Mansions: www.newportmansions.org
ภาพประกอบ: ชัชรพล เพ็ญโฉม, กุศลสิริ จิตรพงศ์