ในช่วงที่ประเทศอินเดียกำลังบอบช้ำจากการสูญเสียแผ่นดินของรัฐปัญจาบให้กับปากีสถาน และอยู่ยุครื้อฟื้นเริ่มต้นการยืนหยัดด้วยตัวเองหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษกลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยตัวเอง การสร้างเมืองแห่งความสมบูรณ์แบบและก้าวหน้า แลดูเป็นนิมิตหมายอันสำคัญเพื่อสร้างภาพลักษณ์แห่งศักยภาพมุ่งสู่โมเดิร์นอินเดียให้โลกรู้
เมือง Chandigarh (ภาษาไทยใช้ว่า จัณฑีครห์) จึงถือกำเนิดขึ้นในฐานะเมืองหลวงใหม่ของรัฐปัญจาบในฝั่งอินเดีย (ทดแทน Lahore ที่ตกเป็นของปากีสถานไปแล้ว) ควบตำแหน่งเมืองหลวงของรัฐหรยาณาไปในเวลาเดียวกัน ด้วยภาพฝันของนายกคนแรกของอินเดีย ‘ชวาหะร์ลาล เนห์รู’ ผู้เป็นดั่งตัวแทนคนรุ่นใหม่ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะนำอินเดียเข้าสู่ยุคใหม่ที่รุ่งเรืองและเป็นอิสระอย่างแท้จริง เนห์รูพึ่งพาวิสัยทัศน์การออกแบบอย่างตะวันตก โดยทาบทามคู่สถาปนิกผังเมือง Albert Meyer และ Matthew Nowicki มาออกแบบเมืองใหม่แห่งนี้ เทแนวคิดดั้งเดิมตามประเพณีแบบอินเดีย ด้วยแนวคิดแบบอุทยานนคร (Garden City) แบ่งเมืองเป็นเส้นแนวตรงตัดกันเกิดเป็น block หลายๆ ชิ้นรวมกันเป็นใบพัดขนาดใหญ่
“Unfettered by the traditions of the past, a symbol of the nation’s faith in the future.”– Jawaharlal Nehru
แต่แผนเดิมไม่ได้ไปต่อ เมื่อ Matthew Nowicki เสียชีวิตอย่างกะทันหันจากเหตุการณ์เครื่องบินตก ทำให้ Albert Meyer ต้องถอนตัวออกจากโปรเจกต์นี้ ทางรัฐจึงดำเนินการทาบทามสถาปนิกตัวพ่อแห่งสถาปัตยกรรมร่วมสมัยอย่าง Le Corbusier (ชื่อจริงคือ Charles-Édouard Jeanneret) สถาปนิกชาวสวิส-ฝรั่งเศส มารับมาไม้ต่อ ในปี 1951 Le Corbusier ก็เข้ารับงานอย่างเต็มตัวพร้อมทีมออกแบบคู่ใจ Pierre Jeanneret (ญาติสนิทของ Le Corbusier), Maxwell Fry และ Jane B. Drew สองสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเพื่อโซนร้อนชื้น ร่วมกับนักออกแบบชาวอินเดียอีกจำนวนหนึ่ง ปรับโครงสร้างจากที่เคยเป็นใบพัดให้กลายเป็นสี่เหลี่ยมแบ่งเป็นบล็อคแบบ sector จัดวางอย่างเรียบร้อย ขัดกับเมืองอื่นๆ ในอินเดียที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายยุบยิบด้วยถนนเล็กซอยน้อย

ถึงแม้สุดท้ายแล้ว Le Corbusier ไม่ได้ออกแบบอาคารทั้งหมด แต่ลายเซ็นและแนวคิดการออกแบบของเขาแฝงตัวอยู่แทบทุกที่ในเมืองนี้ โดดเด่นที่สุดของเมืองนี้ ต้องยกให้ Capitol Complex หรือศูนย์กลางราชการของรัฐที่ยิ่งใหญ่กว่า 100 เอเคอร์ ผลงานการออกแบบโดย Le Corbusier เอง กับการออกแบบ 3 อาคาร และอีก 2 อนุสาวรีย์ อันเป็นที่เชิดหน้าชูตาอย่างยิ่งของเมือง Chandigarh และได้รับเกียรติเป็นหนึ่งในมรดกโลกของยูเนสโกเมื่อปี 2016 อีกด้วย ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ Capitol Complex มีการปรับปรุงซ่อมแซมอยู่เรื่อย ๆ และเปิดให้คนนอกเข้าชมพร้อมไกด์ที่ทางรัฐจัดให้ฟรี
Capitol Complex ยังถูกใช้ดำเนินการเป็นสถานที่ราชการอยู่ทุกวันนี้ แต่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ โดยทางรัฐจัดทัวร์ให้เข้าชมฟรีพร้อมไกด์ทุกวัน วันละ 3 รอบ
นักท่องเที่ยวสามารถแสดงพาสปอร์ตก่อนเข้าชม แนะนำให้ไปก่อนเวลาอย่างน้อย 15 นาที แต่ละรอบจำกัดจำนวนผู้เข้าชมดังนั้นมาก่อนได้ก่อน
ตัวอาคารหลักทั้ง 3 ‘High Court’, ‘Assembly’, และ ‘Secretariat’ ล้วนเป็นอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ ชวนทึ่งในความยิ่งใหญ่ตั้งแต่แว้บแรกที่เห็น เริ่มตั้งแต่ High Court หรือ Palace of Justice อันเป็นที่ตั้งของทั้งห้องพิจารณาคดีและฝ่ายบริหารรัฐ โดดเด่นด้วยเสาคอนกรีตสามสีขนาดยักษ์สะดุดตามาแต่ไกลอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญดั่งลายเซ็นของ Le Corbusier เอง การออกแบบของ High Court นั้นถูกวางแผนอย่างบรรจงเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้เหล่าพนักงานราชการสามารถทำงานได้จริงตลอดทั้งปี ให้ตัวอาคารสามารถอยู่ยงคงกระพันทนแดดทนฝนไม่ว่าจะฤดูไหน ๆ หลังคาขนาดใหญ่สองชั้นครอบคลุมอาคาร เกิดเป็นช่องลมระหว่างกัน ทำให้ทั้งอาคารมีมวลความเย็น ผลจากการสะกัดไอร้อนจากด่านหลังคาบนสุด ก่อนที่จะสะกัดอีกรอบด้วยหลังคาอีกชั้นก่อนเข้าตัวอาคาร และการเรียงตัวของกระจกในแนวนอนช่วยลดทอนการรับแดดแต่งปลอดโปร่งในเวลาเดียวกัน
ฝั่งตรงข้าม High Court คืออาคาร Assembly ที่เป็นอาคารประกอบกฏหมายของทั้งรัฐปัญจาบและหรยาณา มาพร้อมรูปทรงหลังคาแปลกตา ประตูขนาดใหญ่รอเปิดต้อนรับด้วยสีสันสดใสจากงานศิลป์ที่วาดด้วยฝีมือของ Le Corbusier เอง และบ่อน้ำด้านหน้าที่เหมือนด่านสะกัดความร้อนเพิ่มไอเย็นเข้าตัวอาคารสะท้อนตัวอาคารได้อย่างสวยงาม อาคารนี้แบ่งใช้งานระหว่างรัฐด้วยโครงสร้างภายในที่ต่างกันออกไป โดยฝั่งของปัญจาบครอบด้วยรูปทรงไฮเปอร์โบลิกงอกออกมาเป็นทรงโค้งขึ้นมาจากหลังคา ส่วนฝั่งหรยาณานั้นครอบด้วยหลังคาแบบพีระมิดให้แสงจากทางเหนือ ไกด์พาพวกเราชาวนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมห้องของรัฐปัญจาบ (แต่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป) ซึมซับบรรยากาศห้องราชการแบบที่เราไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ด้วยการใช้สีสันเหลือง แดง เขียว ตัดกับคอนกรีตอย่างไม่เกรงใจกัน ห้อมล้อมด้วยระบบอคูสติกที่ถูกตัดออกมาเหมือนก้อนเมฆ เบรคกับสีสันอย่างประหลาดแต่สวยงาม เชื่อมระหว่างกันภายในอาคารคือพื้นที่ส่วนกลางที่โอ่โถงยิ่งใหญ่ไม่แพ้ภายนอก ค้ำจุนด้วยเสาคอนกรีตขนาดใหญ่สูงขึ้นไปอีกหลายชั้น และช่องไฟรับแสงอาทิตย์ระหว่างชั้นที่ลอดออกมาพอให้เป็นแสงภายในได้อย่างไม่ร้อนเกินไป
ปิดท้ายด้วยอาคารยักษ์ใหญ่ที่สุดใน Capitol Complex นั่นคืออาคาร Secretariat หรืออาคารหน่วยงานรัฐมนตรี น่าเสียดายที่ทางรัฐไม่อนุญาตให้คนทั่วไปเข้าอาคารนี้ แต่แค่ได้มองไกล ๆ จากข้างนอก ก็อดไม่ได้ที่จะยืนทึ่งในความยิ่งใหญ่ของตึกที่มีความยาวกว่า 254 เมตรนี้ โครงสร้างแบบ Beton Brut (คอนกรีตแบบหล่อหยาบ) และแผงบังแสงอาทิตย์แบบ Brise-Soleil ตามแบบลายเซ็นของ Le Corbusier
ระหว่างทางเชื่อมของ High court และ Assembly จุดสำคัญที่พลาดไม่ได้ ก็คือ 2 อนุสาวรีย์ สะท้อนความเป็น Le Corbusier อย่าง Open Hand Monument ที่เรียกว่าเป็นธีมงานในงานของ Le Corbusier เปรียบเป็นความหมายถึง “Open to give and open to receive” (การเปิดใจให้และเปิดใจรับ) อนุสาวรีย์นี้นอกจากจะมีความหมายที่สวยงามแล้ว ยังถูกออกแบบมาพร้อม function เพื่อการใช้งานสำหรับกิจกรรมเสวนา ด้วยการห้อมล้อมของคอนกรีตก่อให้เกิดระบบอคูสติกโดยธรรมชาติ และโพเดียมยกระดับเน้นคนพูดให้เสียงดังฟังชัดไม่ต้องพึ่งระบบไมค์ไฟฟ้าใด ๆ เลย เดินมาอีกหน่อยก็จะพบกับ Tower of Shadows ที่ถูกสร้างไว้เผื่อศึกษาเกี่ยวกับทิศทางของแดด และเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจในร่มที่เย็นเกินความคาดหมาย จากการออกแบบที่โปร่งด้วยช่องลมด้วยแนวคิดแบบ Brise Soleil (Sun breakers) ที่ทุกช่องถูกหันให้ออกจากแสงแดดโดยตรง ด้วยการคำนวนทิศทางแสงมาแล้วอย่างละเอียด ดังนั้นไม่ว่าจะฤดูไหนของปี ร่มเงาของ Tower of Shadows ก็ให้ที่พักพิงหลบความร้อน สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติและโครงสร้างคอนกรีตได้เป็นอย่างอย่างดี
นอกเหนือจาก Capitol Complex ที่ควรค่าแก่การชมเป็นบุญตาเนิร์ดสถาปัตยกรรมแล้ว ที่ Chandigarh เองยังมีตึกสวย ๆ อีกมากมาย ออกแบบโดยลูกทีมของ Le Corbusier ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ Sector 10 ที่รวบรวมพิพิธภัณฑ์สำคัญ ๆ ไว้ที่นี่ หรือจะขับรถเล่นในมหาวิทยาลัยปัญจาบทัวร์ชมสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเหมือนไม่ได้อยู่อินเดีย ก่อนปิดท้ายด้วยค่ำคืนด้วยการทัวร์ Sector 17 อันเป็นย่านศูนย์กลางเมือง เพื่อชมโรงหนังเก่าแก่ Neelam Cinema ที่ตั้งอยู่คู่เมืองมาตั้งปี 1950
โรงหนัง Neelam Cinema ออกแบบโดย Aditya Prakash
ปัจจุบันยังเปิดให้บริการอยู่ปกติ แต่เหลือจำนวนรอบที่น้อยมาก ๆ ตามอายุขัยโรงหนังที่ทรุดโทรม
แต่ผู้เฝ้าโรงหนังใจดียอมให้เราได้เข้าไปชมด้านในระหว่างเปลี่ยนรอบหนังด้วย
สำหรับนักท่องเที่ยวมือใหม่หัดอินเดีย ความแตกต่างระหว่าง Chandigarh และเมืองใหญ่อื่น ๆ ในอินเดียนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เมื่อเกิดการวางแผนอย่างเป็นระเบียบ ความทั่วถึงจึงกระจายตัวทั่วทั้งเมือง ไม่แปลกที่ Chandigarh จะติดอันดับเมืองที่มีประชากรที่มีฐานรายได้สูงที่สุดในประเทศ และชึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่สะอาดที่สุดในอินเดียอีกด้วย จากรถที่เคยบีบแตรกันให้อลหม่านในเมืองอื่น ที่นี่เรียกว่าเงียบสงบกว่าอีกหนึ่งสต็อป ไม่มีรถติดให้ปวดหัว ความสะอาดที่อาจจะไม่ถึงเรียบร้อยมาก แต่กองโคลนข้างทางก็น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด การมาเที่ยวเมือง Chandigarh จึงเปรียบเหมือนการพักสมองละเว้นจากความวุ่นวาย
เมือง Chandigarh คงเป็นชิ้นงาน masterpiece ที่นักออกแบบวัย 70 คนนี้ภูมิใจไม่น้อย เปรียบเสมือนแนวคิดที่เขาได้เชื่อมาตลอดทั้งชีวิต ได้กลายจากร่างและทฤษฎีในกระดาษ เป็นความจริงยิ่งใหญ่สมคาดการณ์ไว้ แสดงจุดยืนต่อ modern architecture และ urban planning ครั้งสำคัญทิ้งท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 1965 ถึงแม้จะมีหลากเสียงที่วิพากย์วิจารณ์ถึงการออกแบบที่ไม่ได้คำนึงถึงพื้นเพและวัฒนธรรมอินเดีย แต่หากไม่ใช่เพราะแนวคิดล้ำสมัยของทั้งนายกเนห์รูและ Le Corbusier แล้วนั้น เราคงไม่เกิดคำถามถึงความเป็นไปได้แห่งอินเดียรุ่นใหม่ จากการเรียนรู้ในเมืองต้นแบบแห่งนี้