fbpx

Tips ไม่ลับฉบับครีเอเตอร์ เป็นนักวาดอย่างไรให้งานรุ่ง โดย ‘เตย – สุทธิภา’ นักวาดภาพประกอบระดับโลก

เผยแนวคิดและวิธีทำงานแบบฟรีแลนซ์มืออาชีพ และวิธีหารายได้หลายๆ ทางของคนทำงานภาพประกอบ

จากหน้าจอสู่ดินสอและกระดาษ

1. ทุกย่างก้าว คือการเริ่มใหม่

“นี่ไม่ใช่อาชีพแรกในชีวิตค่ะ ก่อนนี้เตยทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์มาก่อน ทำงานกับคอมฯ แต่หลังจากไปเรียนต่อที่สวีเดน (ในคอร์สชื่อ Individual Specialization) เราก็หลุดพ้นจากพันธนาการของอาชีพกราฟิกไปเลย เตยค้นพบตัวเองจากช่วงเวลาสองปีนั้น เราเริ่มสนใจการวาดรูปจริงจัง วาดทุกอย่างที่เห็นในธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้า สัตว์ป่า ฯลฯ

ก้าวแรกในอาชีพนักวาดภาพประกอบของเตยคือการเริ่มใหม่ เริ่มจากเราไปฝึกงานกับช่างภาพ Cooper & Gorfer ที่สวีเดน ซึ่งเขาให้เราลองวาดลายเส้นลงบนภาพถ่ายของเขา หลังจากนั้นก็มีโอกาสทำงานออกแบบลายผ้าให้กับแบรนด์เสื้อผ้าแบรนด์หนึ่งชื่อ Velour แล้วเราก็ใช้ทุกโอกาสที่หาได้ฝึกมือมาต่อเนื่อง”

จากกระดาษกลับสู่หน้าจอ

2. อยากเป็นมืออาชีพ ต้องมีหลายทักษะ

“เทคนิคที่เตยใช้คือการวาดมือด้วยดินสอก่อนเสมอ แต่ถ้างานนั้นต้องจบด้วยการใส่สี เราค่อยเอางานไปสแกนแล้วลงสีในคอม ยกตัวอย่างงานที่ต้องอาศัยความละเอียดมากๆ เช่นพวกลายผ้า เป้าหมายคือเราต้องการสร้างความเนียนภายใต้แพทเทิร์นซ้ำๆ ซึ่งบางทีแค่เราขยับดีเทลเล็กๆ เพียงจุดเดียว หรือเปลี่ยนสีนิดเดียว ภาพทั้งภาพมันอาจจะเปลี่ยนไปเลย

นอกจากนี้ สิ่งที่เราเห็นบนกระดาษกับบนเนื้อผ้ามันก็จะต่างกันอีก อันนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติวัสดุที่เราไปคาดหวังมากไม่ได้ แต่สิ่งที่เราต้องคิดคำนวณให้ดีคือเรื่องความกว้างของหน้าผ้าในม้วน เราต้องรู้ว่างานเราจะไปจบที่ไซส์ไหน เพื่อสร้างงานให้มันลงตัวที่สุดให้ได้”

นักวาดคือนักเล่าเรื่อง

3. ทำงานระดับโลก คอนเซ็ปท์ต้องแม่น

“ยกตัวอย่างที่เตยเคยทำงานภาพประกอบให้ลูกค้าโรงแรม Kempinski คอนเซ็ปท์คือ Flowers of the World ที่เขาจะนำไปใช้ใน CI ทั่วโลก ตอนนั้นทำร่วมกับเอเจนซี่ที่ฝรั่งเศสเจ้าหนึ่ง ซึ่งน่าจะเห็นงานเตยจากเอเจนซี่เยอรมันที่เตยมีพอร์ตอยู่ เริ่มแรกคือเราต้องคุยคอนเซ็ปท์กันให้จบ สรุปเป็นภาพใหญ่ว่าเราจะใช้ดอกไม้เป็นตัวแทนของแต่ละทวีปทั่วโลก อย่างของเอเชียจะเป็นดอกโบตั๋น เพราะเป็นดอกไม้ประจำถิ่นที่ปรากฏในประวัติศาสตร์แทบทุกชนชาติ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงไทย ถ้าคุณลองดูภาพเขียนหรืองานศิลป์เก่าๆ คุณจะเห็นภาพดอกโบตั๋น หรือลายดอกโบตั๋นอยู่บ่อยๆ เตยถึงมองว่ามันคือดอกไม้แห่งเอเชีย”

“นักวาดภาพประกอบต้องเริ่มจากการคิดคอนเซ็ปท์ให้ชัดเสมอ”

“งานของเตยจะเด่นเรื่องความละเอียด มีดีเทลค่อนข้างลึก นี่คือสิ่งที่คนอื่นมองเรา”

ความละเอียดคือลายเซ็นของเรา

4 . สร้างตัวตนให้ชัด แล้วงานที่ใช่จะเดินมาหาคุณ

“คิดว่าคนไทยรู้จักเตยมากขึ้นจากการวาดลายผ้าพันคอให้ Jim Thompson ค่ะ ช่วงนั้นทำต่อเนื่องอยู่หลายปี มีผลงานออกมา 10 กว่าลายเห็นจะได้ โจทย์ที่ลูกค้าให้ตอนนั้นคือกว้างมาก เขาอยากเห็นความไทยในมุมที่โมเดิร์นขึ้น เตยก็นำเสนอไปว่าเราอยากสื่อสารผ่านความเป็นเอเชียโดยรวม เน้นเรื่องวัฒนธรรมโบราณต่างๆ ที่มันผสมปนเปกันจนแยกไม่ออก ถ้าจำไม่ผิดคิดว่าเป็นงานแรกที่ลายเส้นของเตยไปปรากฏอยู่บนวัสดุอื่นที่ไม่ใช่กระดาษด้วย ข้อดีคือมันทำให้เราได้รู้จักกับคนกลุ่มใหม่ๆ ช่วยเปิดโลกเราไปอีกขั้น

ถ้าถามว่าโอกาสที่เข้ามาถึงเราทุกวันนี้มาได้ยังไง ทำไมโชคดีจังมีงานดีๆ ทำตลอด เตยคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราทำงานมานาน ก็จะมีคนที่เห็นงานของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเข้าใจว่าโอเค เตย สุทธิภา ทำงานประมาณนี้นะ ฉะนั้นเราต้องทำในส่วนของเราให้เต็มที่ สม่ำเสมอ และพยายามเป็นตัวเราให้มากที่สุด”

“ถ้าเราสร้างเอกลักษณ์ขึ้นมาได้ คนอื่นจะเดินเข้ามาหาเราด้วยสิ่งนั้น งานต้องพูดแทนเราให้ได้”

ลายผ้าพันคอของ Jim Thompson
Illustration ที่ทำให้ Nespresso Suluja – Premium Edition ร่วมกับเอเจนซี่ที่ฝรั่งเศส

เปิดใจกว้างกับอีคอมเมิร์ซ

5. เรียนรู้โลกออนไลน์ สร้างรายได้หลายทาง

“นอกจากงาน commission ที่ทำให้ลูกค้าแล้ว ที่ผ่านมาเตยก็ทำ limited edition print เพื่อขายทาง web shop ด้วย ส่วนนี้จะเจาะกลุ่มลูกค้าที่อยากหาภาพสวยๆ ไปแต่งบ้าน หรือคนที่ชอบสะสมงานศิลปะ และล่าสุดเตยเพิ่งเปิด IG ใหม่อีกช่องทาง เพราะเราเริ่มรู้สึกว่าแพลทฟอร์มมันเปลี่ยนไป หลังๆ นี้คนหันมาซื้อของบน IG มากขึ้น อาจจะด้วยความรวดเร็วที่แพลทฟอร์มนี้มันเอื้อมั้งคะ เช่นเราสามารถถาม-ตอบกันได้เลย สะดวกกับลูกค้ามากกว่า

ในโซเชียลเราต้องทำคอนเทนต์สม่ำเสมอ คิดว่าทำเพื่อคนที่สนใจงานเราจริงๆ”

ดีไซเนอร์บางคนเขามีความสามารถส่วนตัวที่คิดเรื่องธุรกิจเก่ง อย่างเช่น คุณดิว PDM ที่เขามาชวนเตยทำงานคอลแลบฯ ครั้งหนึ่ง เราทำโต๊ะญี่ปุ่นกัน ไอเดียคือเป็นโต๊ะที่สามารถพับเก็บเป็นภาพเขียนแขวนผนังได้ เราตกลงทำเพราะมันน่าสนุก ได้ทดลองสร้างงานบนสื่อที่เราไม่เคยทำมาก่อนด้วย ปรากฏแป๊บเดียวขายหมดเลยค่ะ 200 กว่าตัว ขายทางเพจกับทางไลน์แค่นั้น และเป็นโมเดลที่เราได้เงินมาก่อนแล้วค่อยผลิตด้วย”

เข้าป่าหาธรรมชาติ”

6. หมั่นเติมแรงบันดาลใจให้ชีวิต

“แพชชั่นของเตยคือการเดินป่า แรงบันดาลใจในงานส่วนใหญ่จึงมาจากธรรมชาติ จากเรื่องราวในตำนาน หรือไม่ก็พวกเรื่องเล่าที่มีความเฉพาะถิ่นที่มักจะได้ยินได้ฟังเวลาที่เราเดินทางไปที่ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ภาพวาดกวางในป่าที่มีดวงไฟอยู่ใกล้ๆ ภาพนั้นเตยวาดจากเรื่องแสงไฟลึกลับบนเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งเตยเอามันมาโยงกับประสบการณ์ส่วนตัว และจินตนาการภาพขึ้นใหม่ ดังนั้นมันก็จะไม่เหมือนกับสถานที่นั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เหมือนเราได้สร้างเรื่องราวใหม่ขึ้นมาเพื่อเล่าต่อไปอีก”

“เข้าออกจากคอมฟอร์ตโซน”

7. หาโมเมนท์แห่งความสุข และท้าทายตัวเองเสมอ

“เตยชอบช่วงเวลาที่เรานั่งทำงานที่บ้าน ชอบกระบวนการทำงานของตัวเอง ชอบความสัมพันธ์ที่เรามีกับผลงานตรงหน้า มันเป็นความรู้สึกที่หล่อเลี้ยงจิตใจเรา ชีวิตปกติคือตื่นเช้ามาเริ่มทำงานตั้งแต่ 7-8 โมง ทำไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณบ่ายสี่ค่อยจบวัน

“ยิ่ง work from home เรายิ่งต้องมีวินัย”

ถ้าถามเรื่องความท้าทายในอาชีพ ทุกวันนี้เตยก็พยายามท้าทายตัวเองให้ฝืนธรรมชาติความเนี้ยบของตัวเองอยู่บ้างเหมือนกัน (หัวเราะ) โดยเฉพาะช่วงโควิดที่เราพอมีเวลาหายใจ ก็อยากทดลองทำอะไรที่ใหม่ๆ ดูบ้าง เช่นลองเทคนิคใหม่ ลองอุปกรณ์ใหม่ ฯลฯ เราอยากรู้ว่ามันจะพาเราไปที่จุดไหน ว่าเราจะสามารถเติบโต หรือก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซนของเราไปได้ไกลแค่ไหน น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกอาชีพควรทำค่ะ”


เว็บไซต์ของเตย:
https://suthipakamyam.com

IG ของ Suthipa Store:
www.instagram.com/shop.suthipakamyam

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี