fbpx

“ศิลปินก็ทำธุรกิจได้” ฐิติรัตน์ คัชมาตย์ ศิลปินเครื่องประดับและเจ้าของ FACTOPIA

ฟัง podcast ย่อยง่ายที่เผยแนวคิดการบริหาร 'อาชีพ' 'ความฝัน' และ 'ตัวเลขในบัญชี' ให้สามัคคีกัน

ว่ากันว่า “ศิลปิน” มักมีจุดอ่อนเรื่องธุรกิจ อาจเป็นเพราะอารมณ์ที่อ่อนไหว บวกกับความมั่นในตัวเอง คูณด้วยภาวะโลกส่วนตัวสูง ทำให้วิญญาณศิลปินไม่สามารถรวมร่างกับความเป็นผู้ประกอบการได้ แต่สำหรับ ฟิ่ว – ฐิติรัตน์ คัชมาตย์ ดีไซน์เมกเกอร์ ศิลปินเครื่องประดับ และผู้ก่อตั้งครีเอทีฟคอมมูนิตี้อย่าง Factopia แล้ว เธอกลับสามารถสร้างสมดุลระหว่างทุกบทบาทข้างต้นได้อย่างลงตัว

Kooper คุยกับเธอถึงแนวคิดการทำงาน การทำธุรกิจ และความฉลาดใช้ ‘ข้อดี’ ของทุกอาชีพให้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

อาร์ติสท์ X แลนด์เลดี้

“หลังเรียนจบปริญญาโทที่ Royal College of Art (ประเทศอังกฤษ) ฟิ่วเริ่มทำงานในฐานะศิลปิน-นักออกแบบก่อนค่ะ โดยมีโต๊ะกินข้าวที่บ้านเป็นที่ทำงานหลัก ซึ่งพอทำไปสักพักคุณแม่ก็เอาลอดช่องมาให้ (หัวเราะ) หันไปอีกทีคุณพ่อก็ชวนไปธนาคาร (หัวเราะ) เตียงนอนก็อยู่ไม่ไกล เรียกได้ว่ามีความสุขสบายมาก (หัวเราะร่วน) แต่เวลาที่คนมาขอสัมภาษณ์เราให้เขามาบ้านไม่ได้นะ เพราะพื้นที่มันไม่เหมาะสมไง พอทำตัวแบบนี้ไปสักพักก็รู้ตัวค่ะว่าถึงเวลาที่เราต้องหาสตูดิโอนอกบ้านอย่างจริงจังแล้ว ซึ่งเผอิญคุณอาของฟิ่วเขาซื้อที่ตรงนี้ไว้และยังไม่ได้ทำอะไร เราเลยอาสาเข้ามาทำ (ที่ตั้งของ Factopia ในปัจจุบัน) ตอนแรกก็ตั้งใจว่าจะทำเป็นออฟฟิศออกแบบธรรมดา แต่ด้วยขนาดพื้นที่ที่ใหญ่มาก มันก็รู้สึกแบบ…เวิ้งว้าง เวลาอยู่คนเดียวมันก็หลอนๆ ฝนตก น้ำรั่ว ใบไม้ปลิวว่อน (หัวเราะ) มันไม่ไหวอ่ะค่ะ ฟิ่วเลยคิดว่าถ้าเรามีเพื่อนศิลปินหรือนักออกแบบสร้างสรรค์อื่นๆ เข้ามาแชร์พื้นที่ตรงนี้ และสร้างเป็นชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ด้วยกันแบบเพื่อนบ้านได้ก็น่าจะดี นั่นคือที่มาของ Factopia ที่ฟิ่วเปิดอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2017”

นิยามของ Factopia

“ที่คนนอกเขาเรียกกันก็คือ Creative Community หรือชุมชนคนสร้างสรรค์ค่ะ ที่ตรงนี้แต่เดิมมันเคยเป็นร้านอาหารชั้นเดียวมาก่อน ซึ่งอาคารหลักด้านหน้าฟิ่วปรับปรุงใหม่เป็น 2 ชั้น เก็บโครงสร้างเก่าไว้แต่เสริมความแข็งแรงเข้าไป ด้านในฟิ่วตั้งใจแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นสองส่วน เริ่มจากส่วนหน้าอาคารที่เป็นห้องโถงอเนกประสงค์ ส่วนนี้ตอนแรกอยากทำเป็นร้านอาหาร ถึงขนาดสร้างครัวร้อนครัวเย็นไว้ครบแล้ว แต่สุดท้ายเรามาตรึกตรองว่าเราคงไม่มีเวลาให้ธุรกิจร้านอาหารแน่ เพราะมันต้องการเวลาจากเราแบบ 100% ก็เลยเปลี่ยนวิธีทำมาหากินกับพื้นที่ตรงนี้ใหม่ คือให้คนมาเช่าจัดอีเว้นท์ จัดกิจกรรม เช่าเป็นสตูดิโอถ่ายหนัง ถ่ายละคร ถ่ายเอ็มวีแทน  

แต่สำหรับอาคารด้านหลังฟิ่วเตรียมไว้ทำสตูดิโอให้เช่าอยู่แล้ว โดยมีทางเข้าแยกเป็นสัดส่วนจากอาคารด้านหน้า เพราะเราอยากให้ความเป็นส่วนตัวกับผู้เช่าประจำด้วย  ณ ตอนนี้ก็มีเพื่อนบ้านมาอยู่ด้วย 12 ครัวเรือนแล้ว (พฤศจิกายน 2019)  เป็นออฟฟิศและสตูดิโอในสายครีเอทีฟทั้งหมด เช่น ออฟฟิศสถาปนิก อินทีเรียร์ สตูดิโอถ่ายภาพ โปรดักชั่นเฮ้าส์ นักออกแบบอาหาร ฯลฯ ส่วนด้านหลังไปอีกตอนนี้เป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับใช้นั่งเล่นพักผ่อน แต่ฟิ่วกำลังรีโนเวทบ้านหลังเล็กอีกหลังหนึ่งในสวน ที่ตั้งใจว่าจะทำเป็นคอนเซ็ปท์แบบ Artist in Residence และ Living in Art Space คาดว่าจะเสร็จในปีหน้าค่ะ”

“เราให้ความสำคัญกับการเลือกเพื่อนบ้านมาก เพราะเราอยากให้ทุกคนอยู่อย่างมีความสุข ช่วยเหลือกันได้ ทำงานด้วยกันได้ ปรึกษาหารือกันได้”

โมเดลธุรกิจที่ต้องออกแบบ

“การแบ่งเช่าพื้นที่แบบนี้มันทำให้ฟิ่วมีรายได้เข้ามาบริหารจัดการหลายอย่าง เราสามารถดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการทำงานออกแบบได้โดยไม่ต้องกังวล สมมติถ้าตัดสินใจทำร้านอาหารก็ต้องคอยห่วงว่าวันนี้จะมีลูกค้าไหม พนักงานจะทะเลาะกันอีกรึเปล่า ทำไมวันนี้แม่ครัวทำอาหารไม่อร่อยเลย ลูกค้าทานแล้วท้องเสียทำไงดี ฯลฯ  การแบ่งเช่าพื้นที่ระยะยาวจึงเป็นการตัดปัญหากังวลใจที่เราควบคุมได้ยากออกไปทั้งหมด และค่าใช้จ่ายประจำที่เราต้องจ่ายก็ควบคุมง่าย คือมีพนักงานดูแลสถานที่สองคน มีค่าน้ำค่าไฟ ส่วนรายได้ประจำก็คือค่าเช่ารายเดือน บวกกับรายได้เสริมจากการให้เช่าพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ จากกองถ่ายรายการ กองถ่ายหนัง ฯลฯ สำหรับฟิ่วมองว่ามันเป็นโมเดลที่เวิร์คมากสำหรับสเปซที่เรามี”

เพื่อนบ้านต้องเป็นครีเอทีฟล้วน

“ถ้านึกย้อนกลับไปสมัยเรียน เวลาเราต้องการคำปรึกษาเราสามารถเดินไปถามความคิดเห็นจากรุ่นพี่รุ่นน้องได้ถูกมั้ยคะ แต่พอถึงวัยทำงานที่เราต้องอยู่คนเดียว มันกลายเป็นเราถามจากซัพพลายเออร์เสียเป็นส่วนมาก ซึ่งเขาก็จะบอกว่าทำได้หมด ทั้งๆ ที่อาจจะทำไม่ได้จริง (หัวเราะ) หรือบางทีคำตอบที่ได้ก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่พอเราอยู่ในคอมมูนิตี้แบบนี้ (Factopia) เราเดินไปปรึกษาเพื่อนบ้านได้แทบทุกเรื่องนะ และคำตอบที่ได้กลับมาก็มาจากประสบการณ์ชั้นเยี่ยมของแต่ละท่าน นี่เป็นข้อดีมากสำหรับอาชีพอย่างเรา ความจริงใจที่ได้จากเพื่อนบ้าน ความเป็นพี่เป็นน้อง มันเป็นความสัมพันธ์ที่มากกว่าแลนด์ลอร์ดกับผู้เช่า”

ฉันไม่ทำ co-working space

“ส่วนตัวมองว่าคอนเซ็ปท์ของ hot desk มันไม่เวิร์คในบริบทที่เราเป็นค่ะ หนึ่งคือพื้นที่โซนนี้ไม่ใช่ศูนย์กลางธุรกิจ และเอาเข้าจริง hot desk ทั่วโลกก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จ มันมีค่าโอเปอเรชั่นในการทำธุรกิจที่สูงมาก ต้องมีคนดูแลตลอด เผลอๆ ต้องมีให้บริการชา กาแฟ อาหารว่างอีก ในขณะที้ร้านกาแฟสมัยนี้เขาก็มีกาแฟชั้นเยี่ยม มีขนมอร่อย มีไวไฟแรง ขนาดสตาร์บัคส์เขายังปรับบางสาขาให้จัดประชุมได้ด้วยซ้ำ นี่ยังไม่นับรวมพวกคอนโดมิเนียมที่เขาสร้างพื้นที่ส่วนกลางให้ลูกบ้านมานั่งทำงานได้สบายๆ

ฟิ่วถามตัวเองว่าถ้าเราเองยังไม่ไปใช้บริการ คนอื่นเขาก็คงไม่ใช้หรอก ทำไมเราต้องจ่ายเงินเกือบพันบาทต่อวันเพื่อไปนั่งทำงานข้างนอกล่ะ หรือถ้าต้องจ่ายเงินพันบาท เราไปนั่งร้านกาแฟดีๆ ที่ขนมอร่อยๆ มันจะคุ้มค่ากว่าไหม ที่สำคัญโมเดลธุรกิจของ hot desk ก็เหมือนกับการให้เช่าพื้นที่ออฟฟิศชั่วคราว มันไม่ใช่ระบบการปฏิบัติการหรือระบบการทำงานใหม่ที่โลกอนาคตจะต้องการ”

วันพรุ่งนี้ของ Factopia

“ถ้ามองว่าจะต้องหาผลประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ทุกตารางนิ้ว ฟิ่วก็ต้องมาคำนวณ feasibility ใหม่อย่างละเอียด ซึ่งมันอาจจะได้คำตอบว่าต้องทำคอนโดมิเนียมก็ได้ เพราะทำเลตรงนี้มันติดรถไฟฟ้าเลย (สถานีบางกระสอ) แต่ฟิ่วไม่มองแบบนั้นค่ะ ฟิ่วมองว่าถ้าเราสามารถทำธุรกิจแบบนี้ไปได้เรื่อยๆ และยังทำ Artist in Residence ได้อีก มันคงจะมีประโยชน์กว่าที่เราได้สร้างมูฟเมนท์ใหม่ให้กับพื้นที่และให้กับตัวเองไปพร้อมกัน  

ยกอย่างเช่นในช่วงปีใหม่เราวางแผนจะจัด Pechakucha Night ให้เพื่อนบ้านได้มาแชร์ประสบการณ์กัน รางวัลคือค่าเช่าห้องฟรีหนึ่งเดือน (หัวเราะ) เอาจริงคือเราแค่อยากให้ของขวัญปีใหม่กับลูกบ้าน พร้อมๆ กับสร้างเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองในแบบที่เราไปหาจากที่อื่นไม่ได้ เพราะมันจะเป็นจริงมาก เป็นเรื่องวงในเรื่องลับเฉพาะก็ได้ (หัวเราะ) แต่นี่คือพลวัติที่เกิดขึ้นได้ในพื้นที่เล็กๆ แบบเรา และด้วยความหลากหลายของสตูดิโอ มันก็ทำให้การส่งต่อประสบการณ์ระหว่างกันมีคุณค่ามากขึ้น เกิดนิเวศแบบครบวงจรขึ้นภายในตัวเอง ทำให้ประสบการณ์การทำงานภายในบ้านหลังใหญ่อย่าง Factopia มันพิเศษขึ้นได้”

“Factopia ทำให้ฟิ่วทำงานในฐานะศิลปินได้อย่างสบายใจ ซึ่งมันมีค่ามากกว่าการหากำไรที่เป็นตัวเลขเพียงอย่างเดียว”

เกี่ยวกับ ฟิ่ว – ฐิติรัตน์ คัชมาตย์

ปัจจุบันนอกจากเธอจะเป็นศิลปินเครื่องประดับ ดีไซน์เมกเกอร์ และผู้บริหารของ Factopia แล้ว เธอยังทำงานบรรยายตามมหาวิทยาลัย จัดเวิร์คช็อป และเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งแม้ว่างานสารพัดรูปแบบนี้จะทำให้เธอรู้สึกเหมือน “แกงโฮะ” แต่สำหรับเธอแล้วมันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวมาก

ภาพ: Kooper Team และ tithi.info

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี