fbpx

Titan Project Space พื้นที่ใหม่ที่บอกเล่าเรื่องเก่าของเมืองสงขลา

จากไดอารี่ของคุณยาย กลายมาเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ในย่านเมืองเก่าของสงขลา

กล่าวได้ว่าจุดเริ่มต้นของ Titan Project Space คือสมุดไดอารี่เล่มหนึ่ง

ไดอารี่เล่มนั้นที่เขียนโดยคุณยายของกอบลาภ ไทยทัน นอนอยู่นิ่งๆ แทรกตัวอยู่กับข้าวของของคุณยายที่เสียไปแล้ว 18 ปี จนกระทั่งกอบลาภมาค้นพบโดยบังเอิญ “เป็นไดอารี่ภาษาจีนครับ ตอนแรกก็ไม่ได้มีใครสนใจไปแปล แต่อยู่ดีๆ เราก็นึกเอาไปแปล ปรากฏว่าน่าสนใจมาก คุณยายเขียนบันทึกถึงเรื่องคนจีนในสงขลา มีทั้งเรื่องมุมมองและเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ตัวผมเองก็เริ่มสนใจศึกษาประวัติของสงขลามาเรื่อยๆ ด้วย แล้วยังมีการพยายามผลักดันให้สงขลาเป็นเมืองมรดกโลก สงขลามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและน่าสนใจ พี่นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปินก็เคยลงมาทำวิจัยแล้วนำเสนอเรื่องของสงขลาในรูปแบบของงานศิลปะ ผมเลยคิดว่าเราน่าจะนำข้อมูลที่รวบรวมไว้มาทำให้น่าสนใจ และเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังได้ โครงการนี้จึงเกิดขึ้นครับ” กอบลาภเล่าให้เราฟังถึงที่มาของ Titan Project Space พื้นที่ทางวัฒนธรรมแห่งใหม่บนถนนนครนอกในตัวเมืองเก่าของสงขลา

แม้สงขลาจะมีพิพิธภัณฑ์อยู่หลายแห่ง แต่จากมุมมองของ UX Designer เขาเห็นว่าคนรุ่นใหม่นั้นต้องการประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปจากกรอบเดิมๆ “ผมว่ารูปแบบการรับรู้ข้อมูลของคนสมัยนี้เปลี่ยนไปนะ เราเลยอยากทำอะไรที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยนำความรู้เกี่ยวกับงานของเรามาทำงานชิ้นนี้ด้วย” กอบลาภที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Chief Experience Officer ของ NestiFly กล่าว  ผลที่ออกมาคืองานอินเตอร์แอ็คทีฟที่บอกเล่าวิถีชีวิตของชาวสงขลาในสมัยก่อนโดยที่มีไดอารี่ของคุณยายเป็นตัวเดินเรื่อง “การที่เราดึงความสนใจยูสเซอร์ได้ ก็จะทำให้เขาสนใจและรับเนื้อหาข้อมูลได้มากขึ้นครับ” โดยในส่วนงานอินเตอร์แอ็คทีฟที่รังสรรค์โดย YIMSAMER นี้มีทั้งจุดเช็คอินที่เล่าถึงการอพยพมาขึ้นฝั่งของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เซียมซีดิจิตัล ไปจนถึงดิจิตัล แมปปิ้งของตัวเมืองสงขลาที่จะเชื่อมต่อกับใบหน้าของตัวละคร ซึ่งงานทั้งหมดเป็นการใช้ข้อมูลจากทางกอบลาภเอง และจากการค้นคว้าวิจัยของทีมงานคุณเชน สุวิกะปกรณ์กุล แห่ง Serindia Gallery ส่วนตัวอาคารเองนั้นก็สร้างขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นตัวแทนของยุคสมัย “ถ้าเป็นคนในชุมชน เทรนด์ตอนนั้นเป็นการสร้างบ้านใหม่ให้ดูเหมือนบ้านโบราณ พอเรามาสำรวจพื้นที่ เราพบว่าตัวเมืองสงขลามีตึกสวยเยอะมาก แล้วก็เป็นตัวแทนของแต่ละยุคสมัยได้ดีมาก ก็เลยคิดว่าถ้าจะสร้างใหม่ก็อยากจะสร้างเป็นตัวแทนในยุคนี้ ถ้าคนในอนาคตมองย้อนกลับมา อยากให้เขารู้เลยว่าเป็นยุคนี้ เรียกว่าเป็นการนำเอกลักษณ์ของความเป็นสงขลามาใส่ในบริบทของยุคโมเดิร์นก็ได้ครับ” 

นอกจากงานอินเตอร์แอ็คทีฟแล้ว สเปซแห่งนี้ยังมีผลงานของนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ที่สร้างสรรค์ขึ้นที่สงขลาประดับไว้ให้ชมด้วย กอบลาภบอกว่าเขาอยากจะให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเหมือนเวทีในการนำเสนอเรื่องราวในแง่มุมอื่นๆ ของสงขลาต่อไป และในอนาคต Titan Project Space อาจมีส่วนอื่นๆ เข้ามาช่วยเสริมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเมืองสงขลาให้ครบทุกประสาทสัมผัส อย่างเช่นอาจจะมีโรงน้ำชาเล็กๆ หรือมี Chef’s table บ้างเป็นครั้งคราว ส่วนจะเมื่อไหร่นั้น รอติดตามชม

ติดตามอัพเดตของ Titan Project Space ได้ที่เฟซบุ๊ค Titan Project Space

ภาพ: Warit Meekaew/YIMSAMER

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี