fbpx

The Forgotten 7 กล้องฟิล์มนอกกระแสที่แน่กว่าใคร

ในกระแสกล้องฟิล์มที่กลับมาอีกครั้ง จะเลือกกล้องอย่างไรให้ไม่เหมือนใคร เรามีคำตอบ

กล้องฟิล์มนอกกระแส ที่หลายคนยังไม่รู้จัก อาจเป็นเพราะเราคุ้นตากับกล้องฟิล์มตามกระแสนิยม ไม่ว่าจะเป็นจากความฮิตภาพยนตร์ หรือคนดังในกระแสสังคม ที่ต่างหันมาหยิบกล้องฟิล์มมาใช้ สำหรับมือใหม่ที่อยากลองของ คงหาข้อมูลกล้องพิมพ์นิยมกันได้ไม่ยาก ครั้งนี้เราแค่อยากมากระซิบบอก กล้องฟิล์มนอกกระแส ที่เหนือล้ำคุ้มค่าคุ้มราคา โดยแบ่งความหลากหลายจากประเภทของกล้อง ระบบการทำงาน และขนาดฟิล์มที่ใช้ กล้องบางตัวไม่ใช่กล้องที่ดีที่สุดและไม่ใช่กล้องราคาสูงสุดในแต่ละประเภท แต่เป็นกล้องที่น่าสนใจในการถ่ายภาพได้อย่างสนุก (อันนี้สำคัญมาก) ถ่ายได้อย่างมีเอกลักษณ์ และรูปลักษณ์ยังมีเสน่ห์จนคุณอยากพกพาออกไปถ่ายทุกวัน เป็นกล้องที่สร้างความสุขจากการถ่ายภาพให้กับคุณ มาสนุกกับการได้กดชัตเตอร์ถ่ายภาพจาก 7 กล้องฟิล์มนอกกระแส กันเถอะครับ

กล้องคอมแพ็ค : LOMO LC-Wide

กล้องสายสแน็ประบบออโต้แบบโซนโฟกัสขวัญใจชาวโลโม่ตลอดกาล ถึงแม้ว่าช่วงนี้กระแสโลโม่จะดูเหงาๆ ไป แต่คงยังใครไม่ลืมกล้อง LC-A ในตำนานจากยุค 80’s ที่มีการปรับปรุงพัฒนามาตลอด สำหรับรุ่น LC-Wide ที่มาพร้อมเลนส์ไวด์ 17 มม. Minigon Ultra-Wide Lens รูรับแสง 1:4.5 เป็นการออกรุ่นใหม่นอกเหนือจาก LC-A เลนส์ 35 มม. โดยใช้เลนส์มุมกว้างช่วยเก็บเรื่องราวในภาพ ทั้งในระยะประชิดหรือมุมมองแบบกว้าง ทีเด็ดของกล้องตัวนี้คือการถ่ายภาพได้ถึง 3 ฟอร์แมท คือ ฟูลเฟรม (36 x 24 มม.) จัตุรัส (24 x 24 มม.) และฮาฟเฟรม (17 x 24 มม.)  อีกทั้งยังสามารถถ่ายภาพซ้อนแบบไม่จำกัดจำนวนครั้งในหนึ่งเฟรมอีกด้วย ถึงแม้ว่ากล้องตระกูล LC จะไม่ได้ผลิตในรัสเซียแล้ว แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ในการถ่ายทอดภาพสีสันสดจิ๊ดและติดวิกเนต(Vignette) ไม่แพ้เลนส์รัสเซียต้นฉบับในตำนาน
ภาพ: www.lomography.com 


กล้องคอมแพ็คไฮเอนด์ : Nikon 35Ti

กล้องออโต้โฟกัสไฮเอนด​์ที่สร้างความฮือฮาด้วยแนวคิดการดีไซน์แบบคลาสสิกย้อนยุคสมัย ถือเป็นต้นฉบับนำกระแสการออกแบบกล้องรุ่นใหม่สไตล์วินเทจ ความโดดเด่นในการแสดงค่าหน้ากล้อง ระยะโฟกัส และค่าชดเชยแสง ด้วยเข็มบนหน้าปัดพื้นขาวที่ชวนให้นึกถึงหน้าปัดนาฬิกาคลาสสิกสุดหรู ความรู้สึกดีๆ ที่แตกต่างเมื่อได้มองหน้าปัดคือเสน่ห์ที่ไม่มีกล้องใดเทียบได้ ถ้าพูดถึงความภาพแล้ว Nikon 35Ti ตัวจัดเป็นหนึ่งในกล้องออโต้คอมแพคที่ดีที่สุด มาพร้อมเลนส์ Nikkor 35 มม. รูรับแสง 1:2.8 (รุ่น 28Ti เป็นเลนส์ 28 มม.) และมีระบบวัดแสงแบบ 3D Matrix อันขึ้นชื่อของ Nikon ใครที่ชื่นชอบความคมชัดและคอนทราสสไตล์ Nikon แล้ว ถ้าได้ลองใช้กล้องตัวนี้แล้ว อาจจะเลิกถือกล้องฟิล์ม SLR ได้เลย  
ภาพ:www.photobyrichard.com


กล้อง SLR ฟิล์ม 135 : Nikon FE2

กล้อง SLR ฟิล์ม 135 : Nikon FE2

กล้องฟิล์ม SLR ตระกูล FM/FE ของ Nikon ถือเป็นกล้องพิมพ์นิยมที่โดดเด่นเรื่องความทึกทนและฟังค์อันครบครัน โดยเฉพาะรุ่น FM2N ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมกันมากในหมู่คนรักกล้องฟิล์มมือหมุน ด้วยระบบการทำงานแบบแมนวล แต่…อาจทำให้ความรวดเร็วในการถ่ายภาพลดถอยลง ซึ่งอาจถือเป็นเสน่ห์ที่มีเอกลักษณ์ ขณะที่กล้อง FE2 ที่มีระบบปรับรูรับแสงแบบออโต้ (Aperture Priority AE) ผันแปรตามความเร็วชัตเตอร์ ช่วยให้ถ่ายภาพในเร็วอย่างไร้กังวลเรื่องการปรับค่ากล้อง อีกทั้งแสดงผลในช่องมองด้วยเข็ม ซึ่งช่วยให้ทราบถึงจำนวนสตอปของการวัดแสงที่อ่านได้ง่าย ช่วยให้คำนวนการชดเชยแสงได้ง่ายดาย แม้ว่า FE2 มีข้อเสียที่หลายคนชี้นิ้วประมาน คือถ้าแบตเตอรี่หมดจะถ่ายได้แค่สปีดเดียว (1/250) แต่ทางออกง่ายๆ คือพกพาแบตเตอรี่สำรองไว้ในกระเป๋ากล้อง ซึ่งคงจะไม่หนักหนาเป็นภาระเท่าไรสำหรับยุคสมัยนี้ที่แทบทุกคนพกพาวเวอร์แบงค์สำหรับมือถือตลอดเวลา 
ภาพ: www.kenrockwell.com


กล้องเรนจ์ไฟเดอร์ฟิล์ม 135 : Leica M3

กล้องเรนจ์ไฟเดอร์ฟิล์ม 135 : Leica M3

ถ้าสามารถถือครองกล้องเรนจ์ไฟเดอร์ (rangefinder) ได้เพียงตัวเดียว ตัวเลือกนั้นคือ Leica M3 …หลายๆ คนคงทุบโต๊ะลั่นว่าต้องเป็น Leica M6 สิ แล้วทำไมถึงเลือก Leica M3 ละ เริ่มจากความเป็นกล้องรุ่นแรกของซีรีส์ M ที่ใช้ร่วมกับเลนส์เม้าท์ M ในตำนานมากมายตั้งแต่ออกวางในปี ค.ศ. 1954 จนถึงในปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต กล้องระบบแมนวลกลไล 100% ตัวนี้ถือเป็นกล้องที่มีรูปลักษณ์สวยงามโดดเด่นลงตัว และเป็นต้นแบบของแรงบันดาลใจในการออกแบบกล้องซีรีส์ M ต่างๆ มาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่า Leica M3 จะไม่มีระบวัดแสงใดๆ ก็ดูมองข้ามไปเพราะความทนทานและความเรียบง่ายในการใช้งาน ทำให้ Leica M3 เป็นกล้องในตำนานที่ยังใช้งานได้จริงแม้ในปัจจุบัน ส่วน Leica M6 ที่มีระบบวัดแสงติดมาด้วยนั้น อาจจะช่วยให้สะดวกในการวัดแสง แต่ก็ยังช้าในการต้องปรับสปีดและหน้ากล้อง ถ้าจะเลือกกล้อง M ที่มีระบบวัดแสง ตัวเลือกนั้นคงเป็น Leica M7 กล้องที่มีเสน่ห์ตรงการที่ถ่ายสนุกและทันใจ เพราะมีระบบออโต้สปีด หลายคนบอกว่าเป็นกล้องไลก้าที่ใช้แล้วสิ้นเปลืองฟิล์มที่สุด! แต่ Leica M7 อาจไม่เหมาะสำหรับการเล่นเพื่อสะสม เพราะระบบชัตเตอร์ไฟฟ้าอาจลาโลกไปแบบไม่มีอะไหล่ในอนาคต
ภาพ: www.liveauctioneers.com


กล้อง TLR ฟิล์ม 120 : Yashica-Mat 124g

ถ้าจะเล่นกล้อง TLR แบบไม่จำกัดงบ ก็คงไม่ต้องคิดไกล รีบไปสอย Rolleiflex 2.8 F สุดคลาสสิกเป็นอันจบ หรือจะหา Rolleiflex 2.8 GX ที่ทันสมัยด้วยระบบวัดแสง TTL อันแม่นยำก็ยังได้ แต่ถ้าจะเริ่มเล่นแบบมือใหม่หันมองเลียดพุง แบบว่าขอตัวเดียวจบ ขอแนะนำ Yashica-Mat 124g ตัวนี้ กล้อง TLR รุ่นสุดท้ายจากแดนปลาดิบที่เลิกผลิตในปี ค.ศ. 1986 ถือเป็นการก๊อปปี้ Rolleiflex 3.5 มาแบบดื้อๆ แต่มาในแบบสบายกระเป๋า Yashica-Mat 124g ใช้เลนส์ Yashinon  80 มม. รูรับแสง 1:3.5 ที่จัดว่าให้ภาพดีกว่ากล้อง TLR รุ่นประหยัดของเยอรมันบางรุ่น จุดเด่นสำคัญที่หลายคนชอบคือระบบวัดแสงในตัวที่เป๊ะและไม่ค่อยงอแงเหมือนกล้องวินเทจ TLR ที่มีระบบวัดแสงอื่นๆ รวมถึงใช้อุปกรณ์ต่อเลนส์ของ Rolleiflex แบบ BAY I ได้ทั้งหมด แม้ว่าใช้แบตเตอรี่ PX 625 ที่เลิกผลิตแล้ว (เช่นเดียวกับกล้องวินเทจในกระแสอื่นๆ) แต่ในปัจจุบัน หาอะแดปเตอร์แปลงขนาด และโวลท์ให้ใช้ถ่ายกระดุม LR44 ทั่วไปได้ไม่ยาก เหมาะสำหรับคนเริ่มถ่าย TLR ที่เชื่อว่าแม้ว่าจะขยับขยายไปตัวเทพ ก็คงเก็บตัวนี้ไว้ไปออกงานบู๊งานลุย
ภาพ: Daniel Schaefer / istillshootfilm.org


กล้องเรนจ์ไฟเดอร์ฟิล์ม 120 : Mamiya 6

หลายคนมองว่าภาพจัตุรัส 6X6 เป็นภาพที่มีสัดส่วนในการจัดองค์ประกอบได้สวยงามที่สุด กล้อง 6X6 ที่ขึ้นชื่อคงไม่พ้น Hasselblad ตระกูล 500 แต่ด้วยขนาด รูปทรงและฟังค์ชั่นที่ออกแบบมุ่งเน้นเพื่อการใช้งานในสตูดิโอมากกว่าถือพกพา กลายเป็นข้อจำกัดสำหรับนักถ่ายภาพจำนวนมาก ขณะที่ Mamiya 6 เป็นกล้องเรนจ์ไฟเดอร์แบบเปลี่ยนเลนส์ได้ จึงพกพาสะดวก ทำงานคู่กับเลนส์ 50 มม. 70 มม. และ 150มม. มีม่านชัตเตอร์ไฟฟ้าในเลนส์ (leaf shutters) ที่แม่นยำยิ่งกว่า Leica และ Hasselblad ตัวกล้องมีระบบวัดแสงและระบบถ่ายภาพออโต้ในตัว ส่วนการใช้งานที่จับถือ ปรับค่าได้ราวกับกล้องออโต้ SLR จะช่วยให้คุณใช้เวลาในการจัดองค์ประกอบและโฟกัส มากกว่าการกังวลว่าภาพจะมืดหรือสว่างเกินไป จุดเด่นอีกข้อที่ทำให้ Mamiya 6 มีเอกลักษณ์คือเมื่อยุบเลนส์เก็บเข้ากับบอดี้แล้ว จะมีขนาดเล็กกว่ากล้องฟิล์ม SLR ติดเลนส์มาตรฐานเสียอีก เหมาะสำหรับตากล้องสายพกพา
ภาพกล้อง: www.kenrockwell.com  ภาพ: Matt Osborne / www.flickr.com


กล้องพาโนราม่า : Horizon 202 / Horizon Perfekt 

ความโดดเด่นของภาพพาโนราม่าที่มีเอกลักษณ์ เป็นรูปแบบภาพที่สะดุดตาและเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับการถ่ายภาพ สมัยก่อนคนนิยมเก็บภาพทิวทัศน์แบบพาโนราม่า แต่สมัยนี้เราเก็บภาพทุกชนิด ตั้งแต่แนวสเนป แนวสตรีท ไปจนถึงแนวพอร์ตเทรต แม้กล้องฟิล์ม 135 บางรุ่นสามารถครอปภาพตอนถ่ายหรือมาครอปภาพด้วยโปรแกรมภายหลัง แต่ภาพที่ได้จากเนื้อฟิล์มที่ครอปเล็กลงมีผลต่อความคมชัดของภาพ กล้อง Horizon สัญชาติรัสเซียนี้ เป็นกล้องพาโนราม่าแบบเลนส์หมุน 120 องศา (28 มม. รูรับแสง 1:2.8) บันทึกภาพลงบนเนื้อฟิล์มขนาด 58×24 มม. หรือกว้างเท่ากับ 1.6 เท่าของกล้องฟูลเฟรม ภาพที่ได้จากเลนส์แบบหมุนนี้ มีมุมมองภาพที่โค้ง มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่มีกล้องชนิดอื่นๆที่บันทึกภาพได้แบบนี้ กล้อง Horizon ถือเป็นกล้องพาโนราม่าแบบเลนส์หมุนราคาย่อมเยา หากใครมีงบสูงแนะนำให้ขยับไปเล่น Widelux F7 หรือ F8 สัญชาติญี่ปุ่นที่บึกบึนและมีดีไซน์หรูหราคลาสสิกมากขึ้น ใช้เลนส์ Lux 26 มม. รูรับแสง 1:2.8 ที่คุณภาพสูงขึ้น (…ตามราคา) กล้อง Widelux ยังเป็นกล้องประจำกายของ Jeff Bridges ดาราฮอลลีวูดคนดังที่เขาพกติดตัวบันทึกภาพเบื้องหลังกองถ่ายภาพยนตร์ และภาพแนวสตรีทในแบบพาโนราม่ามากว่า 35 ปี


ภาพ: www.lomography.com 

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี