fbpx

อยากซื้องานศิลปะร่วมสมัย ซื้ออย่างไรให้มีศิลปะ (The Art of Buying Art)

ไม่ว่าคุณอยากเดินบนเส้นทางนักสะสม หรือแค่อยากซื้องานอาร์ตไว้ตกแต่งบ้าน เรามีเทคนิกการจัดสรรเวลา งบประมาณ และแนวทางการเริ่มต้นซื้องานศิลป์มาฝากกัน

โลกของการซื้อขายงานศิลปะที่ผ่านมาอาจฟังดู ‘เข้าใจยาก’ และ ‘แพงมาก’ สำหรับหลายๆ คน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะจริงๆ แล้วเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเคยตกหลุมรักงานศิลปะกันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่มายาคติหลายข้อทำให้เราไม่กล้าจะก้าวเข้าสู่แดนสนธยานี้ เพราะคิดว่ามันคงไกลเกินเอื้อม หรือมันคงยังไม่ถึงเวลาของเรา

Kooper คิดกลับกันว่า ชั่วโมงนี้ที่หลายสิ่งหลายอย่างในตลาดงานศิลป์กำลัง shift อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นแพลทฟอร์มการรับชมงาน ช่องทางการซื้อขาย และราคาที่เข้าถึงง่ายขึ้นกว่าในอดีต มันน่าจะเป็นฤกษ์งามยามดีที่สุดที่มือใหม่สักคนจะลองเริ่มความสัมพันธ์กับงานศิลป์ชั้นดี ขอแค่คุณเปิดใจเรียนรู้ และลองศึกษาโลกของมันแบบจริงใจดูสักครั้ง

Central Gallery 2- Online Exhibition: ‘Die Schöne Heimat’ by Somboon Hormtientong

CENTRAL GALLERY PART 2ผลงานศิลปะที่ดีบางชิ้นเกิดจากสภาวะของปัจจุบันขณะ เพราะบางความงดงามมีการเกิดในห้วงเวลาเฉพาะที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ศิลปินสังเกตและจดบันทึกความคิดและห้วงอารมณ์เหล่านั้นแล้วนำมานำเสนอแก่ผู้ชม ผ่านภาษานามธรรมอย่างลายเส้น น้ำหนักของหมึก เป็นภาษานามธรรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่สามารถอ่านออกอย่างเช่นตัวอักษรที่คิดค้นโดยมนุษย์ ชิ้นงานศิลปะเหล่านั้นสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผลงานชิ้นอื่นหรือพื้นที่ใหม่ได้ เกิดเป็นเรื่องเล่าใหม่ สร้างบริบทที่ต่างจากของเก่า โดยยังคงประสานเป็นหนึ่งเดียวกับที่มาดั้งเดิมของตน อ่านต่อแบบเต็มได้ที่ https://www.jwd-artspace.com/blog/central-gallery-of-the-exhibition-die-schone-heimat-part-2/Good works sometimes are made right in the moment, because beautiful things occur at specific times that cannot be predicted. The artist observed, recorded those thoughts and emotions and presented them to his audience through the abstract language of lines, stripes, ink weight, which occurs naturally, different from the characters invented by humans. Each art piece can interact with other artworks or new space, become a new story or different context. While still harmonizing with one of its origins.Read the full version from >> https://www.jwd-artspace.com/en/blog/central-gallery-of-the-exhibition-die-schone-heimat-part-2/

Posted by JWD Art Space on Saturday, 4 April 2020
ส่วนหนึ่งจากห้องนิทรรศการออนไลน์: ‘Die Schöne Heimat’ โดยศิลปิน สมบูรณ์ หอมเทียนทอง ที่ JWD Art Space
Night talk by Jiab Prachakul shortlisted for BP Portrait award 2020
ภาพวาดสีน้ำมัน Night Talk โดยศิลปิน เจี๊ยบ ประชากูล, 2019 © Jiab Prachakul
ศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ BP Portrait Award (ปี 2020) คลิกที่ภาพเพื่อชมนิทรรศการออนไลน์ใน virtual gallery space ของ National Portrait Gallery

4 เรื่องควรทำเมื่ออยากสะสมงานศิลปะ

ศึกษาดูใจ
การรับรู้รสนิยมเชิงศิลป์ของตัวเองต้องอาศัยเวลา ไม่ว่าคุณจะถูกใจภาพวาดโมเดิร์นนิสต์ ตราตรึงกับภาพถ่ายฟิล์มขาวดำ หรือเทใจให้กับงานภาพพิมพ์เทคนิกโบราณ ฯลฯ อันดับแรกคือคุณต้องใช้เวลาศึกษาและสัมผัสกับงานศิลปะหลากหลายแนวสักพักก่อน (โดยยังไม่เริ่มซื้อ) จนเมื่อเรียนรู้สไตล์ความชอบที่แท้จริงของตัวเองแล้วค่อยเริ่มควักกระเป๋า (นี่คือวิธีที่ดีที่สุด)  ทุกวันนี้ทั้งหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ และอาร์ตแฟร์ต่างๆ ล้วนขยับมาเปิดแพลทฟอร์มออนไลน์ให้คุณได้เปิดหูเปิดตา ซึ่งเทคนิกการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ “อย่าอายที่จะถาม” คุณไม่ต้องกลัวว่าใครจะคิดอย่างไรถ้าคุณถามคำถามอ่อนหัด เพราะคนในตลาดงานศิลปะล้วนอยากให้วงการนี้กลับมาเฟื่องฟู ทั้งอาร์ตดีลเลอร์ อาร์ตคอนซัลแทนท์ ภัณฑารักษ์ เจ้าของแกลเลอรี่ เจ้าของอาร์ตสโตร์ ฯลฯ เขาจะยินดีตอบคำถามและให้คำแนะนำกับคุณทั้งสิ้น

ซื้องานที่ชอบจริง
การซื้องานศิลป์ไม่ได้ใช้ตรรกะแบบวิทยาศาสตร์ นักสะสมตัวจริงมักบอกว่างานที่ ‘ใช่’ จะเร่งอะดรีนาลินในร่างกายของคุณออกมา ว่าไปก็คล้ายกับความสัมพันธ์ชู้สาว คือถ้าหัวใจคุณเต้นแรงขึ้น ถี่ขึ้น และคุณเริ่มมองรอบตัวว่ากำลังมีคู่แข่งหรือเปล่า นั่นแปลว่าคุณกำลังตกหลุมรักเข้าแล้ว  แน่นอนว่าการใช้สมองช่วยคิดด้วยก็เป็นเรื่องที่ดี เช่นว่างานนี้เป็นของศิลปินคนใด เขาหรือเธอมีแววรุ่งมั้ย หรือมีใครที่สะสมงานของศิลปินคนนี้บ้าง ฯลฯ แต่เอาเข้าจริงเราไม่มีวันรู้ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่างานศิลป์ที่เราปลื้มปริ่มในวันนี้มันจะมี ‘มูลค่าเพิ่ม’ ในอนาคตหรือไม่ ดังนั้น ถ้าคุณรู้สึกยินดีที่จะเห็นมันในบ้านของคุณเองไปอีกสิบปี นั่นก็น่าจะเป็นคุณค่าที่เพียงพอแล้ว

ประเมินลิมิตตัวเอง
“ไม่ต้องเป็นเศรษฐีร้อยล้านคุณก็ซื้องานศิลปะได้” คำพูดนี้เป็นเรื่องจริง เพราะตามอาร์ตแฟร์ระดับย่อมหรือบนแพลทฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ คุณสามารถจะพบงานศิลป์ดีๆ มากมายในราคาเอื้อมถึง อาจจะเริ่มตั้งแต่หลักพัน หลักหมื่น ไปจนถึงหลักแสน (ถ้าเป็นงานชิ้นใหญ่มาก) สิ่งสำคัญคือคุณต้องรู้กำลังของตัวเอง ต้องวางแผนการซื้อหรือสะสมให้เหมาะกับศักยภาพ เพราะงานศิลปะเป็นสิ่งที่ตีราคายาก (บางทีเราถึงต้องใช้บริการที่ปรึกษา) ยิ่งถ้าเราเป็นมือใหม่หัดซื้อด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องบาลานซ์การตัดสินใจให้ดี คิดมากไปก็อด แต่คิดน้อยไปก็เจ็บใจได้เช่นกัน

มองให้กว้าง คิดให้ไกล
งานศิลปะไม่ได้หมายถึงเฉพาะงานเพนท์ติ้งเท่านั้น! มันยังหมายรวมถึงงานปั้น งานหล่อ งานพิมพ์ งานโฟโต้ งานภาพประกอบ และอีกสารพัดสิ่งที่ศิลปินจะทำออกมาให้คุณสัมผัส ดังนั้นไม่ต้องกังวลถ้ารสนิยมความชอบของคุณจะเดินมาเจอทางแยกในภายหลัง เพราะในโลกของการซื้อขายงาน สไตล์การสะสม และการสร้างคอลเลกชั่น เป็นเรื่องที่ ‘เฉพาะตัว’ มากๆ มันคือสิ่งที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของคุณแต่ละคนเลยล่ะ เช่นบางคนอาจจะชอบงานคอนเซ็ปชวลทุกชนิด บางคนอาจจะซื้อเฉพาะเพนท์ติ้งที่อายุไม่เกินตัวเอง บางคนสะสมงานพิมพ์อิดิชั่นเลข 3 อย่างเดียว ฯลฯ อย่างไรก็ดี ถ้าคุณมีใจให้กับงานศิลป์ร่วมสมัยหลายรูปแบบ จงหาทางสนุกกับการจัดวางพวกมันในบ้านของคุณด้วย

งานภาพพิมพ์อิดิชั่น โดยศิลปินเขียนชอล์กชาวญี่ปุ่น Chalkboy

ใครเป็นใครในตลาดการค้าศิลปะร่วมสมัย

นอกจากคนสร้างงานกับคนซื้องานแล้ว ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในวงการซื้อขายศิลปะ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ

อาร์ตดีลเลอร์
อาชีพอิสะที่ ‘เดินงาน’ แบบไม่จำเป็นต้องสังกัดองค์กร มักทำงานใกล้ชิดกับผู้ซื้อ หรือ ‘คอลเลกเตอร์’ มีหน้าที่นำเสนอและตามหางานศิลปะให้กับลูกค้า ใครอยากได้อะไรเขาก็จะหาให้ และหักเปอร์เซ็นต์จากราคาซื้อขายงานนั้นๆ (เฉลี่ยประมาณ 20-30%)

แกลเลอรี่
ทำงานในลักษณะองค์กร ประกอบไปด้วยอาร์ตไดเรกเตอร์และฝ่ายขาย โดยฝ่ายขายของแกลเลอรี่จะต่างจากดีลเลอร์ตรงที่เขาผูกติดอยู่กับองค์กรเดียว (หรือในบางแกลเลอรี่อาร์ตไดเรกเตอร์กับฝ่ายขายก็เป็นคนๆ เดียวกัน) ปัจจุบันถ้าแกลเลอรี่ขายงานของศิลปินในสังกัดได้ ก็มักจะหักค่าคอมมิสชันไว้ราวๆ 35% – 50% ขึ้นอยู่กับข้อตกลงและเนื้องานที่แกลเลอรี่ทำเพื่อช่วยศิลปิน

ที่ปรึกษา
กลุ่มนี้บางคนเรียกว่า “อาร์ตแอดไวเซอร์” หรือ “อาร์ตคอนซัลแทนท์” เป็นอาชีพที่ต่างจากดีลเลอร์ตรงที่ต้องให้คำปรึกษากับลูกค้าด้วย เช่นช่วยลูกค้าดูเรื่องราคาซื้อขายที่เป็นธรรม หรือบางทีก็มีเรื่องอินทีเรียร์ดีไซน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นถ้าลูกค้าเป็นธุรกิจโรงแรม อาร์ตคอนซัลแทนท์จะต้องช่วยคัดเลือกงานที่เหมาะสมกับบรรยากาศและพื้นที่ใช้สอยของโรงแรมนั้น และอาจต้องทำงานร่วมกับสถาปนิกหรือมัณฑนากรแบบใกล้ชิด (การจัดหางานศิลปะสำหรับบ้านพักอาศัยก็ทำนองเดียวกัน)

Installation art (40 ชิ้น) โดยศิลปิน สมบูรณ์ หอมเทียนทอง @ JWD Art Space

‘ราคา’ ของงานศิลป์

1) ‘คุณค่า’ และ ‘มูลค่า’ ของงานศิลปะแตกต่างจากของลักชัวรี่ประเภทอื่น ผู้ซื้อจะต้องเห็นค่าทั้งในเชิงนามธรรมและรูปธรรมไปพร้อมกัน ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การสะสมงานศิลปะคือการลงทุนประเภทหนึ่งอยู่แล้ว แต่เป็นการลงทุนที่ระยะยาวมาก ต้องใช้เงินเย็น และห้ามรีบร้อน ดังนั้นนักสะสมส่วนใหญ่จะไม่ซื้องานด้วยแนวคิดเก็งกำไร เพราะนั่นจะทำให้เขาไม่มีความสุข นอกจากนี้คุณต้องยอมรับว่าการลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง การซื้องานศิลป์ก็เช่นกัน

2) ถ้าคุณอยากซื้องานมูลค่าสูงๆ แต่ไม่แน่ใจว่าราคานั้นยุติธรรมหรือไม่ ควรติดต่อเช็คข้อมูลผ่านดีลเลอร์หรือคอนซัลแทนท์อย่างน้อย 2-3 เจ้า ปัจจุบันนี้การให้คำแนะนำเรื่องราคาที่เหมาะสมถือเป็นงานหลักอย่างหนึ่งของอาชีพที่ปรึกษา

3) การซื้อขายงานศิลปะเป็นธุรกิจที่ ‘ผ่อนได้’ โดยไม่มีดอกเบี้ย ยิ่งกับงานราคาแพงด้วยแล้วถือเป็นเรื่องธรรมดามาก คนรวย ‘ที่ใช้เงินเป็น’ ย่อมตั้งลิมิตการใช้จ่ายในแต่ละเดือนอย่างดี สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่วงการศิลปะเข้าใจได้

4) ราชการไทยจัดกลุ่มงานศิลปะเป็น ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ ทำให้การนำเข้างานศิลป์ดีๆ จากต่างประเทศต้องโดนภาษีศุลกากรอย่างน้อย 20% หรือมากกว่า (บวก VAT อีก 7%) ดังนั้นเวลาซื้องานจากต่างประเทศคุณต้องเผื่อใจเรื่องภาษีเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะกับงานประติมากรรมที่ต้องถูกพิจารณาเรื่องประเภทวัสดุ

5) คำพูดที่ว่า “ต้องรวยถึงจะเก็บงานศิลปะได้” เป็นสิ่งผิด ในกรณีถ้าคุณมีงบจำกัด หรือมีไม่พอที่จะไปซื้องานจากแกลเลอรี่ คุณก็ยังมีช่องทางอื่นๆ ที่จะแสวงหางานในสไตล์ที่คุณชอบได้ เช่น รอซื้อตามงานการกุศลเล็กๆ หรือเวลาที่ศิลปินเขาบริจาคงานเพื่อช่วยเหลือสังคม หรือในบางกรณีที่ศิลปินบางท่านขายงาน (บางชิ้น) เองบนแพลทฟอร์มส่วนตัว แน่นอนว่าคุณอาจจะไม่ได้งานชิ้นโบว์แดงของศิลปินคนนั้นหรอก แต่อย่างน้อยความพยายามแสวงหาของคุณ ก็จะทำให้คุณได้ซื้องานที่ชอบในราคาเอื้อมถึง

Recollections of beach forest ปฏิมากรรมกระดาษ โดยพันทิพา ตันชูเกียรติ & มะลิ จุลเกียรติ (Likay Bindery)

แนะแนวคอลเลกเตอร์รุ่นใหม่

1. ซื้อก่อนได้เปรียบ
ถ้าอยากซื้อของดีในราคาไม่แพงมาก คุณต้องซื้อในจังหวะเวลาที่เร็วกว่าคนอื่น ซึ่งอาร์ตแอดไวเซอร์จะช่วยคุณได้ตรงนี้ ปัจจุบันงานดีๆ บางชิ้นถูกซื้อก่อนวันเปิดนิทรรศการด้วยซ้ำ

2. ใช้ตาดู อย่าใช้หูฟัง
เวลาช้อปงานศิลปะ คุณจะรู้ว่าคุณชอบอะไรจริงๆ ก็ด้วยตาของคุณเท่านั้น การฟังคนอื่นมากไปเผลอๆ จะทำให้คุณได้งานที่ไม่ชอบกลับบ้าน แล้วก็มานั่งเสียใจภายหลัง

3. ศึกษาศิลปิน
ถ้าคุณชอบงานของใคร คุณก็ควรศึกษาถึงประวัติการทำงานของศิลปินคนนั้นเพิ่ม เช่นดูเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ผ่านมา ดูว่างานเขาสร้างแรงสั่นสะเทือนในระดับไหน เขาทำงานสม่ำเสมอหรือไม่ หรือตัวเขามีอิทธิพลอะไรกับสังคมบ้าง ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยคอนเฟิร์มเรื่อง ‘ความน่าเก็บ’ ของงานได้ส่วนหนึ่ง

4. ใช้งบเป็นตัวช่วย
ถ้าคุณพอประมาณการได้ว่าเดือนๆ หนึ่งคุณจะแบ่งเงินมาใช้กับศิลปะได้เท่าไร คุณก็จะเห็นภาพว่าคุณควรจะเก็บงานในช่วงราคาประมาณไหน ถ้าออริจินัลเพนท์ติ้งแพงเกิน คุณอาจจะหันมาสะสมงานพิมพ์อิดิชั่นที่ราคาถูกลงมาก็ได้ ซึ่งนั่นจะทำให้คุณมีโอกาสซื้องานได้บ่อยขึ้น สนุกกับการสร้างคอลเลกชั่นของคุณมากขึ้นนั่นเอง

5. เริ่มจากเล็กไปใหญ่
เริ่มต้นจากการซื้องานชิ้นเล็กๆ ก่อน อย่าเพิ่งซื้องานที่แพงมากตั้งแต่แรก คอลเลกเตอร์ทุกคนต้องใช้เวลาในการพัฒนารสนิยม จนวันหนึ่งคุณจะมั่นใจขึ้นเองว่าสิ่งที่คุณตามหาคืออะไร แล้วค่อยซื้องานที่สเกลใหญ่ขึ้น

6. จัดวางอย่างฉลาด
การจัดวางงานศิลป์ในบ้านก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งเช่นกัน โดยทั่วไปสเปซที่คุณใช้เวลาด้วยเยอะๆ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน ห้องอาหาร หรือห้องนอน คุณควรตกแต่งด้วยงานที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย ส่วนงานที่เนื้อหารุนแรง ควรนำไปไว้ในจุดที่คุณไม่ได้สื่อสารด้วยตลอดเวลา เช่น บริเวณโถงทางเดิน เป็นต้น

7. ปรับโฟกัสได้เสมอ
สุดท้ายให้คุณเข้าใจว่าการสร้างคอลเลกชั่นศิลปะส่วนตัว…ก็เป็นเรื่องส่วนตัวไง โฟกัสของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าคุณซื้องานที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตของคุณเอง งานที่คุณซื้อก็จะหลากหลาย เปลี่ยนไปตามความสนใจในแต่ละช่วงชีวิต ซึ่งนี่คือเสน่ห์ของ ‘ไพรเวทคอลเลกชั่น’ ที่สามารถสะท้อนตัวตนของคนๆ หนึ่งออกมาได้ทั้งหมด

ขอให้คุณสนุกกับการเริ่มต้น…

งาน digital art โดยศิลปินไทย เอกชัย มิลินทะภาส
งาน drawing โดยศิลปิน นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล จากนิทรรศการ ‘แขกไปใครมา’
งาน photo จากนิทรรศการ ‘Red Lotus’โดยศิลปิน กมลลักษณ์ สุขชัย

เครดิตภาพ: JWD Art Space, Jiab Prachakul, วิศรุต อังคทะวานิช, เอกชัย มิลินทะภาส, Tithi Kuchmuch, วิภู ศรีวิลาศ, Likay Bindery, นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, กมลลักษณ์ สุขชัย

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี