fbpx

ชีวิตการทำงานของดีไซเนอร์ไทยในรั้วกูเกิ้ล ณ ซิลิคอนวัลเลย์

คงไม่มีใครไม่รู้จักกูเกิ้ล (Google) บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก องค์กรในฝันที่คนอยากจะทำงานด้วยมากที่สุดในโลก เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของคนไทยที่เคยทำงานในกูเกิ้ล แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสายโปรแกรมมิ่ง หรือ ซอฟท์แวร์เอนจิเนียร์ แต่น้อยครั้งที่เราจะได้ฟังประสบการณ์ทำงานของนักออกแบบ

คุณท็อป วาริศ ตุลยาธร เป็นดีไซเนอร์สัญชาติไทยที่มีโอกาสได้เข้าไปทำงานในแผนกดีไซน์ของกูเกิ้ล ชีวิตการทำงานดีไซน์ในองค์กรที่วิศวกรเป็นใหญ่ การทำงานออกแบบที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลและตรรกะมากกว่าสุนทรียภาพนั้นไม่ง่ายเลย

ก่อนหน้านี้ท็อปเคยทำงานให้กับบริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบชื่อดังอย่าง IDEO ที่โดดเด่นเรื่องการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ก่อนจะมีโอกาสได้เข้าไปทำงานที่กูเกิ้ลในซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley)

ท็อป จบการศึกษาจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน (Interior Architecture) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ก่อนจะจบได้ลองทำงานด้านกราฟิกดีไซน์สามมิติ เมื่อจบมาแล้วทำงานด้านสเตจดีไซน์ และสถาปัตย์ พักใหญ่ ก่อนสนใจเรียนต่อด้านออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) ที่ Cranbrook Academy of Art ที่สหรัฐฯ

เริ่มต้นจากเรียนดีไซน์ใน Cranbrook

Cranbrook Academy of Art เป็นโรงเรียนสอนศิลปะและออกแบบเล็กๆ คลาสหนึ่งมีนักเรียนประมาณสิบกว่าคน ทั้งหมดจะมีแค่ 150 คนทั้งโรงเรียน ก่อตั้งโดยนักออกแบบจากฟินแลนด์ รูปแบบการเรียนการสอนจึงไม่ค่อยเหมือนกับโรงเรียนออกแบบในอเมริกาอื่นๆ

ที่นี่มีความยุโรปค่อนข้างสูง การเรียนไม่มีหลักสูตรตายตัว แต่ละสัปดาห์จะมีการเชิญวิทยากร / ศิลปินชื่อดังมาสอน มีศิลปินจะมาช่วยให้ข้อเสนอแนะงาน จะค่อนข้างเป็นกันเองมาก ในส่วนของการวิจารณ์งานเราก็สามารถเลือกไปนั่งในคลาสไหนก็ได้ เช่น เราสนใจประติมากรรม อาจารย์ก็จะมาช่วยวิจารณ์งานเรา ด้วยวิธีการสอนแบบนี้ ทำให้นักเรียนแต่ละคนเหมือนมาหาตัวตนจริงๆ

Cranbrook คือเส้นทางสู่ IDEO

คลาสที่เรียนจะเน้นทุกอย่างที่เป็น 3 มิติ อาจารย์ที่สอนอยู่ตอนนั้นเคยทำงานที่ IDEO มาก่อน เป็นรุ่นที่ทำงานกับ Antenna Design ที่นิวยอร์ก เคยทำงานกับ Naoto Fukasawa เขาก็จะใช้ไอเดียของ 3D (การออกแบบสามมิติ) แต่จะเน้นเทคโนโลยีนวัตกรรม การออกแบบที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (User-Centred Design)

Cranbrook เป็นมหาวิทยาลัยที่สอนได้ค่อนข้างนามธรรม (Conceptual) ไม่ได้เน้นการทำงานเชิงงานฝีมือ (Craft) แต่จะเน้นการเล่าเรื่อง (Storytelling) เราต้องการสื่อสารอะไรก็จะใช้ 3D (การออกแบบสามมิติ) ช่วยในการสื่อสารสิ่งนั้น

อีกสิ่งที่ผมประทับใจใน Cranbrook ก็คือ กิจกรรมประมูลงานศิลปะของนักเรียน (Art auction) มหาวิทยาลัยจะเปิดฮอลล์ทั้งหมด เราสามารถเอางานที่เราทำไปตั้งร่วมประมูล และจะมีคนแถวนั้นมาซื้อ บางอันยังไม่เสร็จดี สีเปื้อนๆ อยู่ก็ไปขายได้ มันเป็นโรงเรียนที่คนมาเสพงานศิลปะ และคนในวงการศิลปะมาพบปะกัน

ผมยังไม่เคยเห็นโรงเรียนไหนในอเมริการที่ใช้รูปแบบนี้ เราจะได้คุยกับ ‘ลูกค้า’ (audience) จริงๆ คือเราต้องคิดว่าคนที่มาซื้องานของเราคือ audience ของเรา ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าศิลปินจะมีอีโก้สูง แต่ของ Cranbrook จะเข้าใจว่าศิลปินมี audience ของเขาอยู่

ยังไม่ทันเรียนจบดี หลังจากที่ทำวิทยานิพนธ์เสร็จก็สมัครไปที่ IDEO ทันที วิธีการสัมภาษณ์งานของ IDEO ค่อนข้างเป็นกันเอง เขาจะเอาผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามานั่งสัมภาษณ์เรา สุดท้ายก็ได้ทำที่ IDEO ที่ชิคาโก ประมาณ 4 ปี ก่อนจะย้ายไปทำที่นิวยอร์ก เพราะรู้สึกว่าชิคาโก แม้จะมีเสน่ห์เรื่องสถาปัตยกรรม แต่เรื่องแฟชั่นกับดีไซน์จะสู้ที่นิวยอร์กไม่ได้ จึงตัดสินใจย้ายไปทำที่นิวยอร์ก

ชีวิตการทำงานใน IDEO

image: www.ideo.com/location/new-york

ผมทำอยู่ทั้งหมด 9 ปี สิ่งที่ผมเรียนรู้มาจาก IDEO จะได้รู้จริงๆ ก็หลังจากตอนออกมาแล้ว ได้มาเปรียบเทียบหลังจากที่ได้ทำกับ Google และตอนที่ได้ทำฟรีแลนซ์ ถึงได้เห็นว่าอะไรที่ขาด ข้อดีหลักๆ ของ IDEO คือเป็นคล้ายๆ กับนักสังเกตการณ์ทางวัฒนธรรม (Cultural Observer) เราจะไม่ลงลึกมาก เพราะเราเป็นบริษัทที่ปรึกษา (Consultancy)

กระบวนการคิดที่ IDEO ใช้คือ ‘การคิดเชิงออกแบบ’ (Design thinking), การออกแบบที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (User-Centred Design) คือไปดูว่าจริงๆ แล้วปัญหามันคืออะไร พฤติกรรมของผู้ใช้งานคืออะไร
การทำงานแบบนี้คือช่วยเปิดโลก เพราะเราไม่เคยใส่เท้าเราไปในรองเท้าคนอื่นเลย พอไปใส่ดูได้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร และวิธีการทำรีเสิร์ชของ IDEO ช่วยเผยให้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่เราไม่รู้

ดีไซน์แก้ได้ทุกปัญหา?

ผมว่าดีไซน์มันช่วยแก้ปัญหาได้ ถ้ามีเงินพอ อย่างเช่นปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น อาจจะต้องรีแบรนด์ ตั้งแต่ Branding เลย ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเก้าอี้ เปลี่ยนเลย์เอาท์ มันต้องเปลี่ยนทั้งระบบ คือถ้าเงินพอ ก็ทำได้

IDEO เชื่อในการทดลอง คืออย่างน้อยทำแบบตัวอย่าง (Mockup) ไปก่อน แล้วค่อยไปดูว่าพฤติกรรมมันเปลี่ยนจริงหรือเปล่า อย่าไปคิดว่ามันคือผลลัพธ์สุดท้ายของการแก้ปัญหา IDEO เชื่อเรื่องนี้มาก เพราะเมื่อก่อน IDEO เป็นบริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็จะทำโมเดลเยอะมาก เขาทดลองหาความเป็นไปได้ จนมาจบที่เขารู้สึกว่าสิ่งนั้นเหมาะสม ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่โซลูชั่นที่ดีที่สุด แต่มันเหมาะสมกับการใช้งานด้านต่างๆ

ทักษะความเป็นหลากหลายแขนง (Multi-disciplinary) ทำให้ IDEO ได้หลายมุมมอง ถ้าคุณเอาสถาปนิก 3 คนมานั่งทำงานดีไซน์ด้วยกัน ก็จะออกมาอีกแนวทางหนึ่ง แต่ถ้าคุณเอาสถาปนิกมาคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ อีกคนหนึ่งเป็นวิศวกร แบบนี้ผลลัพธ์ก็จะไม่เหมือนกัน IDEO เลยให้คุณค่ากับ Design Thinking ก่อน

คนที่มาเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็คต์หลักๆ เลย คือสาขาที่เขาเรียกว่า Human Factors Specialist ที่มีพื้นฐานด้านมานุษยวิทยา, จิตวิทยา มาช่วยหาข้อมูลเชิงลึก (Insight)

การทำงานที่ IDEO ในยุคที่ผมอยู่จะเป็นการสมัครใจทำโปรเจกต์นั้นๆ (volunteer) ซึ่งดีไซเนอร์แต่ละคนก็จะมีความเชี่ยวชาญ (core skill) ที่ชัดเจนอยู่แล้ว พอได้เห็นบรีฟ ก็จะรู้อยู่แล้วว่าเป็นโปรเจกต์อะไร แต่ถ้าทั้งนี้ทั้งนั้นเราไม่อยากทำโปรเจกต์นี้และมีเหตุผลมากพอเขาก็โอเค และหาคนอื่นทำ

ชีวิตฟรีแลนซ์หลังทำงานประจำที่ IDEO มา 9 ปี

หลังลาออก ก็มารับงาน Design Strategy ในช่วงแรกงานผมจะได้จากสตาร์ทอัพค่อนข้างเยอะ พอทำฟรีแลนซ์ผมรู้สึกชื่นชมคนทำสตาร์ทอัพนะ พอไปนั่งคุยแล้วเหมือนได้รับพลังคนนี้มี แพสชั่นจริงๆ ซึ่งก็จะแตกต่างจากการคุยกับคนที่เป็นเมเนเจอร์ หลังทำฟรีแลนซ์อยู่ประมาณไม่ถึง 6 เดือน ผมก็ไปสมัครงานหลายๆ ที่จนได้ที่กูเกิ้ล

ดีไซเนอร์ในออฟฟิศกูเกิ้ล

Google
Google

image: https://techcrunch.com/

บางคนสงสัยว่า เป็นนักออกแบบเข้าไปทำอะไรในกูเกิ้ล ผมว่ามันเป็นโอกาสดีมากกว่าที่ผมได้เข้าไปทำ ที่ผมทำคือ Design Manager ของ Retail Lab ตอนนั้นเป็นช่วงที่ Sundar Pichai ขึ้นมาเป็น CEO ​เขาบอกว่า จริงๆ แล้วกูเกิ้ล คือผู้ผลิตซอฟท์แวร์ (software company) ประสบการณ์ที่เราใช้ทุกอย่างผ่าน กูเกิ้ลมันเป็นซอฟท์แวร์ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์, แอพ หรือ Gmail Sundar บอกว่าเขาอยากให้คนมีประสบการณ์ที่สัมผัสได้ (Physical experience) กับผลิตภัณฑ์ของกูเกิ้ล เลยตั้งทีม Google Hardware ขึ้นมา

ตอนแรก โมเดลของกูเกิ้ล จะเป็นจับมือกับกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อย่าง Samsung, Acer, Lenovo ทำผลิตภัณฑ์พวก Chromebooks ขึ้นมา ตอนนั้นฮาร์ดแวร์ทั้งหมดก็จะเป็น OEM ที่บริษัทอื่นทำ แล้วกูเกิ้ลก็เอา ‘เครื่องยนต์’ ของตัวเองไปแปะ แต่ Sundar อยากให้กูเกิ้ลทำฮาร์ดแวร์ของตัวเองก็เลยฟอร์มทีมนี้ขึ้นมา

การเป็นดีไซเนอร์ที่ทำงานท่ามกลางซอฟท์แวร์เอ็นจิเนียร์และโปรแกรมเมอร์

หลังจากมาทำที่กูเกิ้ล ผมรู้สึกว่าทักษะด้านการออกแบบผมไม่ค่อยพัฒนาขึ้นนะ แต่ทักษะในการดีเบต เนี่ยผม พัฒนาขึ้นมากเลย (หัวเราะ) ต้องทำการบ้านมาเพื่อจะไปดีเบตว่าเราจะเอาแบบนี้ได้อย่างไร นี่คือทักษะที่ผมรู้สึกว่าผมได้รับหลังจากเข้ามาอยู่กูเกิ้ล

เพราะทุกอย่างต้องวัดได้ ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าดีไซน์บางทีมันเป็นเรื่องความรู้สึก (emotional) แล้วบางทีก็ไม่ได้วัดได้ด้วยข้อมูล (data) ล้วนๆ เราก็ต้องพยายามชักแม่น้ำทั้ง 5 เหมือนกัน แต่สุดท้ายเราก็ต้องเอาข้อมูลมา สนับสนุนด้วยเพราะ วัฒนธรรมองค์กรมันเป็นแบบนั้นเวลาทำ User Research เราวัดผลด้วยตรรกะ แต่โลกความเป็นจริงมันซับซ้อนกว่านั้นเยอะ ซึ่งก็เข้าใจว่าคงมีข้อมูลเชิงลึกบางอย่างที่เอาไปใช้ได้ แต่ถ้าเกิดวิชวลมันแข็งแรงก็อาจจะไม่ต้องมีเหตุผลเยอะ

อันนี้ทำให้เห็นกระบวนการตัดสินใจของแต่ละบริษัท ถ้าเป็น Apple คนที่เป็นหัวหน้าทีมมาร์เก็ตติ้ง อาจจะดูว่างานนี้ ‘รู้สึก’ อะไรหรือเปล่า ถ้าไม่รู้สึกก็คัดออกไป แต่ถ้าเป็นกูเกิ้ล ก็อาจจะถามว่าคุณมีข้อมูลไหม บางทีเราเห็นงานเจ๋งๆ แต่สุดท้ายงานที่ถูกเลือกเรารู้สึกว่ามันไม่ได้ดีที่สุด แสดงว่าคนนั้นพรีเซนต์เก่งจริงๆ

โครงสร้างการทำงานของกูเกิ้ล

แผนกของผมคือฮาร์ดแวร์ ซึ่งยังเล็กอยู่ในกูเกิ้ล ดูแล Google Product ทั้งหมด Google Home, Pixel Phone, Chromecast, Laptop, Tablet กระบวนการอนุมัติ (Approval process) ของ Google ไม่ค่อยชัด โครงสร้างหลักๆ จะมี ซีอีโอ, หัวหน้าทีมฮาร์ดแวร์ (Head of Hardware), หัวหน้าการตลาด ไปจนถึง ฝ่ายรีเทล

แต่มันจะมีโครงสร้างที่เกี่ยวเนื่องกัน เพราะผลิตที่เราทำมันเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย เช่น Google Home ไปแตะกับ Ai Google assistant ไปแตะกับ Home automation ด้วยความที่มันแตะกับ
โปรดักท์หลายอย่าง ก็อาจจะมีคอมเมนต์จากหลายฝ่าย เช่นโปรเจ็คต์นี้ฝ่าย AI ควรจะเป็นคนนำทีม

ทักษะจำเป็นของนักออกแบบในยุคปัจจุบัน

ถ้าผมตอบแบบความรู้สึกส่วนตัว คือเราต้องปรับตัว ถ้าเราดู IDEO จากวันแรกมาถึงวันนี้นะ เขาทดลอง Business Model หลายแบบมาก ไปเป็นพาร์ทเนอร์กับสตาร์ทอัพ เริ่มจากทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ ตอนนี้ทำทุกอย่างตั้งแต่ ออกแบบองค์กร (Organizational design) โรงเรียน IDEO University, ideo.org, ด้วยความที่ IDEO ปรับเปลี่ยนไปตามโลก ไม่ได้มีอีโก้ของตัวเอง ผมว่าสิ่งที่นักออกแบบต้องมีอย่างแรกเลยคือ ความสามารถในการปรับตัว (adaptive) แต่ แกนหลัก (core) ของตัวเองต้องยังอยู่ อย่าง IDEO ที่ปรับตัวไปเรื่อย แต่แกนหลักของตัวเองคือ User behavior, Design thinking, User Centred Design ไม่เปลี่ยน เราปรับเปลี่ยนงานไปตามโลกที่เปลี่ยนไป

ทำอย่างไรถึงจะเข้าไปทำงานในกูเกิ้ลได้

ผมรู้สึกว่าผมโชคดี แต่ตอนสัมภาษณ์ผมรู้เลยว่ามันไม่เหมือน IDEO ที่จะเน้นความประทับใจ ไม่มีคนมาให้คะแนน แต่อย่างกูเกิ้ลจะมีคำถามที่ชัดเจน (methodology) ในการสัมภาษณ์ บางคนโดนมอบหมายงาน ให้เวลา 32 ชั่วโมง และกลับมาพรีเซนต์สิ่งที่คิดมา

คำถามสัมภาษณ์ของกูเกิ้ลจะเป็นคำถามปลายเปิด ให้เราตอบคำถามของตัวเอง ตอนแรกถามผมว่า ‘ถ้ากูเกิ้ลจะลงทุน 1 ล้านดอลลาร์ ไปกับอะไรสักอย่าง คุณคิดว่ากูเกิ้ลควรจะลงทุนอะไร’ การตอบคำถามแค่นี้เราต้องใช้องค์ความรู้เยอะมาก พอเราตอบ ก็ถามต่อว่า ‘ข้อดีของอันนี้คืออะไร 10 ข้อ ข้อเสียของอันนี้คืออะไร 10 ข้อ’ เสร็จแล้วให้เขียนตารางเวลาสิ่งที่จะทำสำเร็จใน 1 ปี และให้เรา นำเสนอทั้งหมดนี้กับ Sundar Pichai (ซีอีโอ) ซึ่งพอเข้าไปทำให้รู้เลยว่า คนที่เข้ามาทำงานด้วยกันทุกคนฉลาดมาก IQ อยู่ในอันดับต้นๆ แต่ในเรื่องศีลธรรม หรือ ความเข้าอกเข้าใจ ผมก็ไม่รู้ว่าคำถามเหล่านี้จะวัดได้

การใช้หลักการทำงานด้วย OKRs (Objective and Key Results) การตั้งเป้าหมายและวัดผล

ถ้าเป็นทีมที่ชัดเจนมากๆ อย่างพวก วิศวกรก็จะเข้มงวดมากๆ OKRs ก็คือ Objective & Key Results จะเขียนขึ้นมากเลย OKRs ไตรมาศแรกผมคืออันนี้ และผมจะทำให้ถึงเป้าหมายมันด้วยอันนี้ แล้วความรับผิดชอบของผมจะเป็นแบบนี้ และไม่ใช่แค่ของผมคนเดียว ถ้าเป็นระดับเมเนเจอร์ OKRs ของเราจะสอดคล้อง (Synchronize) กับหัวหน้าของเรา ขึ้นไปจนถึงระดับผู้บริหารเลย ซึ่งเขาบอกว่า มันเป็นวิธีปกป้องขอบเขตการทำงานของตัวเอง บริษัทที่มีพนักงานเป็น แสนๆ คน ผมก็คิดว่า OKRs เป็นสิ่งที่จำเป็น

*บทความนี้เป็นการสรุปความจากบทสัมภาษณ์โดยกองบรรณาธิการ Kooper คุณสามารถฟังเนื้อหาเต็มๆ ได้ใน คลิปวิดีโอ Kooper Podcast

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี