fbpx

สร้างสีสันบนงาน Textile ในแบบฉบับ ‘นวลนิล’ อวิกา สมัครสมาน

พูดคุยถึงตัวตนของ ศิลปินผู้หลงใหลการทอผ้า และการสร้างสรรค์ศิลปะด้าน Textile

ในขณะที่นั่งทำงานอยู่บน Social Media สายตาก็เหลือบไปเห็นคอร์สเวิร์คช็อปจากสถาบันดังบนหน้าฟีด แล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าใครกันนะที่เป็นวิทยากรในแต่ละคลาส เพราะพวกเขาเหล่านั้นถือเป็นพระเอกนางเอกคนสำคัญที่จะดึงดูดเวิร์คช็อปเลยก็ว่าได้ แล้วในที่สุดก็มีคอร์สที่ดึงดูดเรา นั่นก็คือการเวิร์คช็อปทอผ้าด้วยกี่เฟรม โดย อวิกา สมัครสมาน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘นวลนิล’

‘นวลนิล’คือนามแฝงของ อิม – อวิกา สมัครสมาน สาวแฟชั่นศิษย์เก่าสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้หลงใหลการทอผ้า และการสร้างสรรค์ศิลปะด้าน Textile ด้วยผลงานที่การันตีความสามารถของเธอ (Finalist Creative Textiles Award 2015-2016 2 ปีซ้อน,รางวัล Finalist Innovative Craft Award 2015) และผลงานที่น่าสนใจอีกมากมาย ทำให้เราหมดข้อสงสัยว่าทำไมเธอถึงเป็นที่รู้จักของสาวกเวิร์คช็อปที่รักการทอผ้า และหากคุณยังไม่คุ้นเคยกับชื่อของเธอ วันนี้คุณจะได้รู้จักเธอมากขึ้น และเข้าใจว่าทำไมเราถึงสนใจในตัวเธอขนาดนี้

ที่มาของชื่อ นวลนิล

จริงๆ คือเป็นชื่อแฝงตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ที่คณะ เป็นชื่อที่เพื่อนตั้งให้ นวลก็คือผู้หญิง นิลก็คือดำ (หัวเราะ) แล้วมันก็ติดปากดี ก็เลยใช้ชื่อนี้ไปเลย ประเด็นก็คือเราเปลี่ยนชื่อในเพจไม่เป็นด้วยแหละ สอนไปสักพักแล้วคนก็เริ่มจะจำชื่อนี้ได้ก็เลยตัดสินใจไม่เปลี่ยนแล้วละกัน

กี่เฟรมคืออุปกรณ์ทอผ้าที่ชอบใช้

กี่เฟรมมันเป็นกี่ขนาดพกพาค่ะ ลักษณะก็คือตัวเล็กๆ แล้วก็สามารถพกไปไหนมาไหนได้ มันจะเป็นกี่ที่ตัดทอนฟังก์ชั่นอื่นๆ ออกหมดเลย จะเหลือแค่ตัวสำหรับขึงเส้นด้ายยืน ก็คือเส้นด้ายแนวตั้ง แล้วก็เส้นด้ายพุ่ง จะใช้ตัวไม้งัดเป็นตัวงัด งานที่ใช้กี่เฟรมก็จะออกมาเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์

ลงพื้นที่ศึกษางานผ้าจากคนท้องถิ่น

ส่วนใหญ่งานแบบนี้ก็จะเป็นงานกึ่งๆ ของรัฐค่ะ แล้วก็มีกลุ่มเพื่อนก็จะทำเกี่ยวกับงาน Social Enterpise ทำงานกับชาวบ้าน สนใจเรื่องงานทอผ้า เราก็จะเข้าไปช่วยเขาพัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วก็นำมาต่อยอดอะไรแบบนี้ค่ะ ช่วยพัฒนาทางด้านเทคนิค ไปกระตุ้นให้เขากลับมาใช้สีธรรมชาติ ให้เขาลดถอนตัวลายบางอย่างเพื่อให้มันขายง่ายขึ้น หรือว่าช่วยให้ย่นเวลาได้ ถ้าเป็นงานที่ไปกับรัฐจริงๆ ก็คือจะไปบนเขา ไปหมู่บ้านปกาเกอะญอ ที่ท่าสองยาง จังหวัดตาก อันนั้นคือเขาพูดภาษาไทยกันแทบไม่ได้เลย ไม่มีไฟฟ้า เขาใช้กี่เอวในการทอผ้า โครงสร้างหลักคือเส้นด้ายกับร่างกายของเรา คือเป็นโครงการที่เข้าไปพัฒนากลุ่มงานทอผ้าในแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งดีไซน์เนอร์แต่ละคนก็จะนำมาพัฒนาในสไตล์ของตัวเอง แต่เอาจริงๆ มันมีข้อจำกัดนะ เหมือนเราก็ไม่ได้ลงไปจับงานเขามากเท่าที่ควร เขาก็จะนำงานสวยๆ ที่เขาทำมาให้เราดู ทั้งๆ ที่เราอยากเห็นงานทั่วไปจริงๆ ของเขาเพื่อช่วยในการพัฒนาอย่างแท้จริง บางครั้งเขาก็ไม่รู้ว่าลายผ้าแบบนี้เป็นงานดั้งเดิมของเขาหรือเปล่า ก็ค่อนข้างจะสื่อสารกันลำบากเหมือนกัน

การเข้าไปช่วยพัฒนาไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด

เราช่วยเขาในแง่ที่พัฒนาจนออกมาเป็นโปรดักส์ได้ แต่ว่าเขามีแหล่งซื้อผ้าที่เดียวในหมู่บ้าน ซึ่งตอนหลังเรารู้ว่าลูกผู้ใหญ่บ้านเขามีอินเตอร์เน็ตที่สามารถสั่งซื้อของได้ เราก็เลยสร้างสิ่งที่สามารถให้เขานำไปต่อยอดได้ เช่น การใช้เส้นด้ายที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้ผ้ามีความหนาและทนขึ้น จริงๆ คือหมู่บ้านที่เราไปอัตลักษณ์ของเขาหายไปค่อนข้างเยอะแล้ว เราก็เลยเสนอเป็นไอเดียให้เขานำไปใช้พัฒนาลายผ้าต่างๆ มากกว่าค่ะ

สิ่งที่ได้กลับมาจากการพัฒนางานผ้าของชาวบ้าน

เราชอบที่จะกลับมาลองทำ เหมือนเป็นการนำมาประยุกต์ใช้ อย่างกี่เอวที่เราไปศึกษามาจากที่ตาก เราก็นำกลับมาปรับใช้กับงานที่ Chiang Mai Design Week 2016 ด้วยการนำกี่เอวสำเร็จรูปมาผูกไว้ในงาน เพื่อที่จะให้คนในงานเก็บวัสดุที่อยู่ในงาน เช่น เศษไม้ เศษด้าย ในบริเวณงาน มาทอลงบนนี้ แต่สุดท้ายด้วยจำนวนคน และเวลาทำให้เราต้องนำมาทอลงผืนเดียวกันแทน

Chiang Mai Design Week 2016

นอกจากนี้ก็มีงาน Mobile Exhibition ด้วย เป็นรถเข็นสามคัน มีคันที่เป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่มแล้วก็คันที่เป็นภาษา คือเราไม่ใช่คนที่เก่งดีไซน์ อย่างที่เรารู้คือในงาน Chiang Mai Design Week งานดีไซน์เยอะมาก แล้วเราก็รู้สึกว่างานดีไซน์ควรใกล้กับคนมากขึ้น อย่างงานของเราบางชิ้นไปอยู่ในบูธ Exhibition ก็แทบจะไม่ได้มีการ Interactive กับผู้คน ไม่มีการถามตอบ ไม่มีการเข้าถึง เราก็เลยตะเวณไปหลายๆ ที่ตามหัวเมือง ขากลับเราเข็นจากสามกษัตริย์กลับมาสันป่าข่อยสนุกมาก พ่อค้าแม่ค้าเขาต้อนรับเราเต็มที่ เขาก็อยากรู้ว่าพวกเราทำอะไร สนุกดีค่ะ

การทอผ้ามันแทบจะไม่ต่างกับการฝึกสมาธิเลย เพราะในระหว่างที่เราทอผ้านั้นมันจะเหมือนการอยู่ในห้วงอะไรสักอย่าง ใช้ความละเอียด และสมาธิ เหมือนการวิปัสสนาก็ว่าได้

งานผ้า หรือ Textile เป็นมากกว่าเครื่องนุ่งห่ม

อิมมองผ้าเป็นอะไรที่มากกว่าเครื่องนุ่งห่มไปแล้ว จริงๆ เหมือนเราได้เรียนรู้เรื่องนี้จากนักเรียนของเราด้วยซ้ำ คือตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เราทำจะจำกัดความมันเป็นอะไร เครื่องนุ่งห่มก็ไม่ใช่ เป็นงานอาร์ตเลยก็ไม่เชิง เคยมีนักเรียนอิมบอกว่า การทอผ้ามันแทบจะไม่ต่างกับการฝึกสมาธิเลย เพราะในระหว่างที่เราทอผ้านั้นมันจะเหมือนการอยู่ในห้วงอะไรสักอย่าง ใช้ความละเอียด และสมาธิ เหมือนการวิปัสสนาก็ว่าได้ค่ะ

ผลงานที่ทำมีรูปแบบที่หลากหลาย

ถ้านอกเหนือจากงานสอน งานอิมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นงานทออย่างเดียว มันก็จะมีส่วนของงานประกวดที่จะออกมาเป็น partition แล้วก็มีงานพรมอะไรแบบนี้ ส่วนใหญ่เป็นงานแสดง ไม่มีงานขายจริง หรือไม่ก็จะเป็นงานโปรเจ็คไปเลย สาเหตุที่ยังไม่ได้ทำงานขายออกมา เพราะว่าเรายังไม่มีเวลาด้วย คือก่อนหน้านี้เราทำงานพร็อพเยอะมาก ตามห้าง ตามโรงแรม จริงๆ ตอนนี้จำกัดความงานที่ตัวเองทำแทบจะไม่ได้เลย (หัวเราะ) เรายังสนุกกับงานต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ ก็ทดลองทำมันไปเรื่อยๆ ค่ะ

การหาแรงบันดาลใจในแบบอวิกา

เป็นคนติดเที่ยว ชอบเที่ยวมาก แล้วแต่โอกาสในแต่ละเดือน บางเดือนก็ไปติดๆ กันเลยสี่ห้าครั้ง ไปได้แค่นิดๆ หน่อยๆ ก็จะไป เป็นสายเข้าป่า มีงานประกวดที่เพิ่งทำไปของ Innovative Craft ได้มาจากการเดินทางไปน่านแล้วเจอภูเขาหินที่มีดอกไม้แทรกอยู่ เราก็นำมาเป็นไอเดียในการสร้างงาน

Innovative Craft Award 2015

บทบาทการเป็นครูด้านการเวิร์คช็อปงานผ้า

จริงๆ อิมเป็นคนพูดไม่รู้เรื่องนะ แรกๆ ก็ต้องปรับตัวมากเหมือนกันกลัวจะสอนนักเรียนไม่รู้เรื่อง แต่เราก็จะแก้ไขด้วยการทำให้เขาดู เขาก็จะรู้เรื่องกับสิ่งที่เราสอน อย่างเวลามาสัมภาษณ์ ถ้าไม่ได้นั่งคุยกันแบบนี้ก็จะคุยไม่รู้เรื่องนะ ถ้าจริงจังมากก็อาจจะพูดผิดพูดถูกเหมือนกัน (หัวเราะ)

อย่างที่อิมสอนก็จะมีหลายที่ ซึ่งคาแรคเตอร์ของคนที่มาเรียนก็จะไม่เหมือนกันเลยนะ มีตั้งแต่เด็กไปยันคนสูงอายุเลย มีคนในหลากหลายอาชีพทั้งด้านงานแฟชั่น สถาปัตย์ คนทำบัญชี มีหมดเลย บางคนเขาสนใจด้านสิ่งทอ แต่บางคนเขาก็อาจชอบแค่งาน craft เฉยๆ บ้างก็เพื่อนบังคับมา แต่ว่าอิมยังเปิดสอนเป็นขั้นเบสิคอยู่ เวลานักเรียนที่เคยเรียนไปเขาอยากรู้เพิ่มเติมก็จะเป็นการสอนกันผ่านแชท หรือนัดมาส่งการบ้าน ส่วนเปิดเองยังไม่มีค่ะ ถ้าเปิดจริงๆ อยากจะเปิดสอนเป็นกี่ตัวใหญ่เอาให้สะใจไปเลยค่ะ (หัวเราะ)

มุมที่คนเห็นเราส่วนใหญ่ก็คือการสอนเวิร์คช็อปเกี่ยวกับงานผ้า แต่ในอีกมุมหนึ่งเราเหมือนสาวโรงงานทอผ้าเลย เราก็จะนั่งวุ่นอยู่กับงานทำพร็อพต่างๆ เพราะส่วนใหญ่ก็จะทำพวกงาน wall hanging ในโรงแรมด้วยตามแต่ละโปรเจ็คที่ได้รับมาค่ะ งานก็เลยจะมีหลายสไตล์หน่อย จำกัดความมันไม่ค่อยได้

อนาคตของนวลนิล หรือ อิม อวิกา

อิมไม่ได้ทำแค่งานทอ ส่วนตัวแล้วอิมสนใจงานปักอยู่เหมือนกัน ถ้าอยากจะสร้างแบรนด์ของตัวเองก็คงเป็นงานทดลองค่ะ แต่คือมันยังไม่ลงตัวเท่าไร ด้วยเรื่องของเวลาด้วยที่ทำให้เรายังไม่ได้สร้างแบรนด์ออกมาอย่างจริงจัง นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องที่เราเคยลงไปคลุกคลีกับชาวบ้าน ไปช่วยคิด ช่วยเขาพัฒนา ตรงนี้อะเราก็อยากจะเข้าไปช่วยเขาให้ได้ด้วยตัวเองได้แบบไม่ต้องพึ่งพาใคร เราจะได้ช่วยเขาได้แบบถึงต้นตอของปัญหาจริงๆ ค่ะ

ติดตามอิมได้ที่  : นวลนิล


Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี