เรายังจำได้ถึงทริปศรีลังกาในตำนาน ที่มีวันหนึ่งได้นั่งรถประจำทางออกไปเที่ยวไร่ชาแห่งหนึ่งในเมือง Nuwara Eliya ดินแดนแห่งชาซีลอนอันเลื่องชื่อ ตั้งแต่ทริปนั้นก็ได้แต่เชื่อมาตลอดว่าต้นชาก็คงจะเป็นต้นไซส์ประมาณนั้นแหละ เตี้ยกว่าเรานิดหน่อยพอให้เก็บยอดได้ แบบในโปสการ์ดที่เราชอบเห็นกัน
แต่ความเชื่อนี้ก็ล้มไปเมื่อได้มาฟังชาว Episteme (เอพิสตีม) เล่าเรื่องชาที่ Monsoon Tea Asok เวิร์กช็อป Tea Journey: More Than Just a Cup of Tea นี้ทำให้ได้รู้ว่านอกจากชาเลี้ยง (แบบที่เราเห็นตามไร่ชา) ยังมีชาประเภทที่เรียกว่า “ชาป่า” ที่เติบโตอยู่ในธรรมชาติ และสามารถโตได้สูงลิบลิ่วและมีอายุได้ถึงสี่ถึงห้าร้อยปีเลยทีเดียว และ Monsoon Tea เองก็เน้นจำหน่ายที่ชาป่านี่เอง โดยทำงานกับเกษตรกรที่อยู่ที่เชียงใหม่

Episteme คือทีมที่ประกอบด้วย วิชุตา โลหิตโยธิน, ฆนัท นาคถนอมทรัพย์ และกิตติพล สรัคคานนท์ พวกเขามารวมตัวกันด้วยแพชชั่นเดียวกัน นั่นคือเรื่องอาหาร โดย Epiteme นี้ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อศึกษาวัฒนธรรมการกินของมนุษย์ และบอกเล่าแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับอาหารผ่านประวัติศาสตร์เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสื่อสารกับ active consumer ที่สนใจเรื่องวัตถุดิบมากยิ่งขึ้น และช่วยให้การกินในแต่ละมื้อมีอรรถรสยิ่งขึ้น โดยหัวข้อแรกที่พวกเขาอยากจะสื่อสาร ก็คือ “ชา” หรือเครื่องดื่มที่มีการบริโภคมากที่สุดทั่วโลกรองจากน้ำเปล่านี่เอง
Episteme เล่าประวัติศาสตร์ของชาโดยอิงข้อมูลจากหนังสือ The Tale of Tea: A Comprehensive History of Tea from Prehistoric Times to the Present Day ที่ตีพิมพ์ในนปีค.ศ. 2019 โดยหนังสือเล่มนี้ชี้ว่าแท้จริงแล้ว ชาอาจจะไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากจีน แต่มาจากบริเวณที่เรียกว่า Eastern Himalayan Corridor ซึ่งครอบคลุมหลายประเทศ ตั้งแต่ทิเบต เนปาล ยูนนาน สิบสองปันนาไปจนถึงพม่า โดยชาวปะล่องบริโภคใบชาเป็นอาหารมานานแล้ว ส่วนชาวจีนที่เป็นชนชาติค้าขายก็รับวัฒนธรรมชามาอีกที แต่หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่าชาวจีนนี่แหละน่าจะเป็นผู้ริเริ่มในการนำใบชามาต้มดื่ม เพราะรู้ถึงสรรพคุณของใบชา โดยประเภทของชาที่เป็นชาขาว ชาเขียว ชาดำหรือชาอู่หลงนั้นแตกต่างกันที่ธรรมวิธีในการผลิต

สำหรับ Monsoon Tea นั้นเรียกตัวเองว่าเป็นชาที่เป็นมิตรกับป่า (Forest-friendly tea) เพราะต้นชาเหล่านี้จะเติบโตเองตามป่าในภาคเหนือของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่กี่แห่งในโลกที่มีชาป่าเติบโตโดยธรรมชาติ การดูแล เก็บเกี่ยวและทำธุรกิจจากชาป่าจึงเป็นการอนุรักษ์ผืนป่าไปในตัว นอกจากจะเป็นชาออร์แกนิคที่ไม่ใช่สารเคมีใดๆ ชาป่ายังได้ชื่อว่ามีแอนตี้อ็อกซิแดนต์มากกว่าชาทั่วไปเพราะต้องปกป้องคุ้มครองตัวเองเพื่ออยู่ให้รอดในธรรมชาติ โดยสายพันธุ์ชาป่าของ Monsoon Tea เป็นพันธุ์อัสสัม และทางแบรนด์จะเก็บเกี่ยวปีละ 4 ครั้งเท่านั้นเพื่อให้ป่าได้พักตัว ส่วนผลิตภัณฑ์นั้นก็มีทั้งชาเขียว ชาขาว ชาดำ ชาอู่หลงที่เบลนด์เป็นกลิ่นต่างๆ และมีคอมบูชาให้ได้ลองกันด้วย ซึ่งชาวกรุงเทพฯ ที่สนใจสามารถไปเยี่ยมชมทีรูมของแบรนด์ได้ที่ Monsoon Tea Asok
ติดตามการเดินทางของ Episteme และ Monsoon Tea ได้ที่เว็บไซต์ episteme.cc และ monsoontea.co.th