ในโอกาสแวะเยี่ยมที่ทำงานใหม่ของ 56th Studioเรานั่งคุยกับ โอ – ศรัณย์ เย็นปัญญา ผู้ก่อตั้ง 56th Studio พร้อมแขกรับเชิญคนพิเศษ ปุ๊ก – จารุพัชร อาชวสมิต ปรมาจารย์วิชาสิ่งทอและผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Ausara Surface ที่ผลิตผ้าทอจากเส้นใยโลหะ บทสนทนาประสาแม่ลูกของดีไซเนอร์สองเจเนอเรชั่นนี้จะเอะอะมะเทิ่ง และเปี่ยมสาระอย่างไรบ้าง ติดตามได้ในพ็อดแคสท์และบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้
KP: คุณสองคนชอบทำงานกับวัสดุที่คนอื่นมองข้ามหรือที่เขามองเป็นขยะด้วยซ้ำคุณเห็นเสน่ห์อะไรในสิ่งพวกนี้
โอ: จริงๆ ผมไม่ใช่ดีไซเนอร์ที่ทำงานเบสจากวัสดุ (Material – based) หรอกครับ จุดเริ่มในการคิดงานของผมไม่ใช่ตัววัสดุเลย แต่เป็นเรื่องที่ผมอยากจะสื่อสาร ผมมองตัวเองเป็น Storyteller ซึ่งเผอิญสิ่งที่ผมสนใจมันมักจะมีบุคลิกเป็นเด็กหลังห้อง เป็นพวกคนชายขอบ เป็นวัฒนธรรมที่ถูกเมินค่า อะไรพวกนี้ ผมก็เลยไปหยิบจับสื่อหรือวัสดุที่เป็นตัวแทนของชุดความคิดพวกนี้มาทำงาน มันก็เลยปรากฏออกมาเป็นตะกร้าบ้าง เป็นพรมบ้าง เป็นโต๊ะก๋วยเตี๋ยวข้างทางบ้าง แต่จริงๆ มันคือเรื่องราวมากกว่าที่พาผมไปหาวัสดุเหล่านั้น ผมมีหน้าที่ขายไอเดีย ขายเรื่อง ขายการสื่อสารต่างๆ นิยามคำว่า Storytelling ของผมก็คือการขายของ แต่วิธีการขายของ 56th Studio คือเราจะไม่พูดออกไปตรงๆ เราจะสร้างของขึ้นมาเล่าเรื่องแทน
ปุ๊ก: เรื่องความเป็นเด็กหลังห้องนี่มีประเด็นค่ะ สมัยเรียนที่อเมริกามีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกความลับของเส้นด้ายว่า ปุ๊ก…เธอรู้ไหมว่าเส้นด้ายน่ะมันไม่ชอบถูกบังคับ ถ้าเธอปล่อยมันเป็นอิสระมันก็จะโค้งไปตามเกลียวของมัน แต่ถ้าเธอขังมันไว้ด้วยโครงสร้างลายทอ มันก็จะตรง …วันนั้นเป็นวันที่ทำให้เรามองทุกๆ วัสดุอย่างละเอียดมากขึ้น ไม่ว่าจะใช้วัสดุอะไรมาทำงานก็ตาม
“วัสดุก็มีความรู้สึก ถ้าเราทำแบบนี้กับมันผลลัพธ์จะออกมาอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราทำอีกอย่าง ผลลัพธ์ก็จะออกมาต่างกัน”

ทีนี้พอกลับมาทำงานเมืองไทย เราได้เริ่มจับวัสดุท้องถิ่นอย่างเช่นฝ้ายและไหม ซึ่งเรารู้สึกว่า เออ…มันเชื่อฟังเราจังแฮะ แต่ลึกๆ น่ะเราอยากทำงานกับวัสดุที่เป็นเด็กหลังห้อง (หัวเราะ) อยากที่จะจัดการพวกนอกคอกให้สำเร็จ ซึ่งวัสดุพวกนี้มันจะมีปฏิกิริยาที่ต่างออกไป มันจะดื้อกว่า ไม่เรียบร้อยเหมือนฝ้ายกับไหม ยกตัวอย่างเช่นวันที่เราคิดจะเอาทองเหลืองมาทอเป็นผืน เราก็ต้องไปดีลกับมันก่อนว่าจากเดิมที่เธอเป็นก้อนน่ะ ฉันจะทำยังไงกับเธอให้เธอกลายร่างเป็นเส้น และเป็นเส้นที่เล็กพอที่จะใช้เป็นเส้นยืนและเส้นพุ่งได้ด้วย
ซึ่งวัสดุที่ Ausara Surface ออกแบบและผลิตคือเราตั้งใจจะไม่ใช้สีย้อมเลย เราจะให้วัสดุมันเปล่งสี หรือเปล่งประกายออกมาเอง ฉะนั้นมันจำเป็นที่เราต้องศึกษานิสัยใจคอของมันอย่างละเอียด ต้องรู้ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้มันเปลี่ยนสี เปล่งแสง ฯลฯ กระบวนการนี้เป็นเหมือนบทสนทนากับเด็กหลังห้องที่ท้าทายเรา มันไม่น่าเบื่อ เราถึงชอบทำงานกับ unusual materials พวกนี้ คุณจะนึกไม่ถึงเลยล่ะว่าสิ่งเหล่านี้จะกลายมาเป็นผืนผ้าได้ และยังเอาไปทำอะไรต่ออะไรได้อีกสารพัด

KP: ถามคุณโอในฐานะนักเล่าเรื่องทำไมถึงชอบเล่าเรื่องเป็นเก้าอี้
โอ: ถ้าให้ตอบแบบโรแมนติกก็คือผมสนใจเรื่องความเป็นไทยเป็นพิเศษ เช่นเรื่องช่องว่างระหว่างชนชั้น ความขัดแย้งต่างๆ ที่ปรากฏในสังคม แบบเรียกแท็กซี่ใกล้ก็ไม่ไป ไกลก็ไม่ไป ตกลงจะยังไงกันแน่ ประเทศเราเป็นประเทศที่มีความย้อนแย้งสุดขั้วสุดโต่งในหลายมิติ (dichotomy) ซึ่งผมรู้สึกว่าเก้าอี้ก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่สะท้อนเรื่องชนชั้น อย่างบ้านคนรวยในละครช่องเจ็ดก็ต้องมีเก้าอี้หลุยส์ มันสื่อสัญญะความรวยแบบไทยๆ ในขณะเดียวกันเก้าอี้ของวินมอเตอร์ไซค์ก็จะมีสัญญะอีกแบบ เป็นเรื่องของการด้นสด ฯลฯ แต่ถ้าจะตอบแบบไม่โรแมนติก ก็คือเก้าอี้มันทำแล้วขายได้ครับ (หัวเราะ)

KP: อยากรู้มุมมองของพวกคุณต่อเรื่องความยั่งยืนในงานออกแบบทุกวันนี้
ปุ๊ก: จริงๆ มนุษย์เราดีอย่างหนึ่งคือเมื่อเรารู้ว่าเราทำอะไรผิดไปแล้ว เราพร้อมที่จะแก้ไข เช่นเรามาเรียนรู้ว่าการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ใช้แล้วทิ้งๆๆ มันไม่ดีนะ เราก็เริ่มปรับเปลี่ยน เห็นได้จากการที่หลายองค์กรเริ่มสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เริ่มคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หรือที่เราเรียกกันว่าใช้ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (circular economy) ซึ่งมันจะต้องประกอบไปด้วย 3 หัวใจหลักคือ people (คน) planet (โลก) และ profit (กำไร) ปัจจุบันการทำธุรกิจจะต้องตอบโจทย์สามข้อนี้ ในขณะที่งานดีไซน์เองก็เช่นเดียวกัน เราก็ต้องสร้างวงจรการผลิตใหม่ที่หมุนเวียนได้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการรีไซเคิลวัสดุเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการรีไซเคิลพลังงาน และการใช้ทรัพยากรทุกๆ ด้านอย่างระมัดระวัง
โอ: สำหรับผมคำว่า sustainability ในปี 2020 มีข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือมันอาจจะถูกทำให้เป็นแค่สไตล์ในคนบางกลุ่ม เช่นเรารณรงค์กันว่าพลาสติกต้องนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่สิ่งที่ถูกนำเสนอออกมากลับเป็นพลาสติกใหม่หมด คุณไปซื้อพลาสติกใหม่มาทำแคมเปญ เพื่อที่จะสอนคนอื่นว่าอย่าทิ้งพลาสติกนะ ต้องรีไซเคิลสิ ผมว่าวิธีคิดหรือวิธีทำงานแบบนี้มันก็ไม่ circular แล้วรึเปล่า (หัวเราะ) sustainability สำหรับผมคือการทำอะไรให้มันอยู่ได้นาน อยู่ได้ยั่งยืน และไม่ได้หมายความว่าคุณต้องรังเกียจพลาสติกนะ เราก็ยังทำงานกับพลาสติกต่อไปได้
เห็นด้วยกับโอว่าพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย ที่ผ่านมาวิธีที่เราจัดการกับมันต่างหากที่ผิด จริงๆ พลาสติกก็เป็นพระเอกได้
KP: ดีไซน์ที่ยั่งยืนจำเป็นต้องมินิมัลมั้ย
ปุ๊ก: อืมม…เรื่องหนึ่งที่เราสองคนเหมือนกันก็คือเราเป็นดีไซเนอร์ที่ไม่มินิมัล แต่เราก็อยู่ในยุคที่ความมินิมัลเป็นกระแสหลัก ซึ่งเราก็ไม่ได้ต่อต้านนะ แค่ยืนหยัดว่าตัวตนเราคือแบบนี้ (หัวเราะ) แต่ถ้าจะให้พี่วิเคราะห์ลึกลงไปว่าทำไมมินิมัลลิสต์ถึงเติบโตมาก ส่วนตัวพี่เติบโตมาในยุค 80s เป็นยุคที่โลกร่ำรวย ประเทศไทยก็ร่ำรวย เพราะฉะนั้นศิลปะในยุคพี่ก็จะมีเพชรใหญ่ สร้อยข้อมือใหญ่ ผมตั้งฟู คัลเลอร์บล็อกแน่นๆ ฯลฯ แต่จากนั้นโลกก็ค่อยๆ จนลง เงินก็ไหลเข้าไปอยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่งมากขึ้นๆ ซึ่งพอเงินในระบบใหญ่มันน้อยลง มินิมัลลิสต์ก็ได้โอกาสทันที เพราะคนส่วนใหญ่ต้องใช้จ่ายอย่างรอบคอบขึ้น ในแง่การผลิตต้นทุนมันก็ต่ำกว่า มันใช้วัสดุน้อยลง ฯลฯ มินิมัลลิสต์มันมาตอบทุกกระแสของโลกพอดี ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม มันถึงได้อยู่มาเรื่อยๆ นะ แต่สำหรับพี่ มินิมัลก็ไม่ได้แปลว่ามันคืองานออกแบบที่ยั่งยืนในทุกมิติ หรือทุกบริบท ในทางตรงกันข้ามก็เช่นเดียวกัน
โอ: ผมก็เคยเล่าเรื่องในสไตล์มินิมัลนะครับ แค่คุณอาจจะไม่ค่อยได้เห็นกันเท่าไหร่ เพราะอาชีพผมคือมนุษย์ต่อจิ๊กซอว์ สุดท้ายแล้วภาพสำเร็จก็ต้องเหมาะกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ถ้าถามว่ามันผิดจริตผมไหม ก็ไม่ถึงกับผิด อย่างตอนผมสัมภาษณ์น้องๆ เข้าทำงาน ผมก็ไม่ได้มองหาคนที่เถิดเทิงเหมือนผมเพราะผมไม่ได้มองว่าสไตล์คือดีเอ็นเอของนักออกแบบ ผมมองหาคนที่มีมุมมองและมีทักษะมากกว่า เช่นถ้าคุณมีมุมมองแบบนี้ คุณจะใช้ทักษะของคุณแก้โจทย์ข้อนี้อย่างไร

“ผมชื่นชมคนที่มีความเชื่อเป็นของตัวเองสไตล์คุณจะเป็นอะไรก็ได้ มุมมองและทักษะต่างหากที่สำคัญ”
KP: ถ้าจริตคุณออกไปทางเถิดเทิงตอนไปเรียนต่อสวีเดนรู้สึกขัดไหมเพราะโลกแถบนู้นเขาคือต้นตำรับความเรียบง่าย
โอ: ผมว่าแก่นของสแกนดิเนเวียนดีไซน์คือการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงดีไซน์ได้อย่างเท่าเทียม (democratic design) เช่นสวีเดนเขามี IKEA For Everyone ใช่ไหม นอกจากนั้นผมก็เชื่อตามเขาว่าโลกเราไม่มี good art หรือ bad art อาร์ตก็คืออาร์ต คุณชอบก็ชอบ ไม่ชอบก็ไม่ชอบ คุณมีทางเลือกในการเสพ นี่คือสิ่งที่ผมซึมซับมาจากการเรียนที่สวีเดน แต่ในขณะเดียวกันผมกลับไม่ได้เอาสไตล์เขามาเลย ที่เขาบอกว่าต้องน้อย ผมก็จะบอกว่าไม่ต้องน้อย สิ่งที่คาบเกี่ยวกันคือการที่เราต่างเชื่อว่าของที่คนอื่นมองว่าไม่ดี จริงๆ มันดีได้นะ เช่นไม้บางชนิดราคาไม่แพง แต่สามารถนำมาออกแบบให้ใช้งานดีในทุกบ้าน นี่คือการรับรู้ที่ผมซึมซับมา ถ้าถามว่าจะให้ผมออกแบบเฟอร์นิเจอร์คลีนๆ ได้ไหม ผมก็ทำได้ แต่มันใช่ตัวผมหรือเปล่า แก่นของผมมันไม่ใช่ไง

“ผมจะเล่าเรื่องน้อยๆ ก็ได้ แต่ผมรู้สึกว่าเรื่องที่ผมอยากเล่ามันต้องเล่าด้วยน้ำเสียงนี้คนถึงจะฟัง”
KP: นอกจากงานที่เป็นส่วนตัวแล้วต่างคนก็ต่างทำงานให้องค์กรอื่นด้วยเยอะแยะเล่าถึงประสบการณ์ตรงนั้นบ้าง
ปุ๊ก: ส่วนตัวพี่ทำงานร่วมกับองค์กรเอกชนหลายแห่ง และมีบางแห่งที่เรารู้สึกว่าเขาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจริง เขามีเทคโนโลยีพร้อมที่จะทำให้กระบวนการรีไซเคิลมันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ เช่นตอนที่พี่ทำ “ใบตองคอลเล็กชั่น” กับพีทีทีจีซี (PTT Global Chemical) และจิมทอมป์สัน (Jim Thompson) พี่เข้าไปทำตั้งแต่กระบวนการแปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นเส้น ก่อนจะนำมาทอเป็นผ้า จนถึงส่วนงานดีไซน์ ที่ทำให้เรานึกย้อนไปถึงตอนเด็กๆ ว่าสมัยก่อนชีวิตประจำวันเราเคยใช้ใบตองห่อหลายสิ่งหลายอย่าง และต้นกล้วยนี่แหละเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถใช้ได้หมดทุกส่วน ตั้งแต่ ราก ต้น ใบ ปลี ผล ฯลฯ เราถึงคิดว่าใบตองนี่แหละที่เหมาะจะเป็นสัญลักษณ์ของ circular economy
Baitong Collection ออกแบบโดย จารุพัชร อาชวสมิต
“เราอยากนำสองสิ่งที่ดูต่างกันสุดขั้วอย่างเช่นขยะกับเส้นไหมมาทอผสมเข้าด้วยกัน เพื่อจะให้คุณค่าของเส้นไหมมันพาขยะพลาสติกขึ้นไปด้วยกัน”
โอ: หลายคนจะคุ้นกับภาพที่ผมทำงานกับอาแปะอาซิ่มในชุมชนใช่ไหมครับ แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือ ค่าไฟ ค่าเช่า ค่าจ้างพนักงานของผมมันมาจากการที่ผมทำงานร่วมกับองค์กรใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลยนะ แค่ผมไม่ค่อยได้โพสต์ไม่ค่อยได้เล่าออกไป จริงๆ ในแง่ธุรกิจงานหลักของ 56h Studioก็คือ design service ที่เรามีหน้าที่แก้โจทย์ให้ลูกค้าผ่านงานออกแบบ (ยิ้ม)
KP: ทำไมดีไซเนอร์บางคนต้องมีสตูดิโอเป็นของตัวเองและบางคนไม่ต้องมี
โอ: Physical space สำคัญไหม ? สำหรับผมไม่สำคัญเท่า spiritual space นะ ที่ผมทำสตูดิโอแบบนี้ก็เพราะผมอยากสร้าง spiritual space ให้ดีไซเนอร์หรือคนอื่นๆ ที่มีมุมมองคล้ายกันกับผมเข้ามาเชื่อมโยงได้แต่ถ้าถามว่าทำไมต้องมีสตูดิโอ คำตอบคือเพราะผมไม่ได้ทำงานในลักษณะผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง ผมไม่ใช่ material-based ไม่ใช่ textiles ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้นเลย ในการทำงานหลายๆ ครั้งผมจะต้องเจอกับคนที่มีองค์ความรู้ต่างจากผมมาก ทีนี้พอเขาเดินเข้ามาที่นี่ เขาจะไม่ต้องถามมากมายแล้วว่าผมมองโลกอย่างไร เขาจะรู้ได้ตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้ามาเลย และที่สำคัญเราทำงานกันในสเกลค่อนข้างใหญ่ บางทีต้องมีเซ็ตอัพ บางทีต้องจัดนิทรรศการเอง การมีสนามเด็กเล่นใหญ่ๆ แบบนี้มันทำให้เราได้เปิดประตูบานใหม่ไปเจอคนที่อยากร่วมงานกันเรา เรามีพื้นที่ที่จะชวนเขามาเล่นได้ เป็นทั้งพื้นที่แสดงตัวตน และเป็นแบรนดิ้งของเราด้วย
ปุ๊ก: ส่วนของ Aussara Surface ตอนที่เรากับหุ้นส่วน (โชษณ ธาตวากร) เริ่มต้นธุรกิจกัน เราวางแผนกันแต่แรกเลยว่าเราจะยังไม่ลงทุนกับอะไรบ้าง เช่นเราจะไม่เป็นเจ้าของเครื่องจักรใหญ่ เราจะยังไม่เช่าออฟฟิศจนกว่าจะจำเป็น เราจะไม่มีโชว์รูม เราจะยังไม่ออกงานแฟร์ เราจะเป็นบริษัทที่ลีนมากๆ แล้วเราเอาเงินตั้งต้นไปลงทุนทำตัวอย่างวัสดุ (material swatches) พี่ก็ทำงานที่บ้านตัวเองจนได้ตัวอย่างผ้ามาคอลเลกชั่นหนึ่ง แล้วก็ส่งให้ลูกค้าที่เป็นดีไซเนอร์ดู และก็ขายได้เลย มีโปรเจกท์ใหญ่เข้ามาทันที ยังคุยกับโอว่าเรามีวิธีการทำธุรกิจที่ต่างออกไป คือเราจะไม่มี fix cost จนกว่าจะถึงวันที่จำเป็นต้องมี

KP: ทำไม 56th Studio ถึงเลือกมาอยู่ย่านตลาดน้อย
โอ: (หัวเราะร่วน) ย่านเจริญกรุงมันตอบความเชื่อของผมที่ว่าของไม่ดีๆ น่ะมันดีได้ ฉะนั้นการที่คุณต้องเดินผ่านซอยหว่องกาไวเข้า มากว่าจะถึงสตูดิโอนี้ มันคือการเตรียมความพร้อมในการเริ่มบทสนทนากับผมแล้ว เพราะคุณจะคาดหวังไม่ได้หรอกว่าสถานที่แบบนี้ หรือร้านอาหารตรงนี้ เขาจะเสิร์ฟอะไร คุณจะได้รับประสบการณ์แบบไหน ฯลฯ และทุกครั้งที่ผมเดินออกไปข้างนอก ได้เจอกับอาซิ่มอาแปะ มันคือสภาพแวดล้อมที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมจริงๆ คนอื่นอาจจะดูแคลน หรือมองว่านี่คือวิถีแบบหมารองบ่อน แต่ผมโพสิชั่นตัวเองเป็นหมารองบ่อนที่ภูมิใจนะ เป็น Proud Underdog
“เป็นมวยรองน่ะสนุกกว่าเป็นมวยหลัก เพราะสังเวียนของเราจะไม่ค่อยมีกฏเกณฑ์”
KP: ให้ฝากข้อคิดสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ
โอ: ผมยังเชื่อในการทำงานหนัก ชีวิตไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย ฉะนั้นผมพยายามเก็บเกี่ยวทุกอย่าง ที่สำคัญอีกอย่างคือ entrepreneurial mind หรือจิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการก็จำเป็นมากสำหรับนักออกแบบ เพราะสุดท้ายแล้วคุณยังอยู่ในโลกที่ต้องขายงาน ต้องขายไอเดียให้ลูกค้านะ ผมก็อยากเห็นเด็กรุ่นใหม่ทำงานให้หนัก เก็บเกี่ยววิธีคิดของคนหลายๆ แบบ พยายามมองให้ลึกว่าธุรกิจที่คุณเห็นว่าเก๋ว่าเท่นั้น จริงๆ แล้วเขาทำอะไร เขาหาเงินจากไหน ทำอย่างไรเขาถึงอยู่รอดได้
ปุ๊ก: ณ วันนี้เรานิยามตัวเองได้ว่าเป็น “Happy middle aged designer” (หัวเราะ) เพราะรู้สึกว่าเราอยู่ในจุดที่มีความสุขกับชีวิตได้ในทุกๆ วันแล้ว ตอนที่เริ่มต้นทำ Ausara Surface นี่ก็อายุ 40 แล้วนะคะ เพราะฉะนั้นไม่อยากให้ใครกลัวที่จะแก่ ไม่มีอะไรที่สายเกินไป และในฐานะครูก็อยากให้เด็กรุ่นใหม่มองทางไว้ว่าเราอยากเป็นแบบนี้ อยากทำแบบนี้ แล้วก็ทำมันในเวลาที่ทำได้ มันอาจจะไม่ใช่อะไรที่ดูยิ่งใหญ่มาก แต่ขอให้เป็นทางที่เรามีความสุขก็พอ
“อย่าดูคนแค่เปลือก อย่าดูแค่ว่าเขามีไลฟ์สไตล์เก๋ๆ แต่ให้มองลึกลงไปว่าเขาเชื่อในอะไร เขาถึงทำสิ่งที่ทำอยู่ได้ดี เพราะถ้าคุณเข้าใจว่ารากของมันมาจากไหน ชีวิตคุณจะไม่หลงทาง”

ภาพ: Courtesy of 56th Studio, Ausara Surface / พลากร รัชนิพนธ์