มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหนคร ผู้ส่งเสริมการสร้างงานศิลปวัฒนธรรมมายาวนานกว่า 10 ปี ร่วมกับ มูลนิธิซันไพรด์ ผู้ส่งเสริมเรื่องราวของกลุ่มความหลากหลายทางเพศสภาพ (LGBTQ) จากไต้หวัน จัดนิทรรศการ “สนทนาสัปตสนธิ 2 – ไตร่ถาม: ความหลากหลายในอุษาคเนย์” (Spectrosynthesis II – Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia) เพื่อสร้างบทสนทนาเรื่องความหลากหลายทางเพศสภาพ ผนึกความแข็งแกร่ง และเพิ่มความเสมอภาคแก่กลุ่ม LGBTQ ทั่วโลก ด้วยความหวังว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดการสร้างความเข้าใจและการยอมรับความแตกต่างในสังคมไทยและในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ผ่านผลงานกว่า 130 ชิ้น ของศิลปินทั้ง 58 ท่าน จาก 15 ประเทศ ซึ่งจัดแสดงอยู่ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 – 1 มีนาคม 2563 นี้ ซึ่งนับเป็นแหล่งรวมศิลปะร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุด

Collection of Sunpride Foundation
สนทนาสัปตสนธิ
คำว่า “สัปต” นั้นมีความหมายว่า เจ็ด และคำว่า “สนธิ” มีความหมายว่า เชื่อม ทั้งสองคำที่ดูจะไม่ใช่คำที่ใช้กันโดยทั่วไปนี้มีที่มาจากภาษาบาหลี – สันสกฤต ความหมายของ เจ็ด ในที่นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสีสันที่แตกต่างกันทั้งเจ็ดสีของสายรุ้ง และเชื่อมโยงเข้ากับความหลากหลายทางเพศ ดังนั้น ในบริบทของนิทรรศการจึงทำให้ สนทนาสัปตสนธิ เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องความหลากหลายทางเพศ และเชื่อมโยงให้เข้าใจซึ่งกันและกัน
ผู้เข้าชมนิทรรศการจะได้ชมผลงานศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงศิลปินเชื้อสายจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นสองวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อภูมิภาคนี้ และได้เห็นว่าเส้นแบ่งต่าง ๆ กําลังเปลี่ยนไป กรอบเกณฑ์ต่าง ๆ กําลังเปิดกว้างมากขึ้น แสดงให้เห็นบริบททางสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และคนก็กําลังตั้งคําถามกับค่านิยมและบรรทัดฐานต่าง ๆ ทางสังคม
ตัวตนและความหลากหลายทางเพศ
ประเด็นสำคัญในการจัดนิทรรศการนี้ คือคำถามที่ว่าสังคมที่เราอยู่ได้เปิดรับตัวตนและเพศวิถีของ LGBTQ แค่ไหนและอย่างไร ? และมีศักยภาพในการไปต่อมากแค่ไหน? คำถามนี้จะช่วยให้ตั้งต้นในการอภิปรายถึงจุดร่วมและข้อแตกต่างของเงื่อนไขเหล่านั้นได้ชัดเจนขึ้น
Collection of Sunpride Foundation
ตัวอย่างหนึ่งที่พิจารณาให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมและมีผลต่อกลุ่ม LGBTQ คือในแง่คติคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ใช้เรื่อง “กรรม” ในการอธิบายการเกิดของกะเทยว่า เป็นผลกรรมชั่วจากความสำส่อนในชาติก่อน ในขณะที่ศาสนาอิสลามและคริสต์ เชื่อว่าเป็นวาทกรรมเรื่อง “บาป” และต้องได้รับการลงโทษจากพระเจ้า
Jef Carnay: Tambien Una Familia : Mater
Collection of Sunpride Foundation
เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ศาสนิกชนในบางประเทศยอมเปลี่ยนมุมมองและเลือกที่จะโอบอุ้มกลุ่ม LGBTQ มากกว่าการผลักออกไปจากบริบททางศาสนา โดยใช้ “ความรัก” เป็นพลังเพื่อเปิดใจรับความหลากหลายทางเพศของแต่ละคน แต่ก็ยังมีประเทศที่ใช้ระบบรัฐศาสนาในการลงโทษกลุ่ม LGBTQ อยู่เช่นกัน

Collection of Sunpride Foundation
ทางด้านสังคม บทบาททางเพศได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัยใหม่ที่ผู้ชายไม่จำเป็นต้องเป็นช้างเท้าหน้า และผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเป็นช้างเท้าหลัง เพศสภาพที่หลากหลายทำให้สังคมหยุดสร้างคู่ตรงข้ามของหญิง – ชาย สังคมเริ่มรับรู้การทำหน้าที่ของพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน ความหมายของครอบครัวจึงเปลี่ยนไป ทำให้ลักษณะโครงสร้างของสถาบันครอบครัวถูกนิยามใหม่

Collection of Sunpride Foundation
ในแง่แรงงานระบบทุนนิยม อาจมองว่ากลุ่ม LGBTQ ไปหยุดโครงสร้างครอบครัวที่ควรจะเป็น รวมถึงกระบวนการผลิตแรงงาน แต่ความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบัน สังคมกลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น ระบบทุนนิยมกลับสอดรับกับความสัมพันธ์หลากหลายเพศของแรงงานเสียมากกว่า ตัวอย่างเช่น แรงงานอุตสาหกรรมภาคตะวันออกของไทยเปิดรับให้ “เพศที่สาม” เข้าสู่การเป็นสาวโรงงานได้มากขึ้น เนื่องจากความเป็นเพศในบริบทของการทำงานโรงงานได้ถูกตีความใหม่ว่า “แข็งแรงแบบผู้ชาย แต่ละเอียดเหมือนผู้หญิง” ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมโรงงานภาคเหนือก็ยอมรับและเปิดกว้างให้กับสาวโรงงานที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบ “ทอมบอย” และมีความสัมพันธ์แบบทอม – ดี้ เพราะสามารถทำให้โรงงานมีแรงงานในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง แรงงานไม่ต้องลาคลอด และปัญหาครอบครัวต่าง ๆ ของแรงงานที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานลดลง ฉะนั้น การรับแรงงาน LGBTQ จึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจและไม่ควรถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อระบบการผลิต

Collection of Sunpride Foundation
เมื่อพิจารณาถึงสิทธิตามกฎหมายของ LGBTQ ในไทย สิทธิการใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัวยังเป็นสิ่งที่เข้าไม่ถึงกลุ่ม LGBTQ เนื่องจากยังขาดทางเลือก กล่าวคือคู่รักชาย – หญิง มีทางเลือกว่าอยากใช้ชีวิตแบบ “จดทะเบียนสมรส” หรือ “ไม่จดทะเบียนสมรส” ในขณะที่คู่รักเพศเดียวกันยังไม่มีโอกาสเลือก ทำให้คนรักเพศเดียวกันขาดสิทธิหลายอย่างที่พึงมีในฐานะครอบครัวเดียวกัน แต่เรื่องนี้ก็อาจสร้างคำถามในใจหลายคนว่า คู่รักจำนวนไม่น้อยพึงใจใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องจดทะเบียนสมรส แล้วมีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องมีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับเรื่องการจดทะเบียน ทั้งที่การจดทะเบียนคู่ชีวิตเป็นทางออกหนึ่งในตอนนี้เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงตัวสำหรับทำกิจธุระต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้
อีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนถึงความเข้าใจไม่ถูกต้องต่อกลุ่ม LGBTQ คือกรณีการบริจาคเลือด เนื่องจากชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ทำให้คนกลุ่ม LGBTQ ไม่สามารถบริจาคเลือดได้ ทั้งที่สาเหตุของการแพร่เชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ไม่ได้เกี่ยวกับว่าบุคคลนั้นมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือต่างเพศ

Collection of Sunpride Foundation
สถานการณ์ของ LGBTQ ในไทย
กระแสการเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ ยังคงอยู่ในช่วงต่อรองกับสังคมและสถาบันต่าง ๆ ที่ยังคงไม่ให้ความน่าเชื่อถือต่อบทบาทของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ การออกมาโต้เถียงและโต้แย้งกันต่อประเด็นต่าง ๆ ในสังคมนี้เองที่เป็นตัวสะท้อนถึงความเท่าเทียมอย่างหนึ่ง และการเห็นต่างก็จะทำให้กลุ่ม LGBTQ ได้ทบทวนสำรวจตัวเองและความแตกต่างหลากหลายด้วยเช่นกัน ซึ่งการอดทนอยู่กับความแตกต่างจะช่วยฝึกหัดให้คนยอมรับความเห็นต่างได้ทีละน้อย และช่วยให้คนเข้าใจเรื่องเพศสภาพมากขึ้น และการขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศจำเป็นต้องดำเนินไปพร้อม ๆ กับการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ของพลเมือง และการทำความเข้าใจที่ถูกต้องต่อเพศสภาพที่หลากหลายก็ยังคงต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นจนกว่าจะไปถึงเป้าหมาย