fbpx

‘เควนติน ทาแรนติโน’ กับตัวตนที่อยู่ในบทเพลงประกอบภาพยนตร์ของเขา

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของผู้กำกับสุดแสบ 'เควนติน ทาแรนติโน' จากเพลงประกอบภาพยนตร์ทั้ง 9 เรื่องของเขา ก่อนไปชม Once Upon a Time in Hollywood ภาพยนตร์ที่เขาว่าอาจจะเป็นผลงานกำกับเรื่องสุดท้ายในชีวิต

เควนติน ทาแรนติโน (Quentin Tarantino) คือผู้กำกับภาพยนตร์ผู้ซึ่งตั้งเป้าว่าจะกำกับภาพยนตร์เพียง 10 เรื่องในชีวิต เอกลักษณ์ในงานภาพยนตร์ของเขาเป็นที่ยอมรับของคอหนังส่วนใหญ่มานานแล้ว แต่ในบทความนี้เราอยากแนะนำให้คุณได้รู้จักตัวตนของเควนตินมากขึ้นผ่านบทเพลงประกอบภาพยนตร์ของเขา ซึ่งมีทั้งความสนุกสนาน ขี้เล่น เซี้ยวซ่า และบ้าบิ่น ชนิดที่ว่าเมื่อคุณได้ยินเพลงเหล่านี้จากที่ไหน คุณก็จะจดจำได้ทันทีว่า “นี่แหละคือเพลงจากหนังของเควนติน ทาแรนติโน

เพลง Little Green Bag ของ George Baker Selection จากภาพยนตร์เรื่อง Reservoir Dogs (1992)

Reservoir Dogs (1992)

Reservoir Dogs หรือชื่อไทย คือ ขบวนปล้นไม่ถามชื่อ ถูกฉายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1992 และถือเป็นภาพยนตร์แจ้งเกิดในวงการคนทำหนังให้กับเควนติน เรื่องราวของหนังเกี่ยวกับแก๊งปล้นเพชรที่โดนตำรวจบุกโจมตีขณะทำการปล้น ฉะนั้นจึงเกิดการสงสัยกันเองในหมู่โจร ว่าอาจมีสายตำรวจ พวกเขาจึงต้องค้นหาหนอนในแก๊งให้เจอ ในส่วนของเพลงประกอบที่เลือกมาใช้ก็ให้จังหวะที่สนุกสนานและกวนโอ้ยอยู่หน่อยๆ โดยเนื้อเพลงกล่าวถึง การตามหาถุงใบเล็กสีเขียวที่เปรียบได้กับความสุขในชีวิต แต่เมื่อยิ่งตามหา กลับพบแค่เพียงความโดดเดี่ยว

เพลง Misirlou ของ Dick Dale จากภาพยนตร์เรื่อง Pulp Fiction (1994)

Pulp Fiction (1994)

Pulp Fiction หรือ เขย่าชีพจรเกินเดือด เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองในการกำกับของเควนติน ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแนวอาชญากรรมที่วางเส้นเรื่องตัวละครไว้หลายเส้นและน่าสนใจมาก เพราะตัวละครทุกตัวนั้นเรียกได้ว่าเป็นตัวพ่อและตัวแม่ของวงการฮอลลีวูดเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงฝ่ายชายอย่าง จอห์น ทราโวลตา, ซามูเอล แอล. แจ็กสัน, บรูซ วิลลิส และนักแสดงหญิงอย่าง อูมา เธอร์แมน ซาวด์ที่ใช้ประกอบก็ให้กลิ่นอายของความเป็นคาวบอย ฟังแล้วอาจรู้สึกเหมือนถูกกระตุ้นด้วยความตื่นเต้น ลุ้นระทึก และเร่งเร้าอยู่ตลอดเวลา

เพลง 110th Street ของ Bobby Womack จากภาพยนตร์เรื่อง Jackie Brown (1997)

Jackie Brown (1997)

Jackie Brown หรือ แผนหักเหลี่ยมทลายแก็งมาเฟีย เป็นหนังแนวอาชญากรรม เนื้อเรื่องกล่าวถึงแอร์โฮสเทสวัย 44 ปีที่ถูกตำรวจจับข้อหาลักลอบขนเงินของมาเฟียค้าปืนเถื่อน ซึ่งก็เป็นเจ้านายของเธอเอง แต่เพื่อจะจับกุมมาเฟียให้สำเร็จ ทางตำรวจจึงยื่นข้อเสนอให้เธอช่วยในแผนการครั้งนี้ เพื่อแลกกับอิสระ แต่อดีตเจ้านายที่เป็นถึงมาเฟียจะยอมให้เธอล้มง่ายๆ ได้อย่างไร ดนตรีประกอบในเรื่องนี้เป็นแนวดนตรี R&B Soul เนื้อเพลงกล่าวถึงถนนหมายเลข 110 ที่เปรียบเสมือนถนนสายมืดที่มีทั้งแมงดา คนค้ายา คนติดยา โสเภณี และหากต้องการเอาชีวิตรอดออกไปจากถนนสายนี้ ก็ต้องเข้มแข็งเท่านั้น

เพลง Battle with Honor or Humanity ของ Tomoyasu Hotei จากภาพยนตร์เรื่อง Kill Bill (2003)

Kill Bill (2003)

Kill Bill ใช้ชื่อภาษาไทยว่า นางฟ้าซามูไร เป็นภาพยนตร์ลำดับที่สี่ในการกำกับของเควนติน เรื่องนี้เขาได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์จีนกำลังภายใน ยากูซ่า และซามูไร ฉากบู้ในเรื่องที่เป็นการแก้แค้นของตัวละครเอกอย่าง เดอะไบรด์ (รับบทโดย อูม่า เธอร์แมน) เราจึงได้เห็นเธอใช้คมดาบฟาดฟันกับศัตรูจนเลือดอาบท่วมท้นจออย่างดุเดือด ฉับไว และน่าหวาดเสียว เพลงประกอบของเรื่องนี้เองก็ใช้การบรรเลงแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีคำร้องใดๆ และได้วงดนตรีร็อคของญี่ปุ่นอย่างวง โทโมยาสึ โฮเตอิ มาช่วยสร้างอารมณ์ให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าถึงอารมณ์ของการล้างแค้นได้อย่างที่สุด

เพลง Down in Mexico ของ The Coasters จากภาพยนตร์เรื่อง Death Proof (2007)

Death Proof (2007)

Death Proof มีชื่อไทยว่า โชเฟอร์บากพญายม เป็นหนังแนวสยองขวัญที่มีความบ้าบิ่นอยู่ในตัว เรื่องราวดำเนินไประหว่างสตั้นแมนโรคจิตที่เป็นผู้ล่า และสามสาวเสน่ห์ร้ายสุดเซ็กซี่ที่รักสนุกและกระหายความท้าทาย สถานการณ์ทำให้พวกเธอตกเป็นผู้ถูกล่า แต่เพราะนี่เป็นภาพยนตร์ของเควนติน การด่วนสรุปถึงตอนจบคงดูจะเร็วไป เพลงประกอบของเรื่องนี้ใช้เป็นแนวเพลงช้าที่มีจังหวะหนัก เนื้อเพลงพูดถึงเจ้าของไนท์คลับถูกๆ แห่งหนึ่งในเม็กซิโก ซึ่งมีเจ้าของเป็นแมวชื่อโจ เขาใส่ผ้าพันคอสีแดงเล่นเปียโนบลูส์ สวมสายสะพายสีม่วง และมีหนวดดำ

เพลง Rabbia E Tarantella ของ Ennio Morricone จากภาพยนตร์เรื่อง Inglourious Basterds (2009)

Inglourious Basterds (2009)

Inglourious Basterds มีชื่อไทยว่า ยุทธการเดือดเชือดนาซี เป็นเรื่องราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถ่ายทอดออกมาใหม่ในแบบของเควนติน เนื้อหาหลักยังคงเกี่ยวพันกับการเข่นฆ่าชาวยิวของพวกนาซีที่นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และการแก้แค้นคืนของชาวยิว แต่ก็มีส่วนที่สมมติเหตุการณ์และตัวละครขึ้นมาใหม่ด้วยเช่นกัน อย่าง แก๊งโคตรแสบ กลุ่มทหารอเมริกันเชื้อสายยิว นำทีมเพื่อออกแก้แค้นทหารนาซีอย่างโหดเหี้ยมโดย ร้อยโทอัลโด เรน (รับบทโดย แบรด พิตต์) เพลงบรรเลงที่ใช้ประกอบในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีจังหวะแบบเพลงมาร์ช ที่ช่วยสร้างให้เห็นภาพของความเข้มแข็งและฮึกเหิมได้เป็นอย่างดี

เพลง Freedom ของ Anthony Hamilton และ Elayna Boynton จากภาพยนตร์เรื่อง Django Unchained (2012)

Django Unchained (2012)

Django Unchained มีชื่อไทยว่า จังโก้ โคตรแดนคนเถื่อน ในบรรดาการกำกับหนังของเควนตินแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนในการสร้างมากที่สุด และสามารถกวาดกำไรมาได้มากที่สุดเช่นกัน ฉากของภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นในรัฐเท็กซัสซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา เนื้อเรื่องมีความเกี่ยวพันระหว่างทาสผิวสี พ่อค้าทาส นายจ้าง และโจรล่าค่าหัว ฉากบู้สู้กันระห่ำที่ได้เห็นในภาพยนตร์จึงหนีไม่พ้นการสาดกระสุนใส่กันเพื่อระเบิดร่างของอีกฝ่ายจนเลือดสาดกระเสน ยิ่งได้ดนตรีในแนวคันทรี่ที่มีจังหวะของกลองและกีต้าร์เข้ามาประกอบยิ่งทำให้ภาพของตัวละครในเรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับความหมายของเพลง Freedom ที่ต้องการจะปลุกความกล้าให้เผชิญกับความกลัวเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสระในชีวิต

เพลง L’Ultima Diligenza di Red Rock ของ Ennio Morricone จากภาพยนตร์เรื่อง The Hateful Eight (2015)

The Hateful Eight (2015)

The Hateful Eight ใช้ชื่อภาษาไทยว่า 8 พิโรธ โกรธแล้วฆ่า เป็นภาพยนตร์ลำดับที่แปดในการกำกับของเควนติน เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชายฉกรรจ์แปดคน ที่แค่ได้ยินฉายานามก็น่าสนใจแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “มือแขวนในตำนาน” “นักโทษโคตรบ้า” “นักล่าค่าหัว” “มือปราบ โป้งกระจุย” “เม็กซิกัน พันธุ์โหด” “โคบาลชั่ว ฆ่าวัวด้วยมือเปล่า” “อังกฤษ อสรพิษ” และ “นายพล คนอันตราย” ความบังเอิญทำให้พวกเขาทั้งแปดคนต้องเผชิญหน้ากัน และการชำระหนี้แค้นจึงเริ่มขึ้น เรื่องราวที่ดูท่าว่าจะต้องนองไปด้วยเลือดนี้ ได้เพลงบรรเลงโดย เอนนิโอ มอร์ริโคเน นักประพันธ์เพลงรุ่นใหญ่ ชาวอิตาลี ที่บรรเลงเพลง Rabbia E Tarantella ในเรื่อง Inglourious Basterds มาช่วยผสมโรง ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าลุ้นระทึกและน่าตื่นเต้น บีบคั้นอารมณ์ของคนดูให้ใจสั่นไปตามๆ กัน

เพลง Bring a Little Lovin ของ Los Bravos จากภาพยนตร์เรื่อง Once Upon a Time in Hollywood (2019)

Once Upon a Time in Hollywood (2019)

และแล้วก็มาถึงเรื่องที่คาดว่าจะเป็นผลงานการกำกับเรื่องสุดท้ายของเควนติน อย่างเรื่อง Once Upon a Time in Hollywood ซึ่งได้ แบรด พิตต์ และ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ สองนักแสดงนำชายมากความสามารถมาร่วมแสดง เพลงประกอบของเรื่องนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับแนวเพลงที่ใช้ประกอบในเรื่อง Reservoir Dogs ที่เป็นภาพยนตร์ลำดับแรกของเควนติน เนื้อเรื่องเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในฮอลลีวูดยุคฮิปปี้ปี 1969 และตัวละครหลักทั้งสองเป็นผู้เห็นเหตุฆาตกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด เรื่องราวจะดำเนินไปในรูปแบบไหน รอชมพร้อมกันได้ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2019 นี้

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore