fbpx

มิติแห่งความใกล้ชิด ผ่านงานภาพถ่ายของช่างภาพ ศุภกร ศรีสกุล

เบื้องหลังผลงานภาพถ่ายสารคดีของช่างภาพ ศุภกร ศรีสกุล ที่มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าที่เห็น

ในวงการถ่ายภาพสารคดีนั้น ‘เพศที่สาม’ ดูจะเป็นหนึ่งในซับเจ็กต์ที่ช่างภาพสารคดีส่วนใหญ่ให้ความสนใจ แต่สำหรับช่างภาพ ต้น-ศุภกร ศรีสกุล นี่กลับไม่ใช่หัวข้อในการสร้างงาน แต่เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขามากกว่า เพราะงานที่ออกมาคือเรื่องราวในชีวิตประจำวันระหว่างเขาและคนรักของเขาที่เป็นหญิงข้ามเพศ ภาพที่ถ่ายไว้เล่นๆ ตามนิสัยกลับกลายมาเป็นนิทรรศการเดี่ยว 2 ครั้ง นั่นคือนิทรรศการ Ms. Match ที่ได้ลงตีพิมพ์ในเว็บไซต์ระดับโลก และ Weekend Stage ก่อนที่จะเคลื่อนไปสู่ซับเจ็กต์ใหม่ พร้อมนิทรรศการใหม่ในชื่อ ‘สัตว์ไร้เสียง’ หรือ ‘Animal’ ที่กำลังจะจัดแสดงในปลายเดือนนี้

เช่นเดียวกับชีวิตของทุกคน ชีวิตของศุภกรมีหลายมิติ ด้านหนึ่ง เขาคือศิลปินและช่างภาพสารคดี ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้น เขาคือบัณฑิตคณะสถาปัตย์ที่ผันตัวมาเป็นช่างภาพอินทีเรียร์ประจำนิตยสารแต่งบ้านชั้นนำอย่าง Room และบ้านและสวน แม้ทั้งสองด้านที่ดูแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ก็เป็นสองด้านที่เกี่ยวพันกับเรื่องความใกล้ชิด (intimacy) ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ปรากฏชัดเจนในงานของเขา

จุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพสารคดี
“น่าจะเริ่มจากในวงช่างภาพนี่แหละ เหมือนก็ชอบถามกันในกลุ่มว่า​ใครมีโปรเจ็กต์​อะไรทำอยู่บ้าง​ ขอดูหน่อย เพื่อนคนนึงเห็นว่าเราถ่ายรูปแฟนเก็บไว้ ก็กระตุ้นให้ถ่ายเก็บไว้เรื่อยๆ มีช่วงหนึ่งที่สถานทูตฝรั่งเศสเอางานมาโชว์ที่ BACC แล้วก็มีศิลปินผู้หญิงฝรั่งเศสชื่อฟรองซวส อูกิเยร์ (Françoise Huguier) มาแสดงงานแล้วเวิร์กช็อป ซึ่งเขาก็หาช่างภาพใหม่ไปร่วมเวิร์กช็อป 5 คน ก็ให้เราทำอะไรก็ได้ภายใน 7 วัน เราก็เลยถ่ายรูปแฟนตัวเองส่งเขา พอชุดนั้นจบ เพื่อนในกลุ่มก็บอกว่าให้ลองส่งงานไปลงเว็บไซต์ดู ปรากฏว่าฟีดแบ็คดีมาก ได้ลง Huffington Post ด้วย ก็เลยจัดนิทรรศการโซโล่งานแรก ชื่อ Ms. Match ซึ่งเป็นภาพแฟนคนก่อน จากนั้นก็เป็นนิสัยติดตัวมา มีอะไรก็ถ่ายไว้หมด ทะเลาะกันก็ยังถ่าย สรุปคือเริ่มจริงจังจากเวิร์กช็อป ซึ่งเราว่าเป็นอะไรที่จุดประกายมาก”

แล้วพัฒนามาเป็น Weekend Stage ได้อย่างไร
“Weekend Stage มาจากแฟนคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนชอบจัดห้อง แล้วเราก็เป็นคนถ่ายภาพอินทีเรียร์ เราเจอบ้านดีๆ มา บางทีเราก็พาแฟนไปเป็นผู้ช่วย ไปทำงานแล้วก็ย้อนกลับมาดูตัวเรา ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของเราคือประมาณนี้ ซึ่งตอนแรกเราก็ถ่ายชีวิตในห้องพักของเราที่เราอยู่กับแฟนเฉยๆ เพื่อนก็ไม่ค่อยเก็ต เวลาจัดแสดงเลยลองเอางานภาพสถาปัตยกรรมที่เป็นงานหลักกับภาพชีวิตประจำวันที่เราถ่ายที่บ้านมาวางคู่กัน ซึ่งเราไม่ได้มองว่าเป็นงานคอลลาจเพราะมันไม่ได้สร้างเรื่องราวใหม่ แต่เป็นเรื่องเดียวกันแต่มีสองด้านมากกว่า”

แฟนเห็นรูปแล้วว่าไงบ้าง
“เขาก็บอกว่ามันตลก มันประหลาด กะเทยเขาจะมีภาพว่ามุมไหนสวย จะมีมุมของตัวเอง ก็เหมือนเราทุกคนแหละ แต่เราเราคิดว่ารูปนี้มันเล่าเรื่อง มันมีอิริยาบถที่ถ้าไม่ได้ใกล้ชิดกันมันจะไม่สามารถถ่ายออกมาได้ มีเรื่องความใกล้ชิด ซึ่งถ้าเทียบกับช่างภาพสารคดีแล้วเราก็ใกล้ชิดมากกว่า เลยอยากรู้ว่าภาพจะออกมาเหมือนกันไหม”

จริงๆแล้วงานถ่ายภาพอินทีเรียร์ก็เป็นเรื่องความใกล้ชิดเหมือนกัน
“ก็มีด้วย เพราะเราไม่ใช่คนที่เข้ากับคนอื่นง่าย แล้วเวลาถ่ายบ้านก็ต้องอยู่กับเจ้าของบ้านทั้งวัน เราต้องเข้ากับเขาให้ได้เพื่อให้รูปออกมาดี ถ้าไม่งั้นเราก็จะเกร็ง บางบ้านเราไม่กล้าเดินเข้าไปห้องนอนเขาเลยถ้าเขาไม่พาเข้าไป เป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักกันเหมือนกัน”

เห็นรูปนิทรรศการล่าสุด ดูจะเปลี่ยนไปเป็นแนวสถาปัตย์
“นิทรรศการ Animal เริ่มจากถ่ายภาพตึกก่อน คือมีคนไปเซ๊งตึกหนึ่งแถวดินแดงเพื่อไปรีโนเวททำบูทีคโฮเทล แต่ตึกนั้นเป็นตึกที่โดนไฟไหม้ช่วงสลายการชุมนุมเมื่อเก้าปีก่อน เขาก็ให้เราไปถ่ายรูปเก็บไว้ก่อน ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเอามาทำอะไร พอทางแกลเลอรี่มาเห็นรูป เขาก็สนใจ ก็เลยมาเป็นนิทรรศการนี้ ซึ่งตอนแรกเราไปอ่านเจอข้อความเฟซบุ๊คของเพื่อนคนนึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาเขียนประมาณว่าเก้าปีแล้วแต่ทุกอย่างก็เป็นปกติ เหมือนไม่สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นข้อความที่ชอบเพราะมันกระตุ้นให้คนเข้าใจ ก็เลยอยากเอาข้อความของเพื่อนมาประกบกับรูปของเรา แต่ไปๆมาๆ เหมือนจะแรงไป น้องที่แกลเลอรี่เลยบอกว่าให้เราลองเขียนดูใหม่ ”

ในการเป็นคนกรุงเทพฯ และบางทีก็ปริมณฑล​ ยิ่งเป็นพนักงานออฟฟิศด้วยแล้ว​ ภาพ​สัตว์​ต่างๆ ที่ปรากฏ​ในช่องมองภาพ​มันทำให้ผมรู้สึกประหลาด

เช้าวันอาทิตย์ที่ช่วงปลายปีแสงแดดยังถูกกรองด้วยหมอกฝุ่นที่พัดมาจากไหนสักแห่ง​ ผมมาหยุดยืนที่โถงกลางนี้เป็นที่แรก​ 


เธอคอยาวและตัวใหญ่​กว่าเป็ด​ มัดกล้ามเนื้อดันให้ขนขาวฟูนั่นมีมิติและถ้าสองขาหน้านั้นเป็นมือ​มันคงผ่านอะไรมาเยอะ​​ โดยไม่ต้องเข้ายิม​ หน้าท้องเธอมีซิกแพ​็ค​ ที่ปลายขนเธอยังมีเศษฟางติดอยู่เลย​ตอนที่ตาเราประสานกัน​ผมไม่เห็นตัวเองในนั้น​ ผมฟังเสียงจากข้างหลังและข้างนอกนั้นยังเป็นปรกติ​ปากของเธอยังขยับตอนที่ผมได้ยินเสียงซากกระเบื้องใต้รองเท้า​ ​

เผื่อคุณยังไม่รู้​ ผมมาที่นี่เพื่อถ่ายภาพอาคารที่พรุ่งนี้จะเริ่มรีโนเวทเป็นบูทิคโฮเทล​ ว่ากันว่างานดีไซน์ยิ่งมีมิติเมื่อมันเชื่อมโยงอดีต​ และเมื่อคุณบินให้สูงหน่อยจะเห็นแขนที่กุมมือกับปัจจุบัน​ และหากอดีตของที่นี่ก่อร่างผ่านถ้อยคำ​ ภาษาเหล่านั้นจะมีเพียงน้ำเสียงของพวกเรา…

แล้วเป็นเรื่องสัตว์ได้ยังไง
“จากภาพตึก เราจินตนาการไปว่าเราเห็นภาพสัตว์ในตึก ซึ่งก็เป็นตัวแทนของผู้ชุมนุมนั่นแหละ เหมือนเรามองเค้าเป็นสัตว์ที่ส่งเสียงแล้วไม่รู้ความหมาย แต่เราพูดให้ซอฟต์ลง ผลที่ออกมาเลยดูเป็นเรื่องแนวเซอร์เรียลที่ต้องตีความไป ใครเข้าใจก็เข้าใจ ไม่เข้าใจก็อ่านเพลินๆ”

มาเขียนจริงจังแล้วรู้สึกยังไงบ้าง
“ตอนแรกก็ตันมาก คือเราเหมือนจับพลัดจับผลูมาเขียนตั้งแต่นิทรรศการที่แล้ว แต่ก็ไปอ่านเจอบทสัมภาษณ์ ของนักเขียนญี่ปุ่นที่เขียนเรื่อง Revenge เขาก็บอกว่าเขาเขียนหนังสือ มันเหมือนเข้าไปในถ้ำแห่งความลับแล้วได้เรื่องพวกนี้ออกมา ถ้าไม่เขียนก็จะไม่มีเรื่องพวกนี้ออกมาในหัว บางเรื่องเขาลืมไปแล้วแต่พอเขียนมันก็ออกมาเอง ก็น่าจะคล้ายๆเหมือนการถ่ายรูปเหมือนกัน บางทีเราถ่ายๆเก็บไว้ มาดูอีกทีมันก็มีรูปที่เราไม่คิดว่าเราถ่ายไว้เหมือนกัน ในนิทรรศการ Animal จะมีความคิดกลับไปกลับมาระหว่างการเขียนกับภาพเยอะอยู่เหมือนเราเขียนเรื่องจากรูปเราเสร็จ พอไปอ่านดู ก็รู้สึกว่าท่อนนี้ควรเอามาเติมในนิทรรศการมั้ย กลายเป็นรูปแล้วเขียน เขียนกลับไปรูป ก็สนุกดี เติมเป็นรายละเอียดในนิทรรศการ วิธีแสดงงานที่ช่วยบรรยายให้ชัดขึ้น อาจจะเติมวัตถุใหม่เข้าไป ต้องรอดูครับ”

นิทรรศการ Animal ‘สัตว์ไร้เสียง’ จัดแสดงที่ Window Gallery and Cafe ซ.อินทามระ 3 ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน – 4 สิงหาคมนี้

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี