นิทรรศการ “SOMETHING NOUVEAU. KLIMT, MUCHA, BEARDSLEY” ที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลกรุงเทพฯ MODA Gallery พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิตัลแห่งแรกของเมืองไทย ที่ชั้น 2 ของ
ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม – 16 เมษายน 2020 เป็นนิทรรศการที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ให้ทุกคนได้ใกล้ชิดกับงานศิลปะที่มีชื่อเสียงของศตวรรษอย่าง “อาร์ต นูโว (Art nouveau)” มากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการฉายภาพศิลปะอาร์ตนูโวด้วยโปรเจคเตอร์สุดล้ำบนผนังและพื้นห้อง (MODA Galley) การนำเสนองานสามมิติที่ผู้ชมต้องสวมแว่นพิเศษที่ MODA เตรียมไว้ให้เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์แบบ immersive (MODA Space) และการนำเสนอโลกเสมือนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งผู้ชมต้องใช้อุปกรณ์ในการชมและฟังเพื่อดื่มด่ำกับโลกสามมิติแบบอินเตอร์แอ็คทีฟ และสามารถเนรมิตโลกเสมือนได้ด้วยตัวเองผ่านอุปกรณ์ VR (MODA VR Studio) ถือเป็นการเปิดศตวรรษใหม่ด้วย ‘New art’ ที่ต้องการนำเสนอศิลปะในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Artainment” ซึ่ง MODA Gallery ตั้งใจสรรค์สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์การเสพผลงานศิลปะของคนรุ่นใหม่ โดยการผนวกศิลปะคลาสสิคและร่วมสมัยไว้ด้วยกัน ผู้ชมจะได้รับรู้ถึงศิลปะความงามอันเป็นอมตะและความรุ่งโรจน์แห่งยุคนั้นผ่านภาพดั้งเดิมผสานกราฟิกเคลื่อนไหวและเสียงคลอดนตรีบรรเลงที่ดึงให้ผลงานมาสเตอร์พีซอันคลาสิกได้เชิดฉายในโลกปัจจุบัน
MODA Gallery พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับศิลปะดิจิตัลทุกแนว
MODA Gallery ร่วมกับ บริษัท Vision Multimedia Projects สร้างสรรค์พื้นที่สำหรับศิลปะดิจิตัลทุกแนวในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัล ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีคอนเซ็ปต์คือการรวบรวมสิ่งที่ดีที่สุดของความร่วมสมัย ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในทั่วโลก เช่น BORDERLESS ในกรุงโตเกียว ที่เน้นไปที่งานอินสตอลเลชั่นที่ให้ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วม และ ATELIER des LUMIERES ในกรุงปารีส ที่นำเสนอโชว์ในรูปแบบมัลติมีเดีย ส่วน MODA คือโปรเจ็คต์ใหม่ที่รวมความพิเศษของทั้งสองงานข้างต้นเข้าไว้ด้วยกันและมีสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเข้าไปอีก


Vision Multimedia Projects คือ บริษัทยุโรปผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นมาก่อนหน้านี้ อย่าง From Monet to Kandinsky. Revolutionary Art” และ “Italian Renaissance” ที่จัดขึ้นที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก รวมทั้งในประเทศเยอรมนี รัสเซีย และซาอุดิอาระเบีย ในช่วงปี 2014 – 2019 ด้วยความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบ โปรดักชั่น และโปรเจ็กต์งานนิทรรศการที่จัดแสดงในที่ต่าง ๆ ในรูปแบบมัลติมิเดียอันทันสมัย บวกกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ในการพัฒนานิทรรศการ รวมถึงกราฟิกอะนิเมชั่นต่าง ๆ และบีมเมอร์ (Beamer) อันทันสมัยนับสิบชิ้นที่ช่วยเพิ่มความละเอียดของภาพ ประกอบกับจอขนาดใหญ่และระบบเสียงรอบทิศทาง ทำให้นิทรรศการที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
อาร์ต นูโว ช่วงเวลาอันสั้นของความรุ่งเรืองทางศิลปะ สถาปัตยกรรม และงานดีไซน์
อาร์ต นูโว (Art nouveau) คือ ศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากความโค้งมนแบบโรโคโค (Rococo) เส้นสายงานกราฟิกแบบเคลติค (Celtic) และงานบล็อคไม้แบบญี่ปุ่น ศิลปินมักจะนำรูปทรงของต้นไม้ที่พบตามธรรมชาติมาประยุกต์และทำให้ดูเป็นลวดลายนามธรรมที่สง่างามและเป็นธรรมชาติ สุนทรียะของ อาร์ต นูโว กลายเป็นนิยามของภาษาภาพในช่วงเวลาหนึ่งที่เรียกว่า “ยุคทอง” ซึ่งเบ่งบาน รุ่งเรือง และแสดงให้เห็นถึงยุคสมัยแห่งเทคนิคและความปรารถนาในแง่ความงามและการเชิดชู

รู้จัก 3 ศิลปินประวัติศาสตร์แห่งยุคทองของอาร์ต นูโว
ใครที่อยู่ในแวดวงศิลปะหรือชื่นชอบการเสพผลงานศิลปะคงทราบดีอยู่แล้วว่าส่วนหนึ่งของผู้บุกเบิก กุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) อัลโฟนส์ มูคา (Alphonse Mucha) และออเบรย์ เบียร์ดสเลย์ (Aubrey Beardsley) นั้น เป็นแถวหน้าของยุคอาร์ตนูโว (Art nouveau)
หลายคนรู้จักกุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) จากภาพ “The Kiss” ที่สร้างขึ้นราว ๆ ค.ศ. 1907 – 1908 ซึ่งเป็นภาพที่แสดงอิริยาบถของคู่รักที่สะท้อนถึงสไตล์เวียนนนาอันทันสมัย ในผลงานชิ้นนี้ คลิมท์ได้ใช้เทคนิคผสมผสานทองคำเปลวลงในสีน้ำมันซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากกระเบื้องโมเสกในยุคไบเซนไทน์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา
ส่วน อัลโฟนส์ มูคา (Alphonse Mucha) เริ่มเป็นที่รู้จักจากการวาดภาพโปสเตอร์ที่ชื่อว่า “Gismonda” ให้กับโรงละครเรอเนสซองซ์แห่งหนึ่งในปี ค.ศ. 1894 ซึ่งเป็นการวาดอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ทันการแสดงที่จะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่วัน สิ่งที่มูคาถ่ายทอดลงไปบนผลงานโปสเตอร์ชิ้นนี้ คือการสร้างให้ภาพมีบรรยากาศที่เคร่งขรึมพร้อมด้วยความหรูหราและรูปแบบเทคนิคที่แตกต่าง จนออกมาเป็นภาพวีรสตรีที่มีความงดงาม
และออเบรย์ เบียร์ดสเลย์ (Aubrey Beardsley) ผู้สร้างภาพตัวละครให้กับหนังสือสะโลเม (Salomé) หนังสือแนวโศกนาฏกรรมที่เขียนโดย ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) ผลงานของเบียร์ดสลีย์ในหนังสือเล่มนี้ คือจุดกำเนิดแห่งความเสื่อมทรามอันมีอิทธิพลอย่างชัดเจนในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ แม้ภาพวาดของเบียร์ดสลีย์จะฉาวโฉ่และได้รับการโจมตีด้วยคำวิจารณ์ แต่เบียร์ดสลีย์ก็ไม่ได้สนใจต่อสิ่งเหล่านั้น ซึ่งในทางกลับกัน ผลงานของเบียร์ดสลีย์ยังมีคนจำนวนมากที่ชอบและชื่นชม ภาพวาดเหล่านี้ คือผลงานมาสเตอร์พีซที่เบียร์ดสลีย์ได้ใช้ขนบใหม่สร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง

ผู้ชื่นชอบศิลปะสามารถชมนิทรรศการ “SOMETHING NOUVEAU. KLIMT, MUCHA, BEARDSLEY” ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 16 เมษายน 2020 ณ MODA Gallery พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลแห่งแรกของกรุงเทพฯ ชั้น 2 ของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก บัตรผู้ใหญ่ราคา 350 บาท และบัตรสำหรับผู้อาวุโสและนักเรียนราคา 250 บาท เพื่อชมงานส่วน MODA Gallery และ MODA Space ส่วน MODA VR Studio ต้องซื้อบัตรแยก บัตรผู้ใหญ่ราคา 200 บาท และบัตรสำหรับเด็ก นักเรียน ผู้อาวุโส ราคา 100 บาท ซึ่งเนื้อหาของนิทรรศการส่วน MODA VR Studio จะเป็นเรื่องราวของผลงานและศิลปินผู้มีชื่อเสียงที่ทีมงาน MODA ได้คัดสรรมาแล้วอย่างดีเยี่ยม