งานวิจัยของบริษัทเทคชื่อดังอย่าง Hootsuite ชี้ว่าคนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและมีบัญชีโซเชียลคิดเป็น 75% ของประชากรทั้งหมด (ในเดือนมกราคม ปี 2020) และโดยเฉลี่ยแล้วชาวไทยใช้เวลาอยู่กับการไถฟีดบนโลกโซเชียลนานถึง 3 ชั่วโมงต่อวัน จึงไม่แปลกเลยที่พอรู้ตัวอีกที หลายๆ คนอาจจะมีอาการ “ติดโซเชียล” ไปแล้ว ว่าแต่อาการที่ว่ามีลักษณะอย่างไรบ้าง มาดูกันเลยดีกว่า จะได้รีเช็คตัวเองกันด้วยว่าคุณกำลังเจอกับอาการเหล่านี้อยู่หรือไม่
Phubbing
ฟับบิ้ง หรือ Phubbing คืออาการติดหน้าจอจนละเลยบุคคลจริงๆ ที่อยู่ตรงหน้าหรือรอบๆ ตัว อย่างเช่นการเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลาระหว่างรับประทานอาหารหรืออยู่ในวงสนทนา แม้จะดูไม่ร้ายแรง แต่คนที่มีอาการแบบนี้ก็มักถูกมองว่าไม่มีมารยาท แถมยังเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความห่างเหินระหว่างครอบครัวหรือเพื่อนและทำให้บทสนทนาต่อหน้ามีความหมายน้อยลงด้วย
Social Media Anxiety Disorder (SMAD)
ชื่อก็บอกค่อนข้างชัดเจนว่า Social Media Anxiety Disorder คืออาการวิตกจริตจากการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งก็มีตั้งแต่การใช้เวลาอยู่ในโลกโซเชียลนานๆ (นานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน) การรู้สึกกังวลเมื่อไม่มีคนกดไลค์สิ่งที่ตนเองโพสต์ หรือการที่รู้สึกว่าต้องเช็คยอดฟอลโลว์เวอร์ของตัวเองตลอดเวลา นอกจากนี้ คนที่มีอาการนี้ยังมีแนวโน้มที่จะรับแอดคนที่ไม่รู้จัก และเลือกจะใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากกว่าอยู่กับคนจริงๆ ซึ่งถ้าอาการหนัก SMAD อาจนำไปสู่อาการทางจิตอื่นๆ อย่าง OCD หรือโรคเครียดเรื้อรังได้
Phantom Ringing Syndrome
เคยมั้ยที่ชอบรู้สึกไปเองว่ามือถือของคุณสั่นตลอดเวลา นั่นแหละคืออาการของ Phantom Ringing Syndrome หรือ ringxiety หรือ fauxcellarm เป็นอาการหลอนแบบหนึ่งที่สมองเราเกิดรับรู้สัญญาณที่ไม่มีอยู่จริง อาการนี้มักจะเกิดจากการใช้มือถือมากจนเกินไปนั่นเอง แต่ก็เป็นหนึ่งอาการที่แก้ได้ง่ายหน่อย นั่นก็คือปิดเสียงเตือนและระบบสั่นไปเลย
Cyberchondria
อาการนี้อาจจะเกิดขึ้นมากหน่อยในช่วงโควิดนี้ Cyberchondria คืออาการหมกมุ่นหรือการใช้เวลามากมายไปกับการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่างๆ หรือข้อมูลทางการแพทย์ในอินเตอร์เน็ต (คาดว่ามีที่มาจากคำว่า hypochondria ซึ่งหมายถึงอาการวิตกกังวลว่าตนเองจะป่วยตลอดเวลา) แล้วพาลไปคิดว่าตัวเองอาจจะป่วยหรือติดโรคจนเกิดความกังวลไปอีก อาการนี้มักจะเกี่ยวข้องกับความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพที่อาจจะมีอยู่แล้ว รวมถึงเกี่ยวกับพฤติกรรม OCD ด้วย
Google Effect
Google Effect หรือบางทีก็เรียกว่า digital amnesia คืออาการที่จำข้อมูลที่สามารถค้นหาได้จากกูเกิ้ลหรือ search engine ไม่ได้เลย (ถ้าไม่เปิดดู) พูดง่ายๆ ก็คือการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสมองช่วยจำนั่นเอง นอกจากข้อมูลทั่วไปแล้ว อาการนี้อาจรวมไปถึงการเลือกที่จะไม่จดจำข้อมูลส่วนตัว แต่จดไว้ในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือแทนด้วย ลองดูตัวเองก็ได้ว่าคุณจำเบอร์โทรของคนใกล้ชิดได้สักกี่เบอร์กัน
Nomophobia
Nomophobia หรือ No Mobile Phone Phobia คือสภาวะทางจิตที่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์รู้สึกกลัวที่จะต้องอยู่ห่างจากมือถือ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้มือถือได้ (เช่น แบตหมด) หรืออยู่ในที่ที่อับสัญญาณและเชื่อมต่อออินเตอร์เน็ตไม่ได้ จนทำให้เกิดอาการวิตกกังวลในรูปแบบต่างๆ เช่น กระสับกระส่าย หายใจติดขัด เหงื่อออก มึนงง ไปจนถึงแพนิค
FOMO
FOMO หรือ Fear of Missing Out ถือเป็นความวิตกกังวลทางสังคมประเภทหนึ่ง โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับความกลัวที่จะพลาดบางอย่าง (เช่น ข้อมูล ประสบการณ์)ในโลกอินเตอร์เน็ตไป ทำให้รู้สึกว่าล้าหลังหรือตามไม่ทัน ถ้าเป็นในวงการเกม อาการนี้ก็เอาไว้อธิบายถึงอาการที่เกิดขึ้นเมื่อพลาดไอเท็มสำคัญนั่นเอง อาการ FOMO นี้สามารถส่งผลต่อการรับรู้ขีดความสามารถของตนเองและการตั้งเป้าหมายในชีวิตในระยะยาว รวมถึงทำให้เกิดอาการเหงา เบื่อและพอใจในชีวิตน้อยลงด้วย
อ้างอิง
– https://datareportal.com/digital-in-thailand
– https://www.financialexpress.com/lifestyle/social-media-syndromes-take-a-look-at-some-modern-day-disorders-born-out-of-social-media/2097225/