fbpx

สนามเด็กเล่นจากวัสดุธรรมชาติ Magic Circle ลงทุนต่ำ แต่ความสุขล้น

กลุ่มสถาปนิกไทยพัฒนาโมเดลสนามเด็กเล่นจากวัสดุธรรมชาติ เน้นต้นทุนต่ำ แต่ความยั่งยืนสูง เป็นต้นแบบให้โรงเรียนชนบททั่วประเทศ

ประสบการณ์ที่ได้สัมผัสจากการทำงานออกแบบอาคารเรียนขนาด 5 ห้องที่โรงเรียน ‘บ้านวังรี’ จังหวัดสระแก้ว ทำให้ สองสถาปนิกชาวกรุง บิ๋ม – สาวิตรี ไพศาลวัฒนา และคูบ้า – จาคอบ การ์ดอลินสกี้ (ผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบ PAGA-A) ได้รับบันดาลใจใหญ่หลวงจากความมุ่งมั่นของครูอาจารย์ในโรงเรียน ที่พยายามทำทุกวิถีทางให้นักเรียนของพวกเขาได้รับโอกาสการศึกษาที่ดีที่สุดบนงบประมาณอันแสนน้อยนิด

อย่างไรก็ดี ทั้งคู่พบว่านอกจากอาคารเรียนแล้ว โรงเรียนบ้านวังรียังขาดแคลนสิ่งจำเป็นด้านอื่นอีก อาทิ โรงอาหารและสนามเด็กเล่น ซึ่ง PAGA-A เล็งเห็นว่า ‘สนามเด็กเล่นคุณภาพ’ ไม่จำเป็นต้องอาศัยงบประมาณก่อสร้างสูงเสมอไป จึงเสนอกับทางโรงเรียนว่าอยากช่วยจัดทำสนามเด็กเล่นที่ดีต่อพัฒนาการของเด็กเล็ก (ในชั้นอนุบาลและชั้นประถม) เพื่อเป็นโครงการตอบแทนสังคมผ่านกิจกรรม design-build workshop

พวกเขาตั้งชื่อโครงการเวิร์คช็อปสร้างสนามเด็กเล่นนี้ว่า Magic Circle บนแนวคิดที่ว่าสภาพแวดล้อมใดๆ ก็ตามสามารถถูกจินตนาการเป็น ‘ที่เล่นสนุก’ ได้เสมอในสายตาของเด็ก

“ในสายตาของเด็กๆ แล้ว ไม่ว่าพื้นที่ไหนก็สามารถจะกลายเป็น Magic Circle ได้ เพียงแค่เราออกแบบพื้นที่นั้นให้มีความยืดหยุ่นต่อการทำกิจกรรมที่หลากหลายของพวกเขา”

– จาคอบ การ์ดอลินสกี้ –

ในกระบวนการออกแบบครั้งนี้ ทีมงานได้น้อมนำทฤษฎี Affordances Theory ของ เจมส์ เจ กิ๊บสัน มาเป็นพื้นฐานการสร้างสรรค์ในขั้นตอนเวิร์คช็อป โดยเปิดให้นักเรียนนักศึกษาวิชาออกแบบและสถาปัตยกรรมจากหลายหลายสถาบันสมัครเข้าร่วมโครงการ อาทิ มหาวิทยาลัยศิลปากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ฯลฯ พร้อมเชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุพื้นถิ่น (สันธาน เวียงสิมา) ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเล็ก (นายแพทย์ สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข) และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืนจาก RISC (สริธร อมรจารุชิต) มาร่วมให้ความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการออกแบบ เพื่อว่าผลงานสนามเด็กเล่นที่เกิดขึ้นจะได้สอดคล้องกับบริบทชีวิตและพัฒนาการของเด็กๆ ในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางร่างกาย ทางอารมณ์ และทางสังคม

นักศึกษาวิชาออกแบบและสถาปัตยกรรมจากหลายมหาวิทยาลัยเข้าร่วมเวิร์คช็อปในกรุงเทพฯ
การอธิบายแนวคิดด้วยต้นแบบอย่างง่ายถือเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการออกแบบ

นอกจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้ว โครงการ Magic Circle ยังได้รับการสนับสนุนจากสตูดิโอออกแบบชั้นนำอย่าง  BTA (วทันยา จันทร์วิทัน และ Takahiro Kume) และ PHTAA (พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล และ หฤษฎี ลีลายุวพันธ์) ที่ช่วยทำหน้าที่เป็น mentor หรือที่ปรึกษาให้กับเหล่านักศึกษาในโครงการ ทำให้โครงการนี้ค่อยๆ พัฒนาสู่ผลลัพธ์ที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ของการบริหารต้นทุน ความเป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่นการเลือกใช้วัสดุหลักที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นไทย อันได้แก่ ดิน ไผ่ และเชือกที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ นั่นหมายความว่าคอนเส็พท์ Magic Circle นี้ย่อมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกพื้นที่ในประเทศ และไม่ว่าโรงเรียนชนบทห่างไกลของภูมิภาคไหน ก็สามารถจะเข้าถึงวัสดุพื้นถิ่นลักษณะนี้ได้ด้วยงบประมาณที่ต่ำ ที่สำคัญคือในกระบวนการก่อสร้างไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือราคาแพง หรือกระทั่งช่างฝีมือที่มีประสบการณ์สูงเลยด้วย

ขั้นตอนการก่อสร้างอาศัยเพียงเครื่องไม้เครื่องมือพื้นฐานและวัสดุที่หาได้ทั่วไปในท้องถิ่น

ชาวบ้านในชุมชนอาสาลงแรงช่วยกันก่อสร้างสนามเด็กเล่น

จาคอบ การ์ดอลินสกี้ และ สาวิตรี ไพศาลวัฒนา ถ่ายภาพร่วมกับสมาชิกผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Magic Circle

เกี่ยวกับโรงเรียนบ้านวังรี
เป็นโรงเรียนรัฐขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสระแก้วทางภาคตะวันออกของประเทศไทย (13°52’41.2″N 102°17’16.7″E) ปัจจุบันมีครูประจำ 6 คน ที่ดูแลการเรียนการสอนชั้นอนุบาลจำนวน 2 ห้องเรียน และชั้นประถมจำนวน 6 ห้องเรียน เด็กนักเรียนมีอายุระหว่าง 3 – 12 ปี เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเพียงน้อยนิด คนในชุมชนจึงต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันเองเพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินการเรียนการสอนต่อไปได้ ยกตัวอย่างเช่น อาคารห้องสมุดขนาดเล็กที่ก่อสร้างด้วยเงินบริจาคและแรงงานของคนในชุมชน เรื่อยไปจนถึงการทำแปลงผักผลไม้ของครูในโรงเรียน เพื่อนำผลผลิตส่วนหนึ่งไปขายในตลาด (สร้างรายได้เสริมกลับคืนสู่โรงเรียน) และอีกส่วนหนึ่งก็นำมาเป็นอาหารเช้าและอาหารกลางวันของเด็กๆ ได้

เกี่ยวกับ Affordances Thoery
Affordances Thoery คือแนวคิดที่ว่าโลกรอบตัวไม่ได้ถูกตีความด้วยกายภาพของวัตถุหรือความสัมพันธ์ที่เฉพาะเจาะจงเสมอไป อันที่จริงแล้วเราสามารถทำความเข้าใจสิ่งรอบตัวได้จากการ ‘การตีความ’ หรือ ‘จินตนาการ’ ที่จะนำไปสู่ปฏิสัมพันธ์ใหม่กับพื้นที่หรือสิ่งของเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การที่เรามองเห็นโต๊ะตัวหนึ่ง เราสามารถจะจินตนาการได้ว่าเราอยากนั่งที่โต๊ะ หรืออยากนั่งบนโต๊ะ หรืออยากนำอาหารไปทานที่โต๊ะ หรือกระทั่งอยากปีนไปยืนบนโต๊ะตัวนั้นก็ได้ ดังนั้นการทำความเข้าใจในวัตถุหรือพื้นที่ใดๆ ของมนุษย์แต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือบริบทชีวิตในหลายๆ ด้าน อาทิ อายุ ความแข็งแรงของร่างกาย ระดับการศึกษา ความรู้ วัฒนธรรมประเพณี ฯลฯ อย่างไรก็ดี เป็นที่เชื่อกันอย่างแพร่หลายว่าทฤษฎี Affordances นี้มีนัยสำคัญต่อการเติบโตของเด็กเล็กโดยตรง นั่นหมายความว่าสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อพัฒนาการของเด็กๆ จึงควรมีลักษณะที่เปิดกว้างต่อจินตนาการ ส่งเสริมให้พวกเขาได้ฝึกคิด สำรวจความเป็นไปได้ และเรียนรู้ถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในโลกรอบตัวด้วยตัวพวกเขาเอง

ข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Magic Circle สามารถติดตามและสอบถามได้ทางเฟสบุ๊ค magiccircle2020

เครดิตภาพ: พลากร รัชนิพนธ์, อวิกา บัววัฒนา

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore