ด้วยสายตาที่ไม่เคยหยุดมองหาความพิเศษในอัตลักษณ์ไทยที่มีอยู่ เราจึงได้เห็นปลาสวยงามอย่าง ปลากัด ได้เป็นส่วนหนึ่งของห้องพักสำหรับแขกของที่นี่ และเมื่อไม่นานมานี้ ปลากัดก็ได้รับยกย่องจากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติอีกด้วย ทางกลุ่มโรงแรมอนันตราจึงได้ร่วมกับคุณวิศรุต อังคทะวานิช ช่างภาพชื่อดังผู้เป็นเจ้าของผลงานภาพถ่ายปลากัดบนพื้นหลังไอโฟน 6 เอส ในการจัดนิทรรศการภาพถ่าย ปลากัดไทย ความงามแห่งสยามขึ้น โดยมีอาจารย์อภินันท์ สุวรรณรักษ์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มาให้ความรู้ในเกี่ยวกับปลากัดในวันเปิดงาน ผู้ที่ชื่นชอบผลงานศิลปะและแขกที่มาพักทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสามารถรับชมความสวยงามและเรียนรู้เรื่องราวของปลากัดได้ที่อนันตรา เชียงใหม่ รีสอร์ทซึ่งเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 2 – 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย




อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของปลากัดไทย

อาจารย์อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อธิบายว่า “จริงๆ แล้วปลากัดเป็นปลาที่หากพูดถึงกันในหมู่เด็กผู้ชายไทยก็น่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะเด็กผู้ชายไทยมักจะเคยเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม ไม่ก็เลี้ยงไว้เพื่อเล่น แต่เมื่อมองลึกลงไปก็จะเห็นได้ว่า ‘ปลากัด’ เป็นสิ่งมีชีวิตที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนที่ทำนา เพราะปลากัดมักจะอยู่ในนาข้าว อยู่ในน้ำตื้นๆ และคนไทยเองก็มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวกับนาข้าวและท้องนา ปลากัดจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว”
“ปลากัดเป็นปลาที่มีอยู่ทุกพื้นที่ และเป็นปลาที่มีความอดทนสูงมาก สามารถอยู่ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำๆ ได้ และสามารถเป็นตัวช่วยในการกำจัดลูกน้ำยุงลายในน้ำนิ่งตามวิถีธรรมชาติได้ด้วย ที่สำคัญคือทุกวันนี้ปลากัดกลายเป็นสินค้าส่งออก ที่ช่วยเหลือประชาชน ช่วยเหลือเจ้าของฟาร์มที่ทำงานทางด้านนี้เป็นล่ำเป็นสัน”

“แม้ว่าวันนี้ปลากัดส่วนหนึ่งที่คนไทยเพาะขยายพันธุ์จะสามารถควบคุมได้ แต่ว่าปลากัดที่เคยเกิดขึ้นเองและอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติกลับเป็นสิ่งที่พบได้ยากยิ่ง นั่นเป็นเพราะว่าสิ่งสำคัญอย่างพื้นที่ในธรรมชาติของมันหายไป พื้นที่นาหายไป พื้นที่ที่เป็นแอ่งน้ำหายไป เนื่องมาจากการใช้ยาและสารเคมี ปลากัดจึงไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับแหล่งหาอาหารตามธรรมชาติของปลาอีกด้วย เมื่อไม่มีพื้นที่ ไม่มีอาหาร ปลากัดย่อมจะสูญพันธุ์ได้ในที่สุด”
การเลี้ยงปลากัดไทยในอดีตนั้นสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนไทยในชนบท โดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรมที่คนส่วนใหญ่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ในปัจจุบันนี้ ปลากัดไทยตามธรรมชาติกลับมีจำนวนลดน้อยลงจนน่าใจหาย และกลายมาเป็นปลาสวยงามที่ถูกเพาะพันธุ์เพื่อเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้ว่าวันนี้การผลักดันปลากัดให้กลายเป็น ‘สัตว์น้ำประจำชาติ’ จะสำเร็จแล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอนพอที่จะรับรองอนาคตของปลากัดได้ หากผู้คนในประเทศไม่ตระหนักและเห็นถึงคุณค่าของสิ่งสวยงามที่เรามี
‘ปลากัด’ ปลาประจำชาติไทย และทิศทางที่ควรไปต่อ

คุณรุตได้เล่าและให้ความคิดเห็นไว้ว่า “หลังจากที่ทำงานปลากัดก็เป็นที่ถูกพูดถึงในระดับโลก เพราะงานเหล่านี้ไปปรากฏบนอินเตอร์เน็ตและมีการส่งต่อ หลังจากนั้นปรากฏว่า พอมีงานกับแอปเปิ้ลออกไปแล้ว คนทั่วโลกก็ได้เห็นปลากัด ได้ชื่นชมปลากัด แต่เหมือนกับว่าไม่มีใครรู้ว่านี่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ชาวต่างชาติในตอนนี้ก็เรียกปลากัดว่า เบตต้าฟิช หรือบางคนเรียกว่าสยามฟิช แต่เขาไม่ได้เชื่อมโยงความสยามกับความเป็นประเทศไทย เพราะประเทศไทยเปลี่ยนชื่อมานานมากแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่แอปเปิ้ลยังสื่อให้ทั่วโลกแล้ว แต่ไม่มีใครฟอลโล่วในความเป็นไทยกลับไปให้เขาเลย ผมจึงคิดว่าควรจะเอาเรื่องนี้ไปคุยกับกรมประมง ว่าเราจะทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นปลาประจำชาติได้มั้ย เพราะว่าจากการที่มีคนยิงสื่อโฆษณาให้คนทั่วโลกแต่ว่าเรายังขายปลากันเป็นตัวๆ เราสูญเสียโอกาสอะไรไปเยอะแยะเลย เราขายปลาตัวละ 5 บาท 10 บาท 100 บาท แต่ถ้าเรานำปลาไปอยู่กับโปรดักส์อื่น ขายคุณค่าของปลา เราไม่ต้องส่งปลา ไม่ต้องเลี้ยงปลา เราทำผ้าผืนนึงขาย 3 – 4 พันบาท ดังนั้น ปลากัดมันมีสเต็ปอื่นที่นอกจากขายความเป็นตัวปลาด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อมันมีตำแหน่งอะไรสักอย่าง ซึ่งก็คือ ‘สัตว์น้ำประจำชาติ’ ตัวอย่างเช่น พอนึกถึงช้าง ประเทศไทยเวลาเราไปวัดพระแก้ว รอบๆ นั้นขายของก็เป็นช้าง ซึ่งในกรุงเทพไม่มีช้าง เราไปเชียงใหม่ก็มีช้าง เพราะฉะนั้นโปรดักส์ของที่ระลึกที่เป็นช้าง สร้างรายได้ให้ประเทศเท่าไรก็ไม่รู้ แต่ว่าทำไมประเทศไทยเราไม่มีอย่างอื่นเลยเหรอ ตัวอย่างเปรียบเทียบ อย่างเราไปญี่ปุ่น ยังมีนกกระเรียน ซากุระ นินจา โดราเอม่อน ซึ่งของที่เป็นซอฟพาวเวอร์เหล่านี้ สามารถสร้างมูลค่าให้กับญี่ปุ่นได้เยอะมากๆ ของเล่นกันดั้มมูลค่าเป็นหลักหมื่นๆ ล้านบาทต่อปี ทั้งๆ ที่มันไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้นจึงมองว่า แทนที่เราจะมองแค่การขายปลา เราทำให้เป็นสเตปไกลหว่านั้นได้ เราขายอิมเมจมันได้ ไหนๆ แอปเปิ้ลยิงสื่อให้แล้ว เราควรจะทำอะไรกับปลากัดต่อไป เพราะฉะนั้นความคิดและเหตุผลเหล่านี้จึงกลายเป็นที่มาว่าปลากัด กลายเป็นปลาประจำชาติได้อย่างไร”
จุดเริ่มต้น และแรงบันดาลใจของการถ่ายภาพปลากัด

คุณรุตเล่าว่า “ผมเป็นคนที่ชอบปลามาตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้ว พอโตขึ้นมาทำงานก็เป็นช่างภาพ วันนึงได้มีโอกาสไปดูงานประกวดปลา แล้วเห็นเขาเปิดฉากปลากัดว่ายน้ำไล่กันอยู่ เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่มีต่อปลากัดคือความของการได้ห็นเขาว่ายน้ำ ก็เลยอยากถ่ายภาพปลาที่ว่ายน้ำ อยากถ่ายภาพความเคลื่อนไหว ถ้าปลากัดอยู่เฉยๆ เขาก็จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้มีความน่าสนใจอะไรมาก นอกจากนี้ปลากัดยังมีความหลากหลายของสี ความหลากหลายของหาง ภาพจึงออกมามีความหลายของสีและรูปแบบต่างๆ ถ้าลองมองแต่ละภาพ อาจจะเห็นว่าบางภาพ ปลากัดดูกลายเป็นอย่างอื่น เพราะว่าพอถ่ายไปเรื่อยๆ มีความรู้สึกว่าเสน่ห์ของปลากัดไม่ได้อยู่ที่ความเป็นปลา มันกลายเป็น ‘Object of Art’ อย่างหนึ่ง เราสามารถมองมันเป็นรูปแบบของอย่างอื่นได้ ขึ้นอยู่กับจินตนาการของเราที่เรามองรูปนั้นแล้วเราคิดถึงอะไร ดังนั้น การถ่ายภาพจึงไม่ใช่แค่การถ่ายสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่เป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เราเห็นตรงหน้าให้ออกมาในรูปแบบที่เรารู้สึกหรือจินตนาการ
แนะนำเทคนิคการถ่ายภาพ

คุณรุตอธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่า “เรื่องถ่ายปลากัดนี้เป็นเรื่องเบสิกมากๆ ถ้าไปถามช่างภาพคนอื่นๆ ที่ทำงานในสตูดิโอก็จะถ่ายปลากัดได้หมด เพราะว่าแค่เอาไฟไปตั้งอยู่เหนือตู้แค่นั้นเอง แต่ว่าก่อนหน้านี้ คนไม่เคยมองปลากัดในแง่นี้ คนมองว่าปลากัดก็เอาไว้ให้เด็กเลี้ยง ไม่มีใครเห็นความงามของปลากัดในลักษณะแบบนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นพอผมถ่ายแล้วเอาไปไว้ในสื่อ สื่อถึงได้ผลักดันสิ่งเหล่านี้ออกไปได้ เพราะว่ามันมีความใหม่ มันมี visual ที่โลกยังไม่เคยเห็น เพราะว่าภาพในหัวที่มอง ไม่ได้มองว่าเป็นแค่ปลาตัวเล็กๆ แต่มองเห็นความงามของมัน ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังแสวหามัน เราไม่ได้แสวงหาความสวยงามที่มันเหมือนๆ กันไปหมด แต่เราแสวงหาความแปลกใหม่ เพราะฉะนั้นเวลาเราถ่ายรูปที่มีเฉพาะในประเทศไทย ที่อื่นไม่มี เขาจะมองว่านี่แหละเป็นสิ่งที่มีความแปลกใหม่ มันก็เลยเป็นคุณค่าและมูลค่าในตัวเอง”
“ดังนั้น ในแง่การถ่ายภาพจึงเป็นเรื่องของความรู้สึกของคนถ่ายที่มีต่อสิ่งที่เขาถ่ายมากกว่า ถ้าอยากถ่ายอะไรก็ถ่ายออกมาได้เลย ไม่ต้องไปคิดว่ามันจะออกมาสวยหรือไม่สวย เพราะการถ่ายภาพเป็นแค่การเก็บสิ่งที่เรารู้สึกกลับเข้ามา”
ติดตามผลงานที่
Facebook: www.facebook.com/visarute.angkatavanich
IG: www.instagramcom/rute.angkata/