fbpx

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการสร้างสรรค์หัตถกรรม

งานฝีมือดั้งเดิมจะดำเนินต่อไปอย่างไรในโลกที่การผลิตแบบอุตสาหกรรมสามารถหยิบยืมทักษะเชิงช่างไปจากมือมนุษย์ได้

ในเวทีของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ‘งานฝีมือ’ หรือ ‘งานคราฟท์’ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนและยากต่อการตีความมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะในวิถีดั้งเดิมของงานฝีมือที่เราเข้าใจกันนั้น คราฟท์คือวัตถุที่เกิดขึ้นจากความต้องการพื้นฐานง่ายๆ ในชีวิตมนุษย์ และใช้เพียง ‘มือ’ กับ ‘วัสดุท้องถิ่น’ เป็นหัวใจในการรังสรรค์  แต่กับโลกปัจจุบันวิถีความงามพื้นถิ่นที่ว่านี้กำลังถูกท้าทายด้วยโมเดลการคิดแบบใหม่ที่แตกแขนงออกไปอย่างไร้ขีดจำกัด ส่งผลให้โลกของคราฟท์ ‘เติบโต’ (หรืออีกนัยหนึ่งคือ ‘บิดเบือน’) ออกจากรากเหง้าของมันไปเรื่อยๆ

คราฟท์คืออะไร … อะไรคือคราฟท์

งานถักโครเชต์บนใบไม้จริงโดย Susanna Bauer
Photos: susannabauer.com

การตีความ ‘พื้นฐาน’ ของงานฝีมือนั้นกำลังอยู่ในภาวะสั่นคลอนและย้อนแย้งสุดขีด ผู้คนในศตวรรษที่ 21 ต่างมีชุดตรรกะที่นำมาใช้อธิบาย ‘ความคราฟท์’ ตามวิถีของตนบนประสบการณ์ที่ต่างกัน นักออกแบบสาขาใหม่ๆ มีมุมมองอย่างหนึ่ง ช่างฝีมือยุคเก่ามีมุมมองอีกอย่างหนึ่ง  แม้กระทั่งชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีค่านิยมต่างกันก็อธิบายแนวคิดการต่อยอดงานฝีมือของตัวเองไปได้แบบคนละขั้ว อย่างไรก็ดี บริบททางความคิดเหล่านี้ล้วนมีนัยสำคัญต่อการที่คนทำงานฝีมือรุ่นใหม่จะแผ้วถางเส้นทางอาชีพกันต่อไปในอนาคต  เราจะทำงานคราฟท์กันอย่างไร ทำที่ไหน หรือทำด้วยอะไร เพื่อให้มันตอบโจทย์โลกร่วมสมัยได้ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ และที่สำคัญ…อะไรบ้างที่คู่ควรจะเรียกว่า ‘คราฟท์’ ได้ในศตวรรษที่ 21

…บางคนว่ามันคือสิ่งละอันพันละน้อยที่ผ่านการสืบทอดองค์ความรู้และทักษะจากรุ่นสู่รุ่น
…บางคนว่าเป็นการทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ตกอยู่ภายใต้กฏการผลิตแบบอุตสาหกรรมอันนำมาซึ่งความเครียด
…บางคนว่ามันคือกระบวนการของการเรียนรู้และผลิตบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาแบบม้วนเดียวจบ ที่คนทำงานจะได้เห็นวงจรชีวิตของสิ่งๆ นั้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสุดท้าย
…บางคนว่าคือหัตถกรรมพื้นบ้านที่มนุษย์ทำขึ้นด้วยมือและใช้วัตถุดิบง่ายๆ ในท้องถิ่นเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน (ฉะนั้นจึงไม่ต้องพึ่งพาการขนส่ง ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ทำให้ครอบครัวต้องห่างเหินกัน)
…หรือบางคนก็ว่าวัฒนธรรมอาหารและบริการก็ถือเป็นคราฟท์อย่างหนึ่ง คราฟท์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของวัตถุก็ได้

นวัตหัตถศิลป์: การผลิตใหม่จะเชื่อมโยงอย่างไรกับช่างฝีมือ

ปฏิมากรรมชุด As Above So Beneath โดย Zuza Mengham
Photos: zuzamengham.com

แต่ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันมากที่สุดก็คือ “งานคราฟท์ที่แท้ควรเชื่อมโยงและสร้างประโยชน์แก่ชุมชนที่เป็นรากเหง้าของมันหรือไม่” แนวคิดนี้ทำให้เราหลายคนหันมาตั้งคำถามกับแบรนด์ต่างๆ ว่า “ไอ้งานฝีมือสวยหรูราคาทะลุแสนที่พวกเราหลงใหลใฝ่ฝันกันทุกวันนี้ จริงๆ แล้วมันยังมีสายใยอยู่กับชุมชนที่เป็นต้นทางแห่งทักษะนั้นหรือไม่ หรือผลผลิตสุดท้ายที่เราพร้อมกด add to basket ในโลกออนไลน์ มันยังส่งความดีงามอะไรกลับไปสู่ผู้คนที่มันหยิบยืมองค์ความรู้มาหรือเปล่า”

ในงานระดมความคิด SACICT Guru Panel ที่เพิ่งพ้นผ่านไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 มีประเด็นที่ kooper คิดว่าน่าติดตามและอยากนำมาแชร์กับคุณผู้อ่านหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะมุมมองจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสมัยใหม่ที่ประกอบไปด้วยนักบริหารแบรนด์ระดับแนวหน้า นักออกแบบประสบการณ์ นักทำงานส่งเสริมอุตสาหกรรมคราฟท์ท้องถิ่น รวมไปถึงวิศวกรระบบไอที และที่ปรึกษาด้านธุรกิจสร้างสรรค์ กูรูเหล่านี้ได้ปะทะไอเดียกันอย่างออกรสถึง ‘โอกาส’ และ ‘แนวทาง’ ที่งานหัตถศิลป์ไทยจะถูกเชื่อมต่อไปสู่ผู้บริโภคสากล …ซึ่งในวันนั้นเราเรียกขานกันว่ากลุ่ม “The Utopioneer”

THE UTOPIONEER = UTOPIA + PIONEER หมายถึงผู้บริโภคที่มองหาความท้าทายในโลกสมัยใหม่ มีความทะเยอทะยานที่จะเรียนรู้ และทดลองเทคโนโลยีใหม่เพื่อบุกเบิกเส้นทางสู่อนาคต ต้องการสร้างสังคมที่ดีกว่า สร้างโลกที่ดีขึ้น และทำชีวิตให้เข้าใกล้อุดมคติของตนให้มากที่สุด

เวทีระดมความคิดวันนั้น SACICT ผู้เป็นเจ้าภาพของงานได้รวบรวม ‘คราฟท์เทรนด์’ จากหลายสำนักในโลกมาแชร์ให้ผู้ที่สนใจได้รับฟังก่อน แต่หนึ่งในหัวข้อที่เราสนใจมากก็คือ ‘TECHNICAL CRAFT’  หรือการออกแบบที่ผสานความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคตเข้ากับการผลิตหัตถศิลป์ โดยไม่มีข้อแม้ว่าในกระบวนการผลิตจะต้องข้ามผ่าน หรือละทิ้งวิธีการแบบเดิมๆ ไปหรือไม่ สามคีย์เวิร์ดสำคัญในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย

1. BEYOND LIMIT หรือ Algorithmic Craft หมายถึงแนวโน้มที่ช่างฝีมือสามารถใช้เทคโนโลยี ‘อัลกอริทึ่ม’ มาช่วยสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางใหม่ได้

Algorithmic lace bra โดย Lisa Marks ชนะการประกวด Lexus Design Award 2019
เป็นเสื้อชั้นในที่ออกแบบสำหรับผู้หญิงที่ผ่านการผ่าตัดเต้านมโดยเฉพาะ
Images: dezeen.com

2. BIOMIMICRY หมายถึงการที่ช่างฝีมือนำวิทยาการใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในการเลียนแบบธรรมชาติเพื่อเป็นทางเลือกให้กับการผลิต

Zuza Mengham interprets perfume in resin

Oyster and Mussel table และ Lodz sculpture โดย Zuza Mengham
Photos: zuzamengham.com

3. UTILITARIAN หรือ Utilitarian Aesthetic หมายถึงการสร้างสรรค์ความงามที่ฉลาดยิ่งขึ้นในแง่ฟังก์ชั่น

Leg-O Table โดย Kunikazu Hamanishi ผสานเทคนิกงานไม้แบบโบราณเข้ากับวิธีการต่อแบบเลโก้
Photos: behance.net

Craft with Features VS Gadget with Soul

คอลเล็กชั่นของใช้ในบ้าน Common Ground โดย Annelie Grimwade Olofsson และ G. William Bell รังสรรค์ขึ้นจากทักษะ ไอเดีย และอารมณ์แปลกต่าง ผสมผสานการใช้วัสดุแก้วและไม้เข้าด้วยกันได้อย่างงดงาม

ต่อคำถามเรื่องการหาจุดเชื่อมระหว่างงานคราฟท์กับผู้บริโภคสมัยใหม่  ปราง – จิตราภา เลิศทวีวิทย์ นักออกแบบประสบการณ์ผู้ก่อตั้ง Another New Design Studio มองว่าต่อไปนี้คนทำงานฝีมือจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการรับรู้และพฤติกรรมของผู้บริโภคเป้าหมายให้มากขึ้น “โลกทุกวันนี้วิทยาการทุกด้านมันเชื่อมโยงกันหมด คราฟท์เองก็เช่นกัน มันไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวแยกจากงานสร้างสรรค์อื่นอีกต่อไปแล้ว บวกกับการที่คนยุคใหม่มีวิถีการแสดงตัวตนที่ต่างไปจากในอดีต เราสร้างตัวตนกันจากชุดประสบการณ์ในชีวิต ไม่ใช่แค่วัตถุที่เรามีหรือแบรนด์ที่เราใช้” จิตราภาตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริโภควันนี้ยินดีจ่ายเงินให้กับ ‘ประสบการณ์’ เพื่อเติมเต็มตัวตนของเขาได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

“ถ้าคนชุมชนหัตถกรรมต้องการเชื่อมโยงเข้าหาผู้บริโภคยุคนี้ หนึ่งคือคนทำงานต้องพัฒนาจากการเป็นแรงงานฝีมือ (Craft Person) มาสู่การเป็นช่างศิลป์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ (Artisan) สองคือทุกคนต้องมองว่า Craft ไม่ใช่ Old และ Tech ก็ไม่ใช่ New อีกต่อไป”

Generation Cool Craft

ศิลปินไต้หวัน Tung Ming-Chin สื่อสารนัยยะที่มนุษย์เรา ‘ติดกับดักทางอารมณ์’ ผ่านปฎิมากรรมงานไม้หลายชิ้น
Photo: mymodernmet.com

ในขณะที่ ประธาน ธีระธาดา บรรณาธิการนิตยสาร Art4D ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและงานออกแบบมองว่า ความหมายของคราฟท์ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในบริบทของความโบราณอีกต่อไปแล้ว  “ทุกวันนี้ใครๆ ก็อยากโหนกระแสคราฟท์กันทั้งนั้น กาแฟก็คราฟท์ เบียร์ก็คราฟท์ ไฟน์ไดน์นิ่งก็คราฟท์ ช็อกโกแล็ตก็คราฟท์ โซดายังคราฟท์เลย ผู้คนมีทัศนคติเชิงบวกต่อความเป็นคราฟท์ไปหมด ซึ่งสำหรับผม…ผมมองว่าคราฟท์ที่แท้มันต้องเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ เพราะโลกสมัยใหม่อะไรก็เป็นคราฟท์ได้ แต่สิ่งที่ผู้คนโหยหาจริงๆ อาจจะเรียกว่า Humanism Craft ไหม หมายถึงสิ่งที่พาเรากลับไปสู่จิตวิญญาณความเป็นคน หรือความมีชีวิตอะไรทำนองนั้น”

งานบรอนซ์ของ รัฐ เปลี่ยนสุข นำแรงบันดาลใจมาจากโลกรอบตัว

{suMphat}Lacquerware engrave on teapotFor World Lacquerware exhibition 2018.CR: Video by Ai Kittiya

Posted by Sumphat Gallery on Wednesday, 4 July 2018

“ไม่ว่าใครจะนิยามคำว่าคราฟท์ไปทางไหนก็ตาม คนทำงานตัวจริงเขาไม่มาสนใจด้วยหรอก คำใหม่ๆ พวกนี้มันเป็นเรื่องของการตลาดทั้งนั้น”

บรรณาธิการ Art4D ยังแนะด้วยว่าดีไซเนอร์กับคราฟเตอร์สมัยนี้บางทีก็คือคนๆ เดียวกัน แค่อาจจะมีวิถีการสร้างงานที่ต่างกันไปในใน 4 รูปแบบ “หนึ่งคือพวกที่มองคราฟท์เป็นวัตถุดิบ เป็นส่วนผสมที่นำไปสู่ความงามในบริบทบางอย่าง สองคือพวกที่มีแพชชั่นเฉพาะ ชอบค้นคว้าหาข้อมูล ชอบทดลอง คนกลุ่มนี้น่าจะเรียกว่าเป็นต้นทางของงาน Modern Craft เลยก็ว่าได้ สามคือคนที่ให้ความสนใจกับเครื่องมือเป็นหลัก ต้องการสร้างงานแบบดั้งเดิมด้วยเทคโนโลยีใหม่ โดยตั้งเป้าหมายให้มันเนี้ยบขึ้น ละเอียดอ่อนขึ้น ขรุขระขึ้น รวดเร็วขึ้น ง่ายดายขึ้น หรืออะไรก็แล้วแต่ ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือพวกที่ต้องการเชื่อมโยงกับความเป็นโอลด์มาสเตอร์ อยากถ่ายทอดจิตวิณญาณแบบครูช่างออกมาในภาษาร่วมสมัย ทำให้ทักษะโบราณมาปรากฏอยู่ในบริบทของการบริโภคสมัยใหม่ให้ได้”

United & Diverse: แพลทฟอร์มยุคใหม่ที่จะสร้างพลังให้งานฝีมือ

แบรนด์ Bunon ของดีไซเนอร์ Soumitra Mondal ชาวกัลกัตตา ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนในประเทศญี่ปุ่น กลับมาเปิดคอลเล็กชั่น From Japan to India ที่ Lakmé Fashion Week เมืองมุมไบในปี 2019
Photos: thekindcraft.com

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพยายามมองหานัยยะใหม่ๆ ให้กับเทรนด์งานฝีมือนี้ อาจจะจำเป็นต่อการทำความเข้าใจผู้บริโภคในยุคสมัยปัจจุบัน เพราะมันเป็นสิ่งส่งผลต่อการเชื่อมโยงตัวตน และการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้” กูรูทุกท่านในวงสนทนาเล็กๆ วันนั้นยังเห็นพ้องต้องกันว่า วิวัฒนาการของคราฟท์ในอนาคตน่าจะได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากระบบ Data Information หรือ Data Science ที่จะนำไปสู่การสร้าง ‘แพลทฟอร์ม’ ให้คนทำงานฝีมือกับตลาดผู้บริโภค ‘พูดภาษาเดียวกัน’ ได้ในที่สุด แสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการ SACICT ปิดท้ายการสนทนาสั้นๆ ในวันนั้นได้น่าสนใจว่าคราฟท์ในระบบเศรษฐกิจใหม่ยังมีความท้าทายที่สำคัญอยู่สองประเด็น

หนึ่งคือเราจะสร้างแพลทฟอร์มที่ว่านี้ให้มันคงอยู่แบบออร์กานิกได้อย่างไร และจะใช้วิธีการไหนในการถ่ายทอดเรื่องราวของหัตถศิลป์ให้มีคุณค่าสูงขึ้น สองคือุตสาหกรรมคราฟท์ต้องการ ‘ผู้เชื่อมโยง’ ที่ไม่ใช่กลุ่มช่างฝีมือดั้งเดิมหรือกลุ่มเมคเกอร์รุ่นใหม่ แต่บุคคลนี้จะเป็นใคร และแสดงบทบาทระดับไหน เป็นเรื่องที่เราต้องมาหาคำตอบกันในวันนี้

Bowl table ที่ Ayush Kasliwal นักออกแบบชาวอินเดียทำให้กับแบรนด์ Mater ในเดนมาร์ก
ผลงานนี้ผลิตจากไม้มะม่วงที่เป็นไม้โตเร็วในชุมชน Kharaadi ประเทศอินเดีย ด้วยทักษะฝีมือช่างกลึงไม้ท้องถิ่นที่สามารถสร้างงานออกมาในรูปลักษณ์แบบสแกนดิเนเวียน
Photo: heals.com

ท้ายสุดเราคงพอสรุปได้ว่าวิถีของคราฟท์ในโลกการผลิตใหม่นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี ‘เวที’ ให้กับช่างฝีมือท้องถิ่น เพื่อให้ทั้งนักออกแบบ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ที่อยากจะเข้าไปสัมผัสกับมันได้รับรู้ถึงคุณค่า ความงดงาม และความละเอียดอ่อนของอุตสาหกรรมที่มีรากเหง้าจาก ‘คนพื้นถิ่น’ นี้อย่างถ่องแท้ ในขณะที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมก็ต้องร่วมมือกันส่งเสริมความรัก ความภาคภูมิใจ และค่านิยมที่อยากต่อยอดงานฝีมือในระดับบุคคลให้เกิดขึ้นในคนเจเนอเรชั่นใหม่ ณ วินาทีนี้ความพยายามที่จะบูรณาการพลังจากภาคส่วนต่างๆ เริ่มมีให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ไดนามิกใหม่ๆ ในโลกของคราฟท์ได้สะท้อนออกมาเป็นผลงานชั้นเลิศที่มีความสร้างสรรค์สูงขึ้น สามารถคงเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้ผ่านเทคนิกการผลิตที่ทันสมัย

เชื่อแน่ว่าวิถีของหัตถกรรมไทยคงไม่ได้สูญพันธุ์ไปง่ายๆ อย่างที่หลายคนกลัว เพียงแต่เราจะพัฒนาและก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์นี้ได้ในมุมไหนมากกว่า

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore