fbpx

ศิลปะร่วมสมัยใน “รอยแยก” คนไทยยังแบเบาะเหมือนเดิมไหมในโลกศิลปะ

ร่วมสัมผัสและเรียนรู้ถึงเหตุปัจจัยของศิลปะไทยร่วมสมัยในช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้น

เหตุว่าช่วงที่ผ่านมาเราได้ยินประเด็นร้อนเรื่องศิลปะเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพระพุทธรูปอุลตร้าแมนของน้องนักเรียนมัธยม เรื่องที่ กทม. ตัดหางปล่อยวัดหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ จนลุกลามมาถึงการตั้งข้อสงสัยว่าผู้อำนวยการหอศิลป์ฯ คนล่าสุดถูกปลดให้พ้นตำแหน่งอย่างไม่เป็นธรรมจนทำให้เกิดกระแสแฮชแท็ก #saveYOURbacc ฯลฯ แรงกระเพื่อมที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นติดๆ กันภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือน จนทำให้คนในสังคม (รวมทั้งเรา) หวนมาตั้งคำถามถึงเสรีภาพ การตีกรอบ หรือแม้กระทั่งทัศนคติของผู้มีอำนาจต่อการเติบโตของศิลปะในประเทศที่บอกว่าตัวเองเป็น ‘ไท’ นี้กันอีกครั้ง

จะว่าไปแล้วประเด็นร้อนๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกับ ‘ศิลปะร่วมสมัย’ ทั้งสิ้น พระพุทธอุลตร้าแมนก็เป็นมุมมองเชิงเปรียบเทียบของเยาวชนรุ่นใหม่ หอศิลป์กทม. ก็เป็นสถาบันที่ขับเคลื่อนศิลปะร่วมสมัยมาตั้งแต่ก่อตั้ง เรื่องราวพวกนี้ทำให้เรานึกถึงบรรยากาศบนเวทีเสวนาของนิทรรศการ RIFTS: ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” ที่ครั้งหนึ่งก็ได้พื้นที่จัดแสดงภายในหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครนี้ด้วยเช่นกัน

“ช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงทศวรรษ 2000 คือช่วงเวลาที่มักถูกกล่าวถึงในฐานะจุดเริ่มต้นเรื่อยมาจนถึงการที่ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยพุ่งถึงจุดสูงสุด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นได้สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมหาศาลราวกับก่อให้เกิด ‘รอยแยก’ ต่างๆ ในโลกศิลปะไทยที่ยังส่งอิทธิพลมาจนปัจจุบัน ทั้งจากการท้าทายโครงสร้างอำนาจทางศิลปะในเชิงสถาบันและในเชิงปฏิบัติการ การสร้างพื้นที่ศิลปะอิสระ การเชื่อมต่อกับเครือข่ายศิลปะข้ามชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสรรค์ผลงานแหวกขนบจากศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคดังกล่าว” กษมาพร แสงสุระธรรม และ ชล เจนประภาพันธ์ สองภัณฑารักษ์ของนิทรรศการอธิบายถึงแนวคิดนิทรรศการใหญ่ครั้งนี้ของพวกเขา

ไฮไลท์ของนิทรรศการนี้คือการรวมผลงานของศิลปินร่วมสมัย ‘รุ่นบุกเบิก’ ของไทยไว้ถึง 13 ท่าน ได้แก่ กมล เผ่าสวัสดิ์, คามิน เลิศชัยประเสริฐ, จุมพล อภิสุข, ชาติชาย ปุยเปีย, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, ประสงค์ ลือเมือง, พินรี สัณฑ์พิทักษ์, มานิต ศรีวานิชภูมิ, มณเฑียร บุญมา, ไมเคิล เชาวนาศัย, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, และ อารยา ราษฎร์จําเริญสุข ที่อาสาพาเราย้อนกลับไปสัมผัสถึงรอยแยกสำคัญทางศิลปะที่เคลื่อนตัวออกจากขนบเดิมในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงทศวรรษ 2000 เพื่อสำรวจถึงต้นตอของการสร้างงานศิลปะในยุคนั้นว่าอะไรคือแรงผลักที่ทำให้เกิดการหักล้างอย่างรุนแรง และอะไรคือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานที่ ‘แหกขนบ’ กันแบบไม่แคร์หน้าอินทร์หน้าพรหม

รอยแยกแห่งการสร้างความหมาย

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ศิลปะร่วมสมัย’ หลายคนอาจจะนึกถึงผลงานศิลปะที่ใช้สื่อรูปแบบใหม่ๆ มานำเสนอ หรือสิ่งธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันที่ถูกนำมาพลิกแพลงตีความใหม่ หรือบางคนอาจนึกภาพไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่าศิลปะร่วมสมัยมีหน้าตาท่าทางอย่างไร และเพราะอะไรผลงานที่เห็นในนิทรรศการนี้ถึงถูกนิยามว่าศิลปะร่วมสมัยได้

ในข้อนี้สองภัณฑารักษ์หนุ่มสาวกล่าวว่า “ผลงานศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นเป็นตัวแทนของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่แห่งยุคสมัย เปรียบได้กับการประกาศการเข้าสู่ภาวะหลังสมัยใหม่ในทางศิลปะ (Postmodernism) ทั้งการเลือกใช้วัสดุในการผลิตผลงานที่แปลกออกไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเหลือใช้และวัสดุสำเร็จรูป รวมถึงการใช้ร่างกายของศิลปินเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง

เนื้อหาและการใช้สื่อศิลปะสมัยใหม่ด้วยเทคนิควิธีและรูปแบบที่ต่างไปจากขนบดั้งเดิมนี้ ไม่เพียงแต่จะตั้งคำถามกับคุณค่าทางศิลปะแบบจารีตและกรอบคิดที่ว่าศิลปะนั้นต้องงดงามอย่างมีแบบแผน แต่ยังสะท้อนปรากฏการณ์ในชีวิตจริง ไปจนถึงวิพากษ์คุณค่าทางวัฒนธรรมและโครงสร้างสังคม โดยเฉพาะการตั้งคำถามต่อเส้นแบ่งพรมแดนทางความหมาย ช่วงชั้น ลำดับชั้น และประเด็นเรื่องเพศภาวะ”

ยกตัวอย่างงาน 7 เซียนซามูไร ของ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวานิช ที่นำเสนอการปรุงต้มข่าไก่สูตรคุณยายให้ผู้ชมรับสัมผัสผ่านศิลปะจัดวางและการแสดงสด เป็นงานศิลป์ที่ประกอบด้วยเตาแก๊ส 7 ถัง หม้อ 7 ใบ ถ้วยชามและอุปกรณ์ต่างๆ ที่วางระเกะระกะบนเสื่อตามวิถีไทยบ้านๆ ย้อนแย้งกับบริบทแวดล้อมของความเป็นหอศิลป์ที่สูงส่ง

เราเห็นคล้องกับภัณฑารักษ์ของนิทรรศการที่กล่าวว่าผลงานของฤกษ์ฤทธิ์มักแสดงถึงกระบวนการต่อต้านระบบคุณค่าและความหมายในโลกศิลปะ โดยอาศัยการทำอาหารเป็นสื่อสะท้อนตั้งแต่กระบวนการปรุง การเสิร์ฟ ฯลฯ เพื่อลดช่องว่างระหว่างศิลปะและผู้คน หรืออาจจะเรียกว่าตั้งใจสั่นคลอนความศักดิ์สิทธิ์ของศิลปะแบบขนบนิยมอย่างตรงไปตรงมาที่สุดก็ว่าได้

นอกจาก 7 เซียนซามูไรแล้ว ภายในนิทรรศการ RIFTS ยังมีผลงานของศิลปินอีกถึง 12 ท่านที่ต่างก็ทรงพลังไม่แพ้กัน เช่นผลงานของ อารยา ราษฏร์จำเริญสุข ที่จัดแสดงภายในห้องมืด มีเพียงเครื่องโปรเจ็กเตอร์ฉายคลิปวิดีโอการนั่งอ่านบทประพันธ์อิเหนาต่อหน้าศพไร้ญาติ เชื่อมโยงนัยยะของชีวิตและความตายผ่านซากศพ ที่ก็ถือว่าท้าทายขนบของศิลปะชั้นสูงอยู่พอสมควร

สำหรับเรา แม้ผลงานที่จัดแสดงภายในนิทรรศการนี้จะถูกจัดวางอยู่ในระนาบเดียวกันทางเวลา แต่ศิลปะเหล่านี้ต่างได้สร้าง “รอยแยก” ที่แตกต่างกันออกไปทั้งในมิติของเนื้อหา ความหมาย เวลา รูปแบบ ซึ่งบางครั้งก็ซ้อนทับกัน บางครั้งก็คู่ขนานกัน

ที่ชัดเจนคือทั้งหมดเชื่อมโยงกันในแง่ของเหตุปัจจัยที่นำมาสู่การสร้างสรรค์ และมีเป้าหมายที่ต้องการจะสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่สังคมคล้ายๆ กัน บนพื้นฐานของความร่วม(กับ)สมัยบางอย่าง

ร่วมสมัย หรือ อุตริ

RIFTS ชักชวนให้ผู้ชมสำรวจปฏิบัติการทางศิลปะอันหลากหลาย จำลองสภาวะของการเผชิญหน้า ความแปลกแยก กระทั่งการเคลื่อนตัวออกจากกันอย่างไม่ลงรอยตามปฏิบัติการทางศิลปะของศิลปินแต่ละท่าน การหันกลับไปทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตนี้จึงไม่ได้มุ่งสร้างภาพความเข้าใจของสิ่งที่อุบัติขึ้นในโลกศิลปะไทยทั้งหมด ทว่าเป็นการกลับไปทำความเข้าใจต่อช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ระยะใกล้จากจุดยืนของปัจจุบัน เพื่อพินิจพิจารณาอีกครั้งว่า “เราจะเข้าใจยุคทองของศิลปะร่วมสมัยไทยในฐานะช่วงเวลาแห่งรอยแยกที่นำไปสู่จุดแตกหักต่างๆ นี้กันอย่างไรดี”

บนเวทีเสวนาก่อนเปิดนิทรรศการ ศิลปินระดับครูรวม 8 ท่านที่สามารถมาร่วมงานได้สลับกันเล่าถึงบรรยากาศในยุคสมัยแห่งการฝ่าฟันจนทำศิลปะของเขาและเธอมีที่ยืนในสยามประเทศ นำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่าแล้วอะไรคือเหตุปัจจัยที่ทำให้ศิลปินบนเวทีนี้เลือกสร้างงานในขนบที่คนจำนวนไม่น้อยในยุคของพวกเขาตีตราว่า… ‘อุตริศิลป์

กมล เผ่าสวัสดิ์ แสดงความเห็นต่อวาทกรรมนี้เป็นคนแรก และทำให้บรรยากาศในงานร้อนแรงขึ้นทันตาเห็น “ผมไม่เห็นมันจะอุตริตรงไหนนะ มันก็เป็นแค่ธรรมชาติของมัน เราทำงานไปตามเหตุและปัจจัย ไม่ใช่นึกอยากทำอะไรก็ทำ แต่ทำเพราะมันคือมีเดียที่เราสามารถสื่อสารสิ่งที่เราคิดได้ และเราจะเลือกด้วยว่าหอศิลป์ไหนที่เราจะเล่นกับมีเดียแบบนี้ได้อย่างมีพลัง ไม่ใช่ซี้ซั้วจะทำที่ไหนก็ทำ ผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่อุตริ”

“การได้ไปเรียนเมืองนอก หรือได้ไปเห็นสภาพแวดล้อมที่กว้างกว่า มันไม่ได้เป็นตัวหนุนให้พวกเราเคลื่อนที่ไปเป็นอุตริศิลป์หรอก และก็ไม่ใช่ความใหม่ที่จูงใจให้เราอยากประชันขันแข่งด้วย แต่มันคือความคับขันบางอย่าง เป็นความคับข้องใจที่ทำให้เราต้องลงมือทำสิ่งเหล่านี้”

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข

ในขณะที่ คามิน เลิศชัยประเสริฐ เสริมว่า “ผมเห็นด้วยที่ว่ามันมีเหตุปัจจัยที่พวกเราต้องเรียนรู้ หรือที่ต้องแสดงออกแบบนั้น เพื่อให้เราเข้าใจประสบการณ์ใหม่ของผลที่จะเกิดขึ้นตามมา มันไม่ใช่ความกระแดะที่อยากทำอะไรแปลกใหม่ มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมากกว่าเจตนา และผมว่าความเป็นธรรมชาตินี้ก็คือธรรมชาติของการสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในมนุษย์เราทุกคน”

ยุคสมัยแห่งการฝ่าฟัน

จุมพล อภิสุข ศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะการแสดงสดย้อนเล่าถึงบรรยากาศในสมัยปลายทศวรรษ 1980 ว่าสถาบันทางศิลปะสมัยนั้นมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศ “หลักๆ คือหอศิลป์พีระศรี ส่วนที่เหลือก็เป็น…ผับทั้งนั้น” ซึ่งนอกจากความไม่เพียงพอของพื้นที่ทางศิลปะนี้แล้ว ในยุค 80s -90s สถาบันหลักยังตกอยู่ในมือของรัฐและนายทุนทั้งหมด ทำให้ศิลปินที่ต้องการแสดงออกในสิ่งที่ต่างไปจากจารีตเดิมต้องพบเจอแต่อุปสรรค แทบไม่มีพื้นที่แสดงผลงาน สถานการณ์นั้นกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้ศิลปินต่างๆ ต้องออกมาสร้างพื้นที่ทางศิลปะของตนเอง

“มันเกิดขึ้นเพราะโครงสร้างในอุตสาหกรรมศิลปะของเรามันอ่อนแอมากๆ ผู้ปกครองมีวิสัยทัศน์ที่จำกัด เราก็ต้องลุกมาสู้กันเองด้วยเงินเล็กๆ น้อยๆ ในกระเป๋า ด้วยคอนเนคชั่นที่มี นั่นคือการต่อสู้ดิ้นรนของคนในเจเนอเรชั่นผม ที่ต้องการแยกทางจากขนบนิยมที่ภาครัฐสนับสนุน”

มานิต ศรีวานิชภูมิ

ซึ่งหากคนรุ่นหลังอย่างเรามองย้อนกลับไปในอดีต ลองทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ หรือผลงานศิลปะที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้นว่ามันมีเหตุจูงใจจากอะไร มันสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรตามมาในยุคของเราบ้าง เราจะเห็นว่าวันวานของกลุ่มศิลปินผู้บุกเบิกทั้ง 13 ท่านได้มอบบทเรียนและแผ้วถางเส้นทางให้วงการศิลปะไทยในยุคสมัยใหม่อย่างมากมาย ทำให้ทุกวันนี้เรามีพื้นที่ทางศิลปะและโอกาสที่เปิดกว้างกว่าสามสี่สิบปีก่อนมาก

แต่สิ่งหนึ่งที่เราก็ไม่แน่ใจว่ามันเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหนในห้วงเวลาสามทศวรรษที่ผ่านมาก็คือ ‘การให้คุณค่า’ ต่อศิลปะร่วมสมัยของคนในสังคมไทย เรายังคงมีคำถามวนๆ เวียนๆ ไม่ต่างจากอดีตว่า
“เราควรเอาเงินภาษีประชาชนมาทำหอศิลป์หรือไม่”
“เราควรจะสนับสนุนศิลปินกันแค่ไหน”
“อะไรที่ภาครัฐควรทำ”
“ทำแล้วคนจะเข้าใจไหม”
“แล้วทำแค่ไหนถึงเรียกว่าดี”

มาถึงบรรทัดนี้ เราแต่ละคนอาจจะมีคำตอบในใจให้กับตัวเองไม่เหมือนกัน แต่ผู้กล้าที่อาสาตอบออกมาดังๆ คือ มานิต ศรีวานิชภูมิ พี่เขาบอกยิ้มๆ ว่า “จริงๆ คุณไม่จำเป็นต้องเข้าใจศิลปะร่วมสมัยก็ได้นะ แต่พวกคุณให้การสนับสนุนไปเถอะ มันเป็นเรื่องดีแน่นอน”

นิทรรศการ RIFTS: ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” ยังคงเปิดให้เข้าชมถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ติดตามรายละเอียดและกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ bacc.or.th หรือเฟซบุ๊ก baccpage

ภาพ: bacc

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore