หากคุณเคยผ่านตากับภาพวาด ‘Following orders’ ภาพที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการกำลังทำร้ายเยาวชน โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงคอยกระซิบอยู่ตามลำดับ และยังมีดวงตาปริศนามองเหตุการณ์อยู่ด้านหลังแบ็คกราวน์ นั่นคือผลงานของ “ม่อน” ศิลปินรุ่นใหม่เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ Pssyppl. ผู้วาดภาพเชิงการเมืองได้อย่างเข้มข้นและมีนัยยะ จนทำให้มีผู้ติดตามมากว่า 6 หมื่นฟอลโลเวอร์ แต่เบื้องหลังตัวตนบนโลกโซเชียล ม่อนยังมีแง่มุมอื่นที่ประกอบขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้และการทำงานทั้งในฐานะศิลปิน ดีไซเนอร์ (และอื่นๆ ระหว่างกลาง) เขามีมุมมองของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ต่อ ‘อุตสาหกรรมและวิชาชีพ’ ที่น่าติดตามทีเดียว

“ตอนเปิดเพจเราแค่อยากมีพื้นที่ไว้โชว์ผลงาน แต่พอทำไปเรื่อย ๆ สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดันไปเชื่อมโยงกับการเมือง มันเลยออกมาเป็นผลงานการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ”
คุณม่อนเล่าให้เราฟังถึงที่มาของการวาดภาพเชิงการเมืองในเพจ Pssyppl. จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการเพียงแค่วาดสิ่งที่รู้สึกในแต่ละวันให้เป็นเหมือน visual diary แต่เมื่อทำไปเรื่อย ๆ สิ่งที่รู้สึกกลับเชื่อมโยงกับการเมือง ผลงานจึงออกมาเป็นลักษณะนี้ และเพื่อทำความรู้จักกับ “ม่อน” ให้มากขึ้น Kooper จึงชวนศิลปินผู้วาดผลงานแสนจัดจ้านมาพูดคุยถึงแนวคิด วิธีการทำงานในสาขาที่หลากหลาย ทั้งการทำงานดิจิทัลเพนต์ และไฟน์อาร์ต รวมถึงการบาลานซ์ตัวตนในแต่ละด้านที่มากกว่าสิ่งที่เราเห็นในเพจ

ชื่อ Pssyppl. มีที่มาอย่างไร
Pssyppl. เป็นคำย่อมาจาก Pussy People ครับ ต้องเล่าย้อนกลับไปว่าทำไมถึงต้องชื่อนี้ เพราะมันค่อนข้างสุ่มเสี่ยง (หัวเราะ) เมื่อก่อนผมทำงานเกี่ยวกับเรื่องเพศในด้านไฟน์อาร์ต ซึ่งส่วนมากอวัยวะที่สื่อไปในทางเพศเมื่อนำมาใช้ในงานศิลปะ คนมักจะมองว่ามันเป็นอะไรที่ตลก อนาจาร และมองข้ามสิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อ ผมก็เลยอยากทำงานในเรื่องนี้



การทำผลงานที่มีความขัดแย้งค่อนข้างสูง เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่เปิดเผยตัวตนหรือเปล่า
จริงๆ ก็ค่อนข้างเป็นการตัดปัญหาได้ดี ส่วนตัวผมไม่ได้กังวลอะไร ผมแค่ไม่อยากให้มันลามไปถึงที่บ้าน พอผมไม่ได้เปิดหน้าสักพักก็รู้สึกว่ามันก็เป็นคอนเซปต์ที่ดี บางทีคนไม่รู้ว่าเราเป็นใคร ก็ไม่ได้ใส่ใจที่ตัวศิลปิน แต่ใส่ใจที่ผลงานอย่างเดียวศิลปินจะเป็นใครก็ได้ วันหนึ่งอาจจะไม่ใช่ผมวาดแล้วก็สามารถส่งต่อให้คนต่อไปได้

ป้องกันตัวเองอย่างไรกับการทำงานในประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว
ในช่วงแรก ๆ ผมก็มีปรึกษาคนรู้จักที่เป็นทนายบ้าง ว่าเราต้องเซ็นเซอร์ตัวเองแบบไหน ข้อมูลตรงไหนหรือสัญลักษณ์แบบใดที่มันจะย้อนกลับมาทำเป็นอันตรายกับเราได้ พอเราทำมาเรื่อย ๆ การกลั่นกรองตรงนี้มันก็เริ่มมาโดยอัตโนมัติ

นอกจากผลงานดิจิทัลเพนต์แล้ว ทำผลงานประเภทไหนอีกบ้าง
หลักๆ จะเป็นงาน digital painting และก็จะมีงาน fine art drawing ที่ใช้ชาร์โคลหรือใช้ดินสอวาด และจะมีงานด้านดีไซน์ที่ทำเป็นฟรีแลนซ์ รายได้หลักก็จะมาจากตรงนั้น
การทำงานไฟน์อาร์ตกับดิจิทัลอาร์ตต่างกันอย่างไร
สำหรับผมคิดว่ามันตรงข้ามกันเลย อย่างดิจิทัลเพนต์ปลายทางของงานแต่ละชิ้นเมื่อไปอยู่ในเพจจะต้องทำให้คนเห็นแล้วเข้าใจคอนเซ็ปต์คร่าว ๆ ได้ และต้องเร็วทันสถานการณ์ แต่งานไฟน์อาร์ตเราทำเพื่อตอบสนองตัวเอง เราปล่อยตัวเองเข้าอยู่ในงานแบบเต็ม ๆ สามารถทำให้เป็นปลายเปิดได้ บางครั้งคนดูอาจจะไม่เข้าใจก็ไม่ผิด ซึ่งผมชอบทั้งสองแบบนะ ด้วยความที่มันเป็นฟีลลิ่งที่ตรงข้ามกัน มันก็ทำให้เราเบรคจังหวะตัวเองได้ เช่นผมทำดิจิทัลเพนต์จนปวดตาจ้องคอมไม่ไหวแล้ว ผมก็หยุดไปวาดมือแทนมันก็ช่วยให้เราผ่อนคลายขึ้น และเราก็สนุกกับมันในอีกฟีลลิ่งหนึ่งเหมือนกัน

งานไฟน์อาร์ตกับงานดีไซน์สามารถ empower กันและกันได้ไหม
มันมีความแตกต่างระหว่างสองฝั่ง อย่างงานดีไซน์เราจะต้องทำเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ทำให้บางครั้งเราใส่ความเป็นตัวเองได้ไม่สุด แต่ผมก็รู้สึกว่าดีไซน์บางชิ้นเราสามารถทำเป็น limited edition หรือ installation ได้ สามารถเพิ่มคุณค่าให้มันอยู่ในระดับเดียวกับงานไฟน์อาร์ตได้ เราใช้งานดีไซน์เดิมแต่ใส่แนวความคิดแบบไฟน์อาร์ตเข้าไปก็สามารถเพิ่มคุณค่าให้งานดีไซน์นั้น
กลับกันถ้าพูดถึงงานไฟน์อาร์ตบางชิ้น เช่นงานวาด ถ้าเราใช้ความคิดแบบดีไซเนอร์ เราจะต้องคิดว่าเราจะขายอย่างไร สามารถเพิ่มไลน์ผลิตให้กับงานชิ้นนั้นได้อย่างไรบ้าง
อย่างของผมถ้าเป็นงานวาดที่อยู่ในคอม การทำ limited print ก็จะเข้ากับตัวงาน แต่ถ้าเป็นงานวาดมือก็อาจจะต้องนำงานไปสแกน และอาจจะขายแบบ limited print ไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้ตัวงานที่เป็นต้นฉบับถูกลดคุณค่าลงไป
จุดเริ่มที่ทำ collaboration ร่วมกับเพจ Ministry of Art and Design
จริงๆ แบรนด์ Ministry of Art and Design เป็นแบรนด์ของคนที่รู้จักกัน และเป้าหมายของแบรนด์คือการผลักดันให้งานไฟน์อาร์ตกับงานดีไซน์มาเจอกันตรงกลาง เพราะบางทีงานไฟน์อาร์ตสามารถนำมาขายเป็นงานดีไซน์ได้ และบางทีงานดีไซน์ก็สามารถเพิ่มมูลค่าอยู่ในระดับเดียวกับงานไฟน์อาร์ตได้ และกระแสการเมืองช่วงนั้นกำลังมา เราเลยได้ร่วมงานกัน


คิดว่าอะไรที่ทำให้คนสนใจผลงานมากขนาดนี้
ส่วนตัวผมมองว่า อาจจะเป็นที่ผมพยายามใช้ความเซอร์เรียลเข้ามาใส่ในงาน ในเชิงของวิชวลผมไม่ค่อยอยากใช้อะไรที่ตรงไปตรงมาสักทีเดียว พอมันเป็นเซอร์เรียลคนเห็นแล้วเข้าใจแก่น ก็สามารถคิดต่อไปได้อีกขั้นหนึ่ง ซึ่งถามว่าดีกว่ามั้ย ก็ตอบไม่ได้ เพราะบางทีผมอาจจะคิดลึกไป จนคนอื่นไม่เข้าใจ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ผมอยากให้คนไทยชินกับการแปลความหมายในงานอาร์ตด้วย ผมเลยเลือกทำเป็นเซอร์เรียลเพนติ้ง



คุณเรียนไฟน์อาร์ตที่อังกฤษ เขาสอนแง่มุมของอาชีพศิลปินอย่างไรบ้าง
ตอนที่เรียนปริญญาโทเขาจะสอนวิธีคิดเลยว่าเมื่อเราสร้างผลงานศิลปะขึ้นมาชิ้นหนึ่งในฐานะศิลปิน กว่าที่เราจะขายงานได้เงินมาเลี้ยงชีพ เราจะต้องโดนหักค่าอะไรไปบ้างกี่เปอร์เซ็นต์ โดนจากตรงไหนบ้าง แล้วเราจะต้องคิดเรื่องเงินอย่างไร สิ่งพวกนี้มันทำให้เรารอบคอบเรื่องความคุ้มค่า เพราะงานแต่ละชิ้นบางทีอาจใช้เวลาทำเป็นเดือนเป็นปีกว่าจะทำเสร็จ กว่าจะขาย กว่าจะได้เงิน แต่หากคุณยึดอาชีพดีไซเนอร์ การหารายได้มันจะต่างกัน คุณจะคิดต้นทุนจากค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าทักษะวิชาชีพ โมเดลการคิดราคาผลงานก็จะต่างกัน


มีช่องทางไหนที่ทำให้ศิลปินหาเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งแกลเลอรี่บ้าง
ผมเคยลองคิดว่าถ้าเราวาดรูปดินสอแล้วสแกนไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก คุณค่าของชิ้นงานนั้นมันจะลดลงไหม คนซื้องานจำเป็นต้องเห็นชิ้นงานจริงๆ ไหม ซึ่งสุดท้ายผมรู้สึกว่าศิลปะจะอยู่ได้มันต้องพึ่งคนดู และเราก็ต้องพิ่ง curator ให้คนมาดูงานเราให้ได้ เพราะงานบางอย่างไม่สามารถเอาไปขายออนไลน์หรือโฆณาได้ทั้งหมด เช่นงาน sculpture งาน installation งาน performance art เรื่องของบริบทยังเป็นมิติที่สำคัญ

ผมมองว่าออนไลน์เป็นช่องทางโฆษณาเพื่อพากลุ่มคนไปเจอชิ้นงานจริงมากกว่า มันไม่ใช่ทุกคนที่จะเอางานศิลปะไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ การไปดูงานจริงๆ ยังสำคัญอยู่มาก


อะไรจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนทำงานศิลปะอยู่รอดได้ในยุคนี้
ส่วนตัวผมคิดว่าอาจจะต้องเริ่มจากการดันเพดานก่อน เพราะผมเห็นเยอะมากที่ศิลปินไม่เห็นคุณค่าของงานตัวเอง คุณจรดปากกาลงไป ใช้เวลาคิด ลงแรงกับมัน แต่คิดค่างาน 50 บาท มันทำให้วงการเกิดช่องว่างที่สูงเกินไป คนที่คิดราคางานระดับมาตรฐาน ไม่ได้แพง เขาก็หางานไม่ได้ ผมว่าอย่างน้อยเราต้องเริ่มต้นจากการรู้คุณค่าของตัวเองก่อน ว่าเราทำอาชีพตรงนี้ไปเพื่ออะไร


ผมอยากให้คนไทยคุ้นชินกับการมองศิลปะแล้วตีความหมาย อยากผลักดันวงการไฟน์อาร์ตให้มันโต การมีเพจ Pssyppl. ก็เหมือนมีอาวุธ เป็นสปอตไลต์ที่ทำให้คนหันมามอง ผมก็อยากใช้พื้นที่ตรงนี้ช่วยผลักดัน
คุณม่อนบอกว่านั่นเป็นภาพฝันที่เขาอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ตลอดระยะเวลาการการพูดคุย แม้เราจะไม่ได้เห็นใบหน้าของเขา แต่เราสามารถรับรู้ได้ถึงความมุ่งมั่นในฐานะศิลปินคนหนึ่งที่พยายามจะใช้พื้นที่ของตัวเองถ่ายทอดความคิดและผลักดันสิ่งที่ฝันให้เกิดขึ้นในสังคม โดยใช้จุดเด่นของสื่อที่ตัวเองมีให้เกิดประโยชน์ รวมถึงบาลานซ์ตัวตน เส้นทางอาชีพ และการสร้างรายได้ให้ลงตัวไปพร้อมกัน
ติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ทาง
facebook.com/pssyppl
instagram.com/pssyppl