ช่วงนี้มักจะมีคำถามว่า “หลังจากโควิด19 แล้ว เราจะอยู่กันอย่างไร สถาปัตยกรรมจะมีผลกระทบหรือไม่ และชีวิตเมืองจะเปลี่ยนแปลงไหม” ผมจะขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้ นำเสนอ ‘ความน่าจะเป็น’ ของการเปลี่ยนแปลงทางพื้นที่ เมือง และสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูล อ้างอิง และวิเคราะห์เบาๆ แบบชวนอ่านชวนคิดกันสนุกๆ นะครับ
Super Privacy
ประเด็นแรกเลยที่ผมนึกถึง (หากว่าจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปในแง่การอยู่อาศัย การใช้ชีวิต การใช้พื้นที่) คือเรื่อง social-distancing ที่ทำให้ผู้คนแยกกันมากขึ้น ห่างกันมากขึ้น และอยู่ในบ้านกันมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าชีวิตของหลายๆ คนน่าจะยังมีความตะกุกตะกักอยู่ไม่น้อย เช่นในขณะที่พ่อหรือแม่กำลังประชุมออนไลน์กับที่ทำงาน ก็อาจมีเสียงเด็กวิ่งไปมาใกล้ๆ หรือมีคนเดินผ่านไปมาด้านหลังขัดจังหวะเป็นครั้งคราว หรือในกรณีของเด็กวัยรุ่นที่จำเป็นต้องกลับมาอยู่บ้านกับครอบครัวใหญ่ ใจหนึ่งเขาก็คงไม่ได้อยากสุงสิงกับคนในบ้านมากนัก (ก็เข้าใจวัยรุ่นนะ)
ผมคิดว่าสมาชิกทุกคนในบ้านที่จำเป็นต้องแชร์พื้นที่กันในช่วงที่ผ่านมา น่าจะรู้สึกได้ถึงความต้องการที่จะมี ‘พื้นที่ส่วนตัว’ มากขึ้นอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน ซึ่งความต้องการนี้ล่ะที่จะกลายมาเป็นโจทย์ใหม่ในการออกแบบพื้นที่สถาปัตยกรรมในอนาคต เช่นห้องทำงานในบ้านน่าจะทวีความสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาจจะถูกต่อยอดกลายเป็น working studio ไปเลย คือมีห้องน้ำในตัว มีระเบียง มีสวนเล็กๆ แยกเป็นยูนิตของตัวเองในเขตบ้านอีกทีหนึ่ง
ที่ผ่านมา สถาปนิกหลายคนก็เคยออกแบบพื้นที่ในลักษณะ private shelter ที่แทรกตัวอยู่ในอาคารต่างๆ ไว้บ้าง โดยจุดเด่นคือการเป็นพื้นที่ที่ไม่ตายตัว สามารถเกิดขึ้นและหายไปได้ตามช่วงเวลา ยกตัวอย่างเช่นงาน Personal Bubble ของ Coop Himmelb(l)au ในปี 1969 หรืองาน Giant Glowing Swings ที่ Lawn on D เมืองบอสตันในปี 2018 ที่เป็นการสร้างความเป็นส่วนตัวขึ้นในพื้นที่สาธารณะอีกตลบหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าแนวคิดทำนองนี้น่าจะถูกนำมาใช้งานมากขึ้นในการออกแบบพื้นที่ใช้สอยยุคหลังโควิด
Giant Glowing Swings ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ (เครดิตภาพ: Facebook/The Lawn on D)
“Privacy จะกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนให้คุณค่าอย่างสูง พื้นที่ส่วนตัวจะถูกออกแบบใหม่อย่างเฉพาะเจาะจง และมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งในบ้าน และในเมือง”
Backyard Office (เครดิตภาพ: Houzz)
Super Purifier
หลังโรคระบาดผ่านพ้นไป สิ่งหนึ่งในชีวิตที่ผู้คนจะต้องคิดหนักๆ เลยก็คือเรื่อง ‘ความสะอาด’ ช่วงนี้ผมสังเกตเห็นกระบวนการรักษาความสะอาดในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นเรื่องเป็นราว พื้นที่สาธารณะมีมาตรฐานการฆ่าเชื้อที่จริงจัง มีอุปกรณ์ใหม่ๆ แปลกๆ ออกมาให้เห็นในตลาด ไม่ว่าจะเป็นหลอด UV ฆ่าเชื้อ อุปกรณ์พ่นยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าสถานที่ปิด รวมถึงการคลีนนิ่งอากาศด้วยนวัตกรรมโอโซน ฯลฯ
สิ่งนี้ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปราวปี 1966 ที่สถาปนิก Ron Herron และ Barry Snowden (จากกลุ่ม Archigram) เคยนำเสนอแนวคิดเชิงทดลองที่มีชื่อว่า Free Time Inflatable Dwelling ซึ่งเป็นภาพของท่อลมจำนวนมากต่อเข้ามายังพื้นที่พักอาศัย จะว่าไปก็คล้ายกับพวกระบบกรองอากาศใหม่ๆ ที่กำลังคืบคลานเข้ามาในบ้านเรา สังเกตดีๆ อุปกรณ์พวกนี้ไม่ใช่ CDU ของแอร์นะครับ มันทำหน้าที่ควบคุมอากาศในบ้านให้มีความดันเป็นบวก (positive pressure) เพื่อจะไม่ให้อากาศภายนอกไหลเข้ามาได้ต่างหาก


“นวัตกรรมเครื่องควบคุมอากาศลักษณะนี้กำลังจะมาแรงมาก เพราะเราทุกคนล้วนอยากสูดอากาศบริสุทธิ์ อยากหายใจในอากาศที่ปลอดเชื้อ หรือกระทั่งปลอดฝุ่น ด้วยกันทั้งนั้น”
พูดถึงระบบกรองอากาศกันอีกสักนิด จริงๆ แล้วมนุษย์เราจำเป็นต้องพึ่งพา ‘ต้นไม้’ อย่างสูงนะครับ ผมจำคำพูดของอาจารย์ จุลพร นันทพานิช ได้ดีว่า “ต้นจามจุรีเป็นต้นไม้ที่กรองฝุ่นได้ดีมากเพราะมันปล่อยน้ำออกมาด้วย” ตอนนั้นผมเรียกมันว่า “ฉี่จักจั่น” ซึ่งต่อมาก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แนะนำให้เราปลูกไม้ยืนต้นเพื่อป้องกันฝุ่น โดยให้ปลูกหลายๆ ชนิดร่วมกัน แน่ล่ะว่าการปลูกไม้ยืนต้นคงเป็นไปได้ยากสำหรับคนกรุงส่วนหนึ่ง แต่ผมก็เชื่อว่าแม้กับคนที่อยู่ตึกอยู่คอนโด พื้นที่ระเบียงของพวกเขาในอนาคตก็จะเปลี่ยนแปลงไป มันจะไม่ได้เป็นแค่ที่แคบๆ ที่เอาไว้ตากผ้า หรือให้ช่างแทรกตัวเข้าไปซ่อมแอร์เท่านั้น
“ในอนาคต พื้นที่ระเบียงจะต้องถูกออกแบบใหม่ให้มีคุณค่าและรื่นรมย์กว่าเดิม อย่างน้อยๆ คือต้องเป็นได้สองอย่าง คือเป็นพื้นที่สำหรับความเป็นส่วนตัว และเป็นพื้นที่กรองอากาศแบบ passive”
สถาปนิกหลายคนพยายามทำแล้วนะครับ ลองดูงานออกแบบบ้านของสถาปนิกชาวเวียดนาม Vo Trong Nghia ที่มีชื่อว่า Breathing House – ผมว่าเป็นชื่อที่ตรงตัวเลยทีเดียว
Super Gourmet
อีกสิ่งที่ผมสังเกตเห็นชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาคือ ‘เรากินเยอะขึ้นครับ’ หลายคนลุกขึ้นมาทำอาหาร ทดลองตำรับอาหารและขนมใหม่ๆ จนกระทั่งฟีดโซเชียลของเราถูกยึดครองด้วยภาพอาหารและขนมหน้าตาดีจากทุกสารทิศ ซึ่งเรื่องน่าคิดต่อจากหัวข้ออาหารนี้ ผมว่าน่าจะแยกได้เป็นสองทาง ทางแรกคือเราจะมี ‘ครัวเป็นพระเอก’ กลายเป็นเวทีการแสดง เป็นพื้นที่โชว์ของ เป็นส่วนหลักของบ้านที่ต้องจัดแจงตระเตรียมให้มีความ ‘Instagramable’ ซึ่งแน่นอนว่าครัวแบบนี้คงจะปรากฏในบ้านของคนที่ยังพอหาเลี้ยงชีพได้ ที่ไม่ได้กังวลว่าเย็นนี้จะกินอะไรดี (แค่กังวลว่าเย็นนี้จะโชว์อะไรดีมากกว่า) ซึ่งเมื่อครัวยุคใหม่ต้องดูดีมากๆ ความเป็นครัวในบ้านก็ต้องถูกทบทวนใหม่ ต่อไปมันอาจไม่ใช่แค่การแยกครัวฝรั่ง-ครัวไทย (ในบ้าน-นอกบ้าน) แต่ต้องออกแบบกันใหม่ให้เป็นพื้นที่ผสมผสาน ที่ถ่ายรูปแล้วสวย ลุคดี แสงได้ ฯลฯ หรือหากคิดไปแบบสุดโต่ง อาจจะต้องมีพ่อครัวหุ่นยนต์มาเป็นผู้ช่วยทำอาหารกับเราด้วยซ้ำ
ครัวอนาคตต้องดูดีมีสไตล์ (เครดิตภาพ: Retail Insider)
Robotic Chef (เครดิตภาพ: Future Food Network)
ทางที่สองคือ ‘ครัวเป็นพระรอง’ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือเราจะหาอะไรมาเข้าครัวครับ? หากวันหน้าโลกเราไม่มีวัตถุดิบอาหารดีๆ เลย แล้วเราจะมีครัวดีๆ ไปทำไมกัน ประเด็นเรื่องวัตถุดิบนี้น่าสนใจมาก ตัวอย่างที่ผมชอบอันหนึ่งคือโครงการ ‘สวนผักคนเมือง’ ของคุณตี๋ ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร (กลุ่มสถาปนิกชุมชน – คนใจบ้าน) ที่เขาให้ความสนใจกับพื้นที่รกร้างในเมือง และรณรงค์ให้ผู้คนพลิกแพลงพื้นที่เหล่านั้นเป็นแหล่งอาหารใหม่ เพื่อว่าในอนาคต คนเมืองจะไม่ต้องสั่งอาหารผ่านแอพตลอดเวลา และไม่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบอาหารจากนอกชุมชนมากเกินไปนัก
โครงการสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ โดยกลุ่มสถาปนิกคนใจบ้าน
แนวคิดนี้ทำให้ผมสังเกตการใช้สอยพื้นที่รอบๆ ตัวอีกครั้ง เช่นพื้นที่ริมทางแถวออฟฟิศที่คนแถวนั้นเริ่มปรับปรุงให้เป็นแปลงผัก หรือใกล้ตัวไปอีกคือรุ่นพี่ผมเอง พี่ป๋อง – ปัทมา หรุ่นรักวิทย์ แห่ง CASE Studio ที่ก็เริ่มทำฟาร์มเลี้ยงไก่ในบ้านริมคลอง ทำให้เธอมีไข่ มีผักเก็บกิน มีพื้นที่เล็กๆ ที่สร้างวัตถุอาหารส่งเข้าครัวของตัวเองได้
“การออกแบบครัวหลังโควิด-19 น่าจะมีความแตกต่างหลากหลายทีเดียว บางคนอาจมองหาพื้นที่แสดงความคูลแบบใหม่ ในขณะที่บางคนอาจต้องการแค่พื้นที่เพื่อการประทังชีวิตอย่างพอเพียง”
Super Touchless
ทุกวันนี้เวลาออกไปไหนมาไหน เช่นออกไปตลาด รับเงินทอน ก่อนสตาร์ทรถ หรือแค่ออกไปรับอาหารหน้าบ้านที่ grab มาส่ง การ ‘ล้างมือ’ ได้กลายเป็นกิจวัตรจำเป็นของเราทุกคนไปแล้ว คำถามคือมันจะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถจับจ่ายโดยไม่ต้องจับ ไม่ต้องแตะ ไม่ต้องสัมผัสอะไรเลย
มีบทความหนึ่งในเพจลงทุนแมนที่กล่าวถึงคอนเซ็ปท์ Touchless Society ทำนองนี้ เขาเล่าว่าวิทยาการในการใช้ face scan ที่เราพบในโทรศัพท์มือถือหลายๆ รุ่นกำลังขยายไปสู่กิจกรรมอื่นในพื้นที่ชีวิตของเรามากขึ้น นับตั้งแต่การเดินเข้าอาคารหรือเข้าห้อง ที่ประตูสามารถเปิดได้โดยการ scan ไม่ต้องกดรหัส ไม่ต้องจับลูกบิดใดๆ เรื่อยไปถึงการเปิดปิดก๊อกน้ำแบบอัตโนมัติ การเข้าห้องน้ำโดยไม่ต้องกดปุ่มฟลัช การเปิดปิดไฟส่องสว่างโดยไม่ต้องแตะสวิทช์ กระดาษชำระไหลออกมาเองด้วยระบบเซนเซอร์ สมาร์ททีวีรับคำสั่งจากระบบ voice control ฯลฯ ทุกวันนี้งานดีไซน์ใหม่ๆ ช่วยให้เราลดการสัมผัสกับพื้นผิวของสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆไปได้มาก ซึ่งบางคนบางบ้านอาจจะคุ้นชินกับเทคโนโลยีพวกนี้กันอยู่แล้ว แต่เชื่อไหมว่าหลังจากนี้มันจะถาโถมเข้าใส่ชีวิตเรามากขึ้น รวดเร็วขึ้น ชนิดที่ตั้งรับกันไม่ทันเลยทีเดียว
อีกเรื่องที่ฟังแล้วชวนขันมากก็คือ คำแนะนำให้ผู้คนมีเพศสัมพันธ์กันในระยะห่าง 2 เมตร ประเด็นนี้น่าคิดนะครับ เพราะหากเราอยู่ในภาวะที่ต้องระแวดระวังเรื่องการสัมผัสกันไปอีกยาวนาน การมีเพศสัมพันธ์ก็ย่อมกลายเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างหนึ่ง หลายคนอาจจะหันไปหา cyber sex หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบ online แทน (ภาพที่เราเคยเห็นแค่ในหนังการ์ตูน หรือซีรีย์แนว cyber punk ที่เราจะแปลงร่างเป็นใครก็ได้ เป็นเพศสภาพใดก็ได้ เพื่อจะมีสัมพันธ์กับใครยังไงก็ได้มันอาจจะเป็นจริงขึ้นมาในเร็ววัน)
Super Delivery
ท้ายสุดคือเรื่องของการ ‘ส่งของ’ ครับ ในช่วงการแพร่ระบาดก่อนหน้านี้ เราคงเห็นแล้วล่ะว่าพนักงานส่งของทุกเจ้าทุกแบรนด์ก็ยังทำงานกันตามปกติ ซึ่งหลายคนคงแอบคิดเหมือนผมว่า “พวกเขาไม่กลัวติดเชื้อกันบ้างหรือไง” เพราะกว่าจะมีการจัดระเบียบให้พี่น้องพนักงานเหล่านี้นั่งรอห่างกันได้ ผมก็เห็นเขานั่งตัวติดกัน พูดคุยใกล้ชิดกันตามหน้าร้านอาหาร-ร้านกาแฟเยอะแยะไปหมด
ในเส้นทางของธุรกิจส่งของนี้ จุดอันตรายไม่ได้อยู่ที่ตอนสั่งของครับ ตอนสั่งน่ะเราปลอดภัยไม่ติดเชื้อแน่นอน แต่ประเด็นมันอยู่ที่ตอน ‘รับของ’ เพราะมันเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามการออกแบบครับ ทุกวันนี้บ้านเรือนของเราทั่วไปหรือห้องพักตามคอนโดนั้นมักจะไม่มีพื้นที่ที่เรียกว่า transitional space (พื้นที่เปลี่ยนผ่าน) ปรากฏให้เห็น ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้จะพบได้บ่อยในบ้านของคนตะวันตก เช่นส่วนที่เรียกกันว่า porch และ foyer หรือแม้แต่ในบ้านของคนญี่ปุ่นที่มักจะพื้นที่เล็กๆ บริเวณทางเข้าเอาไว้เปลี่ยนรองเท้า
ต่อจากนี้ไป เป็นไปได้ว่า transitional space นี้จะมีความจำเป็นขึ้นมากแม้ในบ้านของคนไทย ซึ่งหากเราสามารถปรับให้มันเป็น controlled zone คล้ายกับส่วนเข้าออกของยานอวกาศที่มีประตูสองชั้นได้ เราก็สามารถจะใช้พื้นที่ดังกล่าวสำหรับพ่นยาฆ่าเชื้อ ฉายแสงยูวี อบโอโซน หรือปรับความดันให้อากาศไม่ไหลถ่ายเทออกไปที่อื่นๆ ได้เช่นกัน ผมค่อนข้างเชื่อว่าแนวคิดเรื่อง transitional space นี้จะถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการออกแบบที่พักอาศัยมากยิ่งขึ้นในอนาคต ทั้งนี้เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสที่อาจรุกล้ำเข้าบ้านจากช่วงการ ‘รับของ’ ที่เราสั่งมาส่งนั่นเอง
อีกภาพหนึ่งที่น่าจะปรากฏให้เห็นมากขึ้นคือเรื่องหุ่นยนต์ส่งของ โดยปัจจุบันเริ่มใช้งานจริงบ้างแล้วภายในโรงพยาบาล เช่น ‘น้องปิ่นโต’ (ผลงานความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ, Mi Workspace, HG Robotics และ Obodroid) ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อใช้ลำเลียงอาหารไปยังผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ใน controlled zone ของโรงพยาบาล เชื่อแน่ว่าในอนาคตข้างหน้า คงจะมีหุ่นยนต์ส่งของตามบ้านทยอยออกมาให้เห็นกันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นหุ่นยนต์ส่งของหน้าตาน่ารักของ Hermes และ Starship Technologies ในกรุงลอนดอน หรือหุ่นยนต์ที่เดินสองขาเหมือนคนของกลุ่ม Ford และ Agility Robotics (ทำหน้าที่แทนคนส่งของได้เลย) หรือที่ล้ำไปอีกขั้นก็คือโดรนส่งพัสดุของ Amazon ที่อาจเข้ามาแทนที่แรงงานคนทั้งหมดเลยก็ได้
หุ่นยนต์ส่งของในลอนดอน โดย Hermes & Starship Technologies ‘Digit’ หุ่นยนต์เดินสองขา โดย Ford & Agility Robotics
Amazon Prime Air ขณะทดสอบบิน
ขอต้อนรับทุกคนเข้าสู่โลกใหม่ครับ !
ภาพเปิด: The Hopper House โดย AHL Architects