fbpx

ตามเทรนด์คนเมืองปลูกต้นไม้กับ 3 สตาร์ทอัพมาแรงที่ไม่ต้องแข่งกันด้วยเทคโนโลยี

เมื่อธุรกิจสมัยใหม่เข้าใจว่าเสน่ห์ของต้นไม้คือการพาคนหนีไปจากหน้าจอมือถือ!

ในขวบปีที่ผ่านมา ความต้องการ ‘ต้นไม้ในบ้าน’ ของคนเมืองปะทุขึ้นเป็นเทรนด์ทั่วโลก โดยเฉพาะกับกลุ่มคนมิลเลเนียลอายุยี่สิบสามสิบที่สื่อออนไลน์อย่าง Refinery29 ถึงกับพาดหัวไว้ว่า “plant ladies are the new cat ladies” แต่เพราะอะไรอยู่ๆ การปลูกต้นไม้ถึงกลายเป็นกิจกรรมฮอตปรอทแตกขึ้นมา ทั้งๆ ที่มันก็อยู่คู่กับวัฒนธรรมมนุษย์มาเป็นร้อยเป็นพันปีแล้ว  หนึ่งในสมมติฐานที่เราเชื่อว่าจริง คือ เพราะต้นไม้คือสิ่งเยียวยาคุณจากโลกดิจิทัล นั่นเอง

ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นแบบไม่ลืมหูลืมตานี้ส่งผลให้เราได้เห็น ‘สตาร์ทอัพขายต้นไม้’ รายใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกมากมาย บริษัทเหล่านี้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและความสร้างสรรค์นำพาธรรมชาติกลับสู่ชีวิตคนเมืองอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าหน้าตาและวิธีทำมาหากินของธุรกิจกลุ่มนี้ย่อมแตกต่างจากร้านขายต้นไม้ทั่วไปที่เราเคยมีภาพจำกันมาในอดีต  วันนี้ Kooper อยากแนะนำให้คุณรู้จักกับ 3 ธุรกิจสตาร์ทอัพค้าต้นไม้ที่กำลังเป็นดาวเด่นในสหรัฐอเมริกา เราอยากชวนคุณคิดตามกันเล่นๆ ว่าธุรกิจเหล่านี้เขามีวิธีซื้อใจคนเมืองเจเนอเรชั่นใหม่ที่กำลังโหยหิวธรรมชาติกันอย่างไรบ้าง

The Sill – แอมะซอนของคนรักต้นไม้

รายนี้เริ่มขายต้นไม้ออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2012 และเพิ่งเปิดหน้าร้านรีเทลสาขาหกไปเมื่อไม่นานนี้ The Sill ชูจุดขายว่าเหล่าพันธุ์ไม้และแบรนด์ของพวกเขาเป็น ‘ยาแก้เครียด’ สำหรับเรื่องราวแย่ๆ ที่คนในเจเนอเรชั่นนี้ต้องพบเจอ พวกเขาเชื่อจริงๆ ว่าต้นไม้คือโฉมหน้าหนึ่งของธุรกิจเวลเนสและการดูแลสุขภาพของผู้คนในอนาคต ซึ่งงานวิจัยยุคหลังก็ระบุตรงกันว่าการมีต้นไม้ปลูกในบ้านนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง เช่นทำให้คุณภาพอากาศในบ้านดีขึ้น ทำให้คนรู้สึกกระปรี้กระเปร่าและใช้ชีวิตได้เต็มที่มากขึ้น และการอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้นยังช่วยลดความเครียด รวมถึงช่วยยกระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายให้กับคนเราด้วย

พืชพันธุ์ที่ The Sill นำมาวางขายนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นพันธุ์ไม้เลี้ยงง่ายทั่วๆ ไป แต่ที่น่าสนใจคือการคัดเลือกขนาด สีสัน และรูปโฉมที่ลงตัวกับการเลี้ยงในที่ร่ม ในที่แคบ เพิ่มเติมด้วยบริการด้านบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง และตัวเลือกกระถางหลากสไตล์ที่โดนใจคนเมือง The Sill สื่อสารภาพลักษณ์ของแบรนด์ว่าเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เป็นผู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านเวลเนสและสุขภาพให้กับมนุษย์เมือง โดยอาศัย Instagram และ Pinterest เป็นเครื่องมือหลักด้านการสื่อสาร “ก็ในเมื่อคนยุคนี้มีวัฒนธรรมแชร์ภาพออนไลน์กันอยู่แล้ว ทำไมเราไม่เปิดช่องให้พวกเขาแชร์ไอเดียการแต่งบ้านเป็นพื้นที่ของความสงบ และความกินดีอยู่ดีไปด้วยเลยล่ะ” ไอเดียง่ายๆ นี้ของ The Sill ทำให้ Instagram ของแบรนด์มีฟอลโลเวอร์ถึงเกือบ 700,000 คน และกลายเป็นหนึ่งในอินฟลูเอ็นเซอร์ด้านเวลเนสไปแล้วเรียบร้อย

Hortiคู่คิดของนักปลูกมือใหม่

หนึ่งในข้อปัญหาสำคัญของบรรดาสตาร์ทอัพขายต้นไม้คือฐานลูกค้า (ที่อยากซื้อต้นไม้) ของพวกเขาไม่เข้าใจวิธีเลี้ยงดูต้นไม้กันสักนิด นี่คือเหตุผลที่หลายแบรนด์ในปัจจุบันต้องหันมาทุ่มเทกับการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ สร้างเนื้อหาที่เป็นการสอน และการสร้างความเชื่อมั่นเป็นอันดับแรกๆ ยกตัวอย่างเช่น Horti สตาร์ทอัพขายต้นไม้รายหนึ่งในกรุงนิวยอร์กที่พลิกวิธีการขายสินค้าของพวกเขาเป็นโปรแกรมระยะยาว เมื่อคุณสมัครซื้อโปรแกรมนี้ Horti จะจัดส่งพันธุ์ไม้ที่เลี้ยงง่ายที่สุดให้คุณก่อนเป็นล็อตแรก ต้นไม้จะไปถึงบ้านคุณพร้อมกับกระถางที่พอเหมาะ ข้าวของอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ และคู่มือการปลูก-เลี้ยงเพื่อให้คุณได้เรียนรู้การนำต้นไม้ลงกระถางด้วยตัวเอง จากนั้นทางร้านก็จะทยอยส่งพันธุ์ไม้ที่เลี้ยงยากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น หรือส่งกระถางใบใหญ่ขึ้นไปให้กับคุณฝึกย้ายต้นไม้สร้างความมั่นใจ โดยคุณสามารถยกเลิกการเป็นสมาชิกโปรแกรมระยะยาวนี้เมื่อไรก็ได้ตามที่คุณสะดวก

Horti มีร้านรีเทลเล็กๆ ชื่อ Horti PLAY เป็นพื้นที่สังสรรค์และทำกิจกรรมร่วมกันของชุมชนคนรักต้นไม้ โดยทางแบรนด์เรียกพื้นที่นี้ว่า experiential space บนปรัชญา 3C คือ Contemplation, Creation และ Connection

Greenery NYC – พลิกโฉมเรือนเพาะชำเป็นห้องทดลองประสบการณ์

Greenery NYC เป็นสตาร์ทอัพอีกรายที่นำเสนอบริการเกี่ยวกับต้นไม้หลายรูปแบบ ทั้งขายปลีกออนไลน์ รับจัดอินสตอลเลชั่นให้บริษัทต่างๆ รวมถึงมีร้านรีเทลเป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ให้ผู้คนในเมืองด้วย “เพราะเรารู้ว่าการได้ออกไปเดินในป่า หรือได้นอนเล่นใต้ร่มไม้มีแสงแดดรำไร มันทำให้คนรู้สึกดีได้แค่ไหน มนุษย์เราเกิดมาจากธรรมชาติ แต่เราใช้ชีวิตประจำวันได้ห่างไกลจากธรรมชาติกันเหลือเกิน” Greenery NYC ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าพวกเขาสร้างธุรกิจขึ้นมาจากความเชื่อลึกๆ ข้อนี้

และแม้ที่ผ่านมาทางแบรนด์จะขายต้นไม้ออนไลน์ได้เป็นกอบเป็นกำ แต่พวกเขากลับเชื่อว่าแบรนด์จำเป็นจะต้องมี ‘พื้นที่กายภาพ’ ที่นำเสนอประสบการณ์พิเศษๆ และสร้างคอมมูนิตี้ในโลกจริงให้กับลูกค้าด้วย ร้าน Greenery Unlimited แห่งแรกเปิดตัวขึ้นในเขตบรุ๊คลินของนิวยอร์ก มันมีหน้าตาคล้ายเรือนเพาะชำผสมโชว์รูมศิลปะ ที่เน้นการตกแต่งสะอาดสะอ้าน จัดแสงสวยงาม และนำเสนอเฉพาะพันธุ์ไม้ในที่ร่มเพื่อตอบโจทย์วิถีการใช้ชีวิตจริงๆ ของคนในเมือง

ทุกวันนี้ถ้าคุณเดินเข้าไปในร้าน Greenery Unlimited คุณจะได้เห็นศิลปะการปลูกต้นไม้ในร่มหลากหลายสไตล์ ทั้งแขวนผนัง ปูเต็มพื้น หรือกระทั่งต้นไม้ที่เป็นส่วนต่อขยายของเฟอร์นิเจอร์ ภายในร้านจะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับพืชพรรณต่างๆ พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ๆ ที่บริษัทพัฒนาขึ้นจากการทำงาน botanical design ให้ลูกค้าเฉพาะกิจ พูดง่ายๆ คือ Greenery NYC สร้างร้าน Greenery Unlimited นี้ขึ้นมาภายใต้คอนเส็พท์ Biophilic Design Store เพื่อเป็นห้องทดลองของการสัมผัสกับต้นไม้ผ่านประสบการณ์ใหม่ๆ นั่นเอง

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ คุณคิดเหมือนเราไหมว่าท้ายที่สุดแล้ว ‘ต้นไม้’ ยังไงก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการการสัมผัสจริง เพราะเสน่ห์ที่แท้ของมันคือการที่เราได้หนีออกจากความสะดวกสบายบนหน้าจอมือถือ และได้ใช้ความพยายามนิดหน่อยที่จะหวนกลับไปอยู่กับธรรมชาติ สังเกตว่าสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จจากการขายต้นไม้ออนไลน์ทั้งหลาย สุดท้ายแล้วต่างก็ปรับโฟกัสมาที่วิถีการปลูกและดูแลต้นไม้แบบสามัญธรรมดา แทนที่จะไปแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยี IoT  

เวลาที่คนเราซื้อต้นไม้ เราไม่ได้ตามหาดิจิทัลอินเทอร์เฟส เราตามหาสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้าม อะไรก็ได้ที่ทำให้เราช้าลง ที่ไม่ต้องใช้นิ้วกด แต่ต้องเหงื่อหยดนิดหน่อย

สรุป…กุญแจของธุรกิจค้าต้นไม้ที่จะเติบโตในตลาดคนรุ่นใหม่
1) เข้าถึงง่าย 2) ซื้อง่าย 3) ส่งง่าย 4) เลี้ยงง่าย 5) ถ่ายรูปได้ 6) มีคอมมูนิตี้ 7) อย่าไฮเทคเกิน

เครดิตภาพ:
thesill, heyhorti, greeneryunlimited, greenerynyc



Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore