fbpx

PHKA Studio ผู้สร้างสัมพันธภาพใหม่ระหว่าง ดอกไม้กับพื้นที่

สนทนาภาษาดอกไม้กับ ตุณ ชมไพศาล ว่าด้วยความเชื่อมโยงของโลกพฤกษศาสตร์และศิลปะจัดวาง

ถ้าคุณต้องการแค่แจกันดอกไม้ในร้านอาหารที่เน้นความอลังการด้วยดอกไม้อิมพอร์ต ที่นี่อาจไม่ใช่คำตอบของคุณ แต่ถ้าคุณมาพร้อมกับโจทย์ที่อยากทำพื้นที่ใช้สอยสักแห่งให้สร้างคุณค่าเชิงประสบการณ์ได้มากขึ้น PHKA Studio คือหนึ่งคำตอบที่คุณไม่ควรมองข้าม  

“สำหรับผม ไม่มีดอกไม้ชนิดไหนที่สวยไปกว่ากัน มันอยู่ที่เราจะหยิบเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความงามนั้นมาใช้อย่างไรให้เหมาะสม” นิยามสั้นๆ ข้างต้นนี้สะท้อนแนวคิดการทำงานกับดอกไม้ของ ตุณ ชมไพศาล นักออกแบบผู้ร่วมก่อตั้ง PHKA Studio ผู้เชี่ยวชาญการรังสรรค์ดอกไม้ด้วยแนวคิดเชิงสถาปัตย์เพื่อให้พืชพันธุ์ต่างๆ ผสมผสานกับการใช้พื้นที่อย่างลงตัว  

Kooper สนทนาภาษาดอกไม้กับเขาถึงวิถีการทำงาน ตั้งแต่วันแรกๆ ที่หางานยากเย็น จนถึงวันที่ได้รับเชิญให้ไปแสดงงาน ณ Festival Flora เมืองกอร์โดบา ประเทศสเปน

ก้าวแรกลำบากเสมอ

จุดเริ่มต้นของ PHKA Studio เกิดจากการที่ วิศทา ด้วงวงศ์ศรี ผู้ร่วมก่อตั้งสตูโอและคู่ชีวิตของ ตุณ ชมไพศาล มีความสนใจเรื่องราวของดอกไม้เป็นทุนเดิม และทั้งคู่สังเกตว่าในอดีตนั้นการใช้ดอกไม้เพื่อตกแต่งสถานที่ในเมืองไทยยังมีเพียงไม่กี่แนวทาง หนึ่งคือเน้นที่ปริมาณและชนิดของดอกไม้ที่สวยงามแปลกตา สองคือแนวทางที่เน้นความละเมียดละไมแบบงานคหกรรมดั้งเดิม (หรือที่เรียกว่าการจัดดอกไม้แบบชาววังนั่นเอง)  แต่สิ่งที่ทั้งคู่สนใจคือการนำทักษะการจัดดอกไม้ผนวกเข้ากับมิติของพื้นที่ (Space) สร้างเรื่องราวระหว่างพื้นที่ใช้สอยกับดอกไม้ตามโจทย์ที่ตั้งขึ้น จุดนี้คือรอยแยกจากขนบคิดเดิมๆ และเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ทั้งสองได้ลองนำพื้นฐานด้านสถาปัตยกรรมมาผนวกกับงานสร้างสรรค์ดอกไม้ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี ตุณย้อนเล่าว่าแนวคิดที่แตกต่างกับแพชชั่นเกินร้อยก็หาใช่ประกาศนียบัตรของความสำเร็จ เพราะในช่วงแรกที่ PHKA ยังไม่มีพอร์ตโฟลิโอในระดับมืออาชีพ การส่งจดหมายแนะนำตัวไปยังโรงแรมหรือร้านอาหารชั้นดีต่างๆ ก็ถูกปฏิเสธมาหมด ทั้งคู่ต้องวางกลยุทธ์ใหม่ด้วยการหันมาจับงานขนาดเล็กเช่นการจัด ‘ช่อบูเก้’ ก่อน พร้อมกับหาพื้นที่นำเสนอไอเดียด้วยการเปิดร้านแบบป๊อปอัพสโตร์ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น  “จุดนั้นทำให้เราได้งานจากสตูดิโอถ่ายภาพแห่งหนึ่งที่เขาต้องการฉีกรูปแบบการถ่ายภาพตามสถานที่สวยๆ มาสู่การถ่ายภาพคู่กับงานอินสตอลเลชั่นอาร์ตที่ทำจากดอกไม้ทั้งหมด”

“เราใช้เวลาช่วง 2 – 3 ปีแรกรับงานอีเว้นท์และงานแต่งงานเป็นหลัก เพราะนั่นคือโอกาสที่เราจะได้ทำความรู้จักกับลูกค้า ก่อนที่จะขยับขยายมาสู่การสร้างงานอินสตอลเลชั่นเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นงานที่เราอยากทำจริงๆ”

นิยามใหม่ของดอกไม้

ในช่วงแรกของการทำงาน ดอกไม้คือสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับคนทำเสมอ ตุณบอกกับเราว่า “ผมตื่นเต้นกับดอกไม้ไปหมด ตั้งแต่ดอกไม้ท้องถิ่นที่หาได้ใกล้ตัว ไปจนถึงดอกไม้จากที่อื่นๆ ในโลก ทั้งจากจีน เคนยา เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ จนกระทั่งวันหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเราใช้ดอกไม้มาทุกชนิดในโลกแล้ว ความตื่นเต้นนั้นก็ค่อยๆ หมดไป  

“ผมกลับมาตั้งคำถามใหม่กับตัวเองว่าเวลาเราใช้ดอกไม้ เราจะใช้มันมากกว่าแค่เรื่องความงามได้หรือไม่”

“โดยเฉพาะกับงานอินสตอลเลชั่นอาร์ตที่ความสวยงามไม่ได้อยู่ที่ชนิดของดอกไม้เท่านั้น แต่ดอกไม้ทั้งหมดต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการบอกเล่าอะไรบางอย่างกับผู้ชม ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อ ความหมาย สถานที่ปลูก สถานที่จัดแสดง รวมไปถึงกลิ่นของดอกไม้เช่นดอกซ่อนกลิ่นของไทยที่ให้อารมณ์โศกเศร้า หรือดอกหน้าวัวที่จะไม่ถูกนำมาใช้ในงานมงคลต่างๆ นอกจากนี้ดอกไม้ยังทำหน้าที่เป็นสื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมได้ เช่นศิลปะการร้อยดอกไม้ของไทยมีตั้งแต่การร้อยพวงมาลัย การร้อยอุบะ หรือการทำเครื่องแขวนดอกไม้สดซึ่งเป็นหัตถศิลป์ที่สืบทอดกันมายาวนาน”

ในขณะที่การสร้างงานของ PHKA Studio กลับตั้งใจที่จะทลายกำแพงเหล่านั้นออกไป พวกเขาอยากสร้างเอกลักษณ์ใหม่ในการจัดดอกไม้ตามสไตล์ของตัวเอง โดยเน้นเรื่องความสัมพันธ์ของดอกไม้กับพื้นที่ ทั้งในเรื่องความงาม ความหมาย ความเชื่อโยงของเรื่องราว เพื่อจะสร้างนิยามใหม่ให้กับการจัดดอกไม้ในแบบที่ไม่มีใครทำมาก่อน ตุณกล่าวว่าในการทำงานทุกครั้งของ PHKA Studio จะต้องสร้างโจทย์ขึ้นมาก่อน เพราะพวกเขาไม่ได้เริ่มต้นจากดอกไม้ที่ชื่นชอบแล้ว แต่เริ่มต้นจากการตีโจทย์แบบดีไซเนอร์ มีการร่างแบบ 3D Sketch ให้ลูกค้าพิจารณาทั้งในส่วนของโครงสร้าง (ที่ไม่เกี่ยวกับดอกไม้) และในส่วนของดอกไม้ที่จะใช้ด้วย 

“สตูดิโอของเราไม่มีซิกเนเจอร์ครับ เราเป็นเหมือนผี คือถ้าอยากให้เราทำอะไรก็ต้องให้โจทย์มา เช่นคุณต้องการทำอะไรกับพื้นที่ตรงนี้ ต้องการประโยชน์ใช้สอยจากมันในรูปแบบไหน”

พฤษศาสตร์ x ศิลปะจัดวาง

ด้วยความที่สนใจงานจัดดอกไม้แนวอินสตอลเลชั่น PHKA จึงคอยค้นหาสเปซที่น่าสนใจเพื่อใช้ในการนำเสนอผลงาน พวกเขาตระเวนดูพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ล้ง 1919 ย่านฝั่งธน ฯลฯ แต่สุดท้ายไซต์งานที่สร้างชื่อให้สตูดิโอนี้ดังเป็นพลุขึ้นมาก็คือ “คลีโอพัตรา” อาบอบนวดบนถนนไมตรีจิตต์  ซึ่งครั้งนั้น PHKA ได้เสนอตัวขอร่วมแสดงงานกับทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ – CEA (ชื่อเดิม TCDC) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Bangkok Design Week (BKKDW 2018) โดยตั้งใจนำเรื่องราวของสถาปัตยกรรมเก่าที่สภาพทรุดโทรม กับปัญหาสังคมเรื่องสถานบริการอาบอบนวด (ธุรกิจสีเทาที่เคยถูกกฏหมาย) มาเป็นโจทย์หลัก

ซึ่งด้วยข้อจำกัดด้านข้อบังคับการใช้อาคาร งบประมาณ รวมไปถึงระยะเวลาในการจัดแสดง PHKA ได้นำเสนองานสร้างสรรค์ชื่อ Abandoned One ในรูปแบบของฟาสาด (Façade) หน้าอาบอบนวด และใช้ดอกหน้าวัวสีแดงสดเป็นสื่อสัญลักษณ์ในเรื่องเพศ พร้อมจัดเก้าอี้นั่งด้านหน้าเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาถ่ายภาพเซลฟี่ นับเป็นการเสียดสีพฤติกรรมปกติทั่วไปที่ไม่มีใครอยากจะเดินผ่านหรือข้องแวะกับสถานบริการแห่งนี้นัก 

งานดอกไม้ “Abandoned One” ด้านหน้าอาบอบนวดคลีโอพัตรา

นอกจากผลงานนี้ PHKA ยังเคยนำเสนองานอินสตอลเลชั่นอีกชิ้นชื่อ Blooming Tune ไว้ด้านในอาคารไปรษณีย์กลาง โดยพวกเขานำดอกไม้มาผนวกกับเสียงดนตรี เป็นงานแขวนดอกไม้แนวตั้ง 4 เลเยอร์บนโครงสร้างเหล็กทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร แต่ละเลเยอร์เป็นตัวแทนของเครื่องดนตรี 5 ชิ้น อันได้แก่ ทรัมเป็ต  ปิคโคโล  ฮอร์น  แซกโซโฟน และแคลริเน็ต ซึ่งผู้ชมสามารถสัมผัสความงามของดอกไม้และเสียงเพลงร่วมกันได้เมื่อเข้ามายืนอยู่ ณ ใจกลางของชิ้นงาน

งาน Blooming Tune ที่อาคารไปรษณีย์กลาง

ระหว่างดอกไม้และพื้นที่

เพื่อตอกย้ำปรัชญาการทำงานที่ต้องการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างดอกไม้และพื้นที่ในบริบทใหม่ ทีมนักออกแบบหลักของ PHKA จึงประกอบไปด้วยผู้ที่มีพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมถึง 7 คน โดยมีฝ่ายสนับสนุนที่จบด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อีก 2 คนคอยดูแลรายละเอียดเล็กๆ ในทุกผลงาน พร้อมดูแลแบรนด์ใหม่ชื่อ “๑๐๐๐ Malai” (พันมาลัย) ที่เน้นงานสเกลเล็กไปด้วย นอกจากนี้ PHKA ยังมีนักจัดดอกไม้ฝีมือดีอีก 2 คนที่ทำงานด้วยแพชชั่นกับดอกไม้ต่างๆ อย่างแท้จริง

“ทีมงานของเราต้องแน่ใจตัวเองว่าชอบสายนี้จริงๆ เพราะหากคุณเรียนจบสถาปัตย์มา โอกาสที่คุณจะกลับไปทำงานตรงสายอีกครั้งนั้นมันจะน้อยลงมาก เพราะการทำงานที่นี่คุณจะได้รับประสบการณ์ใหม่ที่มีดอกไม้เป็นศูนย์กลางเท่านั้น มันต่างมากจากงานออกแบบอาคาร งานตกแต่งภายใน หรือกระทั่งงานออกแบบผลิตภัณฑ์”

ปัจจุบันงานของ PHKA Studio แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่
1) Event เช่น งานแต่งงงาน งานถ่ายภาพ งานนิทรรศการตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งส่วนนี้มีมากถึง 90% ของงานทั้งหมด
2) Permanent Installation เป็นงานติดตั้งดอกไม้แบบถาวร (เพื่อลดปริมาณการใช้ดอกไม้สด) เช่น งานที่ Central Phuket Floresta ที่พวกเขารับตกแต่งฝ้าภายในห้างด้วยดอกไม้ประดิษฐ์ ผสมผสานกับวัสดุอื่นเช่นโครงเหล็กและงานจักสานเป็นต้น
3) Installation Art เช่น งาน Abandoned One และงาน Blooming Tune ในเทศกาล BKKDW 2018  งาน The Fouetté Flower ในเทศกาล BKKDW 2019 ปีต่อมา รวมไปถึงการเข้าร่วมแสดงงานที่ Festival Flora เมืองกอร์โดบา ประเทศสเปน (Festival Flora คืออีเวนท์โปรโมทการท่องเที่ยวของเมืองกอร์โดบาในช่วงโลว์ซีซั่น) ซึ่งครั้งนั้น PHKA ได้เลือกพื้นที่บริเวณคอร์ทยาร์ดของวังเก่า Palacio de Viana ซึ่งอยู่ติดกับโบสถ์ แวดล้อมด้วยต้นส้ม และเป็นสถานที่เก็บสะสมของโบราณ เพื่อจัดแสดงงานในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย

งาน The Fouetté Flower ในเทศกาล BKKDW 2019
ผลงานในคอร์ทยาร์ดวังเก่า Palacio de Viana / เทศกาล Festival Flora เมืองกอร์โดบา ประเทศสเปน

ตัวแทนดอกไม้ไทย

ถ้าไม่นับว่าดอกราชพฤกษ์คือดอกไม้ประจำชาติไทยแล้ว ตุณมองว่า ดอกรัก ดอกพุด ดอกมะลิ ดอกบานไม่รู้โรย รวมไปถึงจำปี จำปา ก็เป็นดอกไม้ใกล้ตัวที่อยู่คู่ชีวิตคนไทยมานาน “ส่วนตัวผมอยากนำดอกไม้พวกนี้แหละมาพลิกแพลงสร้างสรรค์เป็นรูปทรงเพื่อสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและวิถีชีวิตของคนเมืองที่มีแต่ความเร่งรีบ ผมว่ามันย้อนแย้งดีกับความเป็นดอกไม้ไทยที่มีบริบทค่อนข้างช้า” และถ้ามีโอกาสตุณก็อยากได้ลองจัดดอกไม้ให้กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ “ผมคิดว่าดอกไม้ถ้าถูกจัดแต่งอย่างดีตามบริบทของพื้นที่ มันจะช่วยให้พื้นที่นั้นๆ งดงามขึ้นในมิติใหม่ อาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อนก็ได้”

** ล่าสุด PHKA Studio ได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งใน 80 นักจัดดอกไม้ร่วมสมัยที่มีผลงานโดดเด่นระดับโลก ติดตามเรื่องราวของพวกเขาได้ในหนังสือ BLOOMS – Contemporary Floral Design (โดยสำนักพิมพ์ Phaidon ประเทศอังกฤษ)

ภาพ : PHKA Studio

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore