fbpx

Andromeda ผลงานจิวเวลรี่ อีกหนึ่งความหลงใหลของศิลปิน ยูน – ปัณพัท เตชเมธากุล

ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล ศิลปินและนักวาดภาพประกอบสีสันสดใส ที่มีผลงานร่วมกับ Gucci มาแล้ว ล่าสุดเธอก็ยังเจียดเวลามารับหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการออกแบบจิวเวลรี่ให้กับ Tar Gallery ด้วย 

ทุกวันนี้ ชื่อของ ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล อาจเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินและนักวาดภาพประกอบสีสันสดใส ที่มีผลงานน่าจับตามองจนเคยร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกอย่าง Gucci มาแล้ว และในระหว่างที่เธอยังผลิตผลงานอิลลัสเตรชั่นออกมาเรื่อยๆ (ภาพบนผนังของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินวัดมังกรที่คนชอบไปถ่ายรูปด้วยก็เป็นฝีมือของเธอเช่นกัน) เธอก็ยังเจียดเวลามารับหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการออกแบบจิวเวลรี่ให้กับ Tar Gallery ด้วย 

“ถ้าถามว่าทำไมมาออกแบบเครื่องประดับ ต้องบอกว่าเรื่องยาวเลย ยูนเริ่มออกแบบเครื่องประดับด้วยความชอบค่ะ ชอบการเคลื่อนไหว และความระยิบระยับ ถ้าเริ่มต้นตั้งแต่ตอนเป็นเด็กช่วงประมาณ ม.1 ม.2  มีช่วงหนึ่งที่หินสีนิยมมาก ช่วงนั้นงานอดิเรกก็คือร้อยสร้อย และต่างหู จาก หิน ลูกปัด คริสตัล และ จี้เงินต่างๆ ทำให้คุณแม่บ้าง และคุณครูที่โรงเรียนใส่บ้าง ช่วงนั้นยูนก็จะใช้เวลานั่งอยู่ร้านขายหินทั้งวันให้เจ้าของร้านช่วยสอน และประกอบ พอช่วงวัยทำงาน ที่ทำงานเป็น Director เราก็จะต้องคิดรูปแบบของเครื่องประดับเบื้องต้นเพื่อคอมพลีตลุคให้กับคอลเลคชั่นเสื้อผ้าด้วย แต่ถ้าเรียกได้ว่ามาทำจิวเวลรี่จริงจังก็น่าจะเป็นตอนที่เพื่อนๆ เปิดร้านจิวเวลรี่ชื่อ Tar Gallery ค่ะ ทุกคนเห็นว่ายูนชอบใส่เครื่องประดับ เลยมาชวนว่าอยากทำเครื่องประดับไหม เป็นไฟน์จิวเวลรี่ ให้ยูนเป็น Design Director คอยดูทิศทางของแบรนด์และออกแบบจิวเวลรี่ในสไตล์ของยูนไปด้วย ซึ่งตอนนั้นยูนก็ตกลงทำทันทีค่ะ” คุณยูนเล่า

เธอบอกว่าการออกแบบจิวเวลรี่นั้นให้ความสนุกแตกต่างจากการออกแบบด้านอื่นๆ โดยความสนุกของเธอนั้นแบ่งออกได้เป็นสองแบบ “เวลาออกแบบเครื่องประดับยูนจะคิดถึงสิ่งที่เป็นกายภาพ และจินตภาพ ทางด้านกายภาพคือการเคลื่อนไหว ซึ่งนี่คือสิ่งที่ทำให้ยูนรู้สึกว่าแตกต่างจากการทำศิลปะด้านอื่น ยูนต้องเห็นภาพเวลาเครื่องประดับอยู่บนร่างกายของผู้ใส่ โทนสี ความยาว ข้อต่อที่ทำให้การแกว่งไกวกระทบแสง เวลาที่ก้าวเดิน และที่สำคัญมากคือน้ำหนัก ส่วนทางทางจินตภาพ ยูนเชื่อว่าเครื่องประดับทุกชิ้นนั้นล้วนมีความหมาย เลือกเจ้าของเลือกคนที่สวมใส่ และให้พลังงานกับคนที่สวมใส่ในรูปแบบที่ต่างกัน ยูนมักใส่เครื่องประดับตามความรู้สึกในวันนั้นๆ วันที่ต้องการพลังงานด้านไหนก็จะเลือกใส่เครื่องระดับที่มีหินหรืออัญมณี ที่ส่งเสริมนั้นประกอบ หินที่ยูนมักเลือก จะเป็นโมราสีเขียว คาร์นีเลียนส้มแสด ลาพิสลาซูลี และ เทอร์ควอยซ์ ส่วนอัญมณีคือทับทิม แซฟไฟร์ และเพทายค่ะ” ยูนบอกว่าเครื่องประดับมักเก็บพลังงานของผู้ที่สวมใส่ไว้ และเป้าหมายของเธอคือการออกแบบเครื่องประดับชิ้นพิเศษ ที่ไร้กาลเวลา และสามารถส่งต่อรุ่นต่อรุ่นได้ ซึ่งก็เป็นการส่งต่อพลังงานเหล่านั้นต่อไปด้วย 

สำหรับคอลเลคชั่น Andromeda ที่วางจำหน่ายอยู่ในตอนนี้นั้น เธอได้แรงบันดาลใจมาจากหญิงสาวที่เปล่งประกายเหมือนดาวบนท้องฟ้า  “ตอนแรกคิดถึงเทพีวีนัสที่ว่ากันว่างดงามที่สุด เธอมีดาวศุกร์เป็นสัญลักษณ์ แต่ก็คิดต่อไปว่าใครกันนะที่งดงามกว่านั้น งดงามระดับจักรวาลจนชื่อของเธอถูกนำมาตั้งเป็นชื่อแกแลกซี่ คำตอบคือแอนโดรเมดา (Andromeda) ซึ่งเป็นชื่อของแกแล็กซี่เพื่อนบ้านของเรา การออกแบบคราวนี้ยูนดึงเรื่องราวของเทพปกรณัมกรีกมาใช้เป็นส่วนมาก โดยจะเน้นเรื่องความเชื่อ ความรัก พรหมลิขิต และโชคชะตาค่ะ”   

นอกเหนือจากจิวเวลรี่แล้ว เธอยังได้สร้างสรรค์ผลงานร่วมกับแบรนด์หลายแบรนด์ ทั้งชุดกาน้ำชาพอร์ลเลนและ Bridal Box ของโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ ผลงานแฟชั่นเซ็ตร่วมกับ Sangsom ผลงานอินสตอลเลชั่นที่ Gaysorn Village และในปลายปีนี้ เธอวางแผนจะเปิดตัวคอลเลคชั่นเสื้อผ้าของตัวเองด้วย 

ติดตามความเคลื่อนไหวและผลงานของเธอได้ที่เฟซบุ๊ค Phannapast 

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี