fbpx

การรับมือกับการ bully ในที่ทำงานอย่างไรให้ได้ผล

งานไม่เบื่อ แต่เบื่อคน! มาดูกันดีกว่าว่าเราจะรับมือกับคนชอบแกล้งในออฟฟิศได้ยังไงบ้าง

“เบื่องานไม่เท่าไหร่ แต่เบื่อคนมากกว่า”

พอพูดเรื่องงานแล้ว คงไม่มีใครอยากเป็นเหมือนแอนดี้ใน Devil Wears Prada หรอก แต่ยอมรับเถอะว่าประโยคข้างต้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นประโยคคลาสสิกเลยก็ได้สำหรับมนุษย์ทำงานอย่างเราๆ บูลลี่ (bully) คือการถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งแม้จะถูกเชื่อมโยงกับบริบทอย่างโรงเรียนซะส่วนใหญ่ แต่จริงๆแล้ว ผู้ใหญ่ก็สามารถเจอกับการบูลลี่ได้เหมือนกันในที่ทำงาน และหลายๆ ครั้งเราก็เจอแบบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ซึ่งเมื่อดูจากระยะเวลาหลายชั่วโมงที่ต้องใช้ในที่ทำงานในแต่ละวันแล้ว การเจอกับการกลั่นแกล้งซ้ำๆ ก็มีผลต่อสุขภาพจิตมากอยู่เหมือนกัน

ประเภทของการ bully

เกวน มอแรน นักเขียน แบ่งคนที่ชอบ bully หรือกลั่นแกล้งในออฟฟิศออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ตามเทคนิคที่ใช้ ดังนี้
1. Aggressive Jerk คือคนที่โจมตีคุณด้วยวาจาต่อหน้า คนประเภทนี้มักจะมีตำแหน่งและอำนาจมากกว่า

2. Scorched-Earth Fighter คนประเภทนี้จะคล้ายๆกับประเภทแรก แต่จะเน้นการแทงข้างหลัง เช่นเอาไปประจานหรือนินทาผ่านโซเชียลมีเดียหรืออีเมล เป็นต้น

3.Spineless Supervisor คนประเภทนี้จะแอบซ่อนอยู่หลังคนที่มีอำนาจ พวกเขาจะใช้เทคนิคประมาณว่า “ฉันเปล่านะ แต่นายบอกให้มาทำ” แถมบางครั้งยังแกล้งเป็นเห็นใจอีกต่างหาก

4. Shape-Shifter หรือ Office Sociopath คนประเภทนี้จะมีบุคลิกที่ต่อต้านสังคมอยู่แล้ว ดูเผินๆ คนพวกนี้จะมีเสน่ห์และดูช่วยเหลือ แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมถล่มคู่ต่อสู้ให้ราบคาบไป และที่สำคัญคือด้วยเสน่ห์ที่คนแบบนี้มีอยู่ทำให้พวกเขาสามารถดึงเพื่อนร่วมงานคนอื่นมาเป็นพวกได้ง่ายๆ ซึ่งกลายเป็นพลิกเกมให้คุณผิดไปอีก!

5. Character Assassin นับเป็นพวกมาพร้อมกับการกลั่นแกล้งที่อันตรายและเจ็บแสบที่สุด พวกนี้เน้นการนินทาลับหลังเพื่อทำลายชื่อเสียง

แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการใช้เทคนิคหลายๆอย่างร่วมกันเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายก็มีหลากหลาย ตั้งแต่การให้ได้มาซึ่งอำนาจ การชิงดีชิงเด่น หรือการหลีกหนีปัญหา

วิธีรับมือกับการ bully

เมื่อเจอกับการกลั่นแกล้ง คนส่วนใหญ่มักจะเลือกหนีและไม่พูดถึงปัญหา หรือไม่ก็ทำเป็นลืมๆไปซะ ซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องซะทีเดียว เกวนแนะนำว่าอย่างน้อยที่สุด คุณอาจจะทำให้ชีวิตของคนที่แกล้งคุณยากยิ่งขึ้น อย่างเช่น
1.พยายามบันทึกเหตุการณ์ไว้ แล้วถ้ามีโอกาสค่อยเอาไปให้แผนก HR ดู อย่างเช่นถ้ารู้ว่าจะโดนแน่ๆ ให้เตรียมโทรศัพท์มือถือไว้อัดเสียงได้เลย
2. กล้าเผชิญหน้ากับการถูกกลั่นแกล้ง ไล่เรียงให้คนที่แกล้งคุณฟังเลยว่าสิ่งที่พวกเขาทำคืออย่างนี้ และคุณไม่โอเคกับมัน อย่างเช่นถ้ารู้ว่าถูกนินทา ก็บอกเขาไปว่าอย่าทำแบบนี้ ถ้ามีอะไรก็มาคุยกันตรงๆก็ได้ เป็นต้น
3. ที่สำคัญที่สุดคืออย่าให้อารมณ์โต้ตอบในทางเสียๆหายๆ ไม่ต้องร่ายยาวผ่านอีเมลว่าโดนแกล้งอย่างไร เพราะมันจะทำให้คุณดูไม่ดีไปซะเปล่าๆ ทางที่ดีกว่าคือการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ และเป็นมืออาชีพ
4. เชอรี่ กอร์ดอน ผู้เชี่ยวชาญประเด็นเรื่องการกลั่นแกล้งจากเว็บไซต์ About.com แนะว่าคนที่โดนแกล้งควรจะหาเพื่อนร่วมชะตากรรมให้เจอ ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนที่โดนแกล้งเหมือนกัน หรือเป็นพยานในเหตุการณ์ก็ได้ นอกจากจะช่วยเป็นพยานในการร้องเรียนแล้ว เพื่อนร่วมชะตากรรมนี้อาจจะช่วยรับฟังและบรรเทาความทุกข์ของคุณไปได้

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคืออะไรรู้ไหม? นอกจากจะระวังคนอื่นแล้ว สิ่งที่ต้องระวังไม่แพ้กันคือตัวคุณเอง! หมั่นสำรวจตัวเองอยู่เสมอว่าคุณจะไม่กลายเป็นฝ่ายกระทำซะเอง

ที่มา: Psychology Today

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore