fbpx

NOSH NOSH : Educative Dining Experience ของ โบ – สลิลา อดีตเจ้าแม่ปาร์ตี้ที่มาเป็นนักเล่าเรื่องอาหาร

Kooper แวะคุยกับ โบ - สลิลา ชาติตระกูลชัย อดีตนักจัดปาร์ตี้สายจี๊ด ที่วันนี้ผันตัวมาตามหาคุณค่าใหม่จากวัตถุดิบอาหารไทย

เรานั่งฟังโบสาธยายแนวคิดและเส้นทางการปั้นตัวเองเป็นนักเล่าเรื่องอาหารที่ NOSH NOSH Pop up Café (สยามดิสคัฟเวอรี่) ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งโปรดักท์การทดลองของโบ ที่นำเสนอขนมไทยโบราณในบริบทแบบใหม่ให้ถูกใจคนเมือง

จากนักจัดปาร์ตี้ตัวแม่ เปลี่ยนมาตามล่าวัตถุดิบอาหาร และจัดไดน์นิ่งอีเวนท์ได้ยังไง

“ถ้าจะให้เล่าเรื่องอาชีพนี่ยาวเลยค่ะ เดิมโบเป็นนักจัดปาร์ตี้แบบจริงจังค่ะ ทำมา 7-8 ปี ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ทำธุรกิจ DJ Management ชื่อ WAV Collective งานเราคือการเชิญดีเจดังๆ ทั่วโลกมาจัดปาร์ตี้ที่เมืองไทย มีออฟฟิศเป็นเรื่องเป็นราว และมีลูกค้าเยอะเลยค่ะแต่อยู่มาวันหนึ่งโบก็รู้สึก (นิ่งไปสองวินาที) ไม่เชิงว่าไร้ค่านะ แต่เหมือนว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้สร้างผลลัพธ์อะไรที่ยืนยาวให้กับโลกนี้เท่าไหร่

เราสนุกตอนไปปาร์ตี้จริง แต่มันก็แค่นั้น ปาร์ตี้จบไปในคืนเดียว มีรอยยิ้ม มีคนเมา แล้วก็มีขยะ เราต้องใช้ทุนใช้ทรัพยากรในทุกด้าน แต่ไม่ได้ให้อะไรกลับคืนกับโลกหรือชุมชนเลยสักนิด 

อาจจะด้วยวัยที่เราโตขึ้นด้วยมั้งคะ หนึ่งคือเราไม่ค่อยอินกับประสบการณ์ความสนุกแบบนั้นแล้ว สองคือเราไม่เคยแฮปปี้ที่อาชีพเราสร้างขยะมากเกินไป งานคอนเสิร์ตหรือปาร์ตี้นี่มันใช้วัตถุสิ้นเปลืองเยอะมาก แล้วก็ใช้ตังค์เยอะมากๆๆๆ ที่หายวับไปกับตา สามคือเหตุผลส่วนตัวที่เราอยากจะตื่นเช้าบ้าง (หัวเราะ) อยากจะมีไลฟ์สไตล์ใหม่ที่เฮลตี้ขึ้น โบเริ่มจากไปวิ่งก่อน แล้วโค้ชวิ่งเขานัดโบตีห้าสี่สิบห้าค่าาาา จะทำยังไงดีล่ะ ปาร์ตี้เพิ่งเลิกเอง (หัวเราะ) ชีวิตมันต้องเลือกนะ และโบก็เลือกการวิ่ง

หลังจากนั้นเราก็ค่อยๆ เฟดตัวออกจากการทำปาร์ตี้ ลูกค้าก็งงว่าเป็นอะไร ไม่เอาตังค์แล้วเหรอ เงินเยอะนะ โชคดีว่าโบมีโอกาสได้ไปทำงานกับ UN พักหนึ่ง เป็นโปรเจ็กท์ด้านคอมมูนิเคชั่นนี่แหละ เข้าออฟฟิศเขาสัปดาห์ละหนึ่งวัน ก็เป็นช่วงที่มีเวลาได้คิดว่าเราอยากจะทำอะไรต่อไป แพชชั่นวันนี้ของเราคืออะไรกันแน่ อะไรคือสิ่งที่เราตื่นมาแล้วอยากทำทุกวัน เราต้องหาคำตอบให้ได้”

นั่นคือที่มาของ NOSH NOSH ?

“โบใช้เวลาตกตะกอนอยู่หนึ่งปีนะ นึกถึงคำของในหลวงรัชกาลที่เก้าอยู่เสมอว่าคนเรามีงานที่รักแค่หนึ่งงานก็พอ แล้วสุดท้ายเราจะทำมันออกมาได้ดีเอง จนสุดท้ายก็คิดคอนเส็พท์ NOSH NOSH ขึ้นมาสำเร็จ นั่นคือเราจะทำ Educative Dining Experience เป้าหมายคือการให้ความรู้คนเมืองเกี่ยวกับอาหารการกิน ช่วยสร้างคุณค่าให้ชุมชนคนทำวัตถุดิบ และทำงานสร้างสรรค์ร่วมกับกลุ่มคนที่หลงใหลการกิน การปรุง และวัตถุดิบดีๆ เหมือนเรา

“คนเรามีงานที่รักแค่หนึ่งงานก็พอ
แล้วสุดท้ายเราจะทำมันออกมาได้ดีเอง”

NOSH NOSH ก็แปลว่า กินกิน หรือ หม่ำหม่ำ นี่แหละค่ะ จริงๆ เป็นคำภาษาอังกฤษแต่ไม่ค่อยมีใครใช้เท่าไหร่ ไอเดียเริ่มจากที่โบเป็นคนชอบเที่ยวชอบกิน เวลาเราไปเที่ยวต่างจังหวัดก็สังเกตนู่นนั่นนี่ไปเรื่อย โบชอบคุยกับพ่อครัว เวลาเขาเล่าให้ฟังเรื่องวัตถุดิบเราก็สนใจ ครั้งหนึ่งที่โบได้ไปฟู้ดทัวร์ทางภาคอีสาน เขาพาไปชมแหล่งผลิตวัตถุดิบต่างๆ ไอ้เราก็สังเกตว่า เอ๊ะ…ทำไมเกลือที่นี่มันอร่อยจัง อร่อยกว่าที่เรากินที่กรุงเทพมาก แล้วเขาขายเกลืออร่อยนี้แค่กิโลละไม่ถึงบาท! ทำไมโลกนี้มันช่างไม่เท่าเทียม (หัวเราะ) โบอยากทำให้เกลือดีๆ บ้านเราขายได้แพงขึ้นกว่านี้

พอไปเชียงใหม่ก็ไปสงสัยเรื่องน้ำผึ้งอีก ทำไมน้ำผึ้งป่าแสนอร่อยของเรากิโลละแค่ 350 เอง แต่ทำไมน้ำผึ้งมานูก้าขายได้กิโลละพันห้า มันต้องมีอะไรแตกต่างกันสินะ ก็เริ่มศึกษา ไปถามเชฟ ไปหาข้อมูล สุดท้ายมันเดินมาถึงจุดที่เราตระหนักว่าของดีหลายอย่างในบ้านเราขาดแค่การสื่อสาร เพราะเราไม่มีคนที่ทำสตอรี่ดีๆ ออกมา โบเลยตัดสินใจจะทำตรงนี้แหละ แต่ทำในสเกลที่เราทำได้ และในแบบที่เราถนัด  นั่นคือการเอาเรื่องราวของวัตถุดิบมาผนวกกับไลฟ์สไตล์การกินที่คนชอบอยู่แล้ว เป็นที่มาของ Educative Dining Experience”

“Educative Dining Experience คือทานไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย ทำให้คนเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว ของทรัพย์ในดินสินในน้ำ และทำให้เรารู้สึกโชคดีที่ได้อยู่บนแผ่นดินนี้ จะได้ลดความเบื่อประเทศชาติลงบ้าง”

“เซอร์ไพรส์เหมือนกัน Honey is Gold #1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำผึ้งตามชื่อนั่นแหละค่ะ โบค่อยๆ ไปจีบเชฟก้อง (ก้องวุฒิ ชัยวงศ์ขจร) จาก Locus Native Food Lab ให้มาทำด้วยกัน ต้องใช้คำว่าไปจีบเลยนะ เพราะเราเป็นคนนอกวงการมากกก ใช้วิธีไปกินร้านเขาเรื่อยๆ แล้วก็ชวนเขาคุย ถามนู่นถามนี่ ถึงจังหวะหนึ่งก็ชวนเขาทำงานด้วยดื้อๆ เลย (หัวเราะ) คอนเส็พท์ของเราคือเราให้เชฟเสิร์ฟอาหารไป แล้วก็เล่าเรื่องน้ำผึ้งป่าที่เป็นส่วนผสมของแต่ละเมนูไปด้วย เช่นว่าความยากลำบากในการเก็บมันเป็นยังไง ทำไมมนุษย์เราถึงควรต้องอนุรักษ์ผึ้งป่าไว้ ซึ่งทุกเมนูที่เสิร์ฟจะมีน้ำผึ้งเป็นส่วนประกอบอยู่ทั้งหมด”

Honey is Gold : 2018

สำหรับเรา.. "น้ำผึ้งคือทอง" Honey is Gold"ผึ้งไม่ได้ผลิตแค่น้ำผึ้ง ผึ้งช่วยขยายป่าผึ้งมีประโยชน์อีกมาก มากกว่าเป็นแค่แมลงบินเร็วต่อยเจ็บเป็นทรัพยากรที่เราต้องดูแล ..ทุกวันนี้ผึ้งถูกคุกคาม เราจะปกป้องเค้ายังไงเพราะถ้าไม่มีเค้า.. เราไม่มีป่าไม่มีเค้า.. เราไม่เหลืออาหารเลยมาเรียนรู้เรื่องผึ้งด้วยกัน.."-เชฟก้อง Locus Native Foodlab-Honey is Gold ภาค ๒ วันที่ 24-25 มิถุนายนนี้ (เปิดจองที่ IG : NoshNosh.Project)#NoshNoshProject#HoneyIsGold#EducativeDinningExperience#LocusNativeFoodLab#Thailand

Posted by NOSH NOSH on Saturday, 8 June 2019

ทุกครั้งที่จัดอีเวนท์คือต้องมีโจทย์จากวัตถุดิบ ?

“ใช่ค่ะ วัตถุดิบหรือทรัพยากรจะต้องเป็นโจทย์ตั้งต้นเสมอ ปัญหาที่โบมองคือเกษตรกรน้ำดีของเราโดนกดราคาผลผลิตมาตลอดชีวิต ฉะนั้นสิ่งที่เราทำควรจะต้องช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้นแต่ละครั้งที่เราจัดดินเนอร์ เราจะไม่กดราคาผลผลิตตั้งต้นเด็ดขาด ความตั้งใจคือเราอยากให้เขามากกว่าที่เขาเคยขายได้ด้วยซ้ำ ทีนี้นอกจากไม่กดราคาแต่ต้นแล้ว หากเราทำกำไรจากอีเวนท์ได้ดี โบก็จะแบ่งกำไรส่วนหนึ่งกลับคืนไปให้ชุมชนผู้ผลิตด้วย เราพอใจกับโมเดลแบบนี้แหละ มันรู้สึกฟิน ยกตัวอย่างอีเวนท์แรกโบได้กำไรหน่อยเดียว แต่เราโคตรแฮปปี้เลยอ่ะ คือมันใช่ไปหมด จบงานแล้วมีความสุขมากกก Honey is Gold ครั้งนั้นเราจัดแค่ 2 วัน 4 รอบ รวมแขกทั้งหมดได้ 80 คนค่ะ”

“ตอนแรกก็แอบคิดว่าใครจะมาวะ แต่สุดท้ายคนก็จองเต็ม จ่ายเงินมาก่อนครบ ทำให้ทีมงานเรามีทุนไปเริ่มต้นทำงานได้ นี่เป็นโมเดลธุรกิจที่ดีมาก

“แล้วแขกที่มาก็อินกับเรามากนะคะ ตั้งใจฟัง ตั้งใจทาน ตั้งใจเรียน กันตลอดสองชั่วโมง มันชื่นใจที่สุด หลังจากนั้นเราก็คิดมาเรื่อยๆ ว่าเราจะเล่นกับวัตถุดิบอะไรต่อไป อีเวนท์ที่สองที่คลอดตามมาชื่อ ‘กินบ้านกินเมือง’ ซึ่งโบได้ทำงานกับเชฟหนุ่ม (ซาหมวย แอนด์ ซัน) ซึ่งงานนี้เราเสิร์ฟดินเนอร์เพื่อจะให้ความรู้ว่าจริงๆ แล้วอาหาร ‘อีสานบ้าน’ กับ ‘อีสานเมือง’ มันเหมือนหรือต่างกันยังไง

นอกจากนั้นคือเชฟหนุ่มซึ่งมาจากอุดรฯ ยังได้ร่วมงานกับศิลปินเซรามิกจากสกลฯ คือพี่เปิ้ล-วัลย์ริยา เพ็งสว่าง (แบรนด์ดอนหมูดิน) เชฟเขาตั้งใจออกแบบทุกเมนูให้ ‘คอมพลิเมนท์’ กันกับงานเซรามิกที่ใช้เสิร์ฟด้วย ซึ่งก็เป็นดินในท้องถิ่นอีสานบ้านเดียวกัน จุดเด่นของงานนั้นคือความออร์กานิก 100% สีสันที่พี่เปิ้ลใช้ในงานเซรามิกก็เป็นสีจากธรรมชาติทั้งหมด จบงานนั้นเราก็แบ่งกำไรไปให้ชุมชนคนทำเซรามิกที่สกลฯ อีกเช่นกัน

“เราตั้งใจจะให้บางอย่างกลับคืนกับทุกชุมชน
ที่เราไปหยิบยืมองค์ความรู้เขามาค่ะ”

NOSH NOSH POP-UP CAFÉ คือการต่อยอด Educative Dining Experience ในมุมไหน

“ป๊อบอัพคาเฟ่นี้จะว่าไปคือการสนองนี้ดส่วนตัวนิดนึงค่ะ คือเราสงสัยมานานว่าทำไมกาแฟดีๆ ไม่เคยถูกเสิร์ฟคู่กับขนมไทยบ้างเลย โบก็เลยจะทำ (หัวเราะ) เริ่มจากเราคัดเลือกขนมไทยต่างๆ ด้วยตัวเอง มีทั้งหมด 5 เจ้าที่เราชอบทานมาตั้งแต่สมัยเด็ก เอามาจับคู่กับเครื่องดื่มร้อนและเย็นที่เราก็เลือกเหมือนกัน

พอเลือกเสร็จเราก็ทำคอนเทนท์ สร้างสตอรี่ให้มันน่าสนใจขึ้นมา โบทำดีไซน์บูธเอง ออกแบบโลโก้เอง ทุกอย่างที่เห็นนี่ทำเองหมดเลยนะคะ วันวูแมนโชว์มากกก เลือกพร็อพอะไรมาใส่เองหมด ส่วนเมนูกาแฟต่างๆ อันนี้มีคนช่วยออกแบบ โบไม่ได้ทำเอง เรารู้แค่ว่าเราชอบรสชาติแบบนี้ เราบอกได้ว่าอะไรคือใช่อะไรคือไม่ใช่ ซึ่งโบจะขายแต่สิ่งที่โบกินแล้วชอบ อย่างบีทลาเต้นี่ก็เป็นเมนูซูเปอร์ฟู้ดคอฟฟี่ มันมีสูตรที่เขาทำกันมาอยู่แล้ว เราแค่เอามาปรับให้ถูกปากเราที่สุด หรืออย่างโกโก้ที่เสิร์ฟนี่เป็นของ ‘กาดโกโก้’ ค่ะ เป็นโกโก้ไทย 100% ซึ่งเป็นแบรนด์ที่โบทานแล้วชอบมาก มันไม่หวานเลี่ยน และเขาใช้น้ำตาลมะพร้าวที่ทำใหัรสมันกลมกล่อม”

ก้าวต่อไปของ NOSH NOSH อยากจะทำอะไรอีกบ้าง

“แผนของ NOSH NOSH ในสองปีแรกคือจะทำ Pop up Dinner ไปเรื่อยๆ ก่อน แต่หลังจากนั้นโบมีโปรเจ็กท์ต่อยอดที่คิดไว้แล้วค่ะ ชื่อ ‘เจอนั่นเจอนี่’ (Journal Journey) จะเป็นกึ่งๆ ฟู้ดทัวร์ที่เราพาคนไปเห็นวิถีการผลิต เห็นเส้นทางการได้มาซึ่งวัตถุดิบที่เรานำมาใช้ พาเขาไปเห็นกระบวนการและที่มาของสิ่งที่เขาจะได้ทาน เพราะประสบการณ์แบบนั้นมันคือสิ่งที่เปลี่ยน mindset เรามาแล้ว และเราเชื่อว่ามันก็จะเปลี่ยน mindset ของคนอื่นๆ ได้เช่นกัน”

การเดินทางไปเก็บน้ำผึ้งป่าว่ายากแล้ว การจะหารังผึ้งแต่ละรังให้เจอไม่ใช่เรื่องง่ายเลย .. และนี่ก็บันทึกการเดินทางส่วนนึงของเชฟก้อง @locusfoodlab ในการเก็บน้ำผึ้งป่าหายากเพื่องาน “Honey is Gold ๒” #educativediningexperience #noshnoshproject #HoneyIsGold #Thaiwildhoney #localwisdom #locusnativefoodlab #Thailand IG : @noshnosh.project

Posted by NOSH NOSH on Wednesday, 5 June 2019

ติดตามความสนุกและเรื่องราวัตถุดิบดีๆ จาก NOSH NOSH ได้ทาง facebook.com/NoshNoshThailand

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี