พูดได้ว่า ณ ตอนนี้ NFT กลายมาเป็นที่สนใจของวงการสร้างสรรค์ทั่วโลก ซึ่งก็รวมถึงในบ้านเราเช่นกัน ศิลปิน อิลลัสเตรเตอร์ รวมถึงกราฟิกดีไซเนอร์และวิชวล อาร์ทิสต์ หลายคนเริ่มเข้าไปเป็นครีเอเตอร์ที่ขายผลงานในแพลตฟอร์มอย่าง Opensea หรือ Foundation กันบ้างแล้ว แต่นอกจากการซื้อขายแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นที่สนใจไม่แพ้กันคือเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองการซื้อขายผลงานในตลาด NFT แต่เรื่องของลิขสิทธิ์และกรรมสิทธิ์ก็ยังต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดขณะนี้ คาดว่าจะมีการออกเป็นตัวบทกฎหมายออกมาในอนาคตแน่นอน แล้วผู้ขายและผู้ซื้อจำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง เราสรุปมาให้คร่าวๆ แล้ว
NFT คืออะไร?
NFT หรือ Non-Fungible Tokens คือเหรียญที่เป็นตัวแทนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทำซ้ำได้ คล้ายๆ กับผลงานศิลปินที่มีศิลปินเซ็นชื่อกำกับไว้นั่นเอง และสินทรัพย์ประเภทนี้ก็มักจะอยู่ในรูปแบบของงานศิลปะ (crypto art) ซะด้วย โดยมีตั้งแต่ภาพกราฟิก ภาพวาด ลานเส้น ไปจนถึงอาวาตาร์ ด้วยความที่มีลักษณะเฉพาะตัวแบบ ‘หนึ่งเดียวในโลก’ NFT จึงกลายมาเป็นที่สนใจของนักสะสม โดยการซื้อขาย NFT ต้องใช้สกุลเงินอีเธอเรียมเท่านั้น
ลิขสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ กับ NFT
ถ้าเป็นประเด็นนี้ คงต้องเริ่มจากกฎหมายลิขสิทธิ์ก่อน กฎหมายลิขสิทธิ์จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ (โดยเฉพาะเรื่องความครอบคลุมผลงานสร้างสรรค์) แต่โดยหลักแล้ว ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้สร้างสรรค์ผลงานแต่เพียงหนึ่งเดียว ห้ามทำซ้ำ ดัดแปลงหรือลอกเลียนแบบ แต่ถ้าหากมีการซื้อขายผลงานนั้น ผู้ซื้อจะได้กรรมสิทธิ์ไป โดยที่ลิขสิทธิ์จะยังเป็นของศิลปินหรือครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์ แต่กระนั้น ลิขสิทธิ์ก็มีระยะเวลาจำกัด โดยระยะเวลาของลิขสิทธิ์โดยทั่วไปคือเริ่มตั้งแต่การสร้างสรรค์งาน และสิ้นสุด 50 ถึง 100 ปีหลังจากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต จากนั้นจะตกเป็นของทายาทตามกฎหมาย
ในบทความ Copyright violations could crash the NFT party โดยโจนาธาน ชมัลเฟลด์ (Jonathan Schmalfeld) ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ fortune.com อธิบายเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ในอเมริกาว่าแม้ว่าลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นทันทีที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำผลงานขึ้นมาสำเร็จแล้ว แต่ในอเมริกาเอง ผู้สร้างสรรค์จะต้องนำผลงานมาขึ้นทะเบียนที่สำนักลิขสิทธิ์เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ
โจนาธานยังกล่าวว่าหนึ่งในข้อดีของการซื้อ NFT คือการมีระบบพิสูจน์ตัวตน (authentication) บนบล็อคเชนที่เรียกว่า ‘mint’ (ลงทะเบียนผลงานในระบบ) เมื่อผู้ซื้อสามารถยืนยันได้ว่าแอคเคาต์ที่ขายผลงานนั้นเป็นของครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์ (ซึ่งมักจะผ่านการตรวจสอบโดยตลาดแล้ว) ผู้ซื้อก็จะรู้ได้ว่าผลงานที่ซื้อนั้นเป็นผลงานต้นฉบับ ไม่ว่าผลงานนั้นจะผ่านมือไปกี่มือก็ตาม
แต่ถ้าครีเอเตอร์ที่เป็นผู้ mint นั้นเกิดโกหกเรื่องตัวตนของตนเอง นั่นก็กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งทันที บทความ No, NFT aren’t copyrights โดย แฮร์ริสัน จอร์แดน (Harrison Jordan) ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Techcrunch.com อธิบายว่า ด้วยความที่ตลาด NFT ยังไม่มีกฎหมายมาดูแลอย่างชัดเจน บางแฟลตฟอร์มจึงเปิดให้ใครก็ได้มา mint ผลงานอย่างอิสระ ผลก็คือมีศิลปินมากมายที่พบว่ามีคนนำผลงานของตัวเองไปขายโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเห็นได้ชัดในตลาดค้าศิลปะแบบดั้งเดิม
และอีกหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือแม้ครีเอเตอร์จะเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนั้นจริง แต่สิ่งที่ระบบไม่สามารถตรวจสอบได้คือผลงานชิ้นนั้นได้ละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานอื่นๆ หรือเปล่า (พูดง่ายๆ คือได้ไปเลียนแบบใครหรือเปล่า) เพราะในอเมริกาเอง การขายผลงานลอกเลียนแบบนั้นมีผลทางกฎหมาย แม้จะบอกว่า “ได้แรงบันดาลใจ” และไม่เหมือนเสียทีเดียวก็โดนฟ้องกันมานักต่อนักแล้ว ยกตัวอย่างเรื่องล่าสุดคือเรื่องของงาน Weird Whales ของครีเอเตอร์ชื่อเบนยามิน อาเหม็ด (Benyamin Ahmed) วัย 12 ปี ที่อยากจะลองทำโปรเจ็กต์ NFT ของตัวเองดู หลังจากวางขายเพียงไม่กี่ชั่วโมง งานของเขาก็ราคาพุ่งไปไกล และระหว่างนั้นเองที่มีคนพบว่าภาพ pixel whale ของเขานั้นถูกก็อปมาจากอีกโปรเจ็กต์หนึ่ง ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเบนยามินมีสิทธิ์ในการใช้ภาพนั้นหรือไม่ หรือแค่ทำไปโดยไม่รู้ หรือตั้งใจ
อยากสร้างงาน NFT มาขาย ทำอย่างไรไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์
ในฐานะนักสร้างสรรค์ การเคารพในสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของผลงานของผู้อื่นเรียกได้ว่าเป็นจรรยาบรรณอย่างหนึ่ง ทั้งในโลกออฟไลน์และในโลกออนไลน์ ถ้าเกิดได้แรงบันดาลใจจากผลงานสร้างสรรค์ของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือเป็นแบรนด์ วิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือการขอความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะละเมิดลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าได้ และถ้าครีเอเตอร์หรือแบรนด์ที่เป็นเจ้าของผลงานเกิดฟ้องขึ้นมาแล้วศาลตัดสินให้ผิดจริงก็อาจจะต้องจ่ายค่าเสียหายกันหูตูบเลยทีเดียว
ซื้องาน NFT อย่างไรให้ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
โจนาธานกล่าวว่าถ้าอยากซื้องานที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ก็เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อแล้วที่จะต้องศึกษาให้ดีก่อนซื้อ ลองดูประวัติของครีเอเตอร์ แล้วลองค้นหาโปรเจ็กต์ที่มีแนวคล้ายๆ กันดู ถ้าเป็นผลงานที่มีมูลค่าสูงและคุณมีทุนพอ ก็อาจจะจ้างทนายเพื่อช่วยตรวจสอบลิขสิทธิ์ก็ได้ เช่นเดียวกับโลกศิลปะแบบออฟไลน์ การลอกเลียนแบบหรือการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ก็คงเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ แหละ ที่ยิ่งกำไรสูงเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็มักจะสูงตามไปด้วย
อ้างอิง:
– Copyright violations could crash the NFT party
–No, NFT aren’t copyrights