fbpx

เทคนิคการถ่ายภาพและการขายภาพแนวแลนด์สเคป โดยสองนักวิจัยด้านมะเร็งผู้รักการเดินทาง

เรียนรู้วิธีคิดและเทคนิคการเปลี่ยนแพชชั่นให้เป็นรายได้เสริม

ในบทบาทหนึ่ง คุณเน ดร. นพัต จันทรวิสูตร และคุณพี ดร. พิริยะ วงศ์คงคาเทพ คืออาจารย์และนักวิจัยของศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ในอีกบทบาทหนึ่ง ทั้งคู่คือผู้หลงใหลในการเดินทางและการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ ผู้นำภาพสวยๆ มาแชร์ให้ได้ชมผ่านเพจ Nature Photographomics และในหลายๆ ครั้ง นอกจากความรักและความสุขที่ได้จากการถ่ายภาพ พวกเขายังสามารถสร้างรายจากการขายภาพถ่ายทางเว็บไซต์ Stock Photo ต่างๆ ด้วย เมื่อได้จังหวะ Kooper จึงเชิญทั้งคู่มาให้ความรู้เรื่อง เทคนิคการถ่ายภาพ และการสร้างรายได้ พร้อมเรื่องราวการเดินทางที่น่าประทับใจของพวกเขา

KP: จุดเริ่มต้นการถ่ายภาพของพวกคุณคืออะไร?

พี: แต่เดิมผมถ่ายรูปเป็นแพชชั่นตั้งแต่มัธยมปลาย เริ่มจากการฝึกถ่ายเล่นๆ เพราะการถ่ายกล้องฟิล์มมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จะมาเริ่มจริงจังช่วงก่อนไปเรียนต่อที่อเมริกา และด้วยความที่เป็นคนชอบเดินทาง ชอบที่จะเห็นอะไรใหม่ๆ ชอบเห็นวิวสวยๆ เราก็เริ่มจับแนวภาพตัวเองได้ก็คือภาพแนว Landscape ภาพธรรมชาติ ภาพทิวทัศน์เป็นหลัก 

เน: เนเริ่มสนใจการถ่ายภาพช่วงที่เป็นนักเรียนทุนที่อเมริกาอยู่ 6 ปี ตอนนั้นพวกเราชอบใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยว มีการรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันไปเที่ยว และถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งพีจะเป็นคนหาข้อมูลว่าจะไปถ่ายสถานที่ไหน เราก็จะเป็นเหมือนผู้ติดตามไปถ่ายตามเขามากกว่าค่ะ

KP: เริ่มขายภาพตามเว็บไซต์ Stock Photo ได้อย่างไร?

เน: ช่วงแรกที่เรายังถ่ายไม่เก่งก็จะเป็นการถ่ายรูปเล่นทั่วไป แต่พอถ่ายไปสักพักเริ่มเห็นเพื่อนที่รู้จักนำภาพที่ถ่ายมาสร้างรายได้โดยการอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์ Stock Photo ต่างๆ เลยคิดว่าเราสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และทำเป็นอาชีพเสริมได้จึงทำต่อมาเรื่อยๆ

KP: รายได้ที่ได้รับจากการขายภาพในเว็บไซต์ Stock Photo

พี: เว็บไซต์ Stock Photo จะมี 2 ตลาดก็คือ Microstock เป็นเว็บไซต์ขายโหลดเล็กๆ เช่น Shutter Stock, I Stock, Adobe Stock ช่างภาพจะได้เงินประมาณ 33 เซนต์ ต่อดาวน์โหลด ส่วนอีกตลาดก็คือ Macrostock จะเป็นเว็บไซต์เอเจนซีใหญ่ๆ เช่น Getty Images ซึ่งรูปเราต้อง Exclusive กับเขาที่เดียว ไม่สามารถเอารูปนี้ไปขายที่อื่นได้อีก ราคาจะเริ่มตั้งแต่ 10 ดอลลาร์ขึ้นไป มากสุดที่เคยขายได้คือ 2,000 ดอลลาร์ เป็นรูปแสงเหนือ แต่เป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ได้เยอะขนาดนั้น เหมือนถูกลอตเตอรี่มากกว่า

เน: สมัยก่อนคนขายภาพก็จะลุ้นว่าเดือนนี้จะมีใครถูกลอตเตอรี่บ้าง ถ้ามีลูกค้าเจ้าใหญ่มาซื้อรูป และเอาไปใช้เชิงพาณิชย์ นำไปทำทำแพ็กเกจจิ้ง รูปก็จะอยู่ในอีกเรทราคา และยิ่งปริมาณในการนำไปใช้เยอะเท่าไรก็จะมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

KP: ก่อนจะไปถ่ายภาพศึกษาก่อนไหมว่าผู้ซื้อต้องการภาพแบบไหน?

พี: ไม่ขนาดนั้นนะ เราไปถ่ายรูปเพราะเราอยากได้รูปนี้ และเรายังไม่ถึงขั้นถ่ายรูปเลี้ยงชีพ ถ้าแบบนั้นคงต้องคิดอีกแบบ อาจจะต้องคิดว่าไปสถานที่นี้เพื่อให้ได้ภาพกี่ภาพ และจะเอามาขายกี่ภาพ แต่ก็จะมีบ้างถ้าไปประเทศไหนแล้วสถานที่ยอดนิยมอยู่ใกล้เคียงกับที่เราจะไป ก็ไปถ่ายเพราะรู้ว่าสามารถเอามาขายได้แน่ๆ อย่างเช่นไปซานฟรานซิสโก ก็จะไปถ่ายสะพานโกลเดนเกตเก็บไว้ หรือก็มีบ้างที่ดูในเว็บไซต์ว่ามีใครถ่ายแบบไหนไปแล้วบ้าง เพื่อหาความแตกต่าง

เน: เราจะเน้นถ่ายรูปสถานที่ที่เราอยากไปก่อน และค่อยเอารูปพวกนั้นมาขาย แต่บางทีก็จะมีรูปที่เราไม่คิดว่าจะขายได้กลับขายได้ เช่นมีลูกค้าซื้อภาพฟองก๊าซมีเทนที่ถูกทับอยู่ในทะเลสาบไปใช้เป็นปกหนังสือวิชาเคมี ฉะนั้นเราไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมดว่าลูกค้าต้องการรูปแบบไหน 

KP: การถ่ายภาพตามสถานที่ที่คนนิยมถ่ายภาพมีซ้ำกันบ้างไหม?

พี: ก็คงซ้ำบ้าง แต่ภาพก็จะมีโทนสีที่ต่างกัน เพราะกระบวนการทั้งหมดไม่ได้จบแค่การถ่ายรูป การถ่ายเป็นแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ อีก 50 เปอร์เซ็นต์ คุณต้องมาใส่จินตนาการเข้าไปว่าอยากจะได้อะไรเพิ่มเติม ต้องเริ่มตั้งแต่การวางแผน การถ่าย และแต่งภาพ มันก็เหมือนกับการสร้างงานศิลปะขึ้นมาหนึ่งชิ้น ซึ่งปกติลูกค้าจะซื้อรูปแล้วใช้งานเลย ฉะนั้นเขาก็จะเลือกรูปในสไตล์ที่เขาชอบ

เน: สุดท้ายแล้วช่างภาพแต่ละคนก็จะมีสไตล์เป็นของตัวเอง วิธีการแต่งภาพก็ด้วย ถึงอยู่สถานที่เดียวกัน แต่ภาพจะออกมาไม่เหมือนกัน เพราะถ้าเราไปถ่ายเฉยๆ ไม่คิดอะไรภาพก็จะออกมาแนวเดียว แต่ถ้าเป็นคนที่คิดมาก่อนแล้วว่าจะเล่าเรื่องอะไรในภาพ และนำภาพนั้นมาทำต่อใส่แนวคิดเข้าไป ภาพก็จะเล่าเรื่องได้ เพราะฉะนั้นถึงแต่ละคนจะไปที่เดียวกัน ภาพก็จะออกมาคนละแบบเพราะเล่าเรื่องไม่เหมือนกัน 

KP: สไตล์ภาพของพวกคุณเป็นอย่างไร?

พี: จริงๆ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองมีสไตล์เฉพาะตัว แต่คนอื่นจะบอกว่ารูปผมจะมีสีอิ่มๆ ซึ่งก็อาจจะมาจากความถนัดความคุ้นเคยในการแต่งรูป

เน: อาจจะเป็นสไตล์สีที่ไม่ได้หนักมาก แต่เราก็เน้นแต่งภาพตามที่เราคิดว่าสวยมากกว่า

KP: เวลาไปถ่ายภาพตามทริปต่างๆ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

พี: ก่อนที่จะเลือกว่าจะไปถ่ายอะไร ต้องเลือกก่อนว่าจะไปประเทศไหน อย่างแรกก็ต้องทำรีเสิร์ชอย่างหนักเลยว่าจุดที่เราจะไปถ่ายอยู่ที่ไหน ช่างภาพจะรู้ว่าแสงที่สวยจะมีตอนเช้ากับตอนเย็น ฉะนั้นต้องรู้ว่าภาพนี้ถ้าอยากให้แสงเข้าทางด้านขวาของรูปเราจะต้องไปยืนจุดไหน อยู่ทางตะวันออกหรือตะวันตก เหนือหรือใต้ สถานที่นี้เราจะถ่ายแสงเช้าหรือแสงเย็น ต้องคิดและมีข้อมูลก่อน ฉะนั้นเวลาผมไปผมจะไม่ต้องเสียเวลาหาว่าจุดนี้อยู่ตรงไหน ทริปสั้นๆ หนึ่งทริป ผมสามารถถ่ายรูปได้เยอะเพราะผมคิดไว้อยู่แล้ว

เน: พีจะมีแพชชั่นเยอะมากในการถ่ายรูป ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของเขาไปแล้วโดยที่ไม่ต้องพยายาม อาจจะเพราะความที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย ทำให้เวลาที่เขาจะหาข้อมูลจะทำเหมือนกับทำวิจัย ถ้าเนไปคนเดียวก็จะใช้วิธีคิดและเตรียมตัวแบบเขา หรืออย่างถ้าไปแล้วต้องการถ่ายรูปให้ได้มากๆ ช่างภาพที่นั่นหลายคนแทบจะไม่จองโรงแรม ไปดูที่หน้างานเอา อย่างถ้าเราจะไปที่ไอซ์แลนด์เราจะเช่าเป็นแคมป์เปอร์แวนให้สามาถย้ายที่ได้ เพราะประเทศแถบนี้จะอากาศไม่ค่อยดี และแปรปรวนตลอดเวลา 

พี: ผมจะดูอากาศ ดูทางลม ดูว่าอันนี้คือพายุกำลังมา ความเร็วเท่าไหร่ อากาศต้องเป็นสิ่งหลักแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะไปที่ไหน มีทริปหนึ่งผมจะดูเมฆและเห็นว่ามีเมฆสองแนว ถ้าเราเลือกไปถูกวันก็จะได้รูปที่ฟ้าเปิดทั้งสองสถานที่

เน:  บางทีตัวเลือกที่เราตั้งใจจะไปถ่ายก็ไม่เวิร์คทั้งหมด อาจจะฝนตกหรือพายุเข้า พร้อมกันหมดเลยก็ต้องยอม แต่ถ้ายังมีตัวเลือกให้เลือกได้ พีก็จะเป็นคนที่รู้ว่าตรงนี้ จุดนี้พอมีช่องเมฆอยู่บ้างและไปถ่ายตรงนั้น

พี: ถ้าเป็นคนทั่วไป ถึงฝนตกก็อาจจะไปถ่ายแต่ผมจะไม่ไป จะนอนอยู่ที่โรงแรมและวันที่อากาศดีค่อยออก เพราะเรารู้ว่าไปแล้วรูปที่ได้คุณภาพก็ไม่ตรงตรงตามที่ต้องการอยู่ดี

KP: ในหนึ่งทริปถ่ายภาพทั้งหมดกี่ภาพ และนำไปขายทั้งหมดไหม?

พี: ถ้าไป 3-4 วันจะตกวันละ 300 รูป แต่ไม่ใช่ 300 รูปแบบนะ อย่างเราไปถ่ายตั้งแต่ตอนก่อนพระอาทิตย์ขึ้นจนขึ้นไปเรื่อยๆ จะได้มุมคล้ายๆ กันแต่เปลี่ยนแสง ซึ่งรูปที่เราใช้ก็จะใช้แค่ใบเดียว หรือบางทีไม่ถูกใจก็ไม่ใช้เลย ส่วนมากจะมีทริปละใบเป็นอย่างน้อยที่รู้สึกชอบ อย่างปัจจุบันผมแต่งรูปได้เท่าไรก็นำไปขายหมด อยู่ที่ว่าเราขยันเลือกรูปมาทำเยอะแค่ไหน เช่นทริปหนึ่งจะมีรูปที่ชอบมากๆ สัก 1-2 รูปตั้งใจทำต่อและขายแน่ๆ ส่วนรูปอื่นๆ ก็อยู่ที่ว่าเราจะทำมันต่อหรือไม่ ซึ่งเวลาขายเราก็ต้องนั่งอัปโหลด นั่งกรอกคีย์เวิร์ด กรอกข้อมูล จะใช้เวลาระดับหนึ่ง

เน: อย่างเนหลังจากเรียนจบจากที่อเมริกา และเริ่มทำงาน จำนวนที่อัปโหลดลงขายน้อยกว่าเดิมมาก หรือบางทีก็ไม่ได้อัปโหลดลงเลย ที่ขายได้คือกินบุญเก่ามาก (หัวเราะ) แต่ถ้าถามว่าตั้งใจจะอัปโหลดเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราไปกี่จุด จุดหนึ่งมากสุดอาจจะได้สัก 2 รูป และถ้ายิ่งขายกับ Getty Images ก็อาจจะต้องคิดมากกว่าเว็บไซต์ทั่วไป อย่างตอนที่ไปไอซ์แลนด์ เป็นทริปที่ได้ทำรูป และอัปโหลดขึ้นไปขายแสงละ 1 ภาพ ไป 10 วันก็ได้ 20-30 ภาพ

KP: ในภาพรวมเว็บไซต์ Stock Photo เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไรบ้าง และเป็นเพราะอะไร?

พี:  เดี๋ยวนี้ตลาดแข่งขันของ Stock Photo แข่งขันกันเยอะ เพราะเว็บไซต์พยายามดึงช่างภาพเข้ามาเยอะ อย่างตอนนี้ Shutterstock อาจจะมีรูปถึง 1-2 ร้อยล้านรูปแล้ว จนบางทีคนใช้งานไม่สามารถเจอรูปเรา และเมื่อก่อน Getty Images จะขายในราคาพรีเมียม รูปละหลายร้อยเหรียญ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มลดราคารูปตัวเองลงมา และจะมีการจ่ายแบบรายเดือนสามารถดาวน์โหลดได้เท่าไรก็ว่าไป ทำให้รายได้ที่ช่างภาพขายกับ Getty Images ไม่ได้สูงเท่าเมื่อก่อน จะมีเรื่องของระบบ search engine ถ้ารูปไหนที่คนซื้อบ่อยก็จะไปติดอันดับความนิยม

เน: ดังนั้นคนที่เข้ามาทีหลังแล้วไม่มีภาพที่น่าสนใจมากพอให้คนเลือกซื้อ ก็จะมีโอกาสน้อยกว่าคนอีกกลุ่มที่สามารถขายภาพและติดความนิยม และเป็นปกติที่จำนวนคนซื้อเท่าเดิม แต่คนขายเพิ่มขึ้นการแข่งขันก็สูงขึ้น เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องมีภาพลักษณะใหม่ๆ เหมือนเป็นการเปิดตลาดเพื่อที่จะทำให้ลูกค้ามาสนใจมากขึ้น หรืออาจจะหาสถานที่ใหม่ๆ ที่ยังไม่มีคนถ่ายก็อาจจะช่วยทำให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

KP: เรื่องลิขสิทธิ์ และข้อควรระวังในการถ่ายภาพ?

เน: ลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ช่างภาพต้องระวังและศึกษา ตึกบางตึกเราไม่สามารถขายได้เพราะตึกนั้นมีลิขสิทธิ์ อย่างกรณีของหอไอเฟลที่เราสามารถขายได้เพราะหอไอเฟลสร้างมา 133 ปี ลิขสิทธิ์ของสิ่งก่อสร้างหมดไปแล้ว แต่ถ้าคุณถ่ายหอไอเฟลที่เปิดไฟตอนกลางคืนคุณไม่สามารถขายรูปได้ เพราะติดลิขสิทธิ์ของผู้ที่มาประกอบติดตั้งไฟอยู่ รูปหอไอเฟลใน Stock Photo ส่วนใหญ่จึงเป็นกลางวัน อย่างตอนที่ไปหอไอเฟลล่าสุดกับเนพอเขาเปิดไฟปุ๊บผมกลับเลย (หัวเราะ) คือถ่ายแค่นิดหน่อยไม่ได้ถ่ายเต็มที่ เพราะรู้อยู่แล้วว่าถ่ายไปก็ขายไม่ได้

เน: นอกจากนั้นจะมีข้อควรระวังอย่างการถ่ายคน ถ้าเราถ่ายติดคนแล้วเห็นลักษณะที่สามารถระบุได้ว่าคนนี้เป็นใคร ก็จะต้องมีการเซ็นยินยอม เพราะฉะนั้นเวลาถ่ายเราต้องมีเทคนิคในการใส่คนเข้าไปในภาพ อย่างเช่นถ่ายให้เห็นไกลๆ หรือหันหลัง เพราะภาพ ​Lanscape ถ้ามีคนเป็นองค์ประกอบจะสามารถบอกไซส์ บอกเรื่องราวได้ดีไปอีกแบบ ลูกค้าจะเลือกซื้อภาพลักษณะนี้มากกว่าภาพ Landscapr ทั่วไป

พี: โลโก้สินค้าก็เช่นกัน รูปที่เราถ่ายห้ามมีโลโก้หรือเห็นแบรนด์สินค้าอยู่ในนั้น เช่นถ้าผมถ่ายถนน และมีรถวิ่งก็ต้องลบยี่ห้อรถออกให้หมดเลย ตอนนั้นผมเคยถ่ายภาพ Cityscape และจะมีโลโก้ธนาคารอยู่บนยอดตึกต่างๆ ก็ถอนหายใจยาวๆ และนั่งลบ (หัวเราะ)

เน: จริงๆ Cityscape ขายดีในระดับหนึ่ง อย่างรูปที่เนไปถ่ายที่ลอสเอนเจลิส ก็จะขายได้เรื่อยๆเพราะเป็นอะไรที่คนต้องเอาไปใช้บ่อย ก็จะมีลูกค้าที่ต้องการรูปของเราเยอะ

KP: เคยถูกนำภาพที่ถ่ายไปใช้แบบไม่มีลิขสิทธิ์ไหม เว็บไซต์ต่างๆ เขาดูแลและมีวิธีจัดการอย่างไร?

พี: ผมเคยมี แต่ว่าไม่มีเวลาไปไล่ตาม ถ้าไม่ใช้เจ้าใหญ่ๆก็อาจจะไม่คุ้ม และบางทีเป็นเรื่องของกฏหมายแต่ละประเทศทำให้ยากที่จะไปตาม เมื่อก่อนผมก็ใส่ลายน้ำในรูปแต่ช่วงหลังไม่แล้ว ผมอาจจะมีความคิดไม่เหมือนคนอื่นนะ แต่ผมอยากให้รูปผมมีคนเห็นเยอะๆ และถ้าเขาอยากซื้อเขาก็จะซื้อเอง คนที่ไม่ซื้อก็ถือว่าทำบุญละกัน (หัวเราะ)

เน: รูปที่เราอัปโหลดตามโซเชียลต่างๆ ด้วยตัวคุณภาพก็อาจจะเอาไปทำอะไรไม่ได้มากนัก ก็เลยคิดว่าเราไม่อยากจะไปตามขนาดนั้น แต่เราก็อาจจะยังโชคดีตรงที่ไม่เคยถูกนำรูปเอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง จะมีแค่เอาไปลงเว็บไซต์แแล้วไม่ได้ให้เครดิต ไม่ได้ซื้อให้ถูกต้อง แต่ถึงขายก็ได้ไม่เท่าไรอยู่แล้วเลยไม่ได้อะไรมาก แต่อย่างของเพื่อนๆ ที่ถูกเอารูปไปใช้ในเชิงพาณิชย์ แบบนั้นก็อาจจะมีผลกระทบมากกว่า ซึ่งในกรณีนี้เราสามารถแจ้ง Getty Images ได้ นี่เป็นข้อดีของการที่ภาพเรา Exclusive กับ Getty Images เพราะเอเจนซี่จะช่วยจัดการให้

KP: ขั้นตอนและเทคนิคต่างๆ ในการนำภาพลงเว็บไซต์?

พี: ส่วนมากภาพถ่ายจะรับเป็นไฟล์ Jpeg ที่ผมทำก็คือเซฟให้ไฟล์ภาพใหญ่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะราคาจะขึ้นอยู่กับขนาด ซึ่งสมัยนี้สามารถฝัง Metadata ลงไปในรูปได้แล้ว การใส่คีย์เวิร์ดของภาพก็มีผล เราต้องพยายามใส่คีย์เวิร์ดหลักๆ ลงไปให้ได้มากที่สุด

เน: เนถือว่าตัวเองไม่เก่งในการเลือกคีย์เวิร์ด อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาว่าเราควรใส่คีย์เวิร์ดแบบไหน และต้องคิดว่าคนที่ต้องการซื้อเขาจะเสิร์ชแบบไหน เพื่อที่จะทำให้คีย์เวิร์ดของเราเข้าตาลูกค้ามากที่สุด ยกตัวอย่างเมื่อเวลาพิมพ์คีย์เวิร์ดในเว็บไซต์ จะขึ้นรูปที่เป็นที่นิยมให้ เราจะต้องศึกษาว่าถ้ารูปของเราเป็นแบบนี้เราควรใช้คีย์เวิร์ดว่าอะไร

พี: บางเว็บไซต์จะมีหน้าให้ค้นหาคีย์เวิร์ด เมื่อเสิร์ชคีย์เวิร์ดเข้าไปรูปก็จะขึ้นพร้อมกับโชว์คีย์เวิร์ดขึ้นมาให้ดูว่ารูปนี้มีคีย์เวิร์ดอะไรบ้าง

เน: และจะมีกรณีที่ลูกค้าซื้อไปไม่พอใจเอารูปมาคืน เราก็ต้องคืนเงิน ถ้าเราทำภาพเสร็จก็ต้องเช็คความเรียบร้อยให้ดี เพราะเมื่ออัปโหลดไปแล้วการจะไปถอนออกมาต้องทำเรื่องแจ้งทาง Getty Images เท่านั้น

KP: ถ้าอัปโหลดภาพเข้าไป Getty Images มีการตรวจสอบก่อนไหม?

พี: มีครับ บางอันที่ผมอัปโหลดขึ้นไปเขาแจ้งว่าคุณภาพไม่ถึง Noise เยอะถูกปฏิเสธก็มี หรือบางครั้งแจ้งว่าเว็บนี้มีรูปแนวนี้เยอะแล้วก็ไม่รับ ซึ่งมีคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบตรงนี้

เน: ซึ่งผู้ตรวจแต่ละคนก็จะมีมาตรฐานการเลือกภาพที่ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าครั้งนั้นใครตรวจเรา

KP: สถานที่ไหนที่ไปถ่ายภาพแล้วประทับใจที่สุด?

พี: ถ้าสวยแล้วประทับใจที่สุด ผมยกให้ภูเขาที่ Patagonia เพราะว่ามันมีรูปทรงที่สวยมาก ต่างจากทรงทั่วไปที่จะป้านๆ ตอนนั้นใช้เวลาเดินทางจากไทยประมาณ 30 ชั่วโมง บินจากกรุงเทพไป Buenos Aires และนั่งลงใต้ เป็นภูเขาที่ผมยกให้สวยที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาทั้งชีวิต ต้องลองไปสักครั้งในชีวิต

เน: สำหรับเนจะเป็นอีกฝั่งของซีกโลก คือทาง Dalton Highway ที่ Alaska ข้ามเส้น Arctic Circle มันทำให้เนนึกถึงตอนตอนเรียนสภาพภูมิอากาศแบบทุนดร้า (Tundra) มันจะมีต้นไม้สูงแค่ต้นเดียว ที่เหลือจะเป็นพืชคลุมดิน ซึ่งช่วงที่ไปเป็นช่วงใบไม้เปลี่ยนสี ฉะนั้นพื้นจะเป็นสีแดงทั้งหมด ภูเขาก็จะสูงๆ มีหิมะคลุม เป็นลักษณะเดียวกันทั้งหมด และตอนที่เนไปมีออโรร่าด้วย ซึ่งอันนี้เราต้องวางแผนไปก่อน เพราะอย่างบางคนไปเป็น 10 วันแต่ไม่เจอออโรร่าเลยเพราะเมฆบัง ดังนั้นอากาศจึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการถ่ายภาพ

พี: หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้ว่าออโรร่าจะมี Circle ของมันดือนละครั้ง และนับต่อไป 28  วัน จะแรง 1 ครั้ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะดวงอาทิตย์หมุนรอบตัวเอง 28 วัน ถ้าไปช่วงกลางเดือนธันวา มกราคม กุมภาพันธ์ อาจจะได้เห็นชัด แต่ถ้าไปต้นเดือนอาจจะไม่เห็น หรือเห็นแบบแสงไม่ชัดมาก

KP: โปรเจกต์ต่อไปจะไปเที่ยวที่ไหน หรือจะทำอะไรบ้าง

พี: ตอนนี้ผมไม่ค่อยได้เน้นการเที่ยวแต่จะเน้นการสอนมากกว่า ผมจะจัด Workshop ถ่ายรูป ซึ่งก็เหมือนกับทริปถ่ายภาพที่เราชอบทำ และผมก็ถือว่าสิ่งนี้เป็นความสุข เพราะเราได้เอาประสบการณ์ของเรามาถ่ายทอด ทำให้เขาได้ภาพเหมือนที่เราเคยถ่าย และไม่ผิดพลาดเหมือนที่เราผิด บางที่เราก็เจ็บมาเยอะ อย่างเช่นไปผิดฤดู หรือครั้งนั้นเตรียมตัวไม่ดี เราจะเอาประสบการณ์ทุกอย่างตรงนั้นมารวมกันแล้วถ่ายทอด

เน: ส่วนมากที่ไปก็จะเป็นทริปที่มีความตั้งใจว่าจะไปที่นี่อีก อย่างตอนที่ไปดูหมีขั้วโลกก็เป็นทริปเที่ยวด้วย และดูสถานที่ด้วยว่าอนาคตเราสามารถทำอะไรที่นี่ได้บ้าง นอกนั้นก็เป็นโปรเจกต์การกุศล เนื่องจากเราทำวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เราทำก็คือนำภาพถ่ายของเรารวมกันและจัดทำเป็นปฏิทินเพื่อที่ขายและบริจาคเงินทั้งหมดเข้าโครงการ ซึ่งปีนี้ก็มีเหมือนกัน

สามารถร่วมบริจาคเพื่องานวิจัยเพื่อสร้างยาภูมิต้านมะเร็ง ที่ศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ หรือศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Facebook: CU Cancer Immunotherapy Fund

ติดตามภาพถ่าย และเรื่องราวการท่องเที่ยวของทั้งสองท่านได้ทาง
Fackbook: Nature Photographomics
www.piriyaphoto.com

ภาพ: Nature Photographomics

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore