fbpx

นาโอมิ ไดมารู อาจารย์ผู้ถ่ายทอดศิลปะอิเคบานะยุคใหม่

สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว อิเคบานะ ไม่ใช่ดอกไม้ที่จัดเพื่อตกแต่ง แต่คือศิลปะชั้นสูงที่ต้องอาศัยการฝึกฝนและจินตนาการ

วัฒนธรรมญี่ปุ่นมีคำๆ หนึ่งว่า ‘shinrin-yoku’ ที่แปลได้ง่ายๆว่า ‘การอาบป่า’ คอนเซ็ปต์นี้ว่าด้วยการออกไปอยู่กับธรรมชาติ ดื่มด่ำกับบรรยากาศของป่าและมีช่วงเวลาดีๆ และดูเหมือนว่าความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั่วโลกของคอนเซ็ปต์นี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันถึงภูมิปัญญาที่ชาวญี่ปุ่นได้รู้และใช้ในชีวิตประจำวันมาช้านาน ว่ามนุษย์เราต้องการธรรมชาติในชีวิตเราเสมอ

Kooper ได้คุยถึงประเด็นนี้กับ นาโอมิ ไดมารู ศิลปินและอาจารย์สอนด้านอิเคบานะที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยมากว่าทศวรรษ งานของนาโอมิจัดแสดงอยู่หลายที่ ตั้งแต่ร้านขายเฟอร์นิเจอร์สุดหรูอย่าง Alexander Lamont ไปจนถึง Panpuri Wellness นอกจากนี้ อาจารย์ยังมีคลาสสอนจัดดอกไม้ทุกๆ วันเสาร์ที่ Ta-Ke Residence ที่เอกมัยด้วย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นาโอมิได้เผยแพร่ความรู้และความงามของอิเคบานะ หรือศิลปะการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นให้คนไทยได้รับรู้ทีละนิด แต่แม้กระนั้น เธอก็ยืนยันว่ายิ่งในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯด้วยแล้ว คนเรายิ่งต้องการธรรมชาติมากยิ่งขึ้นไปอีก

คุณได้รู้จักกับอิเคบานะได้อย่างไร?
“ฉันได้พบกับอิเคบานะจริงๆ ที่ซานดิเอโก สหรัฐฯ ค่ะ ตอนนั้น ฉันเรียนจัดดอกไม้บ้างแล้ว แต่ก็อยากจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ด้วย และฉันก็ได้ไปพบกับโรงเรียนโอฮารา โรงเรียนสอนอิเคบานะสาขาซานดิเอโก โรงเรียนโอฮาราเป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่มีอายุ 135 ปีแล้ว มร.โอฮาราผู้ก่อตั้งอาจเรียกได้ว่าเป็นคนแรกๆที่เลือกใช้แจกันแบบแบนพร้อมใส่น้ำ เราเรียกวิธีการจัดแบบนี้ว่าแลนด์สเคป (landscape) ท่านเคยเรียนที่อื่นมาก่อนนะคะ แต่ก็คิดค้นสไตล์ของตัวเองขึ้นมาได้ ก็เลยออกมาตั้งโรงเรียนของตัวเอง”

อิเคบานะมีหลักการอย่างไรบ้าง?
“อิเคบานะมีหลายสไตล์นะคะ บางแบบก็ให้อิสระมาก โรงเรียนโอฮาราเน้นเรื่องธรรมชาติ สไตล์ก็ออกมาเป็นธรรมชาติ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องมองและเข้าถึงธรรมชาติให้ได้ ทุกอย่างล้วนเป็นภาพมายา ดอกไม้ที่บานอยู่ก็ด้วย บางอย่างเด็ก บางอย่างแก่ บางอย่างตาย บางอย่างสวย แม้บนพื้นที่แบนราบ หลายอย่างก็เติบโตขึ้นได้ เราอาจจะต้องคิดแบบนั้น จากนั้นค่อยๆ เติมดอกไม้และประสบการณ์ลงไปในงานของคุณ ฉันคิดว่านี่คือคอนเซ็ปต์ของโรงเรียนโอฮารานะ”

ตอนที่คุณย้ายมาอยู่เมืองไทย คุณมองบทบาทของดอกไม้ในเมืองไทยอย่างไรบ้าง?
“ฉันอยู่เมืองไทยมา 12 ปีแล้ว ตอนที่ฉันมาถึงแรกๆ นั้น ฉันเห็นคนไทยใช้ดอกไม้เยอะเลย ก็เลยคิดว่ามาสอนอิเคบานะที่นี่ก็คงจะเวิร์กอยู่ ฉันไม่เคยโฆษณาเลยค่ะ คลาสแรกของฉันมีนักเรียนแค่สองคน แล้วก็ไม่ได้สอนทุกอาทิตย์ด้วย ถ้าพวกเขาอารมณ์ดีก็จะมาเรียน ซึ่งฉันก็โอเคนะ ตราบใดที่คนชอบดอกไม้ ฉันก็แฮปปี้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือพวกเขาต้องรู้สึกดีและฟังเสียงของดอกไม้ นักเรียนของฉันมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักบิน หมอ นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก ทุกคนพูดเหมือนกันว่าการจัดดอกไม้ช่วยให้มีสมาธิและผ่อนคลาย ไม่เครียด และรู้สึกสดชื่นค่ะ เหมือนนั่งสมาธิเลย ฉันว่าคนเราต้องอยู่กับธรรมชาตินะ ธรรมชาติไม่ได้สนใจเราหรอก ธรรมชาติอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่เราอาจต้องการธรรมชาติในชีวิต แม้จะเป็นดอกไม้หนึ่งดอก ดอกเล็กๆ ไม่ได้ใหญ่ก็ทำให้เรามีความสุขได้”

คุณมีวิธีสอนนักเรียนอย่างไร?
“จริงๆ ฉันว่าแต่ละคนก็คงมีวิธีแตกต่างกันไปนะคะ แต่สำหรับฉัน ฉันจะใช้คำอื่นๆ มาเรียกดอกไม้ดอกหลัก อย่างคุณพ่อ ดาราชาย หรือแฟนหนุ่ม ส่วนอีกดอกก็อาจจะเป็นคุณ หรือคุณแม่ หรือดาราสาว ฉันว่ามันง่ายที่จะจินตนาการมากกว่านะ จินตนาการสำคัญมาก ต้องคิดก่อน แล้วค่อยคิดถึงตัวงานทั้งหมด ถ้าคุณยังนึกไม่ออกว่างานจะออกมาหน้าตาแบบไหน คุณก็อาจยังไม่พร้อมที่จะจัดดอกไม้ ส่วนแรงบันดาลใจนั้นก็มาจากทุกอย่างค่ะ ประสบการณ์ของคุณ พื้นเพของคุณ ครอบครัว หรืออารมณ์ ทั้งความโกรธ ความเศร้า ความสุข ความโกรธก็ดีนะ มีพลังดีค่ะ”

คุณใช้ดอกไม้ไทยในงานของคุณเยอะเหมือนกัน คุณชอบดอกไม้ไทยตรงไหนบ้าง?
“จริงๆแล้วฉันชอบใบไม้ไทยนะคะ สวยมาก เป็นคลื่น ก้านก็ไม่เหมือนใคร แม้แต่ดอกไม้แห้งหรือกิ่งต้นปาล์มก็นำมาทำงานด้วยง่าย ฉันว่าดอกไม้ไทยตรงกับคอนเซ็ปต์งานของฉันนะ”

ปกติแล้วคุณไปซื้อดอกไม้ที่ไหนคะ?
“ปากคลองตลาด ทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่ จตุจักรทุกวันอังคารถึงวันพฤหัสบดีค่ะ แล้วก็มีที่ปทุมธานี บางทีก็นครปฐม บางที่ก็ไกลนะ แต่ฉันไม่เคยยอมแพ้ ถ้าฉันยังไม่ถูกใจ ฉันก็จะไปตามหามาจนได้ นอกจากนี้ก็มีวิรัตน์ฟาร์มใกล้ๆกับวังสวนจิตรลดา หรือบางทีฉันเห็นคนตัดต้นไม้ ฉันก็เก็บกลับบ้าน ดูเหมือนเป็นขยะนะ แต่จริงๆแล้วเอามาใช้ได้”

คุณรู้สึกอย่างไรเวลาคุณไปตลาดดอกไม้และทำงานกับดอกไม้?
“ก็รู้สึกดีนะคะ แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่ฉันไปด้วยความรู้สึกแบบนั้น บางครั้งฉันก็ไปตอนเศร้า หรือกำลังโกรธ เพราะฉันก็เป็นคนเหมือนกัน แต่วันไหนที่ไม่ได้มีงาน ฉันก็ไปอยู่ดี เพราะดอกไม้ให้พลังและให้คำตอบบางอย่างแก่ฉัน ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม ฉันว่าแต่ละคนก็คงมีอะไรแบบนี้แตกต่างกันไปนะ บางคนชอบเพลง บางคนชอบดูหนัง สำหรับฉันคือดอกไม้ค่ะ ถ้าวันไหนปวดหัวนะ ไปตลาดดอกไม้ แล้วจะหายเลย สิ่งสำคัญคือเราต้องพาตัวเราเองไปเจอธรรมชาติบ้าง”

ก่อนหน้านี้คุณพูดถึงภาพยนตร์เรื่อง Departures
“เป็นหนังเก่าแล้วล่ะ Departures เป็นเรื่องเกี่ยวกับพิธีศพของคนญี่ปุ่น ตอนที่ฉันได้ดูนั้น ฉันก็คิดว่าหนังเรื่องนี้บอกถึงความเป็นญี่ปุ่นได้ดีมาก คนมักจะคิดว่าเด็กๆ หรือวัยรุ่น (ความอ่อนเยาว์) นั้นสวยงาม สะอาด แต่พอเราแก่ตัวลง เราก็จะเร่ิมสกปรกและไม่สวยอีกต่อไป แต่หนังเรื่องนี้บอกว่าแม้จะตาย ก็ยังงดงามได้ ความตายนี่แหละคือความงาม ดังนั้น คอนเซ็ปต์ในการจัดดอกไม้ของฉันคือความงามแบบนี่ล่ะค่ะ ทำให้หลายๆอย่างที่ตายแล้วมีชีวิตอีกครั้ง อย่างเช่นบางทีฉันไปเจอกิ่งปาล์มที่ตายแล้ว ฉันก็เอามาทำความสะอาดแล้วนำมาใช้จัดดอกไม้ด้วย ”

แสดงว่าอิเคบานะไม่ใช่การจัดดอกไม้อย่างเดียว เป็นอะไรก็ได้ใช่ไหมคะ
“ใช่ค่ะ โลหะก็ได้ ฟางข้าวก็ได้ คอมพิวเตอร์หรือแผ่นซีดียังได้เลย เพราะมันคือศิลปะ อิเคบานะคือศิลปะที่สูงส่งที่สุด ไม่ใช่การจัดเพื่อประดับตกแต่ง ก็เลยเปิดกว้างค่ะ และเพราะแบบนี้ด้วยมั้งฉันเลยชอบอิเคบานะมาก”

สำหรับคนที่อยากเริ่มจัดดอกไม้ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
“แค่รู้ใจตัวเองค่ะ ถามตัวเองว่าคุณชอบดอกไม้มั้ย แค่นั้นเลย ดอกไม้จะสะท้อนความคิดคุณออกมาเสมอ บางครั้งฉันรู้เลยว่านักเรียนของฉันกำลังไม่สบายใจ ฉันกจะถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทะเลาะกับแฟนมารึเปล่า หรือถ้ามีความสุขก็ดูออกเลยเหมือนกัน บางคนถามฉันว่าฉันเป็นหมอดูเหรอ เพราะดูคนออกง่ายมาก ดอกไม้ไม่โกหกค่ะ”


“ถ้าพื้นฐานแน่น จะจัดแบบฟรีสไตล์ได้เลย ซึ่งฟรีสไตล์นี่ยากนะ เพราะเราต้องแม่นพื้นฐานมาแล้ว เราทำทุกอย่างไม่ได้ แต่ถ้าจัดแบบพื้นฐานได้ คุณก็จะไปต่อได้ สิ่งสำคัญคือต้องฝึกฝนเสมอ อาทิตย์ละครั้งก็ได้ค่ะ”

ปรัชญาในการทำงานของคุณคืออะไร
“มีคำๆหนึ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่ว่า ‘Ichi-go ichi-e’ แปลว่าเจอกันแค่ครั้งเดียว แต่ครั้งเดียวนั้นก็เป็นครั้งเดียวที่เกิดขึ้นเฉพาะขณะนั้น นี่คือคำขวัญประจำใจของฉันค่ะ ดอกไม้ที่ได้พบเจอกันแต่ละครั้งก็แตกต่างกันออกไป แต่ละช่วงเวลาที่เจอกันก็แตกต่าง บานแตกต่างกัน ต้องลองฟังเสียงของดอกไม้ดู ว่าต้องการอะไร ไม่ต้องสื่อสารนะ แค่รับฟังค่ะ”

ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อกับศิลปินได้ที่อีเมล naomi.daimaru@gmail.com

ภาพและวิดีโอ: พลากร รัชนิพนธ์
ขอขอบคุณสถานที่ถ่ายทำ: Panpuri Wellness

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore