fbpx

รู้หรือไม่? ต้นกำเนิดของหน้ากาก N95 มาจากโรคระบาดในจีน?

ย้อนรอยที่มาของหน้ากาก N95 อุปกรณ์ยังชีพของโลกในศตวรรษที่ 21

ทั้งฝุ่น ทั้งควัน ทั้งไวรัสโควิด-19… ไม่แปลกหรอกที่เวลาจะออกจากบ้านในทุกวันนี้ สิ่งแรกที่คุณจะหยิบจะกลายเป็นหน้ากากอนามัยสักชิ้น หรือถ้าจะให้ดีก็ต้องเป็นหน้ากาก N95 ที่หายากหาเย็นที่สุดในเวลานี้ ใครจะไปคิดว่าหน้ากากสีขาวที่ดูอึดอัดนี้จะกลายมาเป็นอุปกรณ์ยังชีพสำหรับมนุษย์ในยุคศตวรรษที่ 21 ได้ และกว่าจะมาถึงจุดนี้ หน้ากาก N95 ก็ต้องผ่านการเดินทางมานานนับศตวรรษ

จากผ้าสู่หน้ากาก
ถ้าลองย้อนกลับไปในอดีต ก่อนที่มนุษย์จะรู้สึกสิ่งที่เรียกว่าแบคทีเรียและไวรัส เป็นที่น่าสนใจว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณในการหาบางสิ่งมาปิดบังใบหน้าเวลามีภัยมาช้านานแล้ว โดยภาพวาดสมัยเรอแนสซองส์มีภาพของผู้คนที่ใช้ผ้าเช็ดหน้ามาอุดจมูกตัวเองเพื่อป้องกันโรค เนื่องจากคนในสมัยนั้นเชื่อว่าโรคระบาดต่างๆ นั้นเป็นพิษและแพร่กระจายอยู่ในอากาศ ในศตวรรษที่ 17-19 ในยุโรป ได้เกิดอาชีพที่เรียกว่า หมอโรคระบาด หรือ plague doctor ที่มักจะสวมโอเวอร์โค้ตตัวยาว หน้ากากคล้ายกับศีรษะนก (ดวงตาเป็นกระจก) ซึ่งภายในจะบรรจุเครื่องเทศและสมุนไพรต่างๆไว้เต็มไปหมดเพื่อปกป้องผู้สวมใส่จากอากาศที่เป็นพิษ โดยเครื่องแบบนี้ว่ากันว่าออกแบบโดย Charles de L’Orme หัวหน้าแพทย์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13

หมอโรคระบาด หรือ plague doctor
ในยุคศตวรรษที่ 17 กรุงโรม ประเทศอิตาลี (ภาพ: Wikipedia)

หน้ากากผ้าในยุคเริ่มต้น
สิ่งที่เรียกว่าหน้ากากอนามัย (surgical mask) เวอร์ชั่นแรกนั้นถูกคิดค้นโดยศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Paul Berger ในค.ศ. 1897 โดยเป็นการนำผ้าเช็ดหน้ามาพันรอบใบหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้ละอองจากการไอหรือจามของแพทย์นั้นไปตกอยู่บนแผลคนไข้ระหว่างผ่าตัด ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ในปัจจุบัน นิยามและรูปแบบการใช้หน้ากากอนามัยก็ยังไม่แตกต่างไปจากเดิม นั่นคือเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องไม่ให้ละอองหรือสิ่งปนเปื้อนจากผู้สวมใส่ออกมาด้านนอก โดยหน้ากากแบบนี้ออกแบบมาให้ใส่ได้หลวมๆ และอากาศหรืออานุภาคอื่นๆ ก็ยังไหลเข้ามาได้จากด้านข้าง

กำเนิดของหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง
ส่วนหน้ากากแบบกรองอากาศและฝุ่นละออง (respirator) นั้นว่ากันว่าเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1910 ในเขตแมนจูเรีย ประเทศจีน เมื่อครั้งมีโรคระบาดร้ายแรงที่มีอัตราการเสียชีวิต 100% และผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตหลังจากแสดงอาการแรกเพียง 1-2 วัน ในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่รัสเซียกับจีนกำลังแย่งชิงพื้นที่นี้ และเพื่อสร้างข้อได้เปรียบ จีนจึงได้เชิญหมอที่เก่งที่สุดในแผ่นดิน หมอคนนั้นมีนามว่า ดร. Lien-teh Wu เขาเกิดในปีนัง และไปเรียนต่อที่เคมบริดจ์ ซึ่งก็เป็นคุณหมอคนนี้นี่เองที่ได้ชันสูตรศพผู้ติดเชื้อแล้วฟันธงว่าโรคนี้เป็นโรคที่ไม่ได้แพร่ผ่านพาหะนำโรคอย่างที่เชื่อกัน แต่แพร่ทางอากาศ

ดร. Lien-teh Wu
ผู้ริเริ่มประดิษฐ์หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง (ภาพ: Wikipedia)

คุณหมอ Wu นำหน้ากากอนามัยที่เห็นหมอในโลกตะวันตกใช้มาดัดแปลงให้แน่นหนาขึ้นอีกขึ้น โดยทำจากผ้าก๊อซและคอตตอนที่ห่อหุ้มใบหน้าอย่างแน่นหนามิดชิด แถมยังใส่ผ้าเป็นฟิลเตอร์อีกหลายชั้นเพื่อกรองอากาศ เล่ากันว่าคุณหมอ Wu เคยเล่าทฤษฎีของเขาให้คุณหมอฝรั่งเศสในท้องถิ่นฟัง แต่กลับโดนปรามาสประมาณว่า “จะไปหวังอะไรกับหมอคนจีนได้?” หมอคนนั้นพยายามพิสูจน์ด้วยการไปรักษาคนไข้โดยไม่ใส่หน้ากากของคุณหมอ Wu และปรากฏว่าเขาก็ล้มป่วยและเสียชีวิตภายในสองวัน ส่วนคุณหมอคนอื่นๆ ก็เริ่มประดิษฐ์หน้ากากกรองอากาศขึ้นมาใช้กันบ้าง 

หน้ากากของคุณหมอ Wu ถือเป็นงานดีไซน์ที่ตอบโจทย์ (คุณหมอเป็นชาวจีนคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อให้ชิงรางวัลโนเบล) นอกจากจะกันเชื้อโรคได้แล้ว ยังทำจากวัสดุที่ราคาถูกและหาได้ง่ายในท้องถิ่น และหน้ากากของเขาก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการแพทย์ในยุคโมเดิร์นที่ทำให้มนุษย์กล้าเผชิญหน้ากับโรคระบาดแบบซึ่งหน้า และหน้ากาก N95 ก็คือหน้ากากที่พัฒนามาจากหน้ากากเวอร์ชั่นของคุณหมอ Wu นี่เอง โดยมีการใช้เทคโนโลยีปรับให้หายใจได้สะดวกขึ้น ระบายอากาศและความร้อนได้ดีขึ้น แต่ยังคงประสิทธิภาพในการกรองอากาศเหมือนเดิม โดยบริษัทแรกที่ผลิตหน้ากาก N95 แบบใช้แล้วทิ้งก็คือ 3M นั่นเอง ซึ่งแม้จะเป็นหน้ากากที่กรองอานุภาคส่วนใหญ่ (รวมถึงไวรัส) ได้ แต่ทาง 3M ก็เตือนว่าไม่ควรใส่หน้ากากแบบ N95 ติดต่อกันเกิน 8 ชั่วโมง ไม่ใช่เพราะมันจะหยุดกรอง แต่เพราะอานุภาคจะไปกระจุกตัวกันจนทำให้คุณหายใจไม่ออก นอกจากนี้ การใส่หน้ากาก N95 แบบหลวมๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรอีกด้วย

อ้างอิง:

https://www.fastcompany.com/90481370/why-havent-they-designed-reusable-n95-masks
https://www.silpa-mag.com/history/article_46363

 

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore