ด้วยพฤติกรรมการฟังเพลงที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับยุคสมัยนี้ มิวสิกสตรีมมิงได้เข้ามามีบทบาทต่อผู้บริโภคทั่วโลกขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการตอบโจทย์คนฟังเพลงจากการเสียเงินรายเดือนเพียงหลักร้อย แต่สามารถเข้าถึงผลงานเพลงได้อย่างครอบคลุม แทบทุกเพลง แทบทุกอัลบั้ม จึงไม่แปลกที่จะเห็นข่าวเกี่ยวกับ การเติบโตของมิวสิกสตรีมมิงอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ก็มีทฤษฎีที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า แม้ผู้บริโภคจะหันมาใช้มิวสิกสตรีมมิงฟังเพลงอย่างถูกกฎหมาย แล้วมิวสิกสตรีมมิงมีประโยชน์กับศิลปินมากน้อยเพียงใด ที่ผ่านมา มีศิลปินหลายรายแสดงจุดยืนต่อต้านมิวสิกสตรีมมิงอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น Taylor Swift หรือ Thom Yorke นักร้องนำ Radiohead ที่คิดว่า มิวสิกสตรีมมิงเอาเปรียบพวกเขามากเกินไป โดยแบ่งสัดส่วนกำไรที่ไม่เป็นธรรมต่อศิลปิน
วันนี้ทาง Kooper จึงได้นำมุมมองบุคคลทั้ง 5 ท่าน ที่มีความเกี่ยวข้องกับวงการเพลง มาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ประโยชน์ของมิวสิกสตรีมมิงต่อศิลปิน มาดูกันว่า มิวสิกสตรีมมิงนั้นตอบโจทย์สำหรับทุก ๆ ฝ่าย อย่างแท้จริงหรือไม่
ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี – Co-founder & Community Director “ฟังใจ”

“มิวสิกสตรีมมิง เกิดขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์ที่จะต่อกรกับการฟังเพลงฟรีผ่านวิธีที่ผิดลิขสิทธิ์ คือเป็นการพยายามหารายได้จากตลาดผู้ฟังเพลงที่ไม่ยอมจ่ายเงิน แต่มักถูกโจมตี เพียงเพราะว่ามันจ่ายค่าตอบแทนได้ต่ำกว่าระบบเก่า ซึ่งก็คือ CD, cassette tapeไม่ว่าจะเป็น มิวสิกสตรีมมิง หรือ music technology อื่นๆ พวกมันเป็นประโยชน์ต่อศิลปินและแฟนเพลงทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร”
“หากเป็นสมัย 20 ปีที่แล้วที่เป็นยุครุ่งเรืองของสิ่งบันทึกเสียง ศิลปินเล็กๆแทบไม่มีสิทธิ์ได้เกิดเลย เพราะว่าค่าทำเพลงก็แพง การจะ distribute CD ก็ยากและแพง แต่สมัยนี้ศิลปินสามารถทำเพลงในราคาที่ถูกลง กระจายขายเพลงผ่านอินเตอร์เน็ตไปได้ทั่วโลก”
“Music streaming สำหรับพวกค่ายใหญ่แล้ว จริงๆ แล้วมีประโยชน์ช่วยสร้างรายได้จาก back catalogue ที่ปรกติหาเงินไม่ได้แล้ว เพราะการซื้อขายมักเกิดในตลาดมือสอง ที่ค่ายเพลงไม่ได้ส่วนแบ่งอะไร หากศิลปินสามารถเรียนรู้วิธีใช้ music streaming ก็จะรู้ว่ามันคือ marketing channel ไม่ใช่ main revenue stream ที่จะช่วยทำให้แฟนเพลงได้รู้จักเพลง เข้าถึงตัวเพลง และอยากบริโภคผลงานของศิลปินด้วยวิธีการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตหรือการซื้อ merch ของพวกเขา”
สุวาทิน วัฒนวิทูกูร (บ๋อม) – มือกลอง SUPERSUB และ The 10th Saturday
“ในตอนเริ่มแรกดูเหมือน Streaming นี่จะได้รับกระแสต่อต้านรุนแรงจากศิลปินและธุรกิจเพลง แต่ถ้ามองกันจริง ๆ Streaming ด้วยตัวระบบมันค่อนข้างแฟร์นะสำหรับศิลปินและคนฟังนะ คือได้เงินทุกครั้งที่คนเปิดฟัง มันไม่ได้บังคับให้คุณควักตังค์ซื้อยกอัลบั้มแม้จะชอบแค่ 1-2 เพลงแบบสมัยก่อนยุคอินเตอร์เน็ต แต่มันก็ไม่ได้ให้คุณขโมยไปฟังฟรี ๆ โดยเจ้าของผลงานไม่ได้อะไร เหมือนที่เป็นปัญหาช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยตัวระบบมันค่อนข้าง “จริง” มาก คนจะมีโอกาสทดลองฟังเพลงของคุณ ถ้าเขาชอบเขาก็มาฟังซ้ำคุณก็มีรายได้มากขึ้น ถ้าเขาไม่ชอบเขาก็ไป”
“คือโดยระบบหน่ะมันยุติธรรม เพียงแต่ว่าตอนนี้มันมีคำถามว่าสัดส่วนค่าตอบแทนมันยุติธรรมกับศิลปินหรือยัง แต่ผมว่าตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังปรับตัวกัน มันคงเข้าจุดสมดุลเร็ว ๆ นี้แหล่ะ (ถ้าไม่มีพวกนายทุนใหญ่คิดโมเดลอะไรมาเอาเปรียบทุกฝ่ายขึ้นมาได้ซะก่อน)”
“ผมพยายามมองในแง่ดีวันนี้ว่า ศิลปินอาจไม่ได้เงินก้อนเป็นกอบเป็นกำจากการขาย เทป/ซีดี เหมือนเมื่อก่อน แต่คุณลองคิดดูว่าถ้าเพลงคุณดีจริงในวันนี้ และมันถูกเปิดฟังผ่าน Streaming ไปตลอดอีก 10 ปี วันนั้นคุณอาจจะได้เงินมากกว่า และภูมิใจในผลงานตัวเองมากกว่าด้วยครับ”
ปิโยรส หลักคำ – Former Content Editor Deezer / KKBOX Thailand

“มิวสิกสตรีมมิ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการฟังเพลงในยุคนี้ แต่เป็นเหมือนสื่อการเผยแพร่ผลงานมากกว่าจะเป็นรายได้ชดเชยยอดขายเทปหรือซีดี เนื่องจากสตรีมมิ่งเป็นการเช่าฟังเพลงรายเดือนไม่ได้เป็นการซื้อขาด คงต้องยอมรับว่าตอนนี้หมดยุคเฟื่องฟูของการขายผลงานเพลงแล้ว สตรีมมิ่งคือการมาเติมเต็มช่องว่างของการฟังเพลงฟรีแบบละเมิดลิขสิทธิ์ก่อนหน้านี้ เมื่อมีคนจัดทำระบบในการฟังเพลงผ่านแอพ แนะนำเพลงใหม่ ทำเพลย์ลิสต์ให้ฟังตามอารมณ์หรือแนวเพลง โดยที่เราจ่ายรายเดือนในราคาต่อเดือนที่ไม่แพง นั่นคือรูปแบบการให้บริการของมิวสิกสตรีมมิ่งที่สะดวกกว่าการต้องไปหาเพลงมาฟังมาโหลดเอง ต้องยอมรับว่าวงการเพลงมันเปลี่ยนไปแล้ว ศิลปินและค่ายเพลงก็เริ่มปรับตัวและมองถึงการใช้สื่อยุคใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะออนไลน์และสตรีมมิ่งเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่รายได้จากช่องทางอื่นๆ ต่อไปครับ”
ชาลี สุขเจริญ – บรรณาธิการเว็บไซต์ HEADBANGKOK

“ในฐานะที่ไม่ใช่ศิลปินก็ตอบยากเหมือนกันครับว่าจะช่วยศิลปินได้มากแค่ไหน เพราะเท่าที่ทราบข้อมูลมาในตลาดสตรีมมิ่งเองก็ให้ค่าตอบแทนที่ค่อนข้างน้อยเหมือนกัน แต่ก็เป็นอีกช่องทางที่ขาดไม่ได้ในยุคนี้แล้วเพราะต้นทุนในการนำเพลงไปใส่ระบบนี้มันน้อยกว่าการผลิตแผ่นออกมาหลายเท่า แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่ายิ่งมีช่องทางกระจายผลงานมากเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้นครับ ส่วนเรื่องผลกระทบก็เห็นกันชัด ๆ ว่ายอดซีดีตก แต่กลายเป็นว่านอกจากสตรีมมิ่งมันโตแล้ว แผ่นเสียงมันก็กลับมาบูมด้วยเหมือนกันนะครับ เงินในวงการเพลงมันก็ยังคงวนเวียนอยู่ แค่ฟอร์แมตเปลี่ยนไป ใครปรับตัวกับเทคโนโลยีได้ก่อนก็รอดก่อนครับ”
ผู้ก่อตั้ง เสพย์สากล แฟนเพจดนตรีสากล

“ผมว่าสตรีมมิงก็เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน ในฐานะมุมมองของคนฟังเพลง มิวสิกสตรีมมิงเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงเพลงแทบทุกเพลงที่คุณต้องการฟัง มันเป็นยุคที่การเข้าถึงผลงานแบบถูกลิขสิทธิ์นั้นง่ายกว่าการดาวน์โหลดแบบผิดกฏหมาย การโหลดเพลงแบบถูกกฎหมายอาจไม่ต้องเสียเงินสักบาท แต่มันก็มีความไม่สะดวกเช่นกัน บางอัลบั้มก็เริ่มหาโหลดยาก บางเพลงคุณภาพก็ไม่ดีเหมือนต้นฉบับ มันจึงคุ้มกว่าที่เราเสียเงินไม่กี่บาท แต่ได้ฟังเพลงทุกเพลงโดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ อย่างไรก็ตามถ้ามองว่าศิลปินได้ประโยชน์จากมันมากน้อยเพียงใด ผมคิดว่าสตรีมมิงเอื้อประโยชน์กับผู้ฟังมากกว่าศิลปิน สัดส่วนเงินไม่แฟร์กับศิลปิน ดังนั้นพวกเขาต้องหารายได้จึงหลักจากการทัวร์คอนเสิร์ต หรือการขาย merchandise (เสื้อวง, ของที่ระลึก) ดังนั้นผมจึงมองว่า สตรีมมิงเป็นเพียงแค่กลไกที่ทำให้เราเข้าถึงผลงานศิลปิน และมันก็อาจช่วยต่อยอดให้ผู้บริโภคไปถึงการตัดสินใจซื้อซีดี หรือดิจิทัลมิวสิก ในภายหลังมากกว่าครับ”