ATT19 คือพื้นที่สร้างสรรค์ในย่านเจริญกรุงที่ออกแบบการใช้งานไว้หลากหลาย บางคนอาจคุ้นเคยในฐานะพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะที่มีนิทรรศการหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ของศิลปินรุ่นใหญ่ไปจนถึงนักเรียนศิลปะรุ่นใหม่ไฟแรง บางคนอาจจดจำได้ในฐานะพื้นที่ร้านอาหารและบาร์ที่ทั้งรสชาติอร่อยและบรรยากาศดี หรือบางคนก็ทันตั้งแต่สมัยเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนที่ถูกส่งไม้ต่อให้กับผู้ที่รู้คุณค่าในการปรับปรุงพื้นที่โดยรักษาจิตวิญญาณเดิมเอาไว้อย่างมั่นคง
การเปิดตัว ATT19 ครั้งแรกเมื่อต้นปีพ.ศ. 2562 เป็นวิสัยทัศน์ของ มุก – พรทิพย์ อรรถการวงศ์ เจเนอเรชั่นที่สองของครอบครัวอรรถการวงศ์ที่เราสัมผัสได้ว่าเป็นหญิงสาวพลังล้นเหลือ และมีความมุ่งมั่นอยากให้วัฒนธรรมการดูงานศิลปะเป็นค่านิยมพื้นฐานในบ้านเมืองเรา แต่ด้วยความที่เธอร่ำเรียนมาในสายแฟชั่น เมื่อถึงวันต้องผันตัวมาดูแลมัลติสเปซที่เป็นทั้งแกลเลอรี่ รีเทล คาเฟ่ ฯลฯ เธอจึงต้องทุ่มเททุกทักษะเพื่อพิสูจน์ความสามารถและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเอง ที่สำคัญยังจะต้องบาลานซ์ความหลงใหลที่ว่านี้ให้สอดคล้องกับตัวเลขเชิงธุรกิจด้วย
มุกเปิดประตูบ้าน ATT19 ต้อนรับทีม Kooper ในเช้าวันหนึ่ง เราฟังเธอสาธยายถึงสารพัดเรื่องราวประวัติศาสตร์ ความคิดอ่าน ความตั้งใจ และความในใจของคนมีความฝันในเจอเนอเรชั่นเธอ

คืนถิ่นเจริญกรุง
“จากประสบการณ์ของมุกที่ใช้ชีวิตอยู่นิวยอร์กกับออสเตรเลียมานานนะคะ ทั้งสองเมืองเป็นที่ที่เราอาศัยการเดินเยอะมาก มันทำให้เราเห็นว่าแต่ละย่านในเมืองเขามีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองดี เช่น มีย่านเสื้อผ้าที่เราสามารถเข้าไปซื้อผ้ามาทำชุดเองได้ หรือนิวยอร์กก็มีเชลซีที่เป็นย่านศิลปะ มีแกลเลอรี่เป็นหย่อมๆ สลับกับร้านอาหาร สลับกับร้านแฟชั่น มุกรู้สึกว่าพื้นที่แบบนี้แหละที่เราเรียกว่าย่านสร้างสรรค์ เพราะมันเป็นปลายทางที่เราสามารถไปและรู้ว่าเราจะได้อะไรหลายอย่างจากการเข้าไปในพื้นที่นั้น”

“ทุกวันนี้ที่พวกเราเรียกเจริญกรุงว่าย่านสร้างสรรค์ ไม่เรียกว่าย่านศิลปะ ก็น่าจะด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เพราะว่าเจริญกรุงเราเป็นส่วนผสมของร้านอาหาร แกลเลอรี่ ร้านจิเวลรี่ ร้านตัดเสื้อผ้า ฯลฯ ครอบครัวมุกเองอยู่ที่นี่มาตลอด 40 ปี ร้านแรกของเรา (Lek Gallery) อยู่แถวประตูอัสสัมชัญบางรัก เราขายของแอนทีคกันมาหลายสิบปีแล้ว ก่อนจะย้ายร้านใหม่มาอยู่ในซอยกัปตันบุช” มุกย้อนเล่าถึงภาพจำของย่านเจริญกรุงที่เธอเติบโตขึ้นมาในวัยเยาว์
“ย่านเจริญกรุงร่ำรวยมากในยุค 90s ในสายตาคนต่างชาติเราคือปลายทางของการซื้อหางานศิลปะ ของแอนทีค ตัดสูท ตัดชุดผ้าไหม ซื้อเครื่องประดับ”
“จนต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ความโมเดิร์นขยายตัวเข้ามา ตึกเก่าแถวนี้เริ่มถูกทำลายลง ความรู้สึกของพื้นที่ก็เริ่มเปลี่ยนไปค่ะ หลายบ้านก็ขยับขยายย้ายไป แต่บ้านมุกไม่เคยหนีไปไหนนะ เราอยู่ยาวมาถึงวันนี้ ในวันที่มุุกเริ่มดีใจว่ามีคนเจเนอเรชั่นที่สองที่สามของครอบครัวดั้งเดิม ที่เริ่มกลับมาทำอะไรใหม่ๆ เช่นเปิดร้านใหม่ เป็นคาเฟ่บ้าง ร้านอาหารบ้าง การใช้พื้นที่เริ่มเปลี่ยนไปอีกครั้ง”
ในฐานะตัวแทนของคนเจเนอเรชั่นสอง เราพยายามทำย่านนี้ให้น่าสนใจขึ้น แต่เราไม่ได้อยากให้มันเป็นย่านฮิปๆ ที่ไม่สนใจคนเก่าแก่ในพื้นที่เลย
“มุกว่าเราต้องให้ความเคารพต่อประวัติศาสตร์ ต่อสิ่งที่คนในพื้นที่รัก ซึ่งอันนี้หมายถึงคนทุกคนที่อยู่ในพื้นที่นี้นะ คำว่าย่านสร้างสรรค์หรือย่านศิลปะมันมักจะทำให้มีสิ่งฮิปเกิดขึ้น แต่ความที่คนไทยจำนวนหนึ่งไม่คุ้นชินกับการเดิน หรือยังไม่คุ้นกับวัฒนธรรมการดูแกลเลอรี่อย่างเป็นกิจจะ มันทำให้บางคนคิดว่าสถานที่แบบนี้มีไว้เพื่อถ่ายรูปลงอินสตาแกรม ถ่ายรูปแล้วเป็นอันเสร็จ แต่ในเมืองนอก ต่อให้คุณไม่ได้เรียนศิลปะแล้วคุณเดินเข้าแกลเลอรีก็ไม่ใช่เรื่องประหลาด ที่เมืองไทยเด็กยังกล้าๆ กลัวๆ นี่เดินเข้าได้ไหมคะ? ต้องนัดล่วงหน้าไหมคะ? เพราะว่าวัฒนธรรมบ้านเราเป็นแบบนี้ มันเลยมีปัญหากับนิยามคำว่าย่านสร้างสรรค์”


มุกพูดแบบนี้ก็ผิด แต่ไม่พูดแบบนี้ก็ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นคนจะไม่มาและไม่เห็นในสิ่งที่เขาควรจะเห็น มันเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องช่วยกันสร้างค่านิยมใหม่ อะไรคือสิ่งที่คนไทยควรได้จากย่านสร้างสรรค์บ้าง
สปิริตเดิม / สายตาใหม่
“เราเข้ามาพัฒนาพื้นที่โรงเรียนอาทรศึกษา (โรงเรียนสอนภาษาจีนบนถนนเจริญกรุง ตึกเก่าที่มีอายุถึง 120 ปี) เราได้รับโอกาสให้ซื้อที่ตรงนี้จากเหล่าซือเพื่อนบ้านที่เขาอยากรีไทร์ และอยากให้ครอบครัวเราได้ที่ตรงนี้ไว้ เขาไม่อยากขายให้นายทุนไปทำคอนโดอะไรแบบนั้น ซึ่งคุณพ่อมุกเป็นคนบอกเองให้ลูกๆ เปลี่ยนวิธีคิดการทำธุรกิจดูใหม่ เนื่องจากผู้คนวันนี้เขามีแนวคิดการให้คุณค่าที่เปลี่ยนไปแล้ว”
“พื้นที่ชั้นล่างที่เราขายของได้ ทำให้เรามีพื้นที่ส่วนอื่นไว้ทำงานนิทรรศการ ที่มุกรู้เลยว่าไม่มีทางทำเงิน แต่มันมีความน่าสนใจมาก คุณพ่อของมุกเป็นคนอยากทำมัลติสเปซแบบนี้ด้วย เพราะเขาเป็นคนเดินทางบ่อย เขาเห็นการใช้พื้นที่สร้างสรรค์มามาก เริ่มเห็นเทรนด์ว่าพื้นที่สมัยใหม่ต้องมีความผสมผสาน มีแฟชั่น มีของแต่งบ้าน มีไลฟ์สไตล์ หรือบางคนอาจจะชอบกินอาหารเมนูแปลกใหม่ ฯลฯ พอคุณพ่อกับคุณแม่สนับสนุนเราตรงนี้ เราก็กล้าเลือกงานมาแสดงมากขึ้น พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ ATT19 อยากเป็นมากกว่า just another gallery ค่ะ”


“ครอบครัวเราอยากสร้างพื้นที่นี้ให้สวยงาม และเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน มีทั้งแง่มุมประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์ แฟชั่น ศิลปะ อาหาร ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่นการใช้วัสดุที่เราไม่ทิ้งอะไรเลย เราทำงานกับโครงสร้างเก่า ใช้เวลาในการฟื้นฟูอาคารอยู่ปีครึ่ง”
ครั้งแรกที่เราเปิดคือช่วง Bangkok Design Week 2019 วันนั้นเป็นวันที่พ่อเข้าใจว่าเราพยายามทำอะไรอยู่บ้าง ศิษย์เก่าของโรงเรียนก็แวะมากัน เขาดีใจกันใหญ่ที่เรายังเก็บรักษาตัวอาคารไว้
ชอบไม่ชอบไม่เป็นไร ขอแค่เด็กไทย ‘ไม่กลัวศิลปะ’
“มุกรู้สึกว่าเยาวชนในประเทศอื่น ต่อให้เขาไม่เข้าใจศิลปะเขาก็ไปยืนดูงานกันได้ ขอแค่คุณมาดูมาเห็นอะไรใหม่ๆ บ้าง คุณอาจจะได้รับแรงบันดาลใจ ชอบหรือไม่ชอบก็โอเคทั้งนั้น เราควรเดินออกมาจากห้างสรรพสินค้าบ้าง ออกมาดูว่าคนในพื้นที่อื่นๆ เขาใช้ชีวิตกันแบบไหน”

การที่เด็กรู้สึกกลัวอะไรก็ตามมันไม่ได้พัฒนาประเทศเราเลย กลายเป็นว่าเรากำลังสร้างสังคมที่ด้อยกว่าประเทศอื่น
“ในความคิดมุก ถ้าเรามีความสามารถในการช่วยผลักดันสังคม หรือส่งเสริมวัฒนธรรมบางอย่างในประเทศให้ก้าวหน้าขึ้น เราต้องทำ เราจะไม่พูดว่าเธอไปเรียนต่อต่างประเทศสิ ชีวิตเธอจะดีกว่านี้ มันไม่ใช่เลยนะ แต่สังคมไทยเราอาจจะมีระบบหรือโครงสร้างความคิดบางอย่างที่มันแบ่งแยกกันมากไป จริงๆ ประเทศเราน่ะมีชื่อเสียงมากเรื่องงานฝีมือและเรื่องวัฒนธรรม ฉะนั้นมุกไม่อยากให้เด็กๆ มองว่าการเรียนเมืองไทยมันจำกัดเรา ที่จริงคือไม่มีที่ไหนดีกว่าที่ไหน มันเป็นเรื่องของการลงมือทำ”

เป้าหมายขั้นแรกคือแค่อยากให้เด็กๆ รู้วิธีปฏิบัติตัวเมื่อมาดูงานศิลปะ ว่าเขาไม่ต้องกลัวไม่ต้องเกร็ง แม้ว่าจะไม่ได้เรียนศิลปะมาคุณก็เข้าถึงสเปซแบบนี้ได้ แค่คุณอยากเห็นโลกรอบตัวมากขึ้นก็เพียงพอแล้ว และการที่เด็กรุ่นใหม่ได้เปิดหูเปิดตา ได้ก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซน สุดท้ายเราจะได้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นในประเทศ
“ทุกวันนี้เด็กไทยไม่ค่อยรู้ถึงศักยภาพที่ประเทศมีอยู่ เราเชื่อว่าถ้าเขาได้เห็นวิถีของสิ่งต่างๆ มากขึ้น เขาจะเข้าใจมากขึ้นว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร ซึ่งถ้าทำได้ เราจะช่วยคนท้องถิ่นได้อีกมาก”
เมื่อเห็นหนึ่ง จึงเห็นทั้งหมด
“อีกเรื่องที่มุกอยากพูดคือความเป็นผู้หญิงในวงการศิลปะมันท้าทายกว่าที่คิด มุกเองเจอมากับตัวเหมือนกัน แต่บอกเลยว่าเราไม่ได้ทำสิ่งนี้ขึ้นได้เพราะที่บ้านเราเป็นอย่างนี้ เราทำได้เพราะเราทำงานหนัก บางคนบอกว่ามุกไม่ได้เรียน art curation มาซะหน่อย ก็แล้วไงล่ะ? ที่ผ่านๆ มามุกออกตามหาศิลปินเอง คุมทุกสิ่งที่จัดแสดงเอง อยากให้คนเห็นอะไรในนิทรรศการ ก็ต้องทำให้มันเกิดขึ้นสิ ยกกระเบื้องเองก็ทำมาแล้ว มุกเกิดมาแบบนี้ เพื่อทำสิ่งนี้ มันคือการดิ้นรนในทุกเรื่อง ทั้งทางธุรกิจ ทั้งการต่อยอดช่วยครอบครัว ทั้งความหลงใหลของเรา ทั้งแรงกายแรงใจที่เราต้องรู้ว่าเราลงไปเพื่อทำอะไร และเรามีหน้าที่บทบาทแบบไหนบ้าง”
สิ่งที่พ่อกับแม่สอนมาตลอดคือถูกต้อง เราต้องทำให้พื้นที่นี้เป็นปัจจุบัน มุกเองกลับมาในเวลาที่เหมาะสม สังคมเริ่มเปิดใจให้สิ่งใหม่พอดี
“ล่าสุดนิทรรศการ A Room Full Of Women ที่มุกเป็นภัณฑารักษ์เอง มุกติดต่อนักสร้างสรรค์หลายสาขามานำเสนองานศิลปะแบบกลุ่ม เราอยากให้พื้นที่นี้ได้เปิดบทสนทนาใหม่ๆ กับผู้ชม ว่าด้วยเรื่องความเป็นผู้หญิง และที่ทางของผู้หญิงในสังคมปัจจุบันค่ะ”
‘พระ·พุทธะ·เจ้าค่ะ’
โดย เอด้า – พันเลิศ ศรีพรหม ศิลปินหญิงข้ามเพศผลงานโดย พรรณระพี พุกกะเจียม ผลงานโดย พรรณระพี พุกกะเจียม
ผลงานโดย ส้ม นุรารักษ์ ผลงานโดย ส้ม นุรารักษ์

นิทรรศการ A Room Full Of Women จัดแสดงที่ ATT 19 ซอบกัปตันบุช แขวงบางรัก ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ facebook.com/ATT19.BKK
และชวนอ่านบทสัมภาษณ์ พรรณระพี พุกกะเจียม หนึ่งในศิลปินที่ร่วมจัดแสดงผลงานในนิทรรศการนี้ได้ที่บทความ “หยิบขยะในโรงงานมาพิมพ์ลงผ้า งานทดลองครั้งที่ 1 ของทำ-มา-หา-กิน ใน A Room Full of Women”
เครดิตภาพ: พลากร รัชนิพนธ์ และ เพจ ทำ-มา-หา-กิน