fbpx

รวมตึกโมเดิร์นนิสต์จากยุค’60s ในมหาลัยทั่วประเทศ โดย วีระพล สิงห์น้อย ช่างภาพมือทองแห่งวงการสถาปัตย์

ติดตาม 'beersingnoi' หรือ วีระพล สิงห์น้อย ช่างภาพสถาปัตยกรรมมือทองเจ้าของเพจ Foto_momo ไปเก็บภาพอาคารเก่าจากยุคโมเดิร์นที่ซ่อนตัวอยู่ในรั้วสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

ยุคปี 1960s เป็นช่วงเวลาที่กระแสงานออกแบบและวัฒนธรรมแบบ ‘โมเดิร์นนิสต์’ กำลังร้อนแรงทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในหน้าตาของความโมเดิร์นยุคนั้นก็ปรากฏผ่านงาน ‘สถาปัตยกรรม’ ที่ก่อสร้างขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย สำหรับในประเทศไทยสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นถูกนำมาใช้ในการออกแบบอาคารต่างๆ ไม่น้อย โดยเฉพาะในขอบรั้วของสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยที่ต้องการสื่อแนวคิดความเปิดกว้างขององค์ความรู้สู่มวลชน น้บเป็นช่วงเวลาแห่งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ผู้คนให้ความสนใจกับการศึกษา เหตุผล ศิลปะ และความเป็นสากล อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

การได้ออกแบบอาคารใหม่ๆ ที่มีฟังก์ชั่นไม่ซ้ำเดิม นัยหนึ่งก็เปรียบเสมือนพื้นที่ปล่อยของของเหล่าสถาปนิกในยุคนั้น ต่างคนต่างมีโอกาสจะอวดฝีไม้ลายมือกันได้เต็มที่

ยุคทองของสถาปัตยกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังมหาสงครามเอเชียบูรพาสงบลง รัฐบาลไทยได้หันมาพัฒนาการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาอย่างจริงจังอีกครั้ง คำว่า ‘มหาวิทยาลัย’ เริ่มขยายวงกว้างออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ (ตามนโยบายพัฒนาการศึกษาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2501) มีการสถาปนามหาวิทยาลัยใหม่ๆ ในหลายจังหวัดเช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปี พ.ศ. 2507) มหาวิทยาลัขอนแก่น (ปี พ.ศ. 2509) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ปี พ.ศ. 2511) รวมถึงตลาดวิชาการศึกษาเปิดอย่างมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ปี พ.ศ. 2514) ด้วย

การก่อตั้งมหาวิทยาลัยนี้นอกจากจะมีฝ่ายวิชาการและฝ่ายบริหารที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการเรียนการสอนแล้ว ยังมีบุคลากรอีกฝ่ายหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือสถาปนิกและนักออกแบบที่ต้องรับหน้าที่สร้างมหาวิทยาลัยขึ้นให้เป็นรูปเป็นร่าง รวมถึงสื่อภาพลักษณ์ความยิ่งใหญ่ ทรงเกียรติ ทรงคุณค่า ตามวัตถุประสงค์และค่านิยมของสังคมไทยในสมัยนั้น

สถาปนิกมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบตึกอาคารต่างๆ ให้มีความบริบูรณ์ นั่นคือมีประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน มีความสวยงามตามหลักสากล และที่สำคัญคือสร้างภาพลักษณ์ให้มหาวิทยาลัยเป็นที่จดจำและยกย่องของสาธารณะชนในวงกว้างด้วย

ใน photo essay ฉบับนี้ของ เบียร์ – วีระพล สิงห์น้อย เรารวบรวมภาพอาคารยจากยุคโมเดิร์นนิสต์ที่ยังคงมีชีวิตและเรื่องราวเล่าขานในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ มาให้รับชม ไปดูกันดีกว่าว่ามีอาคารไหนที่สวยงามสะดุดตาและยังยิ่งใหญ่ประทับใจคุณๆ บ้าง

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาค ที่นี่มีตึกยุคโมเดิร์นสวยๆ ปรากฏอยู่หลายแห่ง เช่นที่ตึกชีววิทยา และตึกฟิสิกส์ ของคณะวิทยาศาสตร์ ห้องสมุดของคณะวิศวะ คณะสังคมศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นผลงานออกแบบของสถาปนิก อมร ศรีวงศ์ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังมีหอพักชายอีกอาคารที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นผลงานออกแบบของสถาปนิก เลี่ยม ธีรัทธานนท์ รวมไปถึง ‘โดมเต่า’ หรือห้องบรรยายของคณะแพทยศาสตร์ในฝั่งโรงพยาบาลมหาราชอีกด้วย

ภาพด้านนอกของอาคารภาควิชาชีววิทยา
ฟาสาดรูปทรงโค้งเว้าที่ตึกชีวะนี้แสดงอัตลักษณ์ของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นอย่างชัดเจน
พื้นที่ว่างรูปไข่ตรงกลางของอาคารภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชุดบันไดภายในอาคารของภาควิชาฟิสิกส์
อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มองปราดเดียวก็สัมผัสได้ถึงความแข็งแกร่งดุดันแบบยุคโมเดิร์น
บริเวณห้องสมุดของคณะวิศวะ
อาคารคณะสังคมศาสตร์ก็มีโครงสร้างและการตกแต่งที่สะท้อนความโมเดิร์นนิสต์ชัดเจน
(ซ้าย) หอพักชาย ออกแบบโดย เลี่ยม ธีรัทธานนท์, (ขวา) โดมเต่า ของคณะแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหิดล

‘ตึกกลม’ หรือ ‘ตึกจานบิน’ คือชื่อเล่นของอาคารเรียนรวมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผลงานออกแบบของสถาปนิก อมร ศรีวงศ์ เจ้าเก่าอีกเช่นกัน เรื่องราวที่น่าภูมิใจคืออาคารหลังนี้ได้รับรางวัลการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในปี พ.ศ. 2553

‘ตึกกลม’ หรือ ‘ตึกจานบิน’ แห่งคณะวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อาคารคอนกรีตเปลือยของตึกฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังนี้เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกดัง องอาจ สาตรพันธุ์ ในปี พ.ศ. 2512 นับเป็นสถาปัตยกรรมในซีกโลกตะวันออกที่มีกลิ่นอายความโมเดิร์นในแบบ Le Corbusier อย่างชัดเจน

Le Corbusier-inspired ณ ตึกฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

อาคารเล็กๆ กลางสนามหญ้าด้านหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานแห่งนี้ เดิมสร้างไว้เป็นตึกประชุมของเหล่าคณาจารย์ จึงมีชื่อเรียกตรงตัวว่า ‘คุรุสัมมนาคาร’ (คุรุ+สัมมนา+อาคาร) ความโดดเด่นสะดุดตาอยู่ที่รูปทรงหลังคาแบบ hyperbolic paraboloid ที่สถาปนิก ดร.วทัญญู ณ ถลาง และ นคร ศรีวิจารณ์ สร้างสรรค์ขึ้นร่วมกับนักศึกษา อาคารนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในปี พ.ศ. 2558

‘คุรุสัมมนาคาร’ ที่โดดเด่นสะดุดตาท่ามกลางสนามหญ้ากว้าง

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ด้วยรูปลักษณ์ที่แปลกตา ทำให้อาคารหลังนี้ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีชื่อเล่นตลกๆ ว่า ‘ตึกฟักทอง’ ส่วนชื่อจริงนั้นคือ ‘อาคารปาฐกถา ประดิษฐ เชยจิตร’ เป็นห้องบรรยายรวมขนาดใหญ่ของคณะวิทยาศาตร์ที่ภายในแบ่งย่อยเป็น 5 ห้อง และถัดไปด้านหลังอีกหน่อยก็มี ‘ตึกสตางค์’ ของคณะวิศวะที่สวยงามไม่แพ้กัน ทั้งสองอาคารได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในปี พ.ศ. 2559 นอกจากนี้หากผู้อ่านท่านใดมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนอ่างเก็บน้ำศรีตรัง ก็จะได้เห็นภาพหอพักของเหล่าคณาอาจารย์ที่นี่ ซึ่งดูสวยงามย้อนยุค อาคารทั้งหมดที่กล่าวถึงนี้ออกแบบโดย อมร ศรีวงศ์ สถาปนิกคู่ใจของ ศ.ดร. สตางค์ มงคลสุข คณบดีคนแรกของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั่นเอง

ไม่ต้องอธิบายคุณก็คงเดาได้ว่านี่คือ ‘ตึกฟักทอง’ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ภาพมุมเงยจากพื้นที่ด้านในของตึกฟักทอง
ตึกสตางค์ ของคณะวิศวะ ที่สวยงามไม่แพ้กัน
หอพักอาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังคงความบึกบึนภายใต้ร่มไม้ใหญ่

เรื่องและภาพ: วีระพล สิงห์น้อย ( beersingnoi.com )

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore

แผลเก่า:Old Wound แผลเดิมในเรื่องเล่า ที่ยังเป็นแผลสดของพล็อตสังคมไทย

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound นิทรรศการเดี่ยวโดย ประทีป สุธาทองไทย ศิลปินนักตั้งคำถาม ผู้ซ่อนบทสนทนาทางสังคมไว้ในงานเสมอ

“Yesterday I Was, Tomorrow I Will Be” นิทรรศการแห่งความฝันและความสำเร็จของ “Pomme Chan”

ก้าวสู่โลกที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น ผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่ชิ้นแรกที่น้อยคนจะได้เห็น สู่วันที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพร่วมระยะเวลา 20 ปี