หากพูดถึงคำว่า ‘มิตร หรือ เพื่อน’ เราคงมีคำจำกัดความที่ไม่แตกต่างกันมาก สำหรับคำว่าเพื่อน ตามความหมายแปลได้ว่า ผู้ที่รักใครชอบพอกัน แล้วกระทำความดีต่อกัน เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ โดยไม่จำกัดเพศวัยต่างๆ ส่วนคำว่ามิตร แปลได้ว่า เพื่อนผู้รักใคร่คุ้นเคยกัน ผู้มีไมตรีเยื่อใยต่อกัน
ย้อนกลับไปสมัยเรียน หลายคนก็คงได้ทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมีสาระ หรือไร้สาระ แค่รู้ว่าจะได้ทำกับแก็งเพื่อนที่เรารักก็รู้ได้เลยว่าต้องสนุกแน่นอน พอเติบโตขึ้น แยกย้ายกันไปต่างคนต่างทำงาน น้อยครั้งที่เราจะได้มาพบปะ หรือทำอะไรสนุกๆ ร่วมกันอีก แต่ถ้าคิดจะทำ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปนัก

ความเป็นมาของ Mitr.
Mitr. ก็เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนๆ ย่อมาจาก คำว่า “Make It Rawr” ตอนเราคิดชื่อกลุ่มเราก็พยายามให้มันสะท้อนถึงความคิดเรา พยายามที่จะนำเสนอความสด และความดิบ คือตัวพวกเราเองอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์อะไรมากนัก แต่เราอยากให้มันสดเข้าไว้ ทำให้น่าสนใจ ให้มันต่อยอดเพื่อการเติบโตได้อีก และในขณะเดียวกัน Mitr. (มิตร) มันก็แปลว่าเพื่อนด้วย
กลุ่ม Mitr เรามีกันทั้งหมด 6 คน ต่างคนก็มีสไตล์การทำงานคนละแบบ เราเหมือนสี่แยกไฟแดงที่ทุกคนจะมาเจอกันในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วมาทำอะไรร่วมกัน โดยงานออกแบบของเรานั้นไม่ได้เน้นว่ามันจะต้องเป็นโปรดักส์ เป็นเฟอร์นิเจอร์ หรืออินทีเรียอะไรก็แล้วแต่เราอยากนำเสนอสิ่งเราเห็นว่าน่าสนใจในปัจจุบัน หลักๆ คือการทำพื้นที่ชั่วคราวเพื่อนำเสนองานออกแบบที่ร่วมสมัย ตัวงานออกแบบของเราก็จะไม่ได้ฟิกซ์ว่าอยากให้มันเป็นอะไร เพราะเราแต่ละคนก็ไม่ใช่โปรดักต์ดีไซเนอร์ทั้งหมด
จุดเริ่มต้นในการรวมตัวกัน
แต่ละคนก็จะอายุไล่เลี่ยกัน เหมือนคนนั้นรู้จักกัน คนนี้รู้จักกัน เราก็แนะนำกันและกัน เนื่องจากเราสนใจอะไรที่ใกล้กัน เป็นเพื่อนของเพื่อนอีกทีก็ทำให้เราคุยกันง่าย เราเริ่มรวมตัวกันก่อนแล้วค่อยมาคิดว่าเราจะทำอะไรกันดี
สมาชิกในกลุ่ม Mitr. แต่ละคนทำอะไรกันอยู่บ้าง
คลีน : ชื่อคลีนครับ จบ Industial Design จากลาดกระบัง (KMITL) ผมก็ทำเฟอร์นิเจอร์เป็นหลัก ทำให้สองสามแบรนด์ในเมืองไทย (Mobella, Kunakij) ส่วนตัวก็มีส่งงานเข้าประกวดบ้างครับ ล่าสุดรางวัลที่ 2 ของสิงคโปร์ FTA มา ก็ได้พื้นที่ให้กลุ่ม Mitr ไปโชว์ด้วยครับ
เคน : ชื่อเคนครับ จบสถาปัตยกรรมภายใน จากบางมด (KMUTT) ตอนนี้ทำงานกับที่บ้าน เป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง คุมไซต์งานอะไรแบบนี้ครับ
ตาล : ตาลค่ะ จบออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันทำงานที่ Thinkk studio เป็นโปรดักส์ดีไซเนอร์ค่ะ ถ้าเป็นงานส่วนตัวก็จะมีเป็นทำแบรนด์กระเป๋าที่ผสมผสานงานหัตถกรรมไทย ชื่อแบรนด์ Nuttiyar ค่ะ เราอยากให้คนรุ่นใหม่สัมผัสกับรูปแบบของงานหัตถกรรมให้ดูร่วมสมัย ดูวัยรุ่น ให้ใช้ง่ายขึ้น เราก็ทำงานกับชาวบ้านที่จังหวัดอ่างทองที่ทำงานสานกระเช้า โดยส่วนตัวตาลจะชอบงาน Craft ก็คือมีประกวด Innovative Craft Award, Creative Textile บ้าง หลักๆ ก็จะประมาณนี้ค่ะ
มาย : ชื่อมายค่ะ จบออกแบบผลิตภัณฑ์มาเหมือนกัน จากบางมด (KMUTT) ตอนนี้ทำงานอยู่ที่ Thinkk studio เป็นสายทำโปรดักต์เหมือนกัน ก็คือที่ออฟฟิศมายก็จะทำงานคู่กับตาลเลย ส่วนตัวก็ยังไม่ได้ทำอะไรมาก มีทำงานเฟอร์นิเจอร์กับเคนบ้าง อย่างที่ทำไปล่าสุดก็คือเป็นบ้านแมวที่ได้ไปโชว์ที่เชียงใหม่ เนื่องจากว่าที่บ้านเลี้ยงแมวเยอะมาก ลักษณะเหมือนเก้าอี้สตู แล้วก็โดมสำหรับแมว เหมือนบ้านดินของแมว เป็นเหมือนเซตเฟอร์นิเจอร์ค่ะ แล้วก็มีช่วยที่บ้านทำด้วย เป็นทำขนมค่ะ ก็ฉีกแนวออกไปเลย (หัวเราะ)
แอ้ม : แอ้มค่ะ จบจากลาดกระบัง (KMITL) จบ Industial Design เหมือนกันกับคลีน แต่มันจะมีอยู่หนึ่งปีที่เราได้เรียนสอง Major ก็คือ Textile กับเฟอร์นิเจอร์ควบกันไป แล้วพอจบมาก็ได้มาทำงานอยู่บริษัทนำเข้าวอลเปเปอร์แบบ Handmade ที่เป็นกึ่งงานอาร์ต ตำแหน่งที่แอ้มทำก็คือ Wall Stylist เหมือนเป็นอินทีเรียด้วยจับโปรดักส์ด้วยค่ะ แล้วตอนมีโปรเจ็คนี้คลีนก็ชวนเราเข้ามาทำ เผื่อมันจะเป็นอีกโปรดักส์หนึ่งได้ที่ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์ค่ะ จริงๆ คือจบออกแบบมาก็จริงแต่ตอนนี้ก็แอบไม่อยากทำงานออกแบบแล้ว เหมือนเรารู้สึกเหนื่อยก็เลยอยากทำงานที่ดีลกับดีไซน์เนอร์มากกว่า แต่พอได้กลับมาทำก็แบบเอออยากทำงานออกแบบอีกครั้งนะ ก็สับสนในตัวเองอยู่เหมือนกัน (หัวเราะ)
เบียร์ : ชื่อเบียร์นะครับ จบ Industial Design ลาดกระบัง ปัจจุบันผมก็ทำงานเป็นดีไซน์เนอร์อยู่ที่แบรนด์ PDM ครับ ตอนนี้ก็มีแพลนจะไปเรียนต่อด้านโปรดักส์ดีไซน์ที่ต่างประเทศครับ ยังไม่กล้าบอกชื่อสถาบันครับ กลัวไม่ติด (หัวเราะ)
คอนเซ็ปต์และผลงานการออกแบบของแต่ละคนในกลุ่ม Mitr.
คอนเซ็ปต์หลักของเราเลยก็คือ Momento เหมือนเป็น Moment อะไรสักอย่างของสิ่งที่แต่ละคนเคยเจอ เพื่อสร้างงานออกแบบที่มันสามารถรีเรตกับคนที่มาดูงานได้ ให้เขาเห็นแล้วเข้าใจได้ว่ามันคืออะไร เหมือนเป็นการผสมผสานงานของแต่ละคนเข้าด้วยกัน

คลีน : คอนเซ็ปต์มันมาจากพื้นที่ส่วนตัวในร้านกาแฟ ปกติมันจะมีมุมริมหน้าต่างที่เขามักจะให้คนที่มาคนเดียวนั่ง ผมก็รู้สึกว่าโมเมนต์ตรงนั้นมันดีนะ ไม่รู้สึกอึดอัด แถมยังมีความเป็นส่วนตัวด้วย ผมเลยเอาโมเมนต์นั้นมาทำเป็น FRAME หน้าที่ก็คือเป็นโต๊ะพักคอยที่ใ้ช้งานไม่นาน แต่ในขณะเดียวกันพื้นที่สาธารณะนี้ก็ควรมีความเป็นส่วนตัวด้วย และในหลักจิตวิทยาเวลาที่เรามีอะไรครอบหัวเราอยู่เราก็จะโฟกัสกับสิ่งที่เราได้มองออกไปครับ ซึ่งมันก็เหมาะกับพื้นที่ที่ใช้เวลานั่งไม่นาน เช่นในสนามบิน เป็นต้นครับ

เคน : ของผมก็คือ KNOB ที่แขวนของธรรมดานี่แหละครับ เหมาะสำหรับเอามาใช้กับพื้นที่ที่มีจำกัด จุดเริ่มต้นมันมาจากการที่ผม และหลายๆ คน ชอบแขวนผ้าเช็ดตัวหรือของไว้ที่ลูกบิดประตู ก็เลยทำการ research ประมาณหนึ่งครับ จนได้คำตอบว่าเวลาเราเข้าห้องเราล็อคลูกบิดประตูแล้ว เราก็รู้สึกว่ามันทำหน้าที่ของมันจบแล้ว สิ่งที่น่าสนใจของมันอาจไม่ใช่ตัวดีไซน์แต่เป็นการวิเคราะห์และทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของตัวเอง อย่างตอนเอางานไปโชว์ก็มีคนมาบอกว่าเออๆ พี่ก็ทำแบบนี้เหมือนกัน ตัวโปรดักส์ก็เลยออกมาเป็นที่แขวนของหลายขนาดที่สามารถปรับแต่งสีและวัสดุได้ด้วยครับ

ตาล : งานชิ้นนี้เกิดจากการสังเกตพวกฝาชี ถ้วย จาน ที่อยู่บนโต๊ะอาหารในบ้าน ว่าเวลาที่เราเก็บเรามักนำมาซ้อนกัน ทำให้เกิดการลิ้งค์กันของฟอร์มต่างๆ ก็เลยสนใจฟอร์มกับฟังก์ชั่นตรงนั้น กลายมาเป็นชุด Decorative Item บนโต๊ะ ซึ่งใช้งานได้ด้วยและตั้งโชว์ก็ได้ มี 3 ชิ้นคือ ถ้วย จาน และฝาชี แต่สามารถมามิกซ์ต่อกันได้แล้วแต่การใช้งานที่เราต้องการ วัสดุก็จะมีทั้งแบบที่เป็น Industial และงานหวายเอามามิกซ์ให้มีกลิ่นของงาน Craft นิดนึงค่ะ

มาย : สำหรับมายคือ Furl ค่ะ ซึ่งก็หมายถึงการม้วน มันเริ่มมาจากโมเมนต์ที่เราใช้ม่าน มีที่การรูดเก็บ หรือการดึงกระดาษทิชชู่ออกมาใช้ ก็เลยสนใจวิธีการดึงม้วน มันก็เลยออกมาเป็นเก้าอี้นั่ง กับที่พักแขน ตัวเก้าอี้นั่งสามารถม้วนออกได้ยาวถึง 3 เมตร ทำให้สามารถนอนได้ หรือจะนั่งเป็นเก้าอี้ก็ได้ ส่วนตัวที่พักแขนก็เกิดมาจากตัวใหญ่ที่เรารู้สึกว่านั่งแล้วก็ควรจะมีที่ให้พักแขนได้นะ แล้วยังให้ความรู้สึกเป็นที่ปิด เป็นส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะได้ด้วย

แอ้ม : ที่มาของงานชิ้นนี้เกิดจากโมเมนต์หนึ่งที่แสงมันกระทบลงผิวน้ำตามสระว่ายน้ำมันทำให้กระเบื้องใต้น้ำดูหยักและเคลื่อนไหวได้ ดูแล้วก็เพลินดี คือโปรดักส์ชิ้นนี้ให้หมวดมันไม่ได้อะ จะเป็นม่านหรือเปล่า Partition หรือเปล่า คือแอ้มต้องการให้มันเป็นอะไรก็ได้ใน Wall Decorate งานชิ้นนี้แอ้มทำร่วมกับคนท้องถิ่นที่เขาทำงานทอผ้าอยู่แล้ว เป็น Handmade แบบดั่งเดิมทั้งหมด เส้นด้ายจากอำเภออากาศอำนวย สกลนคร แล้วงานทอก็เป็นชาวบ้านในอำเภอปากช่องค่ะ

เบียร์ : ไอเดียมันเริ่มมาจากการสังเกตพฤติกรรมของการสูบลมจักรยานที่มีท่าทางที่เฉพาะและเป็นท่าทางที่ทำให้คนสามารถนึกย้อนไปถึง ช่วงเวลานั้นๆ ได้จึงนำไอเดียที่คล้ายคลึงกันของท่าสูบลมจักรยานมาใช้ในการปรับโต๊ะตัวนี้ โดยออกแบบและจัดระเบียงองค์ประกอบต่างๆ ใหม่ครับ ให้ดูมีความน่าสนใจและเรียบง่ายมากขึ้นแต่ก็ยังคงรูปลักษณ์ที่ทำให้นึกถึงที่ปั๊มลมอยู่ครับ
มุมมองของ Mitr. ในแง่การต่อยอดและการปรับเปลี่ยนที่มีต่อวงการออกแบบไทย
ยกตัวอย่างกลุ่มของพวกเรามีกัน 6 คน ผลงานของเราก็จะหลากหลายมากเหมือนงาน Collage เลย คนนี้ก็สนใจอย่างหนึ่ง ต่างคนต่างคิดเลย อย่างเรื่องการปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ในแวดวงการออกแบบเราทั้ง 6 เห็นตรงกันว่าเรายังไม่เก่งพอที่จะสามารถไปเปลี่ยนอะไร แต่เราอยากจะนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจให้กับวงการ ส่วนสิ่งที่มันจะช่วยให้วงการเราพัฒนาก็คือการแบ่งปันไอเดียต่อกันและกัน เราจะสามารถพากันไปถึงจุดหมายได้ คือคิดว่ายุคนี้มันไม่น่าจะมีคนที่เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ เป็นหน้ากากเสือคนเดียวลุย แต่จะเหมือนพาวเวอร์เรนเจอร์ที่ไปด้วยกันมากกว่า
เหมือนการคุยกันมันก็จะไม่ใช่แค่ดีไซเนอร์กับดีไซเนอร์แล้ว ดีไซเนอร์ไปที่ช่างฝีมือ หรือกับผู้ผลิต มันไม่มีรูปแบบที่ตายตัวเลย เพราะงานสมัยนี้มันค่อนข้างจะมิกซ์กัน ไม่ว่าจะยุโรปดึงเอเชียไป หรือเอเชียดึงยุโรปมา คือถ้าได้เพิ่มตรงนี้น่าจะทำให้วงการออกแบบดีขึ้นเยอะเลย
พวกเราอยากให้มันมีงานที่ทำให้คนมาเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นดีไซเนอร์ ช่างฝีมือ ผู้ผลิต ให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เปิดรับงานออกแบบใหม่ๆ ให้เขารู้ว่าเขาสามารถผลิตงานชิ้นนี้ได้ จริงๆ บ้านเราก็กำลังเติบโตขึ้นเยอะมากเรื่องงานออกแบบ เราโชคดีมากคือมีโรงงานมีกำลังการผลิต มันอาจจะอยู่ในขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลง ที่ตัวดีไซเนอร์เองก็ต้องพัฒนาตัวเอง เปิดรับมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น หรือแม้แต่ผู้ผลิตอาจจะกำลังเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นแบรนด์ ถ้ามันมีพื้นที่ให้พูดคุยกัน กระบวนการนี้อาจจะโตได้เร็วขึ้น
คือมันเริ่มมีเจเนอร์เรชั่นใหม่ๆ ที่เริ่มเป็นรุ่นราวคราวเดียวกันกับพวกเรา มันก็จะทันกันมากขึ้น จริงๆ คือโมเดลเนี่ยมันก็มีคนคิด มีคนทำมาแล้วนะ อย่าง TCDC CONNECT หรือ SACICT คือมันกำลังไปพร้อมๆ กันทั้งหน่วยงานรัฐฯ และดีไซน์เนอร์เอง น่าจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ อีกแน่นอน
Role Model ด้านการออกแบบที่ Mitr. นับถือ
ตอนเราเรียนมหา’ลัย เวลาไปเดินงานแฟร์เราก็ได้เจอพี่ๆ กลุ่ม Design Plant แล้วมันดูน่าสนใจ มันเจ๋งอะ พอเราได้มาทำงานกับเขา ก็ทำให้เรารู้สึกว่าเออ วงการนี้น่าสนุกจริงๆ พี่ๆ เขาก็น่ารัก พอโตมาได้มาอยู่ Design Plant มันก็ดีมาก กับการที่คนมีความสนใจเดียวกันมารวมตัวกันแล้วเกิดเป็นพลังบางอย่างให้ตัวเอง และดึงดูดให้ตัวเองน่าสนใจมากยิ่งขึ้นด้วย บวกกับที่พวกเราได้ไปดูงานที่มิลานด้วย ได้เห็นความสดใหม่และแนวคิดของคนที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง มันมีความหลากหลายมาก เวลาทำงานอะไรที่สดใหม่ก็น่าสนใจดีเหมือนกัน
คือมันลิ้งค์เรื่องแพลตฟอร์มด้วยนะ มันมีย่านหนึ่งชื่อว่า Ventura Lambrate ในมิลานที่มีงานแสดงเยอะๆบรรยากาศจะเหมือนเมืองที่อยู่นอกเมืองหน่อย เขาก็เอาโกดังมาจัดงานอีเว้นท์ เราก็คิดว่าการที่มีพื้นที่แบบนี้เยอะๆ น่าจะดีมาก
อนาคตของ Mitr.
พวกเราเริ่มจากจุดเล็กมากๆ เราก็เลยมองว่า Mitr. อาจเป็นโปรเจ็คที่โตตามเราไป เราอาจจะมีไอเดียอะไรใหม่ๆ มากขึ้น อาจเป็น Exhibition ก็ได้ ยังไม่ได้กำหนดมันให้ตายตัวว่าต้องเป็นอะไร เราเปลี่ยนกันได้ทุกวัน ความคิดใหม่ๆ ก็มาทุกวัน การมี Mitr. มันดีมากเลยที่เราได้รวมตัวกัน มีคนรู้จักงานเรามากขึ้น มีคนมาจ้างงานเรา มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ให้ทำมากขึ้น พอเราโตขึ้นในปีต่อๆ ไป ความคิดคงชัดเจนขึ้น คงมีการชวนคนในวงการอื่นๆ มาร่วมด้วย อย่างอีกกรุ๊ปหนึ่งที่ได้ไปแสดงงานที่สิงคโปรก็ทำให้ได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆ อีกเยอะเลย
flo x Mitr (2018) flo x Mitr (2018) Motorbike Chair, Chiang Mai Design Week (2018) Landscape of Things exhibition, Chiang Mai Design Week (2018)
ติดตามพวกเขาได้ที่ : Mitr.
ขอบคุณสถานที่ ร้าน millie brasserie พหลโยธิน 12