คนที่ชอบงานดีไซน์น่าจะได้เห็นผลงานของ “แมวขู่” (Maewkhoo) ผ่านตาเข้ามาบ้างในช่วงนี้ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว แมวขู่ได้เปิดตัวคอลเลคชั่นเสื้อผ้าคอลเลคชั่นแรกที่ชื่อว่า “Fruit of the Doomed” แต่ผลงานสุดฮิปที่แหวกขนบสุดๆ นี้ก็เป็นมากกว่าแฟชั่น นี่คือผลงานของนักออกแบบคู่หู เดนนิส คาร์ลสัน (Dennis Karlsson) และญาน เคนเนดี้ (Yann Kennedy) ที่สร้างแบรนด์มอเตอร์ไซค์แบบคัสตอมอย่าง Half Caste Creations ประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่แบรนด์แมวขู่นี้จะมุ่งไปที่ไลน์สินค้าที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นตามความสนใจของทั้งคู่ โดยมีตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ แบรนดิ้ง งานอินทีเรียร์ดีไซน์ไปจนถึงแฟชั่น หรือพูดง่ายๆ ว่าแบรนด์นี้จะทำอะไรก็ได้ ขอแค่เน้นไปที่คุณภาพ การออกแบบและงานฝีมือ

ชื่อและโลโก้ของ “แมวขู่” มาจากแนวคิดที่ว่าสัตว์บางชนิดเป็นตัวแทนของพลัง ความแข็งแกร่งและเกียรติยศ แต่แมวที่ขู่ฟ่ออยู่ก็เป็นตัวแทนบางอย่างของสังคมที่เราอยู่ โดยเฉพาะย่านเยาวราชซึ่งทั้งคู่เลือกใช้เป็นสถานที่เปิดตัวคอลเลคชั่นแรกนี้ “แมวขู่เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน พอเราเห็นเราก็รู้สึกว่าภาพนี้สะท้อนอารมณ์ที่จริงและดิบมาก” เดนนิสบอก
“ถึงแมวจะกลัว แต่มันก็ยังยืนหยัดเพื่อตัวเอง เพื่อคว้าโอกาสในชั่ววินาทีนั้นไว้ แนวคิดนี้สอดคล้องกับพวกเราครับ ทั้งในด้านของสุนทรียะและวิธีในการออกแบบ”

เดนนิสและญานนำเข้าเฟอร์นิเจอร์โพสต์โมเดิร์นจากอิตาลีในยุคทศวรรษที่ 1960-1980 ที่มีดีไซน์โดดเด่นซึ่งค่อนข้างหายากในเมืองไทย และในขณะเดียวกันก็ออกแบบสินค้าดีไซน์ของตัวเอง โดยมีตั้งแต่ม้านั่งที่ทำจากกระสอบทรายที่ใช้หนังอย่างดีไปจนถึงเป้หนังแบบโอเวอร์ไซส์ เมื่อปีที่แล้ว พวกเขาได้เปิดตัวเสื้อเชิ้ตผ้าไหม “Thaiwaiian” ลายบ้านเรือนไทยและตัวละครพื้นบ้านตลกๆ ซึ่งเสื้อฮาวายแบบไทยๆ นี้ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนเดนนิสพูดอย่างติดตลกว่าคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิด คิดว่าเสื้อฮาวายนี้เป็นของจิม ทอมป์สัน แต่นั่นก็ชี้ให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการออกแบบของแมวขู่ วัฒนธรรมไทยแบบดั้งเดิมถูกนำมาตีความใหม่ให้ดูร่วมสมัย เหมาะกับคนยุคใหม่มากยิ่งขึ้น
“เราหยิบสิ่งที่คนเห็นจนชิน แต่มักจะมองข้ามไป อย่างภาพวาดบนผนังในวัด เราเห็นจนชินตามาตั้งแต่เด็ก เราเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ พระพุทธศาสนาเล่าเรื่องนรกได้อย่างเห็นภาพ แล้วก็แตกต่างมาก เป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยคิดถึงเท่าไหร่ แต่เรามองเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งโอกาสในการตีความครับ ไม่มีประโยชน์หรอกที่จะทำตามคนอื่น”
คอลเลคชั่นแฟชั่น Fruit of the Doomed นี้เต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับต้นงิ้ว นรก และการเวียนว่ายตายเกิดในพระพุทธศาสนา ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เราเห็นทั่วไปตามวัดต่างๆ ถูกเปลี่ยนเป็นลวดลายที่ไม่เหมือนใคร ทั้งโครงกระดูกที่โดนไฟลุกท่วมไปจนถึงสัตว์นรกต่างๆ ทั้งหมดออกมาวาดลวดลายอยู่บนเสื้อฮาวาย Thaiwaiian นี้ รวมถึงบนชุดสูทผ้าวูลและผ้าไหมด้วย การตัดเย็บเสื้อผ้าทั้งหมดอยู่ในความดูแลของห้องเสื้อพิจิตรา เนื่องจากญานนั้นเป็นสามีของฑาทิม รักษจิตร ลูกสาวของพิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ แห่งแบรนด์ Pichita นั่นเอง หลังจากย้ายมาอยู่ที่เมืองไทย ญานได้เรียนรู้เคล็ดลับในการออกแบบแฟชั่นจากห้องเสื้อแห่งนี้ “พอย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านแล้วช่วยทำแบรนด์ ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างเลยครับ ภรรยาสอนผมเรื่องการตัดเย็บและการทำแพทเทิร์นเยอะเลย รวมถึงเทคนิคต่างๆ ที่ช่วยในการทำคอลเลคชั่นของแมวขู่ด้วยครับ”
นอกจากเสื้อผ้าแล้ว ในครั้งนี้ แมวขู่ยังได้เปิดตัวคอลเลคชั่นเครื่องเบญรงค์ลายเพลิงโลกันต์ที่ขายหมดทันที แม้ว่าเครื่องเบญจรงค์นี้จะอยู่ในรูปแบบและขนาดใหม่ แต่ก็ยังคงมีกลิ่นอายที่ชวนให้นึกถึงงานเบญจรงค์แบบคลาสสิกสมัยรัชกาลที่ 5 และยังคงรังสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิคงานฝีมือแบบดั้งเดิมที่ใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ในการลงลาย
แทนที่จะตามเทรนด์ในยุคปัจจุบันที่เน้นความรวดเร็วและเห็นผลในทันที แบรนด์แมวขู่เลือกที่จะไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยไม่มีการออกสินค้าเป็นคอลเลคชั่นตามฤดูกาล “ศิลปินที่เราทำงานด้วยเค้าวาดลายด้วยมือทุกวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ซึ่งเป็นงานที่ใช้เวลามากครับ” ญานบอก
“สำหรับคนยุคเรา มันไม่ใช่งานที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป ทุกวันนี้ ถ้าคุณอยากจะออกแบบเสื้อผ้า คุณก็แค่วาดทุกอย่างลงกระดาษ มันฟังดูง่ายไปหมด แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ง่ายแบบนั้นครับ ทุกขั้นตอนใช้เวลามาก ถ้าคุณลงลึกไปในรายละเอียดของการทำเสื้อผ้า ผมว่ามันเป็นการสร้างสรรค์คนละแบบกับที่เราคิดเลยนะ นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเราไม่ค่อยเน้นเรื่องไทม์ไลน์สักเท่าไหร่ ไม่ต้องออกคอลเลคชั่น 2-3 ครั้งต่อปีก็ได้ เราเน้นที่การทำโปรเจ็กต์แทน แล้วก็ให้เวลาเต็มที่กับสิ่งที่ต้องใช้เวลาจริงๆ ครับ”
“เราร่วมงานและทำงานกับคนหลากหลายมาก” ณานกล่าว “เราอยากทำงานกับช่างฝีมือและศิลปินเหล่านี้ เราชื่นชมทักษะของพวกเขามาก และสำหรับเราแล้ว การทำงานกับพวกเขาคือการสร้างเทรนด์ใหม่ และสนับสนุนพวกเขาไปพร้อมๆ กัน วิธีเดียวในการอนุรักษ์ศิลปะที่กำลังจะสูญหายก็คือการสนับสนุนและนำงานศิลปะเหล่านี้มาใช้จริง เราอยากให้คนรุ่นใหม่เห็นความงามของงานฝีมือเหล่านี้มากขึ้น เพื่อที่จะได้มีคนสืบสานงานสวยๆ เหล่านี้ต่อไปครับ”
สรุปง่ายๆ ก็คือพวกเขาเชื่อว่าการนำของเก่ากลับมา “โม” ใหม่คือหนึ่งในวิธีในการอยู่รอด งานคอลแล็บอื่นๆ ของแบรนด์ก็มีตั้งแต่รองเท้าบู๊ทสีทองวาววับที่ทำกับแบรนด์รองเท้า Rich Cast of Characters และงานเครื่องประดับทองสไตล์แกงสเตอร์ที่ออกแบบให้กับฮั่วเซ่งเฮง เพื่อให้ทุกอย่างเอ็กซ์คลูซีฟยิ่งขึ้นไปอีก ทุกคอลเลคชั่นทำเป็นลิมิเต็ด เอดิชั่น เพื่อกระตุ้นการขายออกไวๆ “พอทำเสร็จแล้ว เราก็ไปทำอย่างอื่น เราจะได้ไม่ติดอยู่กับอะไรเดิมๆ ครับ” เดนนิสบอก พร้อมย้ำว่าเสื้อลายนรกนี้คงไม่กลับไปอีก “สิ่งหนึ่งที่พี่ที่เรานับถือบอกเราคือพยายามสร้างสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาครับ เราต้องทำให้คนรู้สึกตื่นเต้นและอยากรู้ว่าเราจะทำอะไรต่อ ไอเดียหลักคือถ้าจะทำอะไรออกมา มันต้องสร้างอิมแพ็คให้ได้มากที่สุด แต่บอกใบ้ได้เลยว่าเราจะยังทำงานเซรามิกต่อแน่นอน เพราะทุกคนต้องใช้อยู่แล้ว”
ฟังดูแล้วช่างเป็นแบรนด์ที่มีความขบถจริงๆ แต่ญานก็สรุปให้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นไม่ใช่แค่จะทำอะไรฮิปๆ “เราอยากให้คนมองแบรนด์แมวขู่ว่าเป็นแบรนด์ที่ก็สุดโต่งนะ แต่เราก็ทำทุกอย่างอย่างมีสติ” เขาพูดขำๆ “ผมไม่อยากให้คนมองว่าเราอยู่เกินเอื้อมครับ มันเป็นแบรนด์ที่ดูแลโดยผู้ชายสองคน เราสองคนเนี่ยแหละ และเราก็สื่อสารเรื่องนี้ออกไปตรงๆ เราปรับเปลี่ยนอะไรเยอะมาก อยากให้มองว่าเราไม่ใช่แค่แบรนด์ที่ทำอะไรคูลๆ หรือแบรนด์ที่อยากจะทำเงินอย่างเดียว แต่เป็นแบรนด์ที่ทำจริง มีเป้าหมายครับ”