Kooper มีโอกาสสนทนากับ แอน – กนกพร นุชแสง ดีไซน์ไดเรกเตอร์แห่งบริษัท APLD ผู้ออกแบบงานแสงทรงพลังให้กับนิทรรศการ Hundred Year Between ของท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เพราะนอกจากแนวคิดเรื่องภาพถ่ายและเรื่องเล่าที่เราพบแล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้นิทรรศการประวัติศาสตร์นี้มีมนต์สะกดอย่างพิเศษก็คือ lighting design (การออกแบบแสง) ที่กลมกลืนไปกับชั้นสัมผัสของศุลกสถานได้อย่างน่าทึ่ง
อ่อนน้อมต่อสัจจะของเวลา
กนกพรบอกเราว่าเมื่อเธอได้พูดคุยกับทีมภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ และค่อยๆ ได้เรียนรู้ถึงเส้นทางชีวิตของสถาปัตยกรรมทรงนีโอคลาสสิคหลังนี้ เธอพบว่า ‘ศุลกสถาน’ แท้จริงถือเป็นมรดกสถาปัตยกรรมที่มีมิติเวลาทับซ้อนกันอยู่หลายชั้น “อาคารหลังนี้สร้างขึ้นราวปีพุทธศักราช 2429- 2431 เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวอิตาเลียน โยอาคิม กรัสซี ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เพื่อเป็นที่ทำการของศุลกากร (Custom House) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘โรงภาษีร้อยชักสาม’ ตามคำสั่งของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5”

ในกาลต่อมา เมื่อที่ทำการศุลกากรได้ขยับขยายย้ายออกไป ตึกฝรั่งหลังนี้ก็ได้ถูกเปลี่ยนหน้าที่ใหม่เป็นที่ทำการตำรวจน้ำอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2502 จึงถูกปรับบทบาทอีกครั้งเป็นที่ทำการสถานีตำรวจดับเพลิง หรือที่คนกรุงเทพคุ้นเคยกันในชื่อ “สถานีดับเพลิงบางรัก” (อีกราว 60 ปี) ก่อนจะถูกทิ้งร้างลงเช่นในปัจจุบัน เรื่องราวผ่านกาลเวลาของตึกฝรั่งหลังนี้ทำให้กนกพรตกปากรับคำ “คุณใหม่” (ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน) ในทันทีที่ถูกชวนให้มาดูแลการออกแบบแสงในศุลกสถาน “พี่ตอบรับทันทีที่ได้ยินว่าสถานที่จัดแสดงงานคืออาคารหลังนี้ค่ะ” เธอบอกอย่างภูมิใจ

“แสงไม่ใช่มืดหรือสว่าง ไม่ใช่ขาวหรือเหลือง ไม่ใช่ถูกหรือผิด แสงเป็นจิตวิญญาณที่ทำให้เรารับรู้ มีประสาทสัมผัสค้นหาประสบการณ์กับสิ่งต่างๆ รอบกายเรา ให้เราได้รู้สึกและโต้ตอบ สิ่งนั้นต่างหากที่เราเรียกว่าแสง”
ในงานนิทรรศการ Hundred Years Between กนกพรเล่าว่าเธอทำงานร่วมกับทีมงานอีก 3 คนคือ นรินทร์ วงศ์เพชรขาว ศาชล เถาว์ศิริ และสุชานันท์ นิ่มนวล โดยโจทย์สำคัญที่ทีมออกแบบแสงได้รับคือเรื่องของ ‘กาลเวลา’ และ ‘สถาปัตยกรรม’ ที่ต้องเด่นเสมอกับภาพถ่ายตลอดเรื่องราว “เราตีโจทย์งานแสงว่าคือการไม่ทำอะไรเกินไปกว่าสิ่งที่มันสมควรจะเป็น นั่นหมายถึงเราจะทำให้อาคารหลังนี้ปรากฏในวิถีที่เป็นธรรมชาติที่สุด ร่องรอยต่างๆ ในประวัติศาสตร์จะปรากฏขึ้นอย่างที่มันเคยปรากฏอยู่ โดยไม่เติม ไม่เสริม ไม่แต่งอะไรให้ผิดจากที่เคยเป็น ดังนั้นคุณจะเห็นว่าเราไม่ได้ใช้เทคโนโลยี ไม่จัดไฟเปลี่ยนสี ไม่มีการทำ mapping อาคารอะไรทั้งนั้น เพราะหากย้อนไปร้อยกว่าปีก่อน แสงไฟในอาคารนี้ก็คงมีแค่ดวงไฟเล็กๆ ที่ไม่ได้ส่องสว่างสม่ำเสมออย่างนี้แหละ”
“เพื่อให้ศุลกสถานมีบรรยากาศที่สงบงาม เป็นธรรมชาติอย่างที่มันเคยเป็น คำตอบคือเราต้องเปิดทางให้แสงธรรมชาติมีบทบาทสำคัญในนิทรรศการนี้”
เธอและทีมงานลงพื้นที่ตรวจวัดค่าความสว่างที่ศุลกสถานนี้ตั้งแต่ยามเช้าจนถึงพลบค่ำ เพื่อจะระบุให้ได้ว่าในแต่ละช่วงเวลาของวัน ควรต้องกำหนดปริมาณแสงอย่างไรเพื่อให้ได้ค่าแสงที่พอดีที่สุด รวมไปถึงต้องกำหนดจังหวะการเปิดปิดช่องหน้าต่างในอาคารอย่างละเอียด และเลือกตำแหน่งการจัดวางโคมไฟดวงเล็กๆ ในพื้นที่เท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นงานที่ต้องผ่านกระบวนการคิดและการออกแบบอย่างปราณีตทั้งสิ้น

“ภายในตัวอาคารที่มีอายุเก่าแก่ถึง 136 ปีนี้มีมิติทางประวัติศาสตร์หลายชั้นมากซ้อนทับกันอยู่ ซึ่งทีมออกแบบนิทรรศการเขาอยากให้มิติทางประวัติศาสตร์ของอาคารหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการให้ได้”

สัมพันธภาพระหว่าง แสง วัตถุ และสถาปัตยกรรม
แนวคิดที่กนกพรใช้เป็นพื้นฐานในการทำงานกับอาคารศุลกสถานนี้คือการ ‘เคารพ’ และ ‘ให้เกียรติ’ สถานที่รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นภายในสถานที่ทั้งหมด เธออ้างถึงคำพูดของท่านผู้หญิงสิริกิติยาที่บอกกับเธอเสมอว่า ศุลกสถานคืออาคารที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ มีพลังมาก ดังนั้นการออกแบบประสบการณ์ใดๆ ให้ผู้รับชมจึงต้องบาลานซ์น้ำหนักให้ดี ความเด่นของชิ้นงานและของตัวอาคารควรจะมีบทบาทเท่าเทียมกัน “คุณใหม่เธอบอกว่ายิ่งเราเราพยายามปิดบังเขาเท่าไร พลังของเขาก็จะยิ่งหายออกไป กลายเป็นว่าเราเข้ามาทำร้ายเขา และสุดท้ายก็จะกลายเป็นการทำร้ายงานเราเองด้วย” กนกพรย้อนเล่าถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองอันลึกซึ้งระหว่างทีมแสงกับท่านผู้หญิง
“ในพื้นที่ที่เราต้องการให้มีแสงสาดส่อง เราก็อนุญาตให้แดดส่องเข้ามาเป็นลำบ้าง หรือผ่านผ้าม่านบ้าง ในขณะที่บริเวณที่เราอยากเก็บแสง เราก็จะปิดช่องแสงไว้ เพื่อให้งานดูมีมิติและเพื่อให้ตัวสถาปัตยกรรมแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้มากที่สุด”




บางงานแสงก็มีส่วนในการสร้างเรื่องราว แต่บางครั้งมันก็เป็นแค่พาหนะที่ส่งต่อเรื่องราวเท่านั้น
ในมุมมองของกนกพร แสงเป็นเสมือนพาหนะที่จับต้องไม่ได้และคนมักไม่สังเกตเห็นในตอนแรก “แต่ถ้าเราได้ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่นั้นสักพักหนึ่งเราจะค่อยๆ ซึบซับอารมณ์และประสบการณ์ที่แสงสร้างขึ้น และจะเข้าใจคุณค่าความหมายของพื้นที่นั้นในท้ายที่สุด” กนกพรปิดบทสนทนากับเราเช่นนั้น
คงจะจริงอย่างที่เธอเขียนในปรัชญาของบริษัทว่า “แสงคือเครื่องมือที่ช่วยขับเน้นสุนทรียะของงานสถาปัตยกรรมให้ปรากฏ มันเป็นองค์ประกอบที่คนเราต้องใช้ในการ ‘เห็น’ สิ่งต่างๆ เพื่อรับประสบการณ์จากพื้นที่นั้นด้วยกายและใจ” นี่คือวิธีคิดการทำงานตลอด 16 ปีของที่ดีไซน์ไดเรกเตอร์แห่ง APLD ที่อยากสื่อสารให้คนวงกว้างรับรู้

เกี่ยวกับ APLD
APLD ย่อมาจาก Architectural Professional Lighting Design เป็นมืออาชีพด้านงานออกแบบแสงในพื้นที่สาธารณะและโครงการพักอาศัยที่มีผลงานมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสงในหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ โรงแรมรีสอร์ท สำนักงาน รีเทลสเปซ และในนิทรรศการเฉพาะกิจต่างๆ APLD ทำงานบนความเชื่อที่ว่าแสงมีอิทธิพลกับมนุษย์ทั้งในเชิงสรีรวิทยาและจิตวิทยา
ภาพ: สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์, พลากร รัชนิพนธ์, กนกพร นุชแสง, APLD