“เพราะคุณสมบัติของดินเป็นวัสดุที่เก็บความทรงจำ ทุกเหตุการณ์ ทุกการกระทำ เกิดเป็นความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างเราในฐานะผู้ทำ และดินในฐานะสื่อที่บันทึกการลงมือทำของเราเอาไว้”
Kooper แวะคุยกับ ไหม – ณพกมล อัครพงศ์ไพศาล และ หนาม – นล เนตรพรหม สองดีไซเนอร์นักปั้นดินรุ่นใหม่ที่กำลังพาแบรนด์เซรามิก “ละมุนละไม” เข้าสู่ขวบวัยครึ่งทศวรรษ

ส่วนผสมความละมุน : การทดลอง การต่อยอด และโจทย์ที่ยังไม่ถูกค้นพบ
แนวทางการใช้สีและการสร้างผิวสัมผัสที่ผสมผสานกันอย่างละครึ่ง เปรียบเสมือนกับความชอบและความถนัดในการรังสรรค์ผลงานของนักออกแบบคู่นี้ นลเชี่ยวชาญด้านการทำสีเคลือบ ในขณะที่ณพกมลหลงใหลในเท็กซเจอร์ที่เลียนแบบธรรมชาติ การรวมกันของแนวคิดทั้งสองคือความลงตัวที่ได้พัฒนากลายเป็นอัตลักษณ์ของ “ละมุนละไม” ในที่สุด
แรกเริ่มนั้น ละมุนละไมผลิตเซรามิกชิ้นเล็กๆ อาทิพวงกุญแจ ถ้วยชา ถาดรองขนาดเล็ก ก่อนจะพัฒนาต่อยอดเป็นของใช้ภายในบ้านเช่นจานชาม เหยือกน้ำ โคมไฟและของตกแต่ง ซึ่งเส้นทางการพัฒนานี้เกิดขึ้นจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ส่วนหนึ่งคือความท้าทายจากตัวของทั้งสองคน ที่ต้องการต่อยอดการผลิตให้เติบโตทั้งในเชิงขนาดและเทคนิก อีกส่วนคือปัจจัยจากความต้องการของลูกค้า ที่ทั้งคู่ค่อยๆ เรียนรู้จากการนำสินค้าไปวางขายแต่ละครั้ง

“เราค้นพบจุดตัดระหว่างสินค้าที่เราต้องการนำเสนอ และสินค้าที่ลูกค้าต้องการ นำมาสู่คำตอบที่ว่าในตลาดเซรามิกนั้นมีความต้องการที่ยังไม่ถูกค้นพบ (unmet need) นั่นทำให้เราหันมาวิเคราะห์ตัวเราเองเพื่อพัฒนาต่อยอดงานคอลเล็คชั่นใหม่ๆ”
“คนทำเซรามิกทุกคนล้วนมีชุดความรู้เบื้องต้นคล้ายๆ กัน ความต่างของแต่ละสตูดิโอหรือของศิลปินแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับเทคนิกการขึ้นรูป บางคนต้องมีเท็กซ์เจอร์ก่อน บางคนไม่มี บางคนต้องขึ้นรูปเป็นทรงก่อน บางคนก็ไม่ หรืออย่างกระบวนการเผาและการทำสีเคลือบก็ให้ผลเฉพาะที่ต่างกัน มันนำไปสู่ผลงานสุดท้ายที่ไม่เหมือนกัน ที่สตูดิโอของเราก็มีสีเคลือบเฉพาะที่สะท้อนแนวคิดของเราเอง และที่ตอบรับกับความต้องการของลูกค้าด้วย”
ออกแบบภาชนะให้เข้ากับผัสสะของอาหาร
จากคำสั่งซื้อล็อตแรกที่ขอให้ผลิตถ้วยกาแฟสำหรับร้านกาแฟ 20 ชุด ต่อด้วยการลองไปออกร้านตาม Farmer’s Market นลและณพกมลค่อยๆ ทำความรู้จักกับค่านิยมที่เป็นจริงในตลาด และเริ่มสะสมฐานลูกค้าใหม่ๆ ขึ้นจากโอกาสเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร กลุ่มคนทานอาหารคลีน (ที่ให้ความสำคัญกับจานชาม) และกลุ่มเชฟรุ่นใหม่ๆ ทั้งหลาย
“กลุ่มเชฟเป็นเหมือนคนที่ช่วยสร้างทางเดินใหม่ให้พวกเรา ทำให้เราค้นพบแนวทางการขยายขอบเขตงานออกไปได้ไกลมาก”
ลูกค้าเชฟคนแรกของละมุนละไมคือร้าน Canvas ที่ทองหล่อ ซึ่งเปิดโลกให้ทั้งสองได้เห็นวิธีการออกแบบเซรามิกที่เชื่อมโยงเข้ากับโลกของการสร้างสรรค์อาหาร การได้ฟังเชฟอธิบายถึงอาหารแต่ละจาน การคัดสรรวัตถุดิบ การประดิษฐ์รสชาติ ฯลฯ นำมาสู่วิธีคิดใหม่ในการออกแบบภาชนะที่จะนำเสนอเมนูเหล่านั้น เริ่มตั้งแต่พื้นฐานของวัตถุดิบ ลักษณะของอาหาร (ว่าเป็นอาหารแห้ง มีน้ำขลุกขลิก หรือมีน้ำซุป) จำนวนและขนาด ลำดับของเมนู (เช่น Tasting menu หรือ Main course ที่มีจำนวนจานไม่เท่ากัน) สีของจานและอาหารที่ต้องสอดคล้องกัน ฯลฯ

“เราต้องไม่คิดว่าเราทำจานหรือชามแล้ว สิ่งที่เราทำคือภาชนะบรรจุ”
ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ของอาหารกับภาชนะเท่านั้น แต่การออกแบบเซรามิกยังต้องเชื่อมโยงกับพื้นที่การจัดวาง ขนาดของโต๊ะ และบรรยากาศภายในร้าน เช่นเรื่องแสงไฟ สีผนัง สไตล์การตกแต่ง ฯลฯ องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ทั้งสองได้เรียนรู้เรื่องการคำนวณพื้นที่และการจัดวางภาชนะต่างๆ ขึ้นไปอีกระดับ “ยกตัวอย่างเช่นถ้าเป็นร้านอาหารไทยอย่างร้านศรณ์ ภาชนะที่เขาใช้จะต้องแชร์กันได้ หมุนเวียนกันบนโต๊ะได้ง่าย แต่หากเป็นร้านอาหารฝรั่ง อาหารแต่ละจานก็ต้องเป็นของใครของมัน ทานเสร็จหนึ่งเมนูแล้วต้องเปลี่ยนจานใหม่ วัฒนธรรมการกินที่ต่างกันนี้ทำให้เราต้องคิดอย่างรอบคอบ ลงลึกไปถึงเรื่อการเสิร์ฟ การถือ การล้าง การเก็บ ฯลฯ เราต้องคิดถึงความหนาของจานชาม การใช้เครื่องล้างจาน และคิดถึงทุกๆ ทัชพอยท์ที่ภาชนะของเราจะไปเกี่ยวข้องด้วย”
“เชฟที่ทำอาหารเขามีความรู้เรื่องวัตถุดิบและเขานำความรู้นั้นมาแชร์กับเรา เราในฐานะคนทำภาชนะ เราก็ต้องทำให้คนกินรู้สึกถึงความตั้งใจของเชฟคนนี้ มันเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ เป็นวงจรสามเหลี่ยมที่เชื่อมโยงกัน หน้าที่ส่วนของเราคือต้องสื่อสารจุดมุ่งหมายของเชฟให้ได้ตรงใจที่สุด”

เซรามิกยึดโยงกับวัฒนธรรมเสมอ
ในอดีต เซรามิกเกิดขึ้นมาพร้อมกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ มนุษย์นำดินมาเจอกับไฟ เราเอาดินมาปั้นเพื่อบรรจุน้ำ บรรจุวัตถุดิบ เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน แต่นอกจากนั้น นลและณพกมลยังเห็นว่าเซรามิกเป็นงานที่มักอยู่คู่กับการตกแต่งภายในเสมอ “ในยุคหนึ่งก่อนหน้านี้เทรนด์การทำเซรามิกมักจะเป็นสีขาวล้วน รูปทรงไม่สมมาตร ทุกโรงงานในเมืองไทยก็ผลิตสินค้าลักษณะนั้นกันหมด แต่พอมาถึงยุคนี้เทรนด์เปลี่ยนเป็นเรื่องของงานฝีมือแล้ว เป็นเรื่องของคราฟท์ ผู้ผลิตก็ต้องหันมาเน้นเรื่องธรรมชาติการทำมือ” นลกล่าว

ในขณะที่ณพกมลเสริมว่า “งานเซรามิกของแต่ละชาติจะตอบรับกับวิถีสังคมและวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของเขา อย่างเช่นเกาหลีก็แตกต่างจากญี่ปุ่น เพราะเขามีวิถีการกินอาหารเป็นเซ็ต มีเครื่องเคียงเล็กๆ เยอะมาก ต้องมีที่วางตะเกียบ แต่ของญี่ปุ่น จานเขามักจะเป็นทรงสี่เหลี่ยม เน้นว่าต้องมีถ้วยข้าว ทุกอย่างต้องวางรวมกันอยู่ในถาดเดียวได้ แต่ถ้าในบริบทของไทย พฤติกรรมการกินของเราคือต้องมีกับข้าวจานกลาง อย่างน้อยต้องมีจานใบใหญ่ 2 ใบ แล้วก็มีกับข้าวอื่นๆ มาเสริม ลักษณะการใช้จานชามของเราก็จะแตกต่างไปอีก”
ซึ่งสำหรับทั้งสองคน การได้เดินทางไปพบเจอสิ่งใหม่หรือวัฒนธรรมใหม่ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาผลงาน เพราะการได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้เรียนรู้ว่าผู้คนในวัฒนธรรมอื่นเขาคิดอย่างไร นั่นคือลมหายใจของการเติบโตในฐานะคนทำเซรามิกร่วมสมัย
“งานเซรามิกของเราบางครั้งก็ไม่ได้นำเสนอความเป็นตัวเอง 100% แต่มีการผสมผสานตัวตนไว้ในสัดส่วนไม่มากไม่น้อย บ้างในฐานะศิลปิน บ้างในฐานะนักออกแบบที่ทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้า”
ยกตัวอย่างการออกแบบถ้วยค็อกเทล 200 ชิ้นให้กับร้าน Thaipioka ที่เป็นงานขึ้นรูปด้วยมือทั้งหมด เพราะจุดประสงค์ของร้านต้องการให้ภาชนะเป็นจุดเด่น และต่อยอดเมนูเครื่องดื่มขึ้นจากภาชนะที่มีได้ “เช่นเขานำเอาถ้วยเซรามิกของเราไปจุ่มพริกเกลือที่ขอบเพื่อเพิ่มรสชาติให้ค็อกเทล หรือให้เราทำเซรามิกเป็นเข่งเพื่อวางซ้อนกันเป็นชั้นๆ เป็นต้น”

ช่างปั้นดินที่เป็นนักออกแบบ
ด้วยว่าทั้งสองคนเรียนจบมาทางด้านการออกแบบอุตสาหกรรม ทำให้มีพื้นฐานเรื่องกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ค่อนข้างแน่น ข้อดีคือทำให้นักออกแบบมีภาษาสากลที่สื่อสารกับลูกค้าได้ เช่นในกรณีที่ลูกค้ากับสตูดิโอคิดไม่ตรงกัน ก็สามารถทำต้นแบบขึ้นมาทดสอบ และใช้การค้นคว้าเชิงลึกเพื่อหาทางออกให้กับความท้าทายที่ต้องเผชิญ
“ในวิชาชีพนี้จะมีศัพท์สองคำคือ Potter กับ Ceramist ซึ่งมันต่างกันที่วิถีการทำงาน Potter คือนักปั้น ส่วน Ceramist คือคนที่เชี่ยวชาญด้านวัสดุ ทุกวันนี้ละมุนละไมมองตัวเองอยู่ตรงกลาง เพราะเราทั้งชอบทำและชอบออกแบบด้วย”
ณพกมลอธิบายว่า “ปัจจุบันเวลาลูกค้าเข้ามาหาเรา เราจะพูดกับเขาอย่างตรงไปตรงมาว่าอันไหนเราทำให้ได้ อันไหนลูกค้าไปหาซื้อเองดีกว่า หมายถึงว่าเราให้บริการในฐานะที่ปรึกษาด้วย ทั้งช่วยคิด ช่วยนำเสนอทางเลือก บริการของละมุนละไมคือการเสนอสิ่งที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด”
แพ็คของออกเดินทาง
วันที่ละมุนละไมตบเท้าเข้าร่วมโครงการ T-style ของ DITP ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แบรนด์เล็กๆ แบรนด์นี้ได้เรียนรู้ถึงนิเวศที่แท้จริงของธุรกิจออกแบบระดับสากล ทำให้เข้าใจกลไกการตั้งราคา การเจรจาธุรกิจ และได้เห็นเทรนด์การออกแบบและการผลิตงานเซรามิกจากทั่วทั้งโลก “การไปออกแฟร์คือโอกาสที่ทำให้เราได้เจอกับลูกค้าตัวจริงในตลาดนานาชาติ ได้เจอกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้เห็นไลฟ์สไตล์ เห็นพฤติกรรม และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของตลาดที่ต่างกัน”

“เราสามารถนึกภาพออกว่าถ้าเราอยู่บ้านเขา เราจะใช้สินค้าของเราอย่างไร นำไปตั้งตรงไหน รวมถึงเรื่องของราคาด้วยว่าที่เราตั้งราคาไปนั้นมันตรงกับกำลังซื้อของลูกค้าหรือไม่ หรือบางทีเราอาจจะตั้งราคาถูกไปก็ได้”
ท้ายสุด สิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับนักออกแบบทั้งสอง คือการรักษาสมดุลระหว่าง การพัฒนาทักษะทางศิลปะ ความต้องการของลูกค้า และความเป็นตัวของตัวเอง เราเชื่อแน่ว่าละมุนละไมกำลังจะเติบโตต่อไปอย่างมั่นคง และผลงานทุกชิ้นของพวกเขาจะออกเดินทางไปสู่มือผู้รับอย่างประณีต ถ่ายทอดความรู้สึกได้ลึกในรายละเอียด เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของการสร้างสรรค์งานที่เกิดขึ้นจาก “มือ” และ “ใจ” อย่างแท้จริง


เครดิตภาพ: Lamunlamai และ พลากร รัชนิพนธ์