แม้ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวที่เปิดให้คนเข้าชมกันทุกวัน แต่บ้านข้าหลวงเก่าอายุ 115 ปีของต้นตระกูลไกรฤกษ์นี้เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์การตกแต่งและเรื่องราวหนหลังที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นมรดกของชาติ
…ทำไมบ้านที่ออกแบบไว้อย่างงดงามนี้ถึงร้างผู้อยู่อาศัยไปก่อนเวลาอันควร
…เพราะเหตุใดมันจึงตกเป็นสมบัติของทหารในวันนี้
…และอะไรที่ทำให้กรมศิลปากรเห็นคุณค่าของบ้านสามัญชนหลังนี้มาก กระทั่งจัดงบกว่า 22 ล้านบาทเพื่อรักษาจิตวิญญาณของมันไว้
เรามีโอกาสพูดคุยกับ คุณนิด – ฉัตรชนก ดุลยรัตน์ เจ้าของบริษัทอินทีเรียร์ ผู้ได้รับมอบหมายจากสำนักงานตรวจสอบบัญชีกองทัพบกให้เป็นผู้ดูแลการบูรณะและบริหารจัดการบ้านอาจารย์ฝรั่ง – ศิลป์ พีระศรี (บ้านหลังเล็กอีกหลังในความดูแลของสำนักงานตรวจสอบบัญชีกองทัพบกซึ่งตั้งอยู่ในรั้วเดียวกัน) โดยในวันที่คุณนิดอาสาพาทีม Kooper เข้าเยี่ยมชมบ้านหลังใหญ่ของพระยาบุรุษฯ นี้ เธอเกริ่นกับเราว่าปัจจุบันเธอไม่ได้เป็นผู้ดูแลบ้านหลังใหญ่นี้โดยตรง เพียงแต่มีความหลงใหลในประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงอยู่กับสถาปัตยกรรมนี้มาก ทำให้เธอติดตามสืบค้นและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเอง ทั้งจากการอ่านและการสนทนากับหลายๆ คนจนมีเรื่องราวมาเล่าขานให้ฟังได้บ้าง

มหาดเล็กคนสนิท ผู้ดูแลการก่อสร้าง ‘พระที่นั่งอัมพรสถาน’ และ ‘พระที่นั่งวิมานเมฆ’
ต้องย้อนเล่าก่อนว่าพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ผู้ออกแบบก่อสร้างและเจ้าของบ้านคนแรกของตึกวิคตอเรียนหลังงามนี้ ในอดีตเคยมีตำแหน่งเป็นจางวางมหาดเล็กของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งด้วยความเป็นคนสนิทที่ในหลวงไม่ประสงค์ให้มีที่พำนักอยู่ห่างไกล จึงพระราชทานที่ดินและเงินอีก 300 ชั่งให้พระยาบุรษรัตนฯ มาสร้างบ้านอยู่ใกล้วังบนถนนราชวิถี จนเมื่อพระยาบุรุษรัตนฯ สร้างบ้านนี้เสร็จและได้ฤกษ์ทำบุญบ้านเมื่อ 13 มี.ค. 2448 ทั้ง ร.5 และ ร.6 ที่ขณะนั้นดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็ทรงเสด็จมาขึ้นบ้านใหม่ให้ด้วยพระองค์เอง
คุณนิดชวนพวกเราเดินชมภายในบ้านพลางเล่าว่าตัวบ้านนี้ออกแบบในสไตล์วิคตอเรียนโกธิค เป็นบ้านที่พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภท่านออกแบบเองทั้งหมด ทั้งเรื่องเลย์เอาท์และส่วนตกแต่งต่างๆ
“ว่ากันว่าท่านนำแรงบันดาลใจมาจากตามเสด็จประพาสของในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งด้วยความที่ท่านมีความสามารถด้านการก่อสร้างอยู่ จึงเก็บเล็กผสมน้อยสิ่งต่างๆ ที่ได้เห็นระหว่างการเดินทางมาใช้กับการออกแบบบ้านของตัวเอง”
คุณนิดเล่าพลางเดินนำขึ้นไปบนชั้นสองว่า หากยึดข้อมูลจากในบทจารึกของพระยาบุรุษรัตนฯ และจากหนังสือที่ลูกหลานของท่านเขียนไว้ ก็จะมีบอกไว้ว่าท่านได้ถวายงานดูแลการก่อสร้างอาคารฝรั่งที่ไหนบ้างอย่างละเอียด เช่นที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งวิมานเมฆ และที่ตำหนักทิพย์ เป็นต้น

“สำหรับบ้านหลังนี้ที่บางคนถามว่าเป็นศิลปะแบบโกธิคหรือเรอเนสซองท์ จริงๆ มันเป็นส่วนผสมของหลายอย่างนะ ถ้าคุณมองในรายละเอียดการตกแต่งภายใน เช่นที่การกรุช่องหน้าต่าง ลวดลายบนประตู หรือการตกแต่งเพดาน คุณจะเห็นทั้งศิลปะแบบบาโรค รอคโคโค แขกมัวร์ อิตาเลียนเฟรสโก ฯลฯ ก็น่าทึ่งนะคะว่ามันผสมกันได้ลงตัว”
โดยทั่วไปในอดีต บ้านเรือนที่ออกแบบโดยช่างอิตาเลียนแท้ๆ เขาจะไม่ผสมแบบนี้ สิ่งที่เราเห็นที่นี่มันคือรสนิยมส่วนตัวของคนที่มีความชอบหลากหลาย ส่วนโครงสร้างที่คล้ายป้อมปราการด้านข้างนั่นเป็นสไตล์วิคตอเรียน
ถ้าเป็นสมัยนี้เราคงเรียกว่าสไตล์อีเคลกติก (Eclectic) แต่มันเกิดขึ้นที่บ้านนี้ตั้งแต่ 115 ปีที่แล้ว
‘ทิ้งบ้าน’ เพราะความทรงจำ
“จากที่ศึกษาประวัติของท่าน พระยาบุรุษฯ นี้ท่านรับใช้ใต้เบื้องยุคลบาทมาตั้งแต่อายุสิบเจ็ด เป็นมหาดเล็กประจำห้องพระบรรทมในรัชกาลที่ 5 และเป็นผู้จดบันทึกเหตุการณ์ในห้องพระบรรทมก่อนจะเสด็จสวรรคต ต้องเรียกว่าเป็นคนรู้ใจถึงขั้นที่ในหลวงไม่ต้องทรงตรัส พระยาบุรุษรัตนฯ ก็สามารถทายใจได้ว่าในหลวงจะอยากเสวยอะไร อย่างในช่วงที่เสด็จประพาสยุโรป พระยาบุรษรัตนฯ สามารถบอกพ่อครัวที่โดยเสด็จไว้ก่อนเลยว่าพรุ่งนี้ในหลวงจะทรงอยากเสวยน้ำพริกกะปิแล้วล่ะ ซึ่งพอถึงเวลาที่ในหลวงตรัสขึ้นมา ท่านก็จะยิ้มตอบได้ทันทีว่า ‘กระหม่อมเตรียมไว้ให้แล้ว’ ถ้าเราไปเปิดประวัติของท่านอ่านดูก็จะเห็นว่าท่านเป็นที่รักของในหลวงมากแค่ไหน”
ในรูปถ่ายต่างๆ ที่ ร.5 พระราชทานให้พระยาบุรุษรัตนฯ จะมีลายพระหัตถ์เขียนไว้ทำนองว่า ขอบใจในความรักและความภักดีที่บุรุษรัตนฯ มีให้กับเราเสมอมา และลงชื่อตอนท้ายทุกครั้งว่า…สยามมินทร์
แต่เดิมนั้นพระยาบุรุษรัตนฯ ตั้งใจออกแบบมุมหนึ่งของบ้านไว้เพื่อตั้งโกศของตนเองกับภรรยาด้วย ซึ่งแปลว่าท่านทำบ้านนี้ด้วยหวังว่าจะอยู่อาศัยไปจนชั่วชีวิต แต่น่าเสียใจว่าเกิดเหตุการณ์พลิกผันที่ทำให้ท่านตัดสินใจย้ายออกไปก่อน โดยได้ยกบ้านหลังนี้ให้เป็นมรดกแก่ลูกชายคนโต และย้ายไปพำนักที่บ้านหลังใหม่แถวเพลินจิต ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ลูกชายคนโตของท่านก็ขายบ้านนี้ต่อให้กระทรวงการคลัง ซึ่งจากที่เราประมวลความคิดกัน เชื่อว่าเหตุผลที่พระยาบุรุษรัตนฯ ตัดสินใจย้ายจากบ้านน่าจะเพราะท่านใจสลาย

“ด้วยความที่ท่านเคยถวายงานใกล้ชิดพระมหากษัตริย์มาตลอดสามรัชกาล (รัชกาลที่ 5 – 6 – 7) พอครั้งบ้านเมืองเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475) ที่รัชกาลที่ 7 ต้องเสด็จออกนอกราชอาณาจักร พระยาบุรุษรัตนฯ เองในฐานะทหารที่รับใช้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทรัชกาลที่ 5 มายาวนาน จนถึงรัชกาลที่ 6 ก็ได้รับพระราชทานนามสกุล ‘ไกรฤกษ์’ จนสมัยรัชกาลที่ 7 ก็ได้รับพระราชทานตำแหน่งมหาเสวกเอก (เทียบเท่าประธานองคมนตรีในปัจจุบัน) ดังนั้นท่านคงมีความหลังหลายอย่างที่ทำให้ฝืนใจอยู่บ้านนี้ต่อไม่ได้ เพราะที่ดินผืนนี้ รวมทั้งเงินทองที่ใช้สร้างบ้านนี้ คือทรัพย์สมบัติที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงให้แก่ท่านด้วยความรักความเมตตา
การมอบบ้านเป็นมรดกแก่ทายาทในครั้งนั้น น่าจะเป็นด้วยความเศร้าโศกมากกว่าความสบายใจ
มันเหมือนคนที่อกหักอย่างรุนแรง ท่านก็เลยย้ายไปปลูกบ้านใหม่แถวถนนชิดลม เรียกกันว่าบ้านเพลินจิต ซึ่งถ้าคุณสังเกตตรงลานจอดรถเซ็นทรัลชิดลมนะ คุณจะเห็นศาลพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภอยู่แถวนั้นด้วย ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีคนบอกว่าเห็นท่านอยู่บ่อยๆ” เราขอบคุณคุณนิด – ฉัตรชนก อีกครั้งที่บริเวณหน้าบ้าน ยังประทับใจที่เธอปิดท้ายเรื่องเล่าประวัติศาสตร์นี้ได้ราวกับนิยายรักเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว
เกร็ดประวัติอื่นๆ
- พระยาบุรุษรัตนฯ เป็นหนึ่งในไม่กี่คนของพี่น้องตระกูลไกรฤกษ์รุ่นนั้นที่ไม่ได้วางโกศในเขตรั้วบ้านถนนราชวิถีตามประเพณี งานพระราชทานเพลิงศพของมหาเสวกเอกพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) จัดขึ้น ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2501
- บ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ เปลี่ยนมือจากทายาทตระกูลไกรฤกษ์มาเป็นของกระทรวงการคลังเมื่อปี พ.ศ.2495 ซึ่งได้มอบหมายให้กองทัพบกเป็นผู้ดูแลต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน บ้านหลังนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2521 ถือเป็นหนึ่งใน ‘บ้านพระยา’ จำนวนไม่กี่หลังในประเทศไทยที่ได้รับฐานันดรนี้
ลักษณะของบ้าน
บ้านหลังใหญ่ 2 ชั้นก่อสร้างเป็นรูปตัวแอล ด้วยศิลปะสไตล์วิคตอเรียนโกธิค หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง อาคารด้านนอกทาด้วยสีเหลือง บานหน้าต่าง-ประตูทาด้วยสีเทาและตกแต่งขอบด้วยปูนปั้น (plaster moulding)

ศิลปะบนเพดาน
ใครๆ ก็บอกว่าบ้าพระยาบุรุษรัตนนี้มีฝ้าเพดานเป็นพระเอกนางเอก เราลองไปดูกันว่าจริงไหม

ในส่วนชั้นล่างสิ่งที่โดดเด่นมากคือห้องรับแขกหรือห้องเลี้ยงรับรองที่มีทั้งห้องเล็กและห้องใหญ่ ประดับตกแต่งผนังและฝ้าเพดานอย่างงดงามด้วยศิลปะแบบรอคโคโคบ้าง แขกมัวร์บ้าง คาดเดาว่าในอดีตบ้านพระยาหลังนี้คงมีการจัดปาร์ตี้อยู่บ่อยครั้ง



ฟังก์ชั่นการใช้สอย
สังเกตว่าห้องนอนทุกห้องในบ้านนี้จะถูกออกแบบให้มีห้องน้ำในตัวทุกห้อง (en-suite) โดยเลียนแบบฟังก์ชั่นบ้านขุนนางที่เน้นห้องน้ำขนาดใหญ่

สำหรับใครที่สนใจในประวัติศาสตร์และอยากเยี่ยมชมภายในบ้านจริงๆ สามารถติดต่อขอชมเป็นหมู่คณะได้ที่สำนักงานตรวจสอบบัญชีกองทัพบก ใกล้วชิระพยาบาลและสะพานซังฮี้
ภาพ: อวิกา บัววัฒนา