ปูนปั้น – กมลลักษณ์ สุขชัย ศิลปินภาพถ่ายรุ่นใหม่ จบปริญญาตรีด้านออกแบบภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และปริญญาโทด้านทัศนศิลป์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบัง เธอได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 20 ศิลปินภาพถ่ายที่น่าจับตามองที่สุดในปี 2020 จากนิตยสาร FOAM (นิตยสารภาพถ่ายของ Photography Museum Amsterdam) ปัจจุบันปูนปั้นเป็นศิลปินอิสระในกลุ่ม Asian Spiritual Playground
ในนิทรรศการล่าสุดของเธอที่จัดแสดงระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2563 ปูนปั้นใช้ภาพถ่ายประกอบสร้างเป็นนิทานกึ่งตำนานพื้นบ้าน ที่ตีแผ่ทัศนคติเชิงลบต่อสตรีเพศในสังคมไทย ผนวกกับแรงบันดาลใจจากฉากและเครื่องแต่งกายของละครโทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ และการใช้สี/พื้นผิวในสไตล์ภาพประกอบนิยายน้ำเน่าตามนิตยสารราคาถูก ส่งผลให้ผลงานภาพถ่ายชุดนี้ของเธอเต็มไปด้วยความ ‘ดิบสด’ และเปี่ยมเสน่ห์ของความ ‘เหนือจริง’ ได้อย่างน่าพิศวง

มานิต ศรีวานิชภูมิ ภัณฑารักษ์ของคัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี่ เจ้าของพื้นที่แสดงงาน กล่าวถึงผลงานชุดนี้ว่า “กมลลักษณ์ผลิตผลงานชุดนี้เหมือนงานสร้างภาพยนตร์ ตั้งแต่เขียนบท กำกับการแสดง ออกแบบชุด ถ่ายทำ และตกแต่งสีภาพ เธอใช้ความรู้ที่เรียนมาและประสบการณ์ชีวิตที่แวดล้อมด้วยป้าๆ น้าๆ อาๆ ผู้หญิงมาเป็นส่วนผสมในการทำงาน แถมยังขอให้คนในครอบครัวมาร่วมเป็นแบบแสดงด้วย ทำให้ผลงานชุดนี้ดูสมจริงเข้ากับเรื่องแต่งอย่างมาก”
Kooper มีโอกาสพูดคุยกับศิลปินหน้าใหม่ไฟแรงคนนี้ ถึงที่มาที่ไปและแนวคิดเบื้องหลังนิทรรศการ ‘บัวแดง’ ที่เธอภูมิใจนำเสนอ

KP: เนื้อหาในนิทรรศการ “บัวแดง” ของคุณมีที่มาจากไหน
ปูนปั้น: เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาเองค่ะ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานพื้นเมือง และวรรณกรรมพื้นบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำเรื่องราวของตัวเองบางส่วนเข้ามาผสมกัน สร้างเป็นเนื้อเรื่องใหม่ขึ้นมา เรื่องมีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่ง มีหญิงสาวที่ลอยน้ำมาที่หมู่บ้าน มีชาวบ้านมาพบแล้วช่วยเธอขึ้นฝั่ง ด้วยความงามและกลิ่นกายหอมของเธอ ทำให้ผู้ชายในหมู่บ้านต่างก็อยากได้เธอเป็นภรรยาจนเกิดการต่อสู้แย่งชิงกัน ทำให้เจ้าเมืองต้องลงมาจัดการแก้ปัญหา ด้วยการเนรเทศเธอไปอยู่กับฤาษีและนักพรตหญิงผู้ถือพรหมจรรย์ทั้ง 12 ในป่าศักดิ์สิทธิ์ ทำให้หญิงสาวต้องนับถือพรหมจรรย์ไปด้วย อยู่มาวันหนึ่ง หญิงสาวได้กลิ่นหอมที่ยั่วยวน เธอจึงออกเดินตามไปจนเจอต้นไม้ที่มีผลหน้าตาประหลาด มีลักษณะเหมือนน้ำเต้าสีทอง เธอก็ปีนขึ้นไปเก็บ
แต่ด้วยความที่วันนั้นเธอมีประจำเดือนเป็นครั้งแรก แล้วบังเอิญมีนายพรานผู้มีอาคมแกร่งกล้าเดินผ่านมาใต้ต้นไม้นั้นและถูกประจำเดือนของเธอหยดใส่จนทำให้เวทมนต์เสื่อมฤทธิ์ นายพรานขอให้เธอชดใช้ด้วยความบริสุทธิ์ ทั้งสองจึงลักลอบมีความสัมพันธ์ทางเพศกัน หลังจากนั้นพอถึงเวลาทำพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ ฤๅษีและนักพรตหญิงพรหมจรรย์ก็โปรยดอกไม้ลงไปในบ่อน้ำ และอัญเชิญให้หญิงสาวลงไปอาบ ก็กลับเกิดเหตุการณ์คล้ายเป็นอาเพศ น้ำใสกลายเป็นสีแดงฉาน ทำให้บ่อน้ำไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป ทุกคนจึงรู้ว่าหญิงสาวเสียพรหมจรรย์ไปแล้ว เหล่าผู้ทำพิธีและชาวบ้านโกรธแค้นและสาปแช่งเธอ ลงโทษเธอด้วยการเฉือนหน้าอกและตัดอวัยวะเพศทิ้ง เพื่อเป็นการบูชายัญเซ่นไหว้ต่อบ่อศักดิ์สิทธิ์
ก่อนจะสิ้นใจ หญิงสาวอธิษฐานต่อพระอินทร์ว่า ชาติหน้าขอให้เธอเกิดมาเป็นดอกไม้เพื่อรับใช้สิ่งศักดิ์สิทธ์ิตลอดไป แล้วเธอก็เกิดใหม่มาเป็นดอกบัวแดง กลายเป็นตำนานของหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีบึงบัวชื่อว่า บึงบัวแดง
KP: ฟังดูคล้ายกับนิยายภาพเหมือนกัน
ปูนปั้น: ใช่ค่ะ ผลงานภาพถ่ายชุดนี้เป็นเรื่องเล่าคล้ายๆ กับนิยายภาพ โดยเป็นภาพถ่าย/คอลลาจที่ทำออกมาตามเนื้อเรื่องเลย แต่งานชุดนี้ยังไม่จบนะ เป็นแค่ส่วนแรก จะมีผลงานอีกส่วนที่เป็นโลกคู่ขนานกันกับเนื้อเรื่องนี้อีก คิดว่าน่าจะทำให้จบบริบูรณ์ได้ในปีนี้
KP: ทำไมคุณถึงเลือกใช้เทคนิกคอลลาจภาพถ่ายในการทำงาน
ปูนปั้น: จริงๆ งานชุดนี้เคยเป็นงานศิลปนิพนธ์ปริญญาโทมาก่อนค่ะ ซึ่งก่อนหน้านี้เราใช้ภาพถ่ายล้วนๆ แต่ต่อมาเราพัฒนารูปแบบการทำงาน ด้วยความที่เราอยากสร้างโลกแบบเดียวกับในหนังของ จอร์จ เมลิแยร์ ขึ้นมา แต่ก็รู้สึกว่าโปรดักชั่นมันแพง เพราะเราต้องสร้างฉาก สร้างป่าเขา หินปลอม อะไรขึ้นมา ก็เลยลองใช้เทคนิคคอลลาจตัดแปะภาพถ่ายกับภาพจากนิตยสารเก่าๆ สร้างเป็นฉากของภาพขึ้นมาแทน
KP: การทำงานคอลลาจในภาพถ่ายโดยทั่วไปมักจะทำให้ดูเนียนๆ แต่งานของคุณดูเหมือนจงใจทำให้หยาบ เหมือนอยากให้คนดูรู้ว่าตัดปะภาพ
ปูนปั้น: ที่เราจงใจทำออกมาให้ดูรู้ว่าเป็นของปลอม เพราะเราอยากให้งานดูมีความย้อนแย้งอะไรบางอย่าง คือให้ดูเหมือนเป็นของจริง แต่ก็ดูออกว่าปลอมด้วย เพราะเรารู้สึกชอบอะไรที่ดูปลอมๆ (หัวเราะ) ถ้าพูดให้ไพเราะขึ้นก็คือ เราชอบสิ่งสมมุติ
โลกที่เราอยู่เกิดจากการประกอบสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง เราสมมุติสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเพื่อจะอยู่ในนั้น ไม่ต่างอะไรจากฉากละคร ที่ถึงแม้จะถูกสมมุติให้ดูเหมือนจริงแค่ไหน แท้จริงมันก็ของปลอมอยู่ดี
KP: ก่อนหน้านี้คุณเรียนมาทางภาพยนตร์ ทำไมถึงหันเหมาทำงานภาพถ่าย
ปูนปั้น: สมัยเรียนปริญญาตรีสาขาออกแบบภาพยนตร์ ก็มีความชอบในด้านการเขียนบทสำหรับออกแบบฉาก และคาแรคเตอร์ของตัวละครในหนัง เหมือนเราสร้างโลกใบหนึ่งขึ้นมา แต่โดยส่วนตัวเป็นคนที่ไม่ชอบออกกองถ่าย เราไม่มีพลังพอที่จะอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น (หัวเราะ) เราชอบที่จะเป็นคนทำงานในกระบวนการเตรียมก่อนถ่ายทำมากกว่า และพอดีว่าช่วงใกล้เรียนจบเราได้กล้องถ่ายรูปมาตัวนึง เป็นกล้องฟิล์มแบบเดียวกับที่คุณพ่อเคยใช้ พอทดลองถ่ายดูก็รู้สึกว่าเป็นสื่อและเทคนิกการทำงานที่เหมาะกับเรา ซึ่งพอจบปริญญาตรีก็ตัดสินใจเรียนต่อโทด้านทัศนศิลป์ เปลี่ยนจากการทำงานภาพเคลื่อนไหวมาทำงานภาพถ่ายแทน
KP: งานของคุณมีนัยยะวิพากษ์สังคมเกี่ยวกับสถานภาพของผู้หญิงที่ถูกกดขี่ แบบนี้เรียกว่าเป็นงานแนวเฟมินิสต์ได้ไหม
ปูนปั้น: เราก็ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์สังคมหนักหน่วงอะไรขนาดนั้นค่ะ เราแค่อยากพูดถึงสถานภาพความเป็นผู้หญิงของตัวเรา และสังคมบ้านเรา ที่ต้องอยู่ในกรอบประเพณี รักนวลสงวนตัว ต้องไม่แสดงออกเรื่องเพศ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝังมาในครอบครัวและส่งต่อมาสู่สังคม ซึ่งจะว่าไปก่อนหน้านี้เราก็ทำงานที่มีเนื้อหาเชิงเฟมินิสต์มาโดยตลอด ตั้งแต่ตอนเรียนภาพยนตร์แล้ว โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำ

เราสร้างสถานการณ์ที่เป็นปมขัดแย้งทางเพศขึ้นมา เพื่อตั้งคำถามต่อสถานภาพของผู้หญิง ทั้งในแง่ปมขัดแย้งเชิงอำนาจระหว่างเพศ ปมขัดแย้งเชิงศาสนา ไปจนถึงปมขัดแย้งระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์
KP: เคยถามตัวเองไหมว่าทำไมถึงสนใจประเด็นเหล่านี้
ปูนปั้น: ช่วงหลังๆ เพิ่งจะมาทำความเข้าใจตนเองว่า ที่บ้านเราอยู่กับครอบครัวของคุณพ่อซึ่งมีพี่สาว 7 คน ในบ้านเป็นผู้หญิงหมดเลย ส่วนนึงคงจะเป็นเพราะเราโตมาในสภาพแวดล้อมแบบนั้น และอีกอย่างด้วยความที่คุณป้าของเราเป็นคนต่างจังหวัด (ราชบุรี) และเป็นผู้หญิงคนแรกในหมู่บ้านที่ได้รับปริญญา ป้าเขาก็ใช้การศึกษาเป็นเครื่องหลีกหนีจากความยากจน จากสายตาของคนรอบข้างที่เพ่งเล็งว่าเขาจะท้องก่อนเรียนจบ ฯลฯ เขาเอาค่านิยมเหล่านี้ปลูกฝังให้เรามาแต่เด็ก เราจะต้องไม่เป็นผู้หญิงไม่ดี ไม่เกเร ไม่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ท้องก่อนแต่ง ฯลฯ คือในความคิดของเขาผู้หญิงที่ดีต้องรักษาพรหมจารีย์เอาไว้ ซึ่งตอนแรกเราก็มีค่านิยมแบบนั้นนะ แต่พอได้เรียนภาพยนตร์ ได้ดูหนังหลากหลาย ก็เหมือนกับได้เปิดโลกใหม่ เราก็เริ่มศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับสังคมและประวัติศาสตร์
ตอนทำวิทยานิพนธ์ เราก็ทำเรื่องโสเภณีสมัยอยุธยาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายตราสามดวง ว่าโสเภณีเป็นกลุ่มคนจำพวกหนึ่งที่ไม่สามารถเป็นพยานในชั้นศาลได้ นอกเหนือจากกลุ่มขอทานและบัณเฑาะก์ รวมถึงการมีกฏหมายลงโทษผู้หญิงที่มีชู้ ในขณะที่ผู้ชายสมัยนั้นกลับมีภรรยาได้หลายคน แต่ผู้หญิงมีสามีมากกว่าหนึ่งไม่ได้เลย ถ้าผู้หญิงถูกจับได้ว่ามีชู้ก็จะถูกลงโทษด้วยการทัดดอกชบาสองหู หนักๆ ก็กล้อนผม ตีฆ้องแห่ประจาน ซึ่งเราคิดว่ามันไม่ยุติธรรมเลย
ที่เราทำงานในประเด็นของเฟมินิสต์ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องการให้ผู้หญิงเป็นใหญ่กว่าผู้ชาย เราแค่ต้องการกระตุ้นให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเพศมากกว่า
กมลลักษณ์ สุขชัย
นิทรรศการ บัวแดง (Red Lotus) จัดแสดงระหว่าง 7 มีนาคม – 27 มิถุนายน 2563 ที่ Kathmandu Photo Gallery Bangkok
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศิลปิน : kamonlaksukchai.org