ผนังฉาบปูนพลาสเตอร์สีขาว โต๊ะไม้ เก้าอี้ Hans Wegner และเทียนสีขาวบนโต๊ะ แถมอีกห้องยังมีเตาผิงแบบดิจิตัลด้วย… ถ้าไม่ได้เห็นกับตาก็คงไม่เชื่อว่านี่คือออฟฟิศที่มีอยู่จริง แต่นี่แหละคือสตูดิโอของยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ (Jacob Jensen Design) แบรนด์ดีไซน์ระดับโลกที่กรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ในชั้น 15 ของอาคาร The Knowledge Exchange: KX แถวฝั่งธนนี่เอง
Jacob Jensen Design | KMUTT Bangkok คือซิสเตอร์ สตูดิโอแห่งที่สองของยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ หลังจากเปิดแห่งแรกที่เซี่ยงไฮ้ ทางแบรนด์ก็ได้มาเปิดสตูดิโอแห่งนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือด้านวิชาการ ซึ่งก็คือการสอนหลักสูตรออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) ให้กับนักศึกษามจธ. ที่อยู่ในโปรแกรม และการบริการด้านการออกแบบ (design service) ให้แก่แบรนด์ต่างๆ โดยงานทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การดูแลของเซบาสเตียน มาลวิลล์ (Sebastien Maleville) ครีเอทีฟดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส

KP: อยากให้คุณช่วยแนะนำ ยาคอบ เยนเซ่น ให้ผู้อ่านของเรารู้จักหน่อยค่ะ
เซบาสเตียน: ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ก่อตั้งในปีค.ศ. 1958 ในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยยาคอบ เยนเซ่นครับ ผลงานออกแบบแรกๆ ของเขาคืองานที่เขาทำให้กับ Bang & Olufsen (B&O) พอทำงานกับแบรนด์นี้เยอะขึ้น เขาก็ย้ายออฟฟิศจากโคเปนเฮเกนมาทางเหนือ มาอยู่กลางทุ่งนาใกล้ๆกับโรงงานของ B&O เลย และนับจากนั้นเราก็ขยายขอบเขตของงานออกแบบเรื่อยๆ จนครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม และไปทั่วโลก จนปีค.ศ. 2011 เราก็เปิดสตูดิโอที่เซี่ยงไฮ้ แล้วก็ตามมาที่สตูดิโอในกรุงเทพฯ ในปีค.ศ. 2015
อะไรคือจุดเริ่มต้นของการตั้งซิสเตอร์ สตูดิโอในประเทศต่างๆ
มันเริ่มมาจากเรื่องการศึกษานะ คุณยาคอบ เยนเซ่นเริ่มทำงานโดยเป็นผู้ช่วยคุณพ่อของเขาที่เป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ และเขาก็เรียนเรื่องงานฝีมือจากคุณพ่อนี่เอง จากนั้นเขาก็พยายามสืบสานแนวคิดในการเรียนการสอนนี้ที่สตูดิโอของเขา การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำและการฝึกฝนคือสิ่งที่เราอยากจะส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ และนี่คือที่มาของการตั้งซิสเตอร์ สตูดิโอของเรา โชคดีที่เราได้พาร์ทเนอร์เป็น มจธ. ที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน มหาวิทยาลัยแห่งนี้มองเห็นว่าวิธีการเรียนการสอนแบบเดิมอาจจะล้าสมัยไปแล้ว พวกเขาอยากจะเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ใหม่ เพราะการให้เด็กนั่งฟังเล็กเชอร์จากอาจารย์ 4 ปีเต็มอาจจะไม่เวิร์กแล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็เลยเปลี่ยนมาเป็นวิธีบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน (work-integrated learning) หลังจากนักศึกษาเรียนพื้นฐานใน 2 ปีแรก อีก 2 ปีจะเป็นเวลาที่มาทำงานกับเราที่สตูดิโอ เราเรียกการเรียนแบบนี้ว่า apprenticeship ไม่ใช่ internship ที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ เราอยากจะให้นักศึกษาได้รู้ว่าชีวิตจริงของดีไซเนอร์เป็นอย่างไร เริ่มตั้งแต่ไปเจอลูกค้า ไปดูโรงงาน ไปจนถึงการเก็บข้อมูลเพื่อออกแบบ นักศึกษาจะได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนทั้งหมด และได้เรียนรู้ทักษะที่ใช้ในการทำงาน (hard skills) รวมถึงทักษะด้านอารมณ์และการสื่อสาร (soft skills) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หาเรียนไม่ค่อยได้ในสถาบันการศึกษาทั่วไปครับ
แปลว่าคุณให้นักศึกษามาร่วมออกแบบด้วยเลย
ใช่ครับ เด็กๆ จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมของเรา ซึ่งก็ดีนะ เพราะพวกเขาก็มีความคิดและวิธีคิดต่างจากเรา ที่นี่ยิ่งหลากหลายยิ่งดีครับ แม้พวกเขาอาจจะยังไม่มีประสบการณ์ แต่เราก็มีทีมที่จะช่วยแนะนำ ดูและและช่วยให้เขาพัฒนาไอเดียไปได้ไกลกว่าเดิม
“นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากการทำงานจริงๆ ดีลกับลูกค้าจริงๆ ทำงานจากบรีฟจริง เดดไลน์จริง นี่แหละชีวิตจริง ไม่ใช่ทำงานกับบรีฟและลูกค้าในจินตนาการ วิธีนี้ทำให้พวกเขาได้เตรียมพร้อม และพอจบออกไปก็ทำงานได้เลย”
นอกจากการสอนแล้ว ที่นี่มีส่วนที่ให้บริการด้านการออกแบบด้วย
จริงๆแล้ว ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ก่อตั้งขึ้นในฐานะผู้ให้บริการด้านการออกแบบครับ เรานำเสนอโซลูชั่นด้านการออกแบบมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1958 และวันนี้ก็ยังทำอยู่ ในยุคทศวรรษที่ 1980 เราก่อตั้งแบรนด์และเครื่องหมายการค้าขึ้นมา และเราก็ออกแบบและผลิตสินค้าหลายอย่างภายใต้แบรนด์ยาคอบ เยนเซ่น อย่างเช่นสินค้าแต่งบ้าน จิวเวลรี่ นาฬิกา อุปกรณ์ต่างๆ เครื่องทำขนมปังก็ยังมี ยาคอบ เยนเซ่นเป็นแบรนด์ที่มีภาษาด้านการออกแบบและดีเอ็นเอที่เด่นชัด ใครเห็นก็จำได้ครับ แต่ถ้าเป็นการบริการด้านการออกแบบ ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า ส่วนใหญ่ลูกค้าที่นี่จะเป็นบริษัทในไทยเป็นหลัก เมื่อก่อนอาจจะมีจากประเทศเพื่อนบ้านบ้าง
ที่นี่ออกแบบได้ทุกอย่างเลยรึเปล่า เพราะดูจากงานลูกค้าแล้วหลากหลายมาก
เราออกแบบได้ทุกอย่าง เพราะเรามีหลักการ ปรัชญาและคุณค่าที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับทุกอย่างได้ ดังนั้นพูดได้ว่าเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งครับ ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน บางบริษัทมักจะชินกับการทำแบบเดิมๆ บางทีเขาก็แค่ต้องการมุมมองใหม่ๆ ซึ่งเราเองก็อาจจะมีวิธีคิดที่แตกต่างออกไป ทำให้อาจจะได้อะไรใหม่ๆ หรืออะไรที่เปลี่ยนวงการเลยก็ได้ บางที ประสบการณ์ในชีวิตก็เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง
ได้ยินมาว่ายาคอบ เยนเซ่นเคยออกแบบโลงศพด้วย
นั่นเป็นตัวอย่างที่ดีเลยครับ มีบริษัทผลิตโลงศพบริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่งในเดนมาร์ก เขาเน้นขายโลงศพในละแวกนั้น และผลิตโลงศพทำจากไม้แบบเดิมมาร้อยปี จนกระทั่งครบร้อยปี ทางบริษัทก็อยากจะทำอะไรที่แตกต่างจากเดิมเพื่อฉลองโอกาสพิเศษนี้ ก็เลยมาติดต่อยาคอบ เยนเซ่น ซึ่งทางเราเองก็ไม่เคยออกแบบโลงศพมาก่อนเหมือนกัน แต่เราก็ลองดู และสิ่งแรกที่เราทำคือขอให้เขาส่งโลงศพรุ่นที่ขายดีที่สุดมาให้ที่สตูดิโอ โปรเจ็กต์นี้น่าสนใจมากครับ เพราะโลงศพเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอุปโภคที่เร็วมาก คุณอาจจะเห็นโลงศพแค่ 20 นาทีก่อนฝังหรือเผา แต่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์มากเหมือนกัน เราก็เลยออกแบบโลงศพไม้เคลือบแลกเกอร์เป็นรูปทรงเหมือนเหลี่ยมเพชร เพราะเพชรคือสิ่งที่อยู่เป็นนิรันดร์ (Diamonds are forever) และเราก็อยากจะส่งคนที่เรารักในสภาพที่ดีที่สุด โลงศพรุ่นนี้มี 3 สี คือขาว ดำ และแดงเฟอร์รารี่ สำหรับคนที่อยากจะไปสวรรค์เร็วขึ้นอีก ปรากฏว่าบริษัทนี้ดังไปเลย จากเดิมที่ขายในละแวกนั้น ตอนนี้เขาส่งออกโลงศพออกไป 17 ประเทศ แถมยังได้รางวัลออกแบบด้วย

ช่วยเล่าถึงขั้นตอนการออกแบบให้ฟังหน่อย
เราจะเริ่มจากการค้นหาครับ เป็นช่วงทำการบ้านว่าลูกค้าต้องการอะไร และเป้าหมายที่เป็นความฝันของลูกค้าคืออะไร สิ่งที่ลูกค้าต้องการมุ่งไปถึงคืออะไร และจะทำอย่างไรให้แตกต่างจากคู่แข่งและดีที่สุด จากนั้นเราก็ลองเล่นกับไอเดียต่างๆ หาวิธีที่จะแก้ปัญหา เราจะไม่ด่วนสรุปแล้วก็จบ แต่ลองมองดูว่าเราจะไปไกลและแหวกแนวได้แค่ไหนในการแก้ปัญหาที่มี เราพยายามลองหลายๆ ทางก่อนจะเลือก จากนั้นก็ลองนำเสนอลูกค้า แล้วก็เอาไอเดียที่เลือกมาพัฒนาต่อไปอีก เราสร้างโมเดลแบบ 1 ต่อ 1 เพื่อให้แน่ใจว่าเราเดินมาถูกทาง พอเป็นเรื่องการออกแบบแล้ว เราไม่ชอบใช้ทางลัด ก็เลยจะทำอะไรที่ตรงไปตรงมา แต่เราก็เชื่อว่านี่คือวิธีที่ถูกต้อง เราเน้นการมองปัญหาอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้ได้โซลูชั่นที่สมเหตุสมผลและมีความหมาย ที่นี่เน้นมากครับเรื่องการสร้างสรรค์สิ่งที่มีความหมาย
การทำโมเดลแบบ 1 ต่อ 1 ยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคนี้
แม้ว่าเราจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่เรายังคงเน้นปรัชญาเรื่องการลงมือทำจริง เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรา ตอนคุณยาคอบ เยนเซ่นเริ่มทำงานก็ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ วิธีเดียวที่เขาจะทำให้สิ่งที่เขาออกแบบเป็นรูปเป็นร่างคือการสร้างโมเดลจากกระดาษลังขึ้นมา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำขึ้นได้เร็ว วันหนึ่งคุณอาจจะทำได้แค่อันเดียวเท่านั้น วันต่อมาคุณก็จะมาดูโมเดลที่คุณสร้างว่าต้องปรับตรงไหนบ้าง แล้วก็สร้างอีกอันหนึ่ง ทุกวันนี้เราใช้วิธีผสมผสานระหว่างการทำโมเดลกระดาษกับการพิมพ์สามมิติและเทคโนโลยีดิจิตัลอื่นๆ สรุปก็คือเราเลือกรับเอาสิ่งที่ดีที่สุดของทั้งสองด้านมาใช้ เราพยายามจะไม่ยึดติดกับคอมพิวเตอร์มาก เพราะเรื่องสัดส่วน ขนาดหรือมิติต่างๆ อาจจะคลาดเคลื่อนได้ แต่การทำโมเดลช่วยให้คุณสามารถสัมผัสกับความเป็นวัตถุได้มากกว่า คุณสามารถหยิบมาพลิกดูหรือขยับได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะคุณจะได้สัมผัสกับงานที่คุณออกแบบแต่เนิ่นๆ และคุณก็จะเห็นปัญหาแต่เนิ่นๆ เช่นกัน

งานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดีในความคิดของคุณคืออะไร
คือสินค้าหรือประสบการณ์ที่ผู้บริโภครู้สึกเชื่อมโยงได้ มันอาจจะไม่ต้องสวยมาก แต่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ และผู้ใช้สามารถโฟกัสที่ประสบกการณ์การใช้ได้ งานออกแบบนั้นควรช่วยให้ผู้ใช้ใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติที่สุด เราเน้นที่การมอบประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมงานหลายชิ้นของเราถึงดูเรียบ นิ่ง และสงบมาก เพราะเราไม่อยากตะโกนใส่ผู้ใช้ ลองนึกภาพบ้านที่เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่พยายามแย่งความสนใจจากคุณดูสิ เราไม่อยากทำแบบนั้น เราอยากทำงานออกแบบที่เชื่อมโยงกับผู้ใช้ และสามารถอยู่นิ่งๆ ในฉากหลังแล้วทำงานของตัวเองไป และในขณะเดียวกันก็ดูดี และมอบประสบการณ์ที่ดีให้ผู้ใช้
ทำไมถึงเลือกออกแบบออฟฟิศเป็นแบบนี้
เราอยากจะสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นเหมือนบ้านครับ เราอยากให้นักออกแบบของเรารู้สึกว่าพวกเขาอยู่ที่บ้าน เพราะบ้านคือที่ที่คนรู้สึกสบายที่สุด เมื่อมาถึงที่นี่ คุณสามารถหลบหนีจากความวุ่นวายด้านนอก และผ่อนคลายได้ และเมื่อคุณรู้สึกแบบนั้น คุณก็จะสามารถโฟกัสกับสิ่งที่คุณทำ และทำมันได้ดี
คำถามสุดท้าย คุณคิดอย่างไรกับตลาดงานสร้างสรรค์ในประเทศไทยบ้าง
ผมว่าที่นี่มีแลนด์สเคปที่น่าสนใจนะ เราพบว่าคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์มาก มีเด็กรุ่นใหม่ที่เก่งๆ เต็มไปหมด แต่น่าเสียดายที่หลังจากเรียนจบ พวกเขากลับออกจากวงการ หรืออยากไปทำงานที่อื่นมากกว่า ยาคอบ เยนเซ่น ดีไซน์ ทำโปรเจ็กต์นี้ร่วมกับ มจธ. เพราะเราอยากจะสร้างเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้มีอิสระที่จะแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ที่ตัวเองมี และท้ายที่สุดแล้ว เราจะสามารถยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้ เรามาที่นี่เพราะเราอยากช่วยแบรนด์ไทยครับ ทุกวันนี้ ยังมีแบรนด์ไทยไม่มากนักที่ไปถึงระดับโลก บางครั้ง บางแบรนด์อาจจะต้องการทิศทาง หรือการผลักดัน หรือแง่มุมด้านการสื่อสารเพื่อที่จะไปต่อ และเราเองก็ไม่ได้ต้องการจะเปลี่ยนใคร แต่ช่วยให้ไปถึงจุดหมายเท่านั้นเองครับ
Jacob Jensen Design | KMUTT Bangkok ตั้งอยู่ที่ชั้น 15 อาคาร The Knowledge Exchange: KX (ระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรีและวงเวียนใหญ่) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่อีเมล Bangkok@jacobjensen.com เว็บไซต์ jacobjensendesign.com