เป็นที่รู้กันว่าในอนาคตประชากรเมืองใหญ่จะมีจำนวนมากขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์โลก ดินแดนชนบทจะร้างคน สังคมผู้สูงอายุจะถึงจุดสัมบูรณ์ และแม้ในเมืองจะมีผู้คนมากมาย แต่เราทุกคนกลับต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ขาดแคลนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และไม่ได้มีเงินเก็บที่เพียงพอต่อการซื้อคุณภาพชีวิตไปจนลมหายใจสุดท้าย
แล้วมนุษย์เราจะยังคงหาความสุขกันได้ไหม ?
การอยู่อาศัยในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ?
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้ยินคำถามแนวนี้แต่อาจจะเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นความพยายามในการหาคำตอบอย่างเป็นรูปธรรมจากแบรนด์เฟอร์นิเจอร์แบรนด์หนึ่ง และ ‘อิเกีย’ ก็คือแบรนด์ๆ นั้น
สำหรับอิเกียแล้ว ปรัชญาที่แบรนด์วางไว้แต่แรกเริ่มคือการออกแบบบนวิถีประชาธิปไตย (Democratic Design) นั่นคือการทำเฟอร์นิเจอร์ที่หน้าตาดี คุณภาพดี ใส่ใจทุกแง่มุม และในสนนราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทั้งนี้ก็เพื่อจะผลักดันให้งานดีไซน์นั้นๆ เป็นสินค้าเพื่อมวลชนได้อย่างแท้จริง
เมื่อเดือนมิถุนายน 2019 เรามีโอกาสไปร่วมงาน Democratic Design Days 2019 ที่ประเทศสวีเดน ภายในงานประกอบไปด้วยนิทรรศการและการบรรยายที่พูดถึงโครงการต่างๆ ของอิเกียที่จับมือกับดีไซเนอร์ทั่วโลก สร้างคอลเลคชั่นพิเศษภายใต้แนวคิด ‘ดีไซน์เพื่อมวลชนและความยั่งยืน’ แต่หนึ่งโครงการที่เราประทับใจเป็นพิเศษ คือโครงการออกแบบที่พักอาศัย The Urban Village Project ที่อิเกียจับมือกับ Space10 (Research & Design Lab) และ EFFEKT Architects จากประเทศเดนมาร์ก ทีมงานทั้งสามฝ่ายเริ่มต้นตั้งคำถามง่ายๆ ว่า What is Home today and tomorrow? เพื่อจะนำไปสู่การควานหาคำตอบ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ว่า “เราจะอยู่ในเมืองใหญ่กันอย่างไรให้ยั่งยืนที่สุดในวันข้างหน้า”
หมู่บ้านแห่งการแบ่งปัน

ภายใต้ปัจจัยหลัก 5 ข้อที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์ นั่นคือ 1) การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสังคมเมือง 2) ความผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจ 3) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 4) สภาพอากาศที่แปรปรวน และทรัพยากรที่จำกัด และ 5) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรศาสตร์แบบฉับพลัน The Urban Village Project มุ่งเป้าจะไขโจทย์จากผลกระทบ (ใหญ่หลวง) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ผ่านการออกแบบ ‘บ้านของทุกคน’ บนแนวคิดสามข้อ ได้แก่ Livability, Sustainability และ Affordability
“ในเมื่อทรัพยากรก็มีจำกัด คนสูงวัยที่ไม่มีลูกหลานก็มากมาย แถมคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีฐานะมั่งคั่ง บางทีบ้านในแบบที่บรรพบุรุษของเราเคยอาศัยร่วมกันในชนบท โดยมี ‘ใจบ้าน’ ไว้แบ่งปันร่วมกัน ก็อาจถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในบริบทเมืองก็ได้”
ไอเดียนี้นำไปสู่การทดลองออกแบบโครงสร้างที่พักในรูปแบบ ‘บล็อกยูนิต’ โดยแต่ละยูนิตสามารถเพิ่มลดขนาดได้ตามจำนวนผู้อยู่อาศัย ที่สำคัญคือสามารถปลูกสร้างบนพื้นที่ลักษณะไหนก็ได้ อาทิ แทรกตัวอยู่ระหว่างช่องตึก หรือผสมปนเปไปกับสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ได้แบบไม่มีข้อจำกัด

“แม้พื้นที่ส่วนตัวจะเล็ก แต่เรามีพื้นที่ส่วนกลางมากมาย ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่สวนสาธารณะ แต่หมายถึงห้องครัว ห้องฟิตเนส คลินิกสุขภาพ ฟาร์มผักผลไม้ ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน ห้องจัดงาน ห้องทำงานช่าง สนามเด็กเล่น ร้านขายของ เรื่อยไปจนถึงสเตชั่นสำหรับจักรยานไฟฟ้า โดยพื้นที่เหล่านี้จะเปิดโอกาสให้คนหลากวัยได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ได้แบ่งปันทรัพยากรระหว่างกัน และทุกคนสามารถจะใช้ชีวิตรอบด้านได้อย่างที่ควรจะเป็น เราเชื่อว่าการพบปะกันแบบตัวเป็นๆ จะช่วยให้มนุษย์เราลดความรู้สึกเหงา เศร้า และโดดเดี่ยว ลงได้บ้าง” ทีมงานเล่าถึงแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านที่พักอาศัยในอนาคต


ในแง่มุมของความยั่งยืน บล็อกยูนิตเหล่านี้ได้ซ่อนระบบสาธารณูปโภคไว้อย่างกลมกลืน มีระบบจัดการน้ำและจัดเก็บพลังงานที่สะสมจากธรรมชาติ มีพื้นที่สำหรับปลูกพืชผลและผลิตอาหาร มีระบบกำจัดขยะ รวมถึงพื้นที่เก็บของส่วนกลางในหมู่บ้านที่นานๆ เราจะนำมาใช้กันสักที (เช่น ค้อน สว่าน ฯลฯ) “ของแบบนี้มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องมีในครอบครองกันทุกคน แต่หมู่บ้านควรมีไว้หลายๆ ชิ้นเป็นส่วนรวมเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย”

ในส่วนของวัสดุก่อสร้าง EFFEKT Architects วางแผนว่าจะอาศัยไม้จากป่าปลูก และวัสดุมาตรฐานที่ถอดเปลี่ยน ซ่อมแซม และนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ง่าย หัวใจคือต้องสามารถปลูกสร้างได้ในต้นทุนต่ำ เพื่อเปิดโอกาสให้ ‘ทุกคน’ มีสิทธิ์เข้าถึงการอยู่อาศัยกลางเมืองในลักษณะนี้ได้

ที่เราทึ่งสุดๆ คือการที่อิเกียและทีมงานเล่าถึงความคิดที่ครอบคลุมถึงการสมัครเป็นเจ้าของบ้านรูปแบบใหม่นี้ว่า ‘ต้องถูกกว่าค่าเช่าหรือค่าผ่อนบ้านทั่วไป’ โดยพวกเขาคาดว่าจะนำระบบสหกรณ์มาเปิดทางให้ผู้ที่สนใจซื้อหุ้นสะสมไว้ จนเมื่อมีความพร้อมเพียงพอก็สามารถทำเรื่องขอเป็นเจ้าของได้ทันที (แบบไม่ต้องดาวน์) และเมื่อเข้าอยู่อาศัยแล้วลูกบ้านก็สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ผ่านแอพลิเคชั่น เช่น การร่วมแชร์เงินซื้อข้าวของที่นานๆ ใช้ที การมีระบบสมาชิกมื้ออาหาร หรือมีโปรโมชั่นซ่อมจักรยานเพื่อลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น

* Space10 ใช้เวลาสองปีในการทำวิจัยนี้ แล้วจึงจับมือกับ EFFEKT Architects พัฒนาไอเดียต้นแบบที่เปิดให้สาธารณชนเข้าเยี่ยมชม และออกความเห็นได้ที่ urbanvillageproject.com
การเตรียมตัวสู่บ้านที่เล็กลง
จากข้อมูลวิจัยของ Space10 คาดกันว่าภายในปี ค.ศ. 2030 เมืองใหญ่ที่ผู้คนล้นหลามจะต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นราว 40% (ณ ตอนนี้การเตรียมพื้นที่เหล่านั้นยังไม่เกิดขึ้นเลย!) ด้วยเหตุนี้นอกจาก The Urban Village Project แล้ว Space10 ยังทำโครงการ Co-Living Study ที่จำลองห้องชุดแบบใหม่ขึ้นบนฐานคิดของการแบ่งปัน โดยกำแพงด้านนอกของห้องชุดจะถูกปรับเป็น ‘ล็อกเกอร์ขนาดใหญ่’ ที่ใส่ได้ทั้งของใช้ส่วนตัว และของที่เผื่อให้เพื่อนบ้านหยิบยืมได้ (เพราะบ้านที่เล็กลงจะทำให้คนเราต้องนำข้าวของมาเก็บด้านนอกส่วนหนึ่ง)
ภายในห้องชุดจำลองนี้ เราสังเกตว่าพวกเขาได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซนที่กั้นจากกันด้วยประตูเลื่อนเปิดปิดได้ Space10 จำลองสถานการณ์การอยู่อาศัยร่วมกันของคน 3 รุ่น หนึ่งคือพื้นที่สำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวกับลูกเล็ก สองคือพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นห้องครัวกับโต๊ะอาหาร และสามคือพื้นที่สำหรับพ่อแม่ผู้สูงอายุ โดยในพื้นที่ส่วนตัวซึ่งจำกัดจำเขี่ย นักออกแบบได้นำระบบบิลท์อินมาใช้อย่างชาญฉลาด ประกอบไปด้วยที่นอน ที่นั่งเล่น ที่ทำงาน ห้องน้ำ คล้ายกับบ้านสมองกลที่เมื่อกดปุ่มก็สามารถเปลี่ยนห้องนั่งเล่นให้กลายเป็นห้องนอนได้
“ที่เราทำบ้านโรบอทแบบนี้เพราะต้องการให้ผู้คนเห็นว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะทำให้ที่อยู่อาศัยมีราคาถูกลงได้”



ในสเตจนี้แม้บ้านสมองกลจะยังเป็นเพียงไอเดียตั้งต้น แต่ทุกๆ องค์ประกอบล้วนมีที่มาจากการคิดแก้ปัญหา อาทิ การออกแบบตู้เย็นที่ไม่ใช่ยูนิตเดี่ยวขนาดใหญ่อีกต่อไป แต่กลายเป็นช่องเก็บความเย็นหลายๆ ช่องที่ฝังอยู่ในผนังเพื่อประหยัดพื้นที่ โดยของแต่ละอย่างสามารถแยกเก็บในอุณหภูมิที่ต่างกัน นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างจานชามและขวดน้ำที่ดูธรรมดา แต่แท้จริงแล้วออกแบบมาเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้งานง่าย มีผ้าม่านเก็บเสียงและขจัดฝุ่นควันได้ในตัว เป็นต้น
หลังจากที่เดินดูบ้านสมองกลนี้จนทั่ว เราอดดีใจไม่ได้ว่าอย่างน้อยในโลกปัจจุบัน ก็ยังมีแบรนด์ใจดีที่พยายามสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้กับสังคม เพราะในที่สุดแล้ว องค์ความรู้ที่เขาลงทุนศึกษากันล่วงหน้านี้ ก็จะเป็นวิธีแก้ปัญหาการใช้ชีวิตในอนาคตที่เราต้องพึ่งพิงจริงๆ
ภาพ: อาศิรา พนาราม, SPACE 10