fbpx

Hotel Gahn โรงแรมแห่งความภูมิใจในชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมบาบ๋า-ย่าหยา ของพังงา

ธุรกิจโรงแรมที่ตั้งใจเชื่อมเส้นทางการท่องเที่ยวจากชายทะเลเขาหลักมาพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนดั้งเดิม

หากพูดถึงจังหวัดพังงา ภาพแรกที่ปรากฏในหัวของหลายคนคงเป็นทะเลสีฟ้างดงามกับแสงแดดที่สาดกระทบผิวน้ำเป็นประกายวิ้บวั้บ แต่ช่วงหลังมานี้ ‘การท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน’ ที่เน้นการแบ่งปันประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้รับการสนับสนุน จึงเกิดการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ในจังหวัดชายทะเลนี้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคืองานออกแบบสถาปัตยกรรมและโรงแรมที่พัก ที่ได้กลายมาเป็นจุดเชื่อมระหว่างคนรุ่นใหม่ที่สนใจการท่องเที่ยววิถีชุมชน กับผู้คนในพื้นที่ที่พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ผู้เยี่ยมเยือน

โรงแรมกาล (Hotel Gahn) ในย่านเขาหลัก จังหวัดพังงา คือหนึ่งโรงแรมน้องใหม่ที่น่าสนใจของปี 2020 เกิดขึ้นบนความตั้งใจของครอบครัวอนุศาสนนันท์ ที่อยากถ่ายทอดความภูมิใจในวัฒนธรรมบาบ๋า-ย่าหยาของเมืองตะกั่วป่าให้ออกมาในรูปแบบของ ‘ที่พัก’ เพื่อให้แขกได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์นี้ผ่านประสบการณ์การพักผ่อนและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น

บาบ๋า – ย่าหยา (峇峇娘惹) เป็นภาษามลายู หมายถึง ลูกหลานชาวจีนเลือดผสมที่ถือกําเนิดจากการแต่งงานข้ามเชื้อชาติระหว่างชาวจีนอพยพและคนท้องถิ่นในคาบสมุทรมลายู โดยรกรากของครอบครัวอนุศาสนนันท์เริ่มจากก๋งของคุณแม่ที่ได้เดินทางมากับสำเภาเรือจีนในยุครุ่งเรืองของการค้าเสรีแร่ดีบุก ระหว่างการเดินทางนั้น ก๋งได้รับโอกาสให้เป็นพ่อครัวประจำเรือ (หรือภาษาคนเรือเรียกว่า จุมโพ่) และต่อมาก็ได้เป็นพ่อครัวประจำเหมืองในเมืองตะกั่วป่า

สมัยนั้น ตะกั่วป่าถือเป็นพื้นที่ที่สามารถขุดแร่ดีบุกได้เป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจจึงเติบโตขึ้นจากอุตสาหกรรมเหมืองและการเป็นเมืองท่าสำคัญ ส่วนในด้านสังคมก็เกิดการถ่ายทอดผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างเส้นทางการอพยพ (จากจีนมายังคาบสมุทรมลายู) และจากการทำการค้ากับยุโรป กุลีจีนและพ่อค้าเร่ที่ก่อร่างสร้างตัวได้เริ่มตั้งรกรากและแต่งงานกับคนในท้องที่ และให้กำเนิดลูกหลานเลือดผสมบาบ๋า – ย่าหยา ที่ส่งต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมจีนผสมสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้

Studio Locomotive สถาปนิกผู้ออกแบบ Hotel Gahn ถ่ายทอดกลิ่นอายวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านการจัดวางผังพื้นที่ ตัวเลือกวัสดุ และรายละเอียดงานตกแต่งที่แสดงถึงภูมิปัญญาการก่อสร้างมาประกอบกัน

การแต่งกายด้วยชุดเสื้อฉลุลายลูกไม้ ผ้าปาเต๊ะ รองเท้าถักลูกปัด เครื่องประดับทองอ่อนช้อย และรสมือปรุงอาหารแบบท้องถิ่น คือภาพที่ Studio Locomotive ผู้ออกแบบโรงแรมรู้สึกได้จากเรื่องเล่าที่แม่ถ่ายทอดเมื่อครั้งสนทนากันเรื่องความเป็นอยู่ในเมืองตะกั่วป่า ความภูมิใจในรากเหง้าของตนเองที่แม่สื่อออกมาทั้งหมด ทำให้การออกแบบโรงแรมกาลแห่งนี้มีความละเอียดลออในทุกสัมผัส

สถาปัตยกรรม 5 ชั้นที่มองจากภายนอกเห็นเป็นอาคารผนังสีดำเต็มแผง แท้จริงแล้วประกอบขึ้นจากไม้ธรรมชาติย้อมสีดำน้ำมันเครื่อง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการถนอมเนื้อไม้แบบโบราณ สถาปนิกทำซุ้มประตูโค้งเหล็กความสูง 6 เมตรไว้ด้านหน้า ลักษณะคล้ายทางเดินเชื่อมร้านค้าที่เรียกว่า “หง่อคาขี่” ที่พบเห็นได้ทั่วไปในอาคารพาณิชย์แบบชิโนโปรตุกีส

งานออกแบบประยุกต์จาก “หง่อคาขี่” ช่วยให้โรงแรมไม่ต้องใช้กำแพงในการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับแขกบริเวณชั้นหนึ่งติดกับถนน ที่สำคัญคือเป็นการเปิดช่องให้ลมพัดผ่านได้อย่างสบายด้วย

ในส่วนของพื้นที่ต้อนรับ ร้านกาแฟ และร้านอาหาร ที่เปิดให้แขกใช้ร่วมกันบริเวณชั้นหนึ่ง Studio Locomotive เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้คละรูปแบบ เช่นโต๊ะกลางขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยเก้าอี้หัวโล้น สร้างบรรยากาศเสมือนบ้านของครอบครัวขยาย ใกล้กันคือตู้สูงเต็มผนังสำหรับใช้เก็บของใช้สะสมของแม่ เปิดช่องให้แขกโรงแรมได้ทำความรู้จักกับครอบครัวนี้ผ่านของที่จัดแสดง ในขณะที่ตู้เก็บของฝั่งร้านอาหารก็จัดแสดงของสะสมเกี่ยวกับอาหารการกินและการครัว สอดรับกับเสียง กลิ่น และบรรยากาศ ที่เล็ดลอดออกมาจากห้องครัวด้านหลังได้เป็นอย่างดี

สีที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านแบบบาบ๋า-ย่าหยาคือสีแดงและสีเขียวซึ่งสถาปนิกได้นำมาใช้ทาเป็นสีผนังในบางส่วน

บันไดที่นำขึ้นสู่ชั้นห้องพักมีรายละเอียดเรียบง่าย หัวเสาตัดเป็นทรงหกเหลี่ยม ราวจับและระแนงเป็นทรงสี่เหลี่ยมธรรมดาตามแบบบ้านไม้ท้องถิ่น ผนังที่ติดกับระเบียงบันไดทำเป็นฝาไหลหรือฝาบ้านไม้สองชั้น โดยเจาะช่องสลับกัน ให้เลื่อนปิดเปิดเป็นช่องแสงช่องลมได้ตามต้องการ

ภายในห้องพักตกแต่งด้วยเครื่องเรือนและองค์ประกอบที่พบเห็นได้ทั่วไปในบ้านท้องถิ่น เช่น การใช้พื้นหินขัด การติดระแนงเหล็กที่กรอบหน้าต่าง ติดคิ้วตกแต่งผนังไม้ เตียงสี่เสา อ่างดินเผาลายวาดมือ และกลอนประตูแบบล็อคขัดไม้

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจในวัฒนธรรมจีนโพ้นทะเลของเมืองเก่าตะกั่วป่า สามารถมาสัมผัสงานดีไซน์ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตสายเลือดบาบ๋า-ย่าหยาเช่นนี้ได้แล้วที่โรงแรมกาล ข้อมูลเพิ่มเติม : hotelgahn

เครดิตภาพ: Studio Locomotive

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore