fbpx

‘เบอร์ลิน’ ในมุมมองของศิลปินรุ่นใหม่ ผู้ท้าทายการเมืองด้วยภาพถ่าย

เมื่อหฤษฎ์ ศรีขาว ชวนออกตามหาสายรุ้งยามเที่ยงคืนในเมืองหลวงของเยอรมนี

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจงานของช่างภาพไทย เชื่อว่างานของเพิร์ธ-หฤษฎ์ ศรีขาว น่าจะเคยผ่านตาคุณมาบ้างด้วยสไตล์ที่ดูเซอร์เรียลอย่างประหลาด ช่างภาพหนุ่มคนนี้เริ่มถ่ายภาพตั้งแต่อายุ 13 ปี และได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเวิร์กช็อปกับศิลปินด้านภาพถ่ายอย่าง Antoine d’Agata (Magnum Photos) ใน Angkor Photo Workshop ในวัยเพียง 16 ปีเท่านั้น 

งานของเขากวาดรางวัลระดับชาติและระดับโลกมามากมาย ทั้งรางวัล  Winner of Juror’s prize ในนิทรรศการ ‘Power and Politic’ จาก Filter Photo Festival รางวัล Second Prize Winner Gomma Grant 2016 รางวัล Special mention by the jury ที่ Dusseldolf Portfolio Review 2017 ประเทศเยอรมนี รางวัล Young Portfolio Award Winner 2018 ของ Invisible Photographer Asia และเคยตีพิมพ์ผลงานในนิตยสารภาพถ่ายระดับโลกอย่าง Foam ที่ผ่านมาหฤษฎ์มีผลงานจัดแสดงอยู่บ่อยครั้ง แต่ที่ลือลั่นที่จุดน่าจะเป็นภาพชุด Whitewash ที่แกลเลอรี่ Ver ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมในปีพ.ศ. 2553 ที่โดนเจ้าหน้าที่สั่งปลดออก

หลังจากที่หายไปจากสายตาพักหนึ่ง ล่าสุดเราพบว่าหลังจากเรียนจบจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังแล้ว หฤษฎ์ในวัย 24 ปี ได้ไปเรียนต่อด้านการถ่ายภาพและวิชวลดีไซน์อยู่ที่มิลาน และตอนนี้กำลังไปฝึกงานอยู่ที่เยอรมนี ซึ่งมุมมองของเขาที่มีต่อเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองที่เขาไปฝึกงานอยู่นั้นก็ถูกถ่ายทอดออกมาผ่าน Photo Essay ชุด Midnight Rainbows ซึ่งตีพิมพ์ในเว็บไซต์ Lure ซึ่ง Kooper ก็ได้พูดคุยกับเขาถึงแรงบันดาลใจดังกล่าว

ช่วยเล่าให้ฟังถึงที่มาของงานชุดนี้หน่อยได้มั้ยคะ
“Lure เป็นของเอเจนซี่โฆษณาครับ เขาอยากมีแพลตฟอร์มที่นำเสนอเรื่องวัฒนธรรมและเรื่องซับคัลเจอร์ ก็เลยทำเป็นเว็บไซต์แยกออกมา ซึ่งเขาเคยมาเมืองไทยครั้งหนึ่งแล้วทำคอนเทนต์เกี่ยวกับคนไทย และหนึ่งในนั้นเป็นเรื่องของผม เราก็ติดต่อกันมาเรื่อยๆ พอถึงเวลาฝึกงานผมก็เลยไปฝึกกับเขา ก็ได้ฝึกในส่วนเอเจนซี่และทำคอนเทนต์ในเว็บไซต์ด้วย”

หัวข้อเป็นเรื่องเกี่ยวกับเบอร์ลินในมุมของผู้มาใหม่ คิดว่าตัวเองมองเบอร์ลินยังไงบ้าง 
“จริงๆ ผมเคยมาเยอรมันหลายครั้ง แต่เบอร์ลินนี่มาเป็นครั้งที่สอง ถ้าพูดเรื่องการทำงานศิลปะ สภาพแวดล้อมที่นี่ถือว่าดีมาก มีงานให้ดูทุกวัน มีเสวนาทุกวัน จริงๆ โปรแกรมฝึกงานแค่เดือนครึ่งเอง แต่ผมขอฝึกสามเดือนเลย เบอร์ลินเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ เรื่องการถูกครอบงำเรื่องอำนาจ เรื่องความคอนเซอร์เวทีฟ ที่นี่มีมูฟเมนต์มากมายที่ต่อสู้เอาชนะกับการครอบงำ ถ้าเป็นนักเรียนศิลปะก็จะโอเค ตรงนี้เป็นอย่างงี้ ในยุคหนึ่งมีศิลปินมากมายที่มาเมืองนี้ เป็นเมืองวัยรุ่น เมืองศิลปิน เสรีมาก แค่ในตอนนี้เบอร์ลินไม่อันเดอร์กราวด์เหมือนแต่ก่อน มีความฮิปสเตอร์มากขึ้น แต่ท้ายสุดก็ยังมีพื้นที่เหลือให้ผจญภัยอีกเยอะครับ และสิ่งหนึ่งที่เด่นมากคือค่อนข้างปลอดภัยที่จะแสดงออก และปลอดภัยที่จะอยู่อาศัยด้วย อย่างที่มิลานนี่การโดนล้วงกระเป๋าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เบอร์ลินปลอดภัยมาก กลับดึกก็ไม่เป็นไร คนชอบบอกว่าเบอร์ลินเป็นกระบะทราย ล้มแล้วไม่เจ็บ”

การได้ไปเรียนต่างประเทศมีผลต่อการทำงานศิลปะยังไงบ้าง
“สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นประโยชน์คือ พออยู่ในประเทศไทยแล้วเราอยู่ในสังคมที่ค่อนข้างกดดันและมีความตึงเครียด บางทีการทำงานก็จะยาก เพราะมันจม ออกมาไม่ได้ บางทีความคิดสร้างสรรค์มันไม่ได้สร้างสรรค์ขนาดนั้น บางทีมันถูกกดดันก็เลยทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ อีกอย่าง การอยู่ต่างประเทศมันมีรูปแบบงานให้เลือกเยอะ เช่นงานการเมืองและงานไม่การเมือง งานการเมืองก็ดี งานไม่การเมืองก็มี มีงานสวยเบาๆ มีงานความคิดหนักๆ ฮาร์ดคอๆ มีงานใสๆ มีงานดาร์กๆ”  

แต่อยู่ต่างประเทศก็มีข้อเสียนะ ผมก็คุยกับคนอื่นว่ามันดีก็จริง แต่สุดท้ายมันอาจจะไม่ที่ของเรา สุดท้ายเราก็เป็นเอเลี่ยน เป็นคนต่างชาติ แต่พอกลับไทยก็มีคำถามอยู่ดีว่ามันใช่ที่ของเรามั้ย งานของผมจะมีเรื่องนี้เยอะเหมือนกัน เรื่องของเจนเนอเรชั่นของผมที่ตั้งคำถามว่าเราอยู่ตรงไหนในโลกใบนี้ คอนเซ็ปต์ของคำว่า ‘บ้าน’ มันเลยค่อนข้างยากที่จะพูด สิ่งที่ผมอยากทำต่อก็คืองานที่สะท้อนความรู้สึกนี้ล่ะครับ ผมเรียกว่าเป็นเจนเด็กถ้ำ เหมือนติดอยู่ในถ้ำ แต่ไม่น่ามีฮีโร่มาช่วย เราต้องหาทางออกกันเอง”

ทิศทางการทำงานของตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง
“หลังๆ ผมหันมาทำคอลลาจมากขึ้นนะ เพราะสนุกดี แล้วก็มาเน้นที่ post production มากขึ้น เพราะบางทีถ่ายภาพแล้วเอากลับมาดูที่สตูดิโอคนเดียว ก็ดี รู้สึกสงบ เป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง

เล่าให้ฟังถึงโปรเจ็กต์ที่ทำอยู่ตอนนี้หน่อยได้มั้ย
“ตอนนี้กำลังจะเรียนจบแล้วครับ พอเรียนจบ ช่วงตุลาคมที่จะถึงนี้ ผมได้ทุนไปอยู่ที่เมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กับเวนิส เป็นโครงการศิลปินพำนักของนิตยสาร Colors เขาจะรวมศิลปินรุ่นใหม่มาทำงานอยู่ด้วยกัน แต่ก่อนจะถึงตอนนั้นก็ว่าจะกลับไปไปรีเสิร์ชเรื่องพื้นที่ในกรุงเทพฯ เพื่อจะเก็บวัตถุดิบไปทำที่นั่นครับ” 

ติดตามผลงานของหฤษฎ์ ศรีขาวได้ที่ www.haritsrikhao.com และที่อินสตาแกรม Haritsrikhao

ภาพ: Harit Srikhao for Lure พอร์เทรต: Graham Meyer for Lure

Share on facebook
Share on twitter
Share on linkedin
Share on pinterest

More to explore